เหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐ ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านต่อต้านเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย (1)
Posted by ดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน on Wednesday, June 10, 2015
เหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐ ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านต่อต้านเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย (2)หมายเหตุ :: สรุปสถานการณ์กำลังรวบรวมและประสานกับพี่น้องชาวบ้านในพื้นที่ครับ
Posted by ดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน on Wednesday, June 10, 2015
วันนี้ (10 มิ.ย. 58) พันเอกอำนวย จุลโนนยาง รองผู้บังคับการทหารบกจังหวัดเลย ได้โทรศัพท์นัดหมายขอเข้าพูดคุยกับแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 4 – 5 คน หลังจากที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้เดินทางไปร่วมงาน ‘บายศรีสู่ขวัญรับขวัญประชาธิปไตย’ ให้กำลังใจนักศึกษาดาวดิน 7 คน เมื่อวันที่ 7-8 มิ.ย.ที่ผ่านมา (คลิกอ่านข่าว: บายศรีสู่ขวัญให้กำลังใจ 7 นักศึกษาดาวดินก่อนรายงานตัว) แต่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดปฏิเสธจะไม่ร่วมพูดคุยเพียงแค่ 5 คน พร้อมยืนยันจะให้ชาวบ้านทั้งหมดได้รับรู้ร่วมกัน
ต่อมาเวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่รัฐ 15 คน นำโดย พันเอกอำนวย และผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอวังสะพุง รวมทั้งปลัดอำเภอวังสะพุง เดินทางเข้าพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ที่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยชี้แจงชาวบ้าน 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ การทำประปาหมู่บ้าน เรื่องที่สอง เจ้าหน้าที่รัฐได้ชี้แจงว่า แม้ว่าปัจจุบันรัฐจะยกเลิกกฎอัยการศึก แต่ก็ยังคงมี มาตรา 44 ที่ห้ามไม่ให้ประชาชนชุมนุมทางการเมือง การเดินทางไปร่วมงาน บายศรีสู่ขวัญรับขวัญประชาธิปไตย และร่วมอ่านคำประกาศขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (Neo Democracy Movement) (คลิกอ่านข่าว: ‘7 นศ.ดาวดิน’ ไม่ไปรายงานตัว ชี้ ‘ถึงผิดกฎหมายแต่ไม่ผิดจิตสำนึก’) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อาจเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง
นอกจากนั้น ยังห้ามไม่ให้ชาวบ้านเดินทางไปร่วมการทำกิจกรรมในวันที่ 15 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่เจ้าหน้าที่ เรียกนักศึกษาดาวดินทั้ง 7 คน ไปรายงานตัวอีกครั้ง
ขณะที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้สอบถามถึงความคืบหน้าของการถอนฟ้องคดีความ เพื่อแลกกับการขนแร่ก่อนหน้านี้ ซึ่งนอกจาก การถอนฟ้องคดีชาวบ้านจะไม่คืบหน้าตามที่สัญญาไว้แล้ว บริษัทยังได้เดินหน้าฟ้องคดีชาวบ้านเพิ่มอีก 4 คดี ด้านเจ้าหน้าที่กลับอ้างว่าไม่ทราบเรื่อง และขอตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง
ทั้งนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด คือ กลุ่มชาวบ้านจาก 6 หมู่บ้าน ในพื้นที่รอบเหมืองทองคำ ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ เนื่องจากปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ส่วนคดีใหม่ 4 คดี ดังกล่าวประกอบด้วย 1. คดีหมิ่นประมาทที่บริษัทแจ้งความชาวบ้าน ซึ่งบริษัทแจ้งความที่ อ.แม่สอด จ.ตาก 2.คดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีที่นาย สมัย ภักมี ประธานสภา อบต.ไม่นำเรื่องการขออนุญาตต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าในการทำเหมือง เข้าพิจารณาในสภาฯ 3.คดีอาญา กรณีที่ ชาวบ้านทำซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านที่มีข้อความว่า “ปิดเหมืองฟื้นฟู” 4.คดีแพ่ง กรณี ชาวบ้านทำซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านที่มีข้อความว่า “ปิดเหมืองฟื้นฟู”
ภาพและวีดีโอ: ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว |