ทีวีดิจิทัล …จุดเปลี่ยนประเทศไทย ?

ทีวีดิจิทัล …จุดเปลี่ยนประเทศไทย ?

ทีวีดิจิทัล …จุดเปลี่ยนประเทศไทย ?

วงวิชาการถกเข้ม  ยุคเปลี่ยนผ่านทีวีจากอนาล็อตสู่ดิจิทัลของไทย  เปลี่ยนได้แค่เทคโนโลยี  แต่วิธีคิดยังห่างไกลปฏิรูปสื่อ  ชี้ใช้คำว่า “บริการสาธารณะ”สะท้อนการยึดโยงอยู่กับรัฐ    แนะพิจารณาคุณค่าสาธารณะให้ประชาชนที่หลากหลายเข้าถึง  เป็นอิสระ และการบริหารตรวจสอบได้ จวก กสทช.บกพร่องในการให้ข้อมูลการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญกับประชาชน  เตือนจะถูกฟ้อง

เมื่อวันที่24 เม.ย.2556  ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สำนักงานกสทช.ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง  “ทีวีดิจิตอล….จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ตอน “ทีวีดิจิตอลสาธารณะ” ขึ้น โดยมีกลุ่มนักวิชาการ นักวิชาชีพสื่อ และผู้สนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนจำนวนมาก โดยการสัมมนาครั้งนี้มุ่งหวังให้เห็นถึงมิติความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเมื่อประเทศไทยเปลี่ยนระบบโทรทัศน์จากอนาล็อคสู่ดิจิทัล 

การสัมมนาเริ่มด้วยการปาฐกถา "จากจุดเริ่มต้นปฏิรูปสื่อสู่ทีวีดิจิตอล" โดย รศ. จุมพล  รอดคำดี อดีตกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ. จัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553  ที่เน้นย้ำถึงหลักคิดของการปฏิรูปสื่อว่าเพื่อให้เกิดการวางกติกาการใช้ช่องสัญญานเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งต้องมาพิจารณาว่าเป็นไปเช่นนั้นหรือไม่  โดยในอดีตสื่อวิทยุกระจายเสียงนั้น รัฐเป็นผู้ใช้มาก่อน นับจากพ.ศ.2498 ที่มี พ.ร.บ.ฉบับแรก เนื้อหาให้หน่วยงานของรัฐถือครองสิทธิคลื่นความถี่ ไม่มีเขียนว่าประชาชนมีสิทธิเข้าครอบครอง ชี้ให้เห็นว่าสื่อของรัฐเข้ามายึดครองทรัพยากรของชาติมาแต่เริ่ม ปัญหาคือทำอย่างไรให้สื่อเหล่านี้ประชาชนได้เข้าถึงได้   เมื่อพ.ศ. 2535 เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ  เกิดการต่อสู่ด้านการสื่อสารครั้งสำคัญ เพราะถ้าประชาชนมีสิทธิรับรู้ข้อมูลก็เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจว่าอะไรถูกผิด นักวิชาการนิเทศศาสตร์บอกว่าต้องปฏิรูปสื่อในแนวคิดใหม่คิอแนวคิดประชาธิปไตย ให้สิทธิประชาชนแสดงออกอย่างเสรี  ประชาชนถือครองคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสาธารณะของชาติ ที่ไทยเป็นเจ้าของร่วมด้วย

ซึ่งการปฏิรูปจะต้องอยู่บนหลักการสำคัญคือ – ต้องกระจายการถือครองการใช้คลื่นความถี่  และประชาชนมีส่วนในการใช้ และกระจายโอกาสทั่วถึงเท่าที่จะทำได้ โดยให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม    การปฏิรูปจะต้องอาศัยแนวคิดนี้เป็นหลัก   โดยมีหลักประกัน คือมาตรา 40 เขียนว่า – คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะที่ประชาชนใช้ได้ และเสนอให้มีองค์กรอิสระเข้ามาทำหน้าที่การจัดการคลื่นความถี่ และข้อมูลข่าวสารเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์   และในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 – มีหลักประกันเสรีภาพด้านสื่อและประชาชนที่จะได้ประโยชน์จากการใช้สื่อด้วย   

การประกอบกิจการขณะนี้แบ่งเป็นประเภท ทีวีบริการสาธารณะ ทีวีธุรกิจ และทีวีชุมชน 3  เขียนไว้ชัดเจนในกฏหมายและบอกว่าการบริการลักษณะไหนทำอะไร   แต่สิ่งทีเป็นอยู่เกิดข้อกังขา เรื่องการจัดสรรช่องสัญญานและรายการ   แนวทางการเปลี่ยนผ่านมีกำหนดชัดเจนเป็นรูปธรรมอยู่ แต่สิ่งสำคัญคือ กสทช.กำหนดให้  48 ช่อง เป็นบริการสาธารณะ 12 ช่อง ชุมชน 12 ช่อง  ธุรกิจ 24 ช่อง (แบ่งเป็น SD 17 และ HD 7 ช่อง)  และในบริการสาธารณะก็แบ่งเป็น 3 หมวด

“เราอยากเห็นการแบ่งช่องสัญญานเพื่อประโยชน์สังคมแท้จริงหรือไม่ ประชาชนมีโอกาสได้รับข่าวสารหลากหลายจริงหรือไม่ เราอยากเห็นการปราศจากการผูกขาด  ประชาชนเลือกรับสื่อได้อย่างหลากหลายและมีคุณภาพ สื่อก็ต้องทำงานภายใต้กรอบจริยธรรม มีสถานีได้รับการรองรับหรือได้คลื่นไปโดยปริยาย แต่สิ่งสำคัญคือการบริการสาธารณะมีนิยามว่าอย่างไรที่จะเป็นเกณฑ์ว่าใครจะได้ใช้หรือไม่ได้ใช้ สิ่งเหล่านี้สังคมต้องช่วยกันดูและตรวจสอบ”

จากนั้นเป็นเวทีอภิปรายผ่านมุมมองของนักวิชาการด้านต่างๆ  ในช่วงอภิปราย"อนาคตทีวีดิจิตอลสาธารณะในมุมมองนักวิชาการด้านสื่อและกฎหมาย"  วิทยากรประกอบด้วย ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดยดร.ธีรารัตน์ พันทวี นักวิชาการสื่ออิสระ
 
ทีวีดิจิตัลสาธารณะ จุดเปลี่ยนประเทศไทยอย่างไร ?
ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิตอลจะทำให้เกิดห่วงโซ่ของสื่อแบบใหม่ซึ่งต่างจากอนาล็อก ที่มีเพียงผู้ผลิตรายการ ซึ่งอำนาจอยู่ที่สถานีโทรทัศน์ที่จะเป็นผู้เลือกว่าจะให้ใครเข้าช่องเช่าช่วงรายการ  แต่ดิจิตอลทำให้กลายเป็นมีผู้ผลิต – ผู้รวบรวมรายการ -ผู้รวบรวมสัญญาน -ผู้ให้บริการลกค้า -ผู้ให้บริการเสาสัญญาน –จานดาวเทียม- โทรทัศน์   ซึ่งขณะนี้มีการจัดประเภทการประกอบกิจการโทรทัศน์เป็นสองส่วนด้วยกันคือ ตามรูปแบบของการประกอบกิจการตามใบอนุญาต เช่น บริการสาธารณะ บริการชุมชนและบริการธุรกิจแต่ในขณะเดียวกันก็ดูห่วงโซ่คุณค่าในการประกอบกิจการก็จะแบ่งเป็นช่องรายการเป็นโครงข่าย เพื่ออำนวยความสะดวก ดังนั้นการประกอบกิจการจะถูกซอยย่อยทำให้ผู้ที่เข้าสู่ตลาดรายใหม่จะมีช่องทางเข้าได้มากขึ้น   ทีวีดิจิตอลเป็นแพลตฟอร์ตใหม่  ทีวีสาธารณะเป็น sector ใหม่  ทั้งสองอย่างรวมกันจะนำไปสู่การปฏิรูปสื่ออย่างไร ภายใต้ กสท. ไม่ใช่กสทช.
 อ.ดร.มานะ   กล่าว ทีวีดิจิตอลเป็นจุดเปลี่ยนแปลงก็จริง แต่ข่าวที่เล็ดลอดออกมาน้อยมาก  กรอบคิดในการสื่อสารกับสาธารณะของหน่วยงานที่ดูแลย้อนยุคมาก  ในเชิงเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องดี แต่ผู้ถือครองสื่อยังเป็นแบบเดิมหรือไม่   รูปแบบเนื้อหารายการเหมือนเดิมหรือเปล่า ถ้าเรามีทีวีดิจิตอลเพิ่มมากขึ้นแต่เนื้อหาเหมือนเดิม โครงสร้างการถือครองเหมือนเดิม   ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  และคำ“ทีวีบริการสาธารณะ”ที่เรียกกันอยู่ จะหมายถึงการรับบริการอย่างเดียวเท่านั้นหรือไม่   ถ้าทีวีสาธารณะเป็นการสื่อสารสองทาง โลกไม่เหมือนเดิม ผู้ส่งสารถึงผู้รับสารได้ แสดงความคิดเห็นได้ มีช่องทางสื่อสารได้ ผู้บริหารคลื่นใช้กรอบคิดแบบเดิมในการสื่อสารด้านเดียวอยู่หรือไม่
“ เราจะยอมทิ้งสิ่งที่เรียกร้องต่อสู้กันมาหรือไม่สิ่งที่เจอยังอยู่ในกรอบคิดแบบเดิม การปะทะความคิดแบบเดิม ในยุคแรกคลื่นความถี่ถูกจำกัดเอาไว้ว่าเป็นความถี่ของรัฐเพื่อสื่อสารกับประชาชนแบบด้านเดียว one way communication   แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง ระบบต่างๆถูกตั้งคำถาม คำว่า "ความมั่นคง"ถูกตั้งคำถามว่ามันเป็นความมั่นคงของใครคำว่า "รัฐ" คือรัฐแบบใดซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก   กรณีที่กสทช.บางท่านระบุว่าอย่าพูดคำว่า "ทีวีสาธารณะ"ให้พูดคำว่า "ทีวีบริการสาธารณะ"นั้นมันมีนัยที่ชัดเจนว่าบริการออกไปสู่ประชาชน ประชาชนเป็นผู้รับบริการ แต่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ผมมองว่าตรรกะผิดเพี้ยนไป ถ้าเป็นทีวีสาธารณะคือการเปิดให้มีการสื่อสารทั้งสองทางหรือหลายทางมากขึ้นคำว่าดิจิตอลมันเปิดโอกาสให้มีการสื่อสารได้หลากหลายช่องทางกันมากขึ้นผู้ส่งสารสามารถส่งไปยังผู้รับสารได้ ส่วนผู้รับสารผู้ฟังผู้ชมทีวีหากไม่พึงพอใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ทันที คำถามคือ ผู้ที่จะบริหารช่องหรือคลื่นความถี่ยังใช้กรอบคิดแบบเดิมในการจำกัดคิดสื่อสารด้านเดียวหรือไม่"
ขณะที่ ศ.ดร.นันทวัฒน์   มองว่าจุดเปลี่ยนประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่ระบบโทรทัศน์  แต่อยู่ที่ตัวรายการมากกว่า ว่าตอบสนองประชาชนอย่างไร
 
“ทีวีสาธารณะ”VS “ทีวีบริการสาธารณะ” 
วงสัมมนาพยายามสะท้อนความหมายของการเป็น “ทีวีสาธารณะ” กับคำที่กสทช.ใช้เรียกคือคำว่า “ทีวีบริการสาธารณะ” ว่ามีความแตกต่างกันซึงส่งผลต่อวิธีคิดของการพิจารณาบทบาทของสื่อสาธารณะ
ศ.ดร.นันทวัฒน์  กล่าวว่า คำว่าสาธารณะนั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของ ซึ่งเงินที่ใช้ในการจัดรายการทีวีมาจากภาษีของประชาชน   ส่วนทีวีของรัฐมันมีความชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นทีวีของรัฐ  ส่วนคำว่า “บริการสาธารณะ”  เป็นศัพท์ด้านกฎหมายมหาชน  คำว่า "บริการสาธารณะ" ในประเทศไทยเพิ่งนำมาใช้ไม่กี่ปีที่ผ่านมาว่าหมายถึง “กิจการที่อยู่ในความอำนวยการหรืออยู่ในความควบคุมของฝ่ายปกครองที่จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองส่วนรวมของประชาชน” ดังนั้น “บริการสาธารณะ”จึง 1.ยึดโยงอยู่กับรัฐ 2.ตอบสนองความต้องการของประชาชน  คำว่า   "อยู่ในความอำนวยการ" หมายความว่าฝ่ายปกครองเป็นผู้ดำเนินการเอง ในขณะที่คำว่า "อยู่ในความควบคุม"หมายความว่าฝ่ายปกครองให้คนอื่นไปดำเนินการซึ่งมีหลายระบบ เริ่มตั้งแต่มีการตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมามีการมอบให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการกิจการ หรือแม้กระทั่งเปิดให้สัมปทานให้เอกชนไปดำเนินกิจการก็ได้
ในตัวบริการสาธารณะเองก็แยกเป็น 2 แบบ  ประเภทแรกใช้คำว่า บริการสาธารณะทางปกครองเป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อจัดระบบสังคมเพื่อให้อยู่กันอย่างสงบ เช่น กิจการทหารตำรวจ ความมั่นคง แนวนโยบายของรัฐ เรื่องเศรษฐกิจต่างๆและบริการสาธารณะประเภทที่สอง คือบริการสาธารณะทางอุตสาหกรรมและการค้าประเภทนี้จะเป็นการบริการที่ตอบสนองของประชาชน
ดังนั้นในที่นี้  จึงมีคำถามว่า ทำไมเรียกว่า ทีวีบริการสาธารณะ  นิยามที่แท้จริงเราต้องการอะไร ?  จะให้มีทีวีของรัฐมากขึ้น หรือจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

ขณะที่ ผศ.ดร.พิรงรองกล่าวว่า หากพูดถึงทีวีสาธารณะว่าเป็นสื่อทีวี เป็น Public Service Broadcasting ในรูปแบบของทีวีซึ่งมี Radio มาก่อน จริงๆแล้วตามวิวัฒนาการPublic Service Broadcasting มีการกระจายเสียงและแพร่ภาพเพื่อบริการสาธารณะเกิดขึ้นในแถบยุโรปตะวันตกในช่วงหลังสงครามโลกครั้ง2และถือว่าเป็น sectorหลักในการแพร่ภาพและกระจายเสียง

อย่างไรก็ตามคุณค่าของสื่อสาธารณะอยู่ที่การมองคนเป็นพลเมืองมากกว่าที่จะเป็นผู้บริโภคและมองในแง่ของการสื่อสารหรือการสร้างวัฒนธรรม สร้างสังคม มากกว่าการสร้างเศรษฐกิจหาเลี้ยงตัวเอง  อีกทั้งในแง่การสื่อสารว่า การสื่อสารที่จะก่อเกิดสื่อบริการสาธารณะนั้นจะต้องสร้างพื้นที่บริการสื่อสาธารณะที่เป็นพื้นที่ของประชาธิปไตยทุกคนสามารถจะเข้าร่วมได้ สามารถที่จะแลกเปลี่ยน ถกเถียงอภิปรายจากกลุ่มตัวแทนต่างๆ และนำไปสู่ข้อสรุปหรือนำไปสู่การขยายผลต่อรองนโยบายต่อผู้มีอำนาจด้วยก็ตาม นั่นคือพื้นที่สาธารณะ

ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เป็นพื้นที่สาธารณะ คิดว่าหลักการพื้นฐานคือ “ทุกคนต้องเข้าถึงได้” เพราะมีความเป็นสาธารณะ อย่างเช่น BBC ในอังกฤษ CDC ในแคนนาดา NHKในญี่ปุ่นค่อนข้างเน้นในความหลากหลายเพราะมีหลากหลายกลุ่ม หลากหลายเชื้อชาติในสังคม เป็นต้น
ในแง่กฎหมายไทย Public Service Broadcasting (PSB) จะต้องมีกองบรรณาธิการที่เป็นอิสระจากรัฐต้องสนองตอบผลประโยชน์ของสาธารณะ ต้องปกป้องผลประโยชน์จากการถูกครอบงำทางการเมืองหรือทางธุรกิจ เรื่องเนื้อหารายการจะต้องมีความหลากหลาย มีคุณภาพสูงเน้นให้ความรู้ ให้ข้อมูล ให้ความบันเทิง ส่วนด้านการบริหารจัดการในองค์กร PSB รวมทั้งมีบอร์ดบริหารที่มีความเป็นอิสระจากรัฐ และจะต้องถูกการันตีในกฎหมาย
“ถ้าเราไปดูพ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะแห่งประเทศไทยปี2551 ซึ่งเป็นที่มาของไทยพีบีเอส ซึ่งจะมีความชัดเจนคือบอร์ดบริหารของไทยพีบีเอสจะต้องมาจากไหนที่มาคืออะไร และจะทำอย่างไรให้มีความโปร่งใส และอิสระจากการครอบงำทุนแลรัฐจะต้องตอบโจทย์ของสังคมได้ และจะต้องมีความสามารถในการถูกตรวจสอบ”

ด้านรายได้ส่วนใหญ่จะต้องมาจาก public funding เช่น BBC ใช้วิธีเสียค่าภาษีเครื่องรับโทรทัศน์อย่างญี่ปุ่นก็ได้รับสนับสนุนจากรัฐบาลแบบครึ่งต่อครึ่งอย่างไทยพีบีเอสถูกออกแบบมาโดยการใช้ภาษีบาป ถ้าหากมาเปรียบเทียบกฎหมายไทยแบ่งประเภทบริการสาธารณะ ซึ่งแปลตรงตัวคือ Public Service Broadcasting แบ่งเป็นสามรูป คือ แบบที่ 1 สาธารณะเพื่อสาธารณะ แบบที่ 2 สาธารณะเพื่อความมั่นคง (ปลอดภัย) แบบที่ 3 สาธารณะเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐกับประชาชนพ่วงผู้พิการเข้ามาด้วย แต่การนิยาม PSB ของประเทศไทยไม่ตรงกับนิยามของสากลอาจเป็นความเข้าใจผิด กลายเป็น GSB – Governance Service Boardcasting

แบ่งช่องทีวีบริการสาธารณะอย่างไรเหมาะสม ?
กรณีการแบ่งประเภททีวีบริการสาธารณะเป็น 3 ประเภทและแบ่งประเภทรายการเป็นประเภทที่หนึ่งจัดสรรแบ่งช่องที่ 5-7 วัตถุประสงค์คือการให้ความรู้ การศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพอื่นๆสุขภาพอนามัย กีฬาหรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน ประเภทที่สอง ช่อง 8-9 เป็นเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัย ประเภทที่สามช่อง 10-12 วัตถุประสงค์เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลประชาชน และรัฐสภา กับประชาชนและการกระจายข้อมูลส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขบริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนแก่คนพิการ คนด้อยโอกาสหรือกลุ่มความสนใจที่มีกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือบริการข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอื่นนั้น

ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวว่าการแบ่งช่องถ้ามองการปฏิรูปสื่อคือการพยายามสร้างเนื้อหาในรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่ได้มีอยู่ในทีวีกระแสหลักแบบเดิม ก็จะเห็นเรื่องราวสาระประโยชน์ ซึ่งอาจเป็นคำกว้างมาก อย่างวิทยุชุมชนก็มีข้อกำหนดว่าสาระประโยชน์แต่เมื่อถึงเวลากำกับดูแลจริงๆ แล้วกสทช.จะมีการกำกับดูแลแบบใด เพราะกสทช.ไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้ทั้งหมด 

"นอกจากนี้เรื่องใบอนุญาตทีวีดิจิตอลสาธารณะจะต้องมีการประเมินศักยภาพผู้ที่ใช้ประโยชน์จากทีวีดิจิตอลสำหรับการประมวลหรือการนำข้อมูลเพื่อเสริมศักยภาพทางการสื่อสารของประชาชนด้วยว่ามีศักยภาพแค่ไหน  ตัวอย่างของ NHK BBC มีสิ่งที่เรียกว่า DigitalArchives สิ่งต่างๆที่เขานำเสนอไปในอดีตนั้นสามารถถูกประเมินโดยผู้ชมแต่ไม่ใช่ผู้ชมทุกคน เฉพาะคนที่จ่ายค่า License Fee  ถ้าตนเป็นกสทช. ก็จะพิจารณาจากตรงนี้ด้วย”
ศ.ดร.นันทวัฒน์เห็นว่า แม้จะมีทีวีดิจิตอลแต่ไม่มีคนดู ทำไปมันก็ไม่มีประโยชน์ดังนั้นการที่จะทำให้มีคนดูหรือไม่มีนั้น มันขึ้นอยู่กับรายการและการจัดแบ่งช่องรายการนั้น จะเป็นเรื่องที่สำคัญมากซึ่งการแบ่งช่องนั้นทางกสทช.เองได้ไปศึกษาดูของเคเบิ้ลทีวีหรือไม่ว่าคนเขาดูช่องใดเยอะหรือช่องใดน้อยซึ่งการแบ่งช่องของราชการนั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัว มันมีคำถามว่า จาก 12 ช่องจะเแบ่งให้เป็นเจ้าของช่อง หรือเป็นเจ้าของช่วงเวลา ซึ่งตนไม่ทราบว่าหน่วยงานต่างๆมีทั้งหมดเท่าไหร่แล้วจะแบ่งอย่างไร เพราะมีองค์กรต่างๆ เยอะมากและจะมีคนดูหรือไม่
"ถ้าจะปฏิรูปสื่อ คนทำสื่อก็ต้องปฏิรูปตนเองว่า มีอะไรที่พอจะไปทำอะไร ถ้าเป็นบริการสาธารณะแล้วแต่ไม่ตอบสนองประชาชนสุดท้ายมันก็ไม่ใช่บริการสาธารณะเป้าหมายคือจะทำอย่างไรให้มันตอบสนองประชาชนได้มากที่สุดมากกว่ากำหนดว่าใครจะเป็นเจ้าของช่อง"

ปฏิรูปสื่อจะปฏิรูปสังคมอย่างไร?

อ.ดร.มานะ กล่าวว่าการจะปฏิรูปสื่อต้องเปิดพื้นที่ให้คนอย่างหลากหลาย เพื่อให้เขามีโอกาสแสดงความคิดเห็นมีเวทีที่ได้พูด ได้สื่อสารออกไป เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่มีการใช้คลื่นวิทยุโทรทัศน์ มันถูกจำกัดโดยกลุ่มที่เรียกว่า รัฐ และทุนแต่พื้นที่ให้คนทั่วไปมีน้อยมาก แต่ถ้าปฏิรูปสื่อไปแล้ว คลื่นทั้งหมดจัดสรรแล้ว สถานการณ์ยังเหมือนเดิมคือ ประชาชนยังได้รับข้อมูลชุดเดียวแบบเดิมประชาชนยังไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างประชาชนไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ปัญหาต่างๆก็ยังมีอยู่ คำถามคือ คนที่เจอปัญหาจะทำอย่างไรก็ต้องดิ้นรนหาทางออก ทางอื่น เพื่อที่จะชิงพื้นที่สื่อ
"การปฏิรูปสื่อจะไม่เกิดขึ้นเลยหากว่าคนทั่วไปรู้สึกว่าจะอย่างไรก็ได้   เพราะฉะนั้นคิดว่าจังหวะที่จะก้าวต่อไปกลุ่มคนจากภาคส่วนต่างๆคงต้องแสดงตนให้มากขึ้นว่า ถ้าจะปฏิรูปสื่อโดยเฉพาะสื่อที่เขาเปิดช่องไปแล้วตั้งแต่ต้นว่าเป็นทีวีสาธารณะ แต่เมื่อมันยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เราจะยอมกันอยู่ต่อไปไหม ถ้าไม่ยอมเราจะเลือกทางใดต่อ"

ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวว่า ไทยต้องกลับมาที่คิดว่า การปฏิรูปสื่อคืออะไร ในต่างประเทศก็จะมีการรณรงค์ให้ปฏิรูปนโยบาย กฎหมาย การกำกับดูแล โครงสร้าง การเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ในสื่อ หรืออาจจะเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนเนื้อหาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพอาจจะเป็นเรื่องการส่งเสริมพลังของสื่อให้เป็นอิสระเพราะถ้ามองว่าตอนนี้สื่อไม่เป็นอิสระเราก็ต้องดูว่าจะเสริมตรงส่วนไหน ชุมชนใช่หรือไม่  แต่ของไทยเน้นการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ในคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้ในการสื่อสาร
อีกประการหนึ่ง คือเรื่องของการสร้างความรู้เท่าทันสื่อนั้นเป็นสิ่งสำคัญของการปฏิรูปสื่อ เพราะยิ่งมีช่องทางในการเสพสื่อหรือบริโภคสื่อมาก อำนาจของกสทช.ในการมอนิเตอร์ก็ยิ่งน้อยลงเรื่อยๆเพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ผู้ที่รับสื่อสามารถคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ได้สุดท้ายการสร้างวิถีปฏิบัติในสื่อ ซึ่งก็คือเรื่องของจรรยาบรรณ วิชาชีพ จริยธรรมและการยกระดับมาตรฐานในการทำงานของสื่อ

 “ทั้งหมดนี้ คือแนวทางการปฏิรูปสื่อ ถามว่าถ้าเป็นทีวีดิจิตอลจะทำได้ทั้งหมดนี้ไหม ก็คงทำได้บางข้ออย่างการรู้เท่าทันสื่อ ไม่น่าจะทำได้ เพราะคนทำสื่อไม่ถือว่าเป็นหน้าที่ ซึ่งกสทช.ต้องตอบโจทย์ว่าจะตอบโจทย์ทีวีสาธารณะ และทำให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมอย่างไร”

สังคมเตือนกสทช.ถูกฟ้อง
 อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ แวดวงวิชาการได้พยายามเรียกร้องให้กสทช.ทำการประชาพิจารณ์หลักเกณฑ์พิจารณาทีวีดิจิตอบบริการสาธารณะ  แต่กสทช.มีมติ 3 ต่อ 2 ว่าไม่ทำประชาพิจารณ์ ไม่ออกประกาศ  เพราะได้ออกประกาศไปแล้ว 8 ฉบับ และมีเกณฑ์กลาง มีดุลพินิจในการพิจารณาเลือกผู้ให้บริการ ซึ่งวงสัมมนาตั้งข้อสังเกตต่อเรื่องนี้อย่างมาก   

ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวว่ากฎหมายด้านการปกครองมันมีหลักพื้นๆว่า ฝ่ายปกครองทำอะไร ต้องโปร่งใส และตรวจสอบได้ในอดีตเราเคยมีกฎหมายจำนวนมากที่ให้ดุลพินิจฝ่ายปกครอง แต่ช่วงหลัง ตั้งแต่ปี 2539เรามีกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการปกครองออกมา เขาก็บังคับแล้วว่า ในการใช้ดุลพินิจต้องมีเหตุผลประกอบว่าทำไมถึงใช้ดุลพินิจแบบนี้การจะออกเป็นประกาศ หรือไม่เป็นประกาศ ตนเข้าใจว่าคนออกประกาศจะต้องรับรู้อยู่แล้วว่าจะออกหรือไม่ออก ถ้าจะออกเพราะต้องการให้ทุกอย่างมันชัดเจนมีกติกา มันก็ควรจะออก ในอดีตมันอาจจะไม่มีประเด็นนี้ แต่ในปัจจุบันนี้มีประเด็นการฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอน

"ควรจะออกเพื่อจะได้เห็นความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ลำพังแค่บอกว่ามันอยู่ในกฎหมายแล้ว 7-8 ฉบับ มันไม่ง่ายสำหรับประชาชนหรือคนที่จะเข้าไปตรวจสอบซึ่งถ้ามีประกาศ จะทำให้เห็นหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และคนที่ได้รับใบอนุญาตจะได้ภายใต้หลักการเดียวกันไม่ได้ได้โดยหลักดุลพินิจ"
ศ.ดร.นันทวัฒน์ กล่าวสรุปว่าปัญหาของไทย มันวนมาจากจุดเริ่มต้นจุดเดียว ก็คือ ตอนที่เรามีรัฐธรรมนูญ 40เรามีการตั้งองค์กรต่างๆเป็นจำนวนมาก ในขณะที่เราไม่ได้เตรียมคนที่จะเข้าสู่องค์กรนั้น  เพราะคนที่อยู่ในองค์กรต้องสุดยอดต้องมีความรู้ด้านนั้น แต่ปัจจุบันเราอาจจะโชคดีมีคนที่รู้ตรง ในบางองค์กรแต่ก็มีบางองค์ได้คนไม่รู้ ปัญหามันจึงเกิดขึ้น.

ผศ.ดร.พิรงรอง ยอมรับว่ามีช่องโหว่ของกฏหมายที่ไปเน้นเรื่องประมูลเป็นหลัก  แต่ช่องสาธารณะไม่ได้เขียนไว้อย่างรัดกุม  รัดกุม  แต่ให้รอดูต่อไป

อ.ดร.มานะ  เตือนกสทชว่าคนที่อนุมัติ และเร่งรีบจัดสรรคลื่นความถี่ ให้ระวังไว้จะโดนฟ้องว่ากำลังใช้อำนาจไม่โปร่งใส ถ้าผู้บริโภคได้รับผลกระทบ และเห็นว่าการทำความเข้าใจกับประชาชนเป็นสิ่งสำคัญเป็นบทบาทหน้าที่หนึ่งในการเปลี่ยนผ่านของ กสทช.ที่จะต้องอธิบายให้กับประชาชนเข้าใจมากกว่าจะไปแจกกล่องเพื่อเปลี่ยนจากอนาล็อกเป็นดิจิตอลอย่างเดียว ซึ่งเรื่องของทีวีสาธารณะหลักใหญ่คือต้องการเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนพลเมือง โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยคนชายขอบที่ไม่มีสิทธิ์เสียงที่จะพูด หรื่อเรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของรัฐเช่น เขื่อนปากมูล รวมถึงเรื่องอื่นๆ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาประเทศการพัฒนาประชาธิปไตยของรัฐซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบไม่มีสิทธิและเสียงที่จะพูดโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้นผ่านสื่อ การจะได้ออกสื่อแต่ละครั้งคนตัวเล็กตัวน้อยจะต้องประท้วงปิดถนน แต่แนวคิดทีวีสาธารณะคือต้องการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยและจะต้องมีเวทีกลางให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น หากยังมีการจำกัดสิทธิการเข้าถึงสื่อของคนตัวเล็กตัวน้อยเขาก็ไปหาช่องทางอื่นเอง ไม่ว่าจะเป็นช่องทางอินเตอร์เน็ตหรือกระทำการอย่างอื่นเองเพื่อที่จะทำให้เสียงเขาดังขึ้น ถ้าเราไม่ต้องการที่จะจำกัดเราก็ต้องเปิดเวทีให้ประชาชน แต่ปัญหาคือ แนวคิดของกสทช.ถ้ายังยึดแนวคิดแบบเดิมว่า คลื่นวิทยุ คลื่นโทรทัศน์เป็นของกสทช. เป็นของรัฐซึ่งแนวคิดนี้จะมีปัญหาตามมา รัฐจะต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งอื่นๆ ที่ระเบิดตามมามากมาย

"ไม่อยากคาดเดาว่าทีวีสาธารณะที่บอกว่าแบ่งคลื่นความถี่ต่างๆแล้วนั้น ตอนนี้แบ่งกันเกือบทั้งหมดแล้ว มีเพียง 4-5 ช่องที่เหลือพื้นที่ที่จะให้คนอื่นๆ เข้ามาเป็นสาธารณะ นอกนั้นกระทรวง ทบวงกรมต่างๆ ตีตั๋วฟรีอยู่ในช่องบริการแรกๆ ถ้ากดช่องปุ๊บก็เจอปั๊บเป็นต้นเขาสามารถหาประโยชน์เพิ่มเติมได้รายได้เพิ่มเติมที่เป็นงบประมาณจากประชาสัมพันธ์ของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ และงบประมาณจากโครงการต่างๆขององค์กรธุรกิจที่จะไหลเข้ามา และยังไม่นับการเช่าช่วงให้ไปดำเนินการต่อผมไม่อยากให้เกิดกลุ่มธุรกิจต่างๆ แย่งกันเข้ามาสนับสนุนหน่วยงานรัฐที่เป็นทีวีสาธารณะเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่างต่อเนื่องตามมา"

ต่อประเด็นนี้มีการแสดงความเห็นจากผู้ร่วมสัมมนาหลากหลาย เช่น   เห็นว่าผิดมาตั้งแต่ พ.ร.บ.การประกอบกิจการ  ในแง่ผู้บริโภค และช่วงการเปลี่ยนผ่านมองว่าการดำเนินการของกสทช. บกพร่องในการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะในตป.จะชัดเจน ประชาชนจะได้รับข่าวสารมากกว่านี้ เราให้ความสำคัญกับประชาชนน้อย ส่งผลต่อการแบ่งประเภทช่องรายการ  นอกจากนั้นปัญหาที่ผ่านมาเช่นเคสสามจี ทำให้เห็นข้อจำกัดการทำงานของกสทช. กฏหมายมีช่องว่างเรื่องการตรวจสอบ    และถ้า กสท.ดำเนินการแบบนี้โดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ถือว่าน่าเศร้า กลายเป็นทีวีดิจิตอลสาธารณะเป็นการเปลี่ยนแค่เทคโนโลยีและเครื่องรับส่ง แต่ถ้าความคิดของคนในรัฐยังเหมือนเดิม เหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่    ขณะที่ภาคประชาชนพลเมืองไม่มีสิทธิอะไรเลย ถ้าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ได้เพิ่มสิทธิประชาชน ที่ดำเนินการมาปี 35 ล้มเหลว ไม่ควรให้กสท.มาดื้อแพ่งทำตามใจชอบต่อไป
 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ