ทำไม? ประเทศไทยต้องมี”กสทช.”

ทำไม? ประเทศไทยต้องมี”กสทช.”

ทำไม? ประเทศไทยต้องมี"กสทช."
 
3 ก.ย.54 รัฐธรรมนูญปี2550 กำหนดให้มีองค์กรอิสระ ที่เรียกว่า"กสทช."หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี เพื่อทำหน้าที่หลักกำกับ ดูแล สะสาง ปรับปรุง และจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อให้กิจการอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่มีปัญหาสั่งสมมานานโดยเฉพาะการกักตุนคลื่นความถี่ที่เป็น"ทรัพยากรของชาติและมีอยู่อย่างจำกัด" แต่กลับถูกหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ และนำไปให้เอกชนทำต่อในรูปแบบสัมปทาน ขาดความโปร่งใสและเป็นธรรม สะท้อนปัญหาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยนับจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้ชัดเจนมากที่สุด ซึ่งประชาชนเป็นผู้เสียประโยชน์จากการใช้บริการเต็มๆ
 


แต่หลังจากวันที่ 5 กันยายน2554 "กสทช." จำนวน11 คน ที่ได้รับการคัดเลือกจากวุฒิสภา 149 คน จะเป็นผู้กำหนดชะตาและอนาคตทิศทางอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ และโทรคมนาคมของประเทศ ทั้ง 11คนต้องเร่งระดมสมองและคลอดแผนแม่บทตามกฎหมายกำหนดอย่างช้าภายใน 1 ปี ประกอบด้วย แผนแม่บทด้านโทรนาคม แผนแม่บทด้านวิทยุและโทรทัศน์ และแผนแม่บทตารางคลื่นความถี่/ และหากไม่มีอะไรสะดุด เราจะได้เห็น"ใบอนุญาตประมูลคลื่นควาถี่"ใบแรกที่ออกโดยกสทช.ในอีก 1 ปีนับจากนี้
 

 
สำหรับประโยชน์ที่คนไทยจะได้หากเรามีกสทช.ที่มีคุณภาพและเข้มแข็งต่อแรงเสียดทานการเมืองและกลุ่มทุน ก็จะมีโอกาสได้ดูฟรีทีวีมากขึ้นนับร้อยช่อง จากปัจจุบันบ้านเรามีอยู่เพียง 6 ช่อง, มีโอกาสรับชมภาพที่คมชัด รวมถึงเนื้อหาและรายการที่มีคุณภาพมากขึ้น คนต่างจังหวัดเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้นจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและระบบดาวเทียม, ราคาค่าอุปกรณ์สื่อสารและอินเทอร์เน็ตจะเหมาะสมและมีความยุติธรรมมากขึ้น
 
ที่สำคัญยังเป็นครั้งแรกที่ประชาชนจะสามารถร้องเรียนและเอาผิดกับกสทช.ฐานละเว้นปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างจริงจังกว่าที่ผ่านมาที่ได้แค่ร้องเรียนและมีหน่วยงานรับเรื่องเกี่ยวกับการถูกเอาเปรียบจากการใช้บริการโทรคมนาคมเพียงเท่านั้น คือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สบท. สายด่วน 1200 แต่อนาคตเมื่อมีกสทช.ประเทศไทยจะมีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่เหมาะสม หรือถูกเอาเปรียบด้านสื่อโทรทัศน์ และวิทยุเพิ่มขึ้น 
 

 

ในทางกลับกันหากกลไกของกสทช. ไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ที่วางไว้ แต่กลับตอบสนองกลุ่มทุนหรือกลุ่มการเมือง ไม่มีกลไกลควบคุมที่ดี ผู้บริโภคอาจต้องทนฝืนบริโภคข่าวสาร หรือรายการที่อาจเป็น"ขยะสายตา"ผ่านฟรีทีวีทุกวัน และมีแนวโน้มถูกเอาเปรียบจากผู้ให้บริการธุรกิจสื่อ ที่จะมีหลากหลายและเสรียิ่งขึ้น ขณะที่ปัจจุบันเม็ดเงินที่สะพัดกว่าปีละนับแสนล้านบาท สะท้อนได้ถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในธุรกิจเหล่านี้อย่างมหาศาล และอนาคตจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเคลื่อนไหวของประชาชน ก็จะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยกันตรวจสอบการทำงานของกสทช.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ