ถอดบทเรียน 5 ปีสื่อพลเมือง-สื่อสาธารณะ-สังคมไทย

ถอดบทเรียน 5 ปีสื่อพลเมือง-สื่อสาธารณะ-สังคมไทย

ถอดบทเรียน 5 ปีสื่อพลเมือง-สื่อสาธารณะ-สังคมไทย
สร้างปรากฏการณ์ใหม่แต่เผชิญข้อท้าทายให้ยกระดับ

                                                                                                                                   อามิเนาะ  อารง 

   

           “เทพชัย” ชี้สื่อพลเมืองสร้างปรากฏการณ์โดดเด่นในการมีส่วนร่วมด้านการผลิตกับสื่อสาธารณะมั่นใจยกระดับสู่การเป็นผู้ผลิตอิสระที่จะเป็นกำลังสำคัญของการสื่อสาร ชี้ข้อท้าทายพัฒนา รูปแบบนำเสนอที่ขยายผลจากประเด็นในพื้นที่ให้เชื่อและมีผลกระทบกับวงกว้าง  พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในข้อมูล  และยกระดับสร้างภาพลักษณ์ในสังคมสู่สากลได้

           ในงานประชุมเครือข่ายสื่อพลเมือง ประจำปี 2555  “พลังสื่อ…มือสมัครใจ”  ซึ่งสำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย  (ThaiPBS)จัดขึ้นในวันที่ 25-26 ส.ค.2555 โดมีตัวแทนเครือข่ายสื่อพลเมืองทั่วประเทศ  นักข่าวพลเมือง สื่อชุมชน ผู้ผลิตอิสระ  สถาบันการศึกษา เยาวชนนักสื่อสารเพื่อชุมชน  และบุคคลทั่วไปร่วมงาน

            นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวกับที่ประชุมในหัวข้อ “สื่อพลเมือง สื่อสาธารณะกับสังคมไทย”ว่า สื่อพลเมืองได้เติบโตร่วมกันกับสื่อสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง หากมองย้อนกลับไปจะเห็นพัฒนาการของทั้ง 2 ฝ่ายอย่างต่อเนื่อง  นับจากเริ่มต้นทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ เมื่อ 4 ปีที่แล้วประชาชนหรือแม้แต่คนทำงานก็นึกภาพสื่อสาธารณะไม่ออกว่าประชาชนจะมาทำอะไรกับสื่อได้  ซึ่งนับเป็นความท้าทายของคนทำงานที่จะสร้างความเข้าใจ  แม้จะมีทิศทางนโยบายและกฎหมายระบุว่าจะต้องดำนินการไปทิศทางใด แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องไม่ง่าย   4 ปี 10 เดือนที่ผ่านมาจึงเป็นช่วงเวลาทั้งฉุกละหุก เลวร้าย ลำบาก และท้าทายที่สุดของ ThaiPBS 

            แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมา  สิ่งที่ได้เห็นอย่างโดดเด่นคือการมีส่วนร่วมของประชาชน  ที่ไม่เพียงแต่วิพากษ์วิจารณ์ประเด็น แต่ร่วมผลิตรายการด้วย ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่มาก ความสำคัญไม่ใช่การมาเป็นนักข่าวพลเมือง  แต่หัวใจคือการที่สื่อทั่วไปมองข้าม ถูกหยิบยกขึ้นมาเปิดเผย อธิบายในรูปแบบต่างๆ
ที่ผ่านมารูปแบบการมีส่วนร่วมแบบเริ่มต้นคือ “นักข่าวพลเมือง” มารายงานเรื่องของตนเองให้สังคมได้รับทราบ  เป็นการสะท้อนวิถี ปัญหาให้คนได้รับรู้ ด้วยภาษาของตนเอง  นับเป็นเรื่องสวยงาม และเป็นก้าวที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่  และหากพิจารณาเนื้อหาของนักข่าวพลเมืองก็ได้สะท้อนสิ่งที่เป็นปัญหาภาพใหญ่ของสังคมไทยด้วย   แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ไม่เข้าใจว่าคนเหล่านี้เป็นใคร   มีสิทธิ์อะไรที่จะมารายงานข่าวให้คนฟัง  แม้แต่คณะกรรมการที่มาประเมินการปฏิบัติงานประจำปีที่ประเมิน ThaiPBS  ชุดหนึ่งประเมินจากข้อคิดเห็นประชาชนบางส่วนว่า ไม่ควรเอารายการที่ไม่มีคุณภาพมาออกอากาศในช่วงไพร์มไทม์ (ช่วงเวลานักข่าวพลเมืองออกอากาศประมาณ 20.00 น.) แต่สิ่งที่กรรมการนโยบายและกรรมการบริหารยืนยันว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

    “ถ้าคุณไม่เอาเวลาไพร์มไทม์ไปให้กับสังคม ชาวบ้าน เจ้าของประเด็น คนที่สามารถสะท้อนเรื่องราวได้  จะให้เวลาตีสามเช่นนั้นหรือ … นี่เป็นการพิสูจน์แล้วว่าเรามีความจริงจังที่ให้เวลากับพลเมืองอย่างแท้จริง   และระยะเวลาที่ผ่านมาของความพยายามขยายบทบาท ทักษะ ศักยภาพของนักข่าวพลเมือง ผู้ผลิตอิสระในการทำรายการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น นับเป็นพัฒนาการที่น่าประทับใจและเห็นทิศทางการเติมโตที่ขัดเจนว่าสื่อพลเมืองจะเป็นพลังที่สำคัญต่อไปร่วมกับสื่อสาธารณะ”

              อย่างไรก็ตาม นายเทพชัยกล่าวว่ามีความท้าทายที่จะเคลื่อนให้สื่อพลเมืองมีความหมายในวงกว้างขึ้นได้อย่างไร  ข้อแรกจะทำให้ประเด็นที่จุดขึ้นมามีผลกระทบให้สังคมจำนวนมากมีความรู้สึกร่วมให้ความสนใจและผลักดันให้เกิดการแก้ไขได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาทักษะการนำเสนอ 
ข้อสอง สื่อพลเมืองจำเป็นต้องมีหลักการบนพื้นฐานจริยธรรมหรือไม่  หากเป้าหมายสูงสุดของจริยธรรมมีไว้เพื่อให้คนรับสารมั่นใจว่า สิ่งที่ได้รับรู้น่าเชื่อถือ ถูกต้อง เที่ยงตรง ไม่ได้เป็นเครื่องมือของใคร   สื่อพลเมืองจะผลิตข้อมูลเพื่อตอบโจทย์เดียวกันหรือไม่  เพราะตนเชื่อมั่นว่าเมื่อเราทำงานสื่อสารก็ต้องการให้คนดูเชื่อว่าข้อมูลน่าเชื่อถือ  เป็นกลาง เป็นธรรม  คงไม่อยากให้คนดูตั้งข้อสงสัยในชิ้นงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายและชวนคิดว่าเราควรให้น้ำหนักของจริยธรรมในการผลิตรายการแค่ไหนข้อสาม ความท้าทายจากการเป็นสากลที่ประเทศไทยเข้าร่วมประชาคมอาเซียน ที่หมายถึงเพื่อนบ้านของประเทศ ความสำคัญอยู่ที่การเตรียมพร้อมและปรับตัว  สื่อพลเมืองก็ต้องเรียนรู้การปรับตัวเพื่อสะท้อนการสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้
ข้อสี่ เราอยากให้ภาพลักษณ์ของสื่อพลเมืองปรากฏในสังคมนี้อย่างไร  ?

“สำหรับผมคิดว่าสื่อพลเมืองควรจะเป็นพลังที่สำคัญที่สุด เพราะสะท้อนประเด็นทางสังคมได้ใกล้ชิดและตรงไปตรงมาที่สุด  แต่ที่ท้าทายคือรูปแบบการนำเสนอ ที่จะทำให้ระดับของคุณภาพที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ให้มีความน่าสนใจ เร้าใจเพิ่มขึ้น เราจึงพยายามส่งเสริมให้สื่อพลเมืองที่มีความพร้อม ใช้เทคนิการผลิตซับซ้อนมากขึ้นเพื่อยกระดับการผลิตที่สามารถสื่อสารระดับนานาชาติได้”

      นายเทพชัยยังชวนเครือข่ายสื่อพลเมืองคิดถึงความท้าทายระดับกว้างกับบทบาทของสื่อสาธารณะว่า  ก็ไม่ใช่ว่าคนในประเทศไทยทั้งหมดจะชื่นชมสื่อสาธารณะ บางคนตั้งคำถามว่าจำเป็นจะต้องมีไหม เพราะ ThiPBS เกิดมาในช่วงตลาดสื่อแน่นไปหมดไม่เหมือนบีบีซีหรือเอ็นเอชเคที่เป็นเจ้าแรกของประเทศอังกฤษและญี่ปุ่น  แต่สำหรับประเทศไทยทุกคนมีทางเลือกในการชมทีวี และยังเป็นช่วงที่แวดวงนิวมีเดียบูม  จึงจะยังคงมีคำถามอีกนานว่าจำเป็นต้องมีสื่อสาธารณะหรือไม่  ยิ่งฝ่ายการเมืองยิ่งไม่ขอบใจสื่ออิสระที่ไม่สามารถสั่งได้ มีสัญญานจะควบคุมแก้ไขในหลายลักษณะ การดำรงอยู่ของ ThaiPBS ก็ใช่จะสมบูรณ์แบบในยุคเริ่มต้น   แต่หากกในหลักการเราเชื่อว่ามีความจำเป็นจะต้องมีสื่อสาธารณะที่เป็นอิสระในการสื่อสารแล้ว ก็ย่อมเป็นความท้าทายที่แยกกันไม่ออกที่สื่อพลเมืองจะร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของพลังในการปกป้อง  และเป็นการลงทุนของสังคมเพื่อให้มีสื่อที่ประชาชนพึ่งได้ เป็นสถาบันที่คนยอมรับและเห็นคุณค่าของการมีอยู่อย่างแท้จริง

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ