ตรัง “เฉลิมชัย” ฟัน 4 มาตรการ สั่ง ทช.-อส. ร่วมเครือข่าย เร่งฟื้นฟูหญ้าทะเล ตัวแทนชาวบ้านเกาะลิบงยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ ขอให้รัฐดำเนินการอย่างจริงใจ

ตรัง “เฉลิมชัย” ฟัน 4 มาตรการ สั่ง ทช.-อส. ร่วมเครือข่าย เร่งฟื้นฟูหญ้าทะเล ตัวแทนชาวบ้านเกาะลิบงยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ ขอให้รัฐดำเนินการอย่างจริงใจ

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.67 ที่รร.บาตูปูเต๊ะ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อพบปะพี่น้องชาวเกาะลิบง และเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง ในพื้นที่จังหวัดตรัง รวมทั้งรับฟังรายงานสถานภาพสัตว์ทะเลหายากในภาพรวมของประเทศ ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติงานในการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลและพะยูน พร้อมมอบนโยบายในด้านการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก และการฟื้นฟูแหล่งอาหารของพะยูน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันในการดูแล ปกป้อง และคุ้มครองทรัพยากรพะยูนและแหล่งหญ้าทะเลไม่ให้สูญหายไปจากท้องทะเล

ขณะเดียวกันระหว่างนั้น นายศรายุทธ สารสิทธิ์ รองประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลเกาะลิบง เป็นตัวแทนชาวบ้านมอบหนังสือพร้อมข้อเสนอแนะ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอให้หน่วยงานภาครัฐหยุดการพัฒนาที่กระทบต่อแหล่งหญ้าทะเลของตําบลเกาะลิบง 2.ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลของ ต.เกาะลิบง โดยกําหนดพื้นที่เป้าหมาย หมู่ที่ 4 บ้านบาตูปูเต๊ะ (อ่าวมาเรียม) เป็นพื้นที่แรก เพราะมีความเหมาะสมต่อการฟื้นฟูหญ้าทะเลและเป็นจุดที่พะยูนเข้ามาหากินเป็นประจํา 3.ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาจัดทําแผนงาน/โครงการในการส่งเสริมอาชีพชุมชนประมง พื้นบ้านตําบลเกาะลิบง และ 4. ขอให้ทบทวนการบังคับใช้ประกาศแนวเขตอนุรักษ์ทับที่อยู่อาศัยของประชาชน หมู่ 4 บ้านบาตูปูเต๊ะ และ หมู่ 7 บ้านหาดทรายแก้ว ตําบลเกาะลิบง อําเภอกันตัง จังหวัดตรัง เหตุผล เพราะเป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อน นับร้อยปี และบางแปลงมีเอกสารสิทธิอย่างชัดเจน พร้อมทั้งขอให้ดำเนินการอย่างจริงจังและจริงใจ

ภายหลังการประชุม ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะจังหวัดตรัง ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของพะยูน ส่งผลกระทบทำให้พะยูนเกิดภาวะขาดแคลนอาหารและต้องอพยพไปยังพื้นที่ใหม่ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้กำหนด 4 มาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติพะยูนเกยตื้นและหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ประกอบด้วย 1.เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการสำรวจประชากรพะยูนด้วยอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึง (Fixed-wings Unmanned Aerial Vehicle: Fixed-wings UAV) และแบบสำรวจการพบเห็นพะยูนให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ทราบจำนวน พื้นที่การแพร่กระจายที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงสำรวจสุขภาพของพะยูนแต่ละตัวว่ามีความสมบูรณ์ หรือมีอาการป่วย

เพื่อหามาตรการช่วยเหลือไม่ให้พะยูนตายจากการขาดอาหาร 2.หาแนวทางประกาศพื้นที่คุ้มครองและบังคับใช้มาตรการ ซึ่งจะเป็นการป้องกันอันตราย จากการประกอบกิจกรรมในทะเล ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพะยูนที่เข้ามาอาศัย จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกประกาศพื้นที่คุ้มครองพะยูนชั่วคราว ซึ่งคาดว่าจะประกาศ 3 จุด ประกอบด้วย หน้าหาดราไวย์ อ่าวบางโรง และอ่าวบางขวัญ ซึ่งเป็นจุดที่พบพะยูนจำนวนมาก โดยจะต้องมีการหารือในรายละเอียดกับภาคส่วนต่างๆ อีกครั้ง ก่อนที่จะมีการประกาศออกไป 3.ค้นหาและช่วยเหลือพะยูนที่ยังมีชีวิตและอ่อนแอ โดยเร่งฟื้นฟูแหล่งอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พะยูนอพยพย้ายถิ่น ตลอดจนกำหนดแผนงานในระยะเร่งด่วนที่จะเพิ่มอาหารให้กับพะยูนในธรรมชาติ

และดูแลพะยูนที่ผอมเป็นพิเศษโดยการเสริมอาหารทดแทนหญ้าทะเลในธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดตรัง และจังหวัดภูเก็ต รวมถึงศึกษาแนวทางการกั้นคอกเพื่อดูแลพะยูนที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอในธรรมชาติ พร้อมทั้งพัฒนาและเตรียมความพร้อมของศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากจังหวัดตรัง และศูนย์ช่วยชีวิตสิรีธาร จังหวัดภูเก็ต และ 4.เตรียมบ่อกุ้งร้างหรือสถานที่เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หญ้าทะเลร่วมกับภาคเอกชนและชุมชน พร้อมทั้งเร่งศึกษานวัตกรรมการฟื้นฟูหญ้าทะเลในธรรมชาติ พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมพิทักษ์พะยูน ทส. พร้อมเสนอของบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นจำนวนเงิน 615,163,000 บาท เพื่อใช้ในการดำเนินงานกิจกรรมอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ