ถึงเธอประเทศไทยในอุดมคติ ข้อเสนอสีรุ้งจากกลุ่มโลกสวย

ถึงเธอประเทศไทยในอุดมคติ ข้อเสนอสีรุ้งจากกลุ่มโลกสวย

เป็นอีกกลุ่มที่ออกมาร่วมเสนอทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดของการปฏิรูปทางการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยและโดยสันติวิธี นี่คือ “กลุ่มโลกสวย”

การเคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊คอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ 12 ธันวาคม 2556 จนถึงวันนี้ หากใครได้ติดตามจะเห็นแนวทาง ข้อเสนอ รวมถึงการออกแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยืน รวมทั้งมุมมองผ่านกลุ่มเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งมาโดยตลอด และล่าสุด “กลุ่มโลกสวย” ก็ได้ผุดแนวคิดของการออกจากวิกฤตทางการเมืองอีกครั้ง

ดูภาพประกอบเพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้น จากนั้นอ่านข้อความเพื่อขยายความเข้าใจ หากยังไม่หนำ แนะนำให้ไปกดไลค์ที่เฟซบุ๊ค “กลุ่มโลกสวย”

20141501165700.jpg

ข้อเสนอทางออกทางการเมืองกรณีการเลื่อนเลือกตั้งและปฏิรูปการเมืองโดยยึดหลักประชาธิปไตยและสันติวิธี

กลุ่มโลกสวยเพื่อการปฏิรูปการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี เห็นว่าการเดินหน้าเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยปราศจากความเห็นพ้องต้องกันที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านปฏิเสธลงสมัครรับเลือกตั้ง การต่อต้านของ “มวลมหาประชาชน” และที่สำคัญที่สุดปราศจากข้อเสนอแนวทางและเนื้อหาการปฏิรูปการเมืองที่หลายฝ่ายเห็นชอบ จะนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ของประเทศ

การเลือกตั้งซึ่งควรเป็นแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งพื้นฐานจะกลายเป็นชนวนของการสร้างความขัดแย้งเสียเอง การเลือกตั้งที่จะมาถึงเพื่อให้สามารถได้จำนวนผู้แทนราษฎรถึง 95% จะเป็นการเลือกตั้งเลือด และแม้จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ รัฐบาลดังกล่าวจะขาดการยอมรับจากประชาชนจำนวนมาก ความขัดแย้งทางสังคมครั้งใหญ่รออยู่ข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลวท่ามกลางเปลวเพลิง

เราเชื่อว่ายังมีความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้ได้ โดยการยึดหลักประชาธิปไตย สันติวิธี และมีความชอบธรรม ทั้งนี้โดยที่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องของ “มวลมหาประชาชน” และประชาชนฝ่ายต่างๆ ได้ในระดับหนึ่ง 

ข้อเสนอทางเลือกเพื่อให้ฝ่ายรัฐบาล กปปส. พรรคฝ่ายค้าน และมวลชนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณา มีดังต่อไปนี้

1.นายกรัฐมนตรีรักษาการลาราชการโดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีที่ทุกฝ่ายยอมรับได้มากที่สุดมาทำหน้าที่แทนเพื่อดูแลการเลือกตั้งและเริ่มต้นการปฏิรูปการเมือง รองนายกฯที่ทำหน้าที่แทนนายกฯรักษาการ มีหน้าที่สำคัญหลักที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3-5 เดือนก่อนการเลือกตั้ง ดังนี้

1.1 จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองซึ่งมีองค์ประกอบจากประชาชนทุกกลุ่ม นักวิชาการ กลุ่มธุรกิจ ภาคประชาสังคม และตัวแทนจากฝ่ายการเมือง ในทางปฏิบัติ การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อให้เป็นที่ยอมรับนั้นต้องมีการปรึกษาหารือกับทุกกลุ่มและเป็นที่ยอมรับกันได้มากที่สุด    

1.2 คณะกรรมการปฏิรูปฯดำเนินการรวบรวมประเด็นสำคัญและข้อเสนอในการปฏิรูปทางการเมือง และอาจรวมไปถึงข้อเสนอการปฏิรูปสังคมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การขจัดความเหลื่อมล้ำ นโยบายประชานิยมที่ไม่ยั่งยืน ฯลฯ ออกแบบให้ประชาชนได้ลงประชามติทั้งเรื่องลำดับความสำคัญและแนวทางการปฏิรูป โดยดำเนินไปพร้อมกับการเลือกตั้งที่จะมาถึง 

2. พิจารณาเลื่อนการเลือกตั้งออกไปโดยให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นโดยเร็วภายใน 3-5 เดือน 

2.1 เปิดการเจรจากับพรรคฝ่ายค้านและมวลชนทุกฝ่ายเพื่อให้พรรคฝ่ายค้านยอมรับที่จะลงเลือกตั้งและประชาชนที่ชุมนุมอยู่พร้อมที่จะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 

2.2 ประเด็นปัญหาข้อจำกัดทางกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้น อาจนำเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือการพิจารณาหาทางออกโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

2.3 ประสานงานกับพรรคการเมืองทุกพรรคเพื่อทำสัตยาบันให้การเลือกตั้งที่จะมาถึงให้เป็น “การเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูปการเมือง” พรรคการเมืองจะหาเสียงโดยนำเสนอประเด็นสำหรับการปฏิรูปทางการเมืองเป็นหลักเท่านั้น

3. จัดตั้ง “รัฐบาลเพื่อการปฏิรูปการเมือง” ที่มาจากการเลือกตั้ง มีหน้าที่หลักในการทำงานกับรัฐสภาเพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดการปฏิรูปการเมืองตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการปฏิรูปทางการเมือง(และสังคม)ซึ่งได้จากการทำประชามติ

รัฐสภาจะเป็นกลไกหลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตราและปรับปรุงกฎหมายที่จำเป็นเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมือง ตามเจตนารมณ์ของประชาชนซึ่งผ่านการลงประชามติและการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา

รัฐบาลนี้มีภารกิจเพื่อการปฏิรูปการเมืองเป็นหลัก ส่วนหน้าที่อื่นๆเป็นหน้าที่กำกับบริหารงานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ภารกิจทั่วๆไป ส่วนนโยบายและโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้งต่างๆต้องยุติเอาไว้ก่อน ทั้งนี้โดยมีอายุการบริหารงานไม่เกิน 2 ปี หลังจากนั้นประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งภายใต้กรอบกติกาตามกระบวนการประชาธิปไตย

ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งแบ่งฝ่าย ที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งยืนยันสิทธิในการเลือกตั้ง-ประชาธิปไตย และอีกกลุ่มหนึ่งเรียกร้องสังคมที่ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่นและการใช้เสียงข้างมากอย่างไม่ชอบธรรมนั้น การยึดหลักสันติวิธี การประนีประนอมของทุกฝ่าย โดยเริ่มต้นการปฏิรูปอย่างจริงจังภายใต้วิถีทางประชาธิปไตยที่ยึดโยงกับประชาชน พร้อมทั้งดำเนินการให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว จึงเป็นทางออกสำคัญของประเทศ

เพราะสังคมอุดมคติของคนทั้งสองฝ่ายและคนไทยทั้งหมด คือสังคมประชาธิปไตยที่ปลอดพ้นไปจากทุจริตคอรัปชั่น การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม บนสิทธิที่เท่าเทียมและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

15 มกราคม 2557

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ