รถไฟรางคู่ล้านนาตะวันออก: เสียงความหวังของคนพะเยา

รถไฟรางคู่ล้านนาตะวันออก: เสียงความหวังของคนพะเยา

เส้นทางรถไฟสายไหม เด่นชัย เชียงราย เชียงของ

ย้อนหลังไปในปี 2503 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัตน์ ได้ทำการศึกษาเส้นทางรถไฟสายเหนือเพื่อเชื่อมต่อจาก จ.แพร่ ผ่านพะเยา และไปเชียงราย จากนั้นเรื่องก็เงียบหายปี ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาทางการเมือง ท่ามกลางการรอด้วยความหวังของคนพะเยา เชียงราย  ต่อมามีการสำรวจพื้นที่อีกครั้งในปี 2512 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร โดยกำหนดเส้นทาง เด่นชัย – แพร่ – สอง – เชียงม่วน – ดอกคำใต้ – พะเยา – ป่าแดด – เชียงราย ระยะทางรวม 273 กิโลเมตร ต่อมาปี 2537-2538 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทำการทบทวนผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่าเส้นทางชุมทางเด่นชัย – แพร่ – สอง – งาว (ลำปาง) – พะเยา – เชียงราย ย่นระยะทางเหลือประมาณ 246 กิโลเมตร และในที่สุดปีพ.ศ. 2561  ครม. มีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย–เชียงราย–เชียงของ ประกอบด้วย สถานี 26 สถานี ลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง ลานกองเก็บตู้สินค้า 1 แห่ง ก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ 4 อุโมงค์ ก่อสร้างถนนยกข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ 102 แห่ง โครงการเริ่มเริ่มต้นจาก จ.แพร่, จ.ลำปาง, จ.พะเยา, จ.เชียงราย จนถึงเชียงของ

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีจุดเริ่มต้นที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ สิ้นสุดที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 323.1 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย มีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง มีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวก ตามหลัก Universal Design และยังมีการออกแบบรั้วกั้นเขตแนวสายทาง มีสะพานรถไฟ สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง ทางรถยนต์ลอดรถไฟ 102 แห่ง มีทางเชื่อมรวมและกระจายจราจร ตลอดจนสะพานลอย ทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ แก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ 254 จุด ตลอดแนวเส้นทาง เพื่อให้สามารถเพิ่มระดับความเร็วในการเดินทางขนส่งได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของ เส้นทางโครงการอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ แพร่ ระยะทาง 77.20 กิโลเมตร มี 6 สถานี คือ เด่นชัย  สูงเม่น แพร่  แม่คำมี หนองเสี้ยว  จังหวัดลำปาง ระยะทาง 52.40 กิโลเมตร มี 3 สถานี คือ แม่ตีบ งาว และปงเตา จังหวัดพะเยา ระยะทาง 54.10 กิโลเมตร มี 6 สถานี คือ มหาวิทยาลัยพะเยา บ้านโทก หวาก พะเยา  ดงเจน บ้านร้อง และบ้านใหม่ จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 139.40 กิโลเมตร มี 11 สถานี คือ ป่าแดด ป่าแงะ บ้านโป่งเกลือ สันป่าเหียง  เชียงราย  ทุ่งก่อ  เวียงเชียงรุ้ง  ชุมทางบ้านป่าซาง  บ้านเกี๋ยง  ศรีดอนชัย และเชียงของ

ในส่วนของจังหวัดพะเยา อยู่ในโครงการระยะที่ 2 งาว – เชียงราย ระยะทาง 54.10 กิโลเมตร มี 6 สถานี คือ มหาวิทยาลัยพะเยา บ้านโทก หวาก พะเยา  ดงเจน บ้านร้อง และบ้านใหม่ ซึ่งการก่อสร้างมีความก้าวหน้าไปตามลำดับ โดยเดือนพฤศจิกายน 2567 ภาพรวมมีความก้าวหน้าไปกว่า 20 %

นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ (สัญญาที่ 2) การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การสร้างรถไฟสายล้านนาตะวันออก เป็นเส้นทางประวัติศาตร์ที่ชาวล้านนาตะวันออกรอคอยกันมานาน ซึ่งจะเป็นเส้นทางขนส่งและเส้นทางเศรษฐกิจ โครงการมีความคืบหน้าไปกว่า 20 %โดยเฉลี่ย โดยเฉพาะการขุดเจาะอุโมงค์ลอดภูเขาทั้ง3สัญญา คาดว่าจะสามารถทำให้เสร็จก่อนสัญญา 3-5 เดือน ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

นายปัฐตพงษ์ กล่าวต่อไปว่าแม้ว่าตลอดมาทั้ง3 สัญญาจะเกิดอุปสรรคโดยเฉพาะช่วงที่เกิดอุทกภัยในภาคเหนือผ่านมา แต่ทางการรถไฟฯก็พยายามแก้ไขจนระบบทุกอย่างเข้าสู่ปกติ  สามารถทำงานได้เท่ากับจำนวนปริมาณที่ต้องหยุดไป

            “ เส้นทางรถไฟสายล้านนาตะวันออก เด่นชัย -เชียงราย-เชียงของจะเป็นเส้นทางพิเศษสายแรกของภาคเหนือที่จะมีการเชื่อมโยงกับพื้นที่ชายแดน ที่จุดเชื่อมโยงเปลี่ยนถ่ายสินค้า อ.เชียงของ จ.เชียงรายเขตติดต่อกับสปป.ลาว และเป็นสินเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย เพราะจะเป็นจุดรวมระบบรางกับระบบขนส่งทางบกทั้งสปป.ลาวและประเทศจีนได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะทางการรถไฟได้ปรับเปลี่ยนแบบ ระบบเชื่อมราง ซึ่งมีการเจรจากันในระดับประเทศแล้วและมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก นั่นเท่ากับว่าโครงการรถไฟรางคู่สายเด่นชัย -เชียงราย เชียงของ จะเป็น “ กระดูกสันหลัง “ ที่สำคัญของล้านนาตะวันออก สายขนส่งจะเปลี่ยนไป ระบบการขนส่งจะเปลี่ยนไป ต้นทุนการขนส่งจะถูกไปครึ่งหนึ่ง ทำให้ต้นทุนทางล้านนาตะวันออกจะได้เปรียบ จะเป็นการเติมเขี้ยวเล็บให้ผู้ประกอบการ และคืนผลกำไรให้ประชาชน อย่างแท้จริง รถไฟสายนี้ ไม่ใช่รถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นรถไฟสำหรับชาวล้านนาตะวันออกและประชาชนคนไทยทุกคน “ นายปัตฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายประเวท  เงินเย็น ชาวบ้านห้วยเคียน ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา ยอมให้ที่ดินกับการรถไฟฯไปใช้สร้างสถานีรถไฟมหาวิทยาลัยพะเยา จำนวน 3.3 ไร่ ซึ่งเป็นที่ทั้งหมดของตนเองมีอยู่และเป็นที่ที่ดินผืนสุดท้าย เพื่อให้เปิดประโยชน์กับส่วนรวม และวางแผนไว้ว่าจะทำร้านอาหาร ขายอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว หรือลาบ น้ำตก บนพื้นที่น้องชายที่ติดกับสถานีฯเช่นกันแต่ไม่ถูกเวนคืน  คิดว่าเงินชดเชยและเงินจากการขายอาหารตามสั่งน่าจะทำให้ชีวิตไม่ลำบากมากนัก ครั้นจะไปลุงทุนอย่างอื่นก็คงสู้นักธุรกิจที่ดินและเจ้าของหอพักที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในตลอดเส้นทางของตัวสถานีฯได้

นายกมลสันต์ ศีวิราช ประธานหอการค้าจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า ทางหอการค้าฯ ได้ผลักดันแผนยุทธศาสตร์ “ รถต่อราง “ เพื่อใช้ประโยชน์จากการเมืองสถานีรถไฟผ่านพื้นที่จังหวัดพะเยาอย่างเต็มที่ เช่น เพิ่มเส้นทางบกเชื่อมต่อสถานีรถไฟ เพื่อเข้าเมือง เชื่อมต่อสถานีรถโดยสารประจำทาง สร้างเส้นทางเชื่อมต่อไปสนามบินพะเยาในอนาคต  หรือแม้กระทั่งเชื่อมต่อเส้นทางที่จะไปสู่แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ  ทำจุดรับ – ส่งสินค้าทางการเกษตรจากพะเยาไปสู่ส่วนกลาง หรือจากพะเยาไปยังเชียงของต่อเข้าจีน ลาว หรือเวียตนาม ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างมากมายกับคนพะเยาโดยรวม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ