“คนรุ่นใหม่อีสานใต้” กับทรัพยากรและ “สิทธิชุมชน”

“คนรุ่นใหม่อีสานใต้” กับทรัพยากรและ “สิทธิชุมชน”

เรียบเรียง พงษ์เทพ บุญกล้า

ผู้เขียนกล่าวถึง “คนรุ่นใหม่อีสานใต้” ในกิจกรรม “ค่ายคนรุ่นใหม่อีสานใต้เรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติ” จัดขึ้นที่ “ป่าชุมชนหนองระเวียง” บ้านโคกจราบ ตำบลตาเบา อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2567 เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการป่า การดูแลป่า ระบบนิเวศ วิถีชุมชน ฐานทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน และการอนุรักษ์ พบว่า “ป่าชุมชนหนองระเวียง” เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งร่วมกันดูแลป่าผ่าน “คณะกรรมการป่าชุมชน” และ “เครือข่ายป่าชุมชน” รวมทั้งการทำงานเชิงรณรงค์ให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากป่าและดูแลป่า เช่น การพัฒนาฟืนฟูผืนป่าและพันธุ์พืชท้องถิ่น การขยายพันธุ์สมุนไพรในป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชุมชน พบอีกว่า ภูมินิเวศป่าชุมชนหนองระเวียงมีความสำคัญกับชาวบ้านที่อยู่ใกล้ป่า และน้ำที่เกิดขึ้นจากป่าช่วงฤดูน้ำหลากยังไหลสร้างความอุดมสมบูรณ์ไปถึง “ลุ่มน้ำห้วยเสนง” ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรหล่อเลี้ยงชุมชนเมือง ก่อนไหลต่อลงไปที่ลุ่มแม่น้ำมูลและลุ่มแม่น้ำโขง นายสุดท้าย ถึงดี คณะกรรมการป่าชุมชนหนองระเวียง (บ้านโคกจราบ) สะท้อนว่าป่าแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์หลากหลาย ทั้งสัตว์น้ำ พืช ต้นไม้ ที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ผู้ชายเข้าไปล่าสัตว์ เช่น กบ เขียด ปลา หรือผู้หญิงเข้าไปเก็บของป่า เช่น เห็ด ไข่มดแดง แมลง พืช ผักป่าตามฤดูกาล “ป่าตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำห้วยเสนงซึ่งเป็นหัวใจหลักของคนเมือง ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากป่า ชาวบ้านรักษาป่า อยู่ร่วมกับป่าอย่างเข้าใจและเคารพต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งมีการออกแบบพื้นที่ใช้ประโยชน์จากป่าร่วมกันหลายหมู่บ้าน “เชิงอนุรักษ์” และการสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์และการดูแลป่า

ป่าชุมชนไม่ใช่แค่การอนุรักษ์ป่าไว้เฉยๆ แต่ป่าชุมชนมีชีวิตมาก หมายถึง ป่าไม่ได้เลี้ยงแค่คน แต่ป่าเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงวัฒนธรรม หรือเลี้ยงความเชื่อของคนทั้งชุมชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของชุมชนในการใช้ประโยชน์จากป่า “ป่าตรงนี้ คือ ชีวิตของคนในชุมชน”

ไออุ่น: ปิยอร ธรรมษา คนรุ่นใหม่อีสานใต้/ศูนย์เผยแพร่และช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

“คนรุ่นใหม่อีสานใต้” กับการเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติ

ไนท์: ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมอีสานใต้ สะท้อนว่าการจัดกิจกรรมค่ายครั้งนี้พยายามเชื่อมโยงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่คนรุ่นใหม่ได้ลงพื้นที่เรียนรู้ชุมชนรวมทั้งการให้แนวทางด้านกฎหมาย เพื่อการเคลื่อนไหวด้านทรัพยากรธรรมชาติ และการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ลงพื้นที่เรียนรู้ “ค่ายนี้เกิดจากการพูดคุยของพวกเราที่ต้องการสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่และเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ไปเรียนรู้ในสถานที่จริง พื้นที่ที่มีเรื่องราว ข้อพิพาท และผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นกับชาวบ้านและป่า” ขณะที่ ไออุ่น: ปิยอร ธรรมษา ศูนย์เผยแพร่และช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า กิจกรรมค่ายเน้นประเด็นสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรชุมชน และป่าชุมชน และสิทธิชุมชน “สิ่งที่ดึงดูดพวกเราเข้ามาร่วม คือ ประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ชาวบ้านอยากได้ข้อมูลและความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดการจัดการปัญหาข้อพิพาทระหว่าง “ชาวบ้าน” กับ “รัฐ”ในพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ด้านขอบเขตและการใช้ประโยชน์” ซึ่ง ธูป: ธูป เป็นสุข เจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือและพัฒนาเครือข่าย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มองว่า พื้นที่อีสานใต้เคยมีการเคลื่อนไหวกิจกรรมทางสังคมอย่างเข้มแข็งและเป็นหมุดสำคัญที่บ่มเพาะกระบวนการคิดทางสังคม แต่ระยะหลังๆ มานี้เริ่มมีน้อยลง ดังนั้น การทำค่ายนี้จึงเกิดขึ้นภายใต้ความรู้สึกอยากทำและทุ่มเทให้เกิดขึ้น ด้วยความพยายามเปิด “พื้นที่” ให้กับ “คนรุ่นใหม่อีสานใต้” ให้คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดแตกต่างหลากหลาย ได้มีพื้นที่ในการคิด การพูด และการแสดงออก เป็นพื้นที่แสดงออกที่ปลอดภัย (safe zone) กระบวนการออกแบบค่ายของคนรุ่นใหม่อีสานใต้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของพื้นที่อีสานใต้ที่สอดแทรกกระบวนการทางสังคมและการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนในพื้นที่อีสานใต้ “อยากให้คนรุ่นใหม่ได้พูดคุย สื่อสาร และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างอิสระ รวมทั้งสะท้อนประเด็นโครงสร้างทางสังคมที่เชื่อมโยง การจัดกิจกรรมนี้จึงเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน”

เราอยากสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่คนรุ่นใหม่ได้ลงไปพื้นที่จริงนอกห้องเรียน การทำค่ายได้เปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับป่าชุมชน การจัดกิจกรรมทำให้ผู้เข้าร่วมได้รู้เรื่องราวของป่าและลงพื้นที่เดินป่าเพื่อให้ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้เห็นพื้นที่จริง ได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ พืชผัก พันธุ์ไม้ หรือพื้นที่ความเชื่อของชาวบ้าน “หลายๆ คนบอกว่าไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน ไม่เคยได้เห็นความสำคัญของป่าชุมชนมาก่อนเลย”

ไนท์: ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ คนรุ่นใหม่อีสานใต้

นิเวศวิทยาและนิเวศวัฒนธรรม : มนุษย์ ป่า สัตว์ และสรรพสิ่ง

การดำเนินกิจกรรมยืดหยุ่นและสนุกสนาน มีกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกให้กับคนรุ่นใหม่อีสานใต้ที่เข้าร่วม ซึ่งเน้นประเด็นมิติด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการลงพื้นที่เดินสำรวจ “ป่าชุมชนหนองระเวียง” ธูป เป็นสุข กล่าวว่า “ชุมชนมีมุมมองที่ต้องการให้เกิดกิจกรรมลักษณะนี้ ชุมชนยินดีต้อนรับคนรุ่นใหม่เข้าพื้นที่ การลงพื้นที่ดำเนินกิจกรรม 1 วันอาจจะไม่จบหรือเข้าใจในทันที แต่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมต่อเนื่อง การเข้าร่วมกิจกรรมลักษณะนี้ทำให้เกิดการกระตุ้นชุมชนเกี่ยวกับความสำคัญของป่า”

นอกจากนั้น กระบวนการลงพื้นที่ยังเชื่อมโยงถึงมิติอื่นๆ เกี่ยวกับสิทธิชุมชน สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต ภูมินิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ธูป เป็นสุข กล่าวต่อว่า “ชุมชนเคารพธรรมชาติเพราะเขามีความเชื่อ” กล่าวคือ “มนุษย์” มีความสัมพันธ์กับ “ธรรมชาติ” และ “พลังเหนือธรรมชาติ” ชุมชนที่ใช้ประโยชน์และอยู่ร่วมกับธรรมชาติแสดงออกถึงความหมาย “เชิงสัญลักษณ์” เกี่ยวกับป่าผ่านวิถีชีวิตและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่แค่ป่าแห่งนี้แต่หมายถึงพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติอีกหลายๆ แห่งของชุมชน เช่น วิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มี “ป่าบุ่งป่าทาม” หรือตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของผู้คนที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำชี ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากรัฐ โดยเฉพาะการสร้าง “เขื่อน” เพื่อควบคุมแม่น้ำและทรัพยากรซึ่งส่งผลกระทบถึงป่าบุ่งป่าทามและวิถีชีวิตของชุมชน หรือการอยู่ร่วมกันของ “คน” กับ “ป่า” และ “ช้าง” ที่ภูกระดึง สะท้อนการอยู่ร่วมกันของสรรพสิ่งด้วยความเคารพ แตกต่างจากคนกับป่าในบางพื้นที่ซึ่งเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือการเข้ามาของเกษตรพันธะสัญญาที่ส่งผลกระทบต่อการรุกล้ำพื้นที่ป่าและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและช้าง เมื่อช้างลงมาบุกรุกพื้นที่เพาะปลูกจึงถูกมองว่าเป็นศัตรู ทั้งๆ ที่มนุษย์เป็นผู้บุกรุกป่า เป็นต้น

ลงพื้นที่เดินสำรวจป่าพบหลักศิลาโบราณที่ชาวบ้านมีความเชื่อเชื่อมโยงกับป่า เห็นชาวบ้านใช้ใบไม้บูชากราบไหว้เพื่อขอให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข การอยู่กับธรรมชาติจะยึดติดเพียงกฎหมายในการจัดการไม่ได้ ชาวบ้านมีพื้นที่ของความเชื่อและการอยู่ร่วมกันกับป่า “เรื่องธรรมชาติจะเอากฎหมายมาใช้ไม่ได้” โดยเฉพาะพื้นที่ของ “คน” ที่อาศัยอยู่กับ “ป่า” มีความผูกพันและความเชื่อเข้มข้น “พวกเขาเคารพป่าอยู่แล้ว” เพราะชุมชน ความเชื่อ และการอยู่กับป่ามาก่อนกฎหมาย แต่การเข้ามาของกฎหมายบางครั้งนำไปสู่ความขัดแย้ง “แม้ความเชื่อไม่ใช่กฎหมายแต่ความเชื่อสำคัญ” เพราะนำไปสู่จารีตประเพณีและการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างเข้าใจ

ธูป เป็นสุข คนรุ่นใหม่อีสานใต้

หมายเหตุ : ขอขอบคุณ “ค่ายคนรุ่นใหม่อีสานใต้เรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติ”, เครือข่ายคนรุ่นใหม่อีสานใต้, คุณสิรศักดิ์ สะดวก, คณะกรรมการป่าชุมชนหนองระเวียง, และชาวบ้านโคกจราบ ตำบลตาเบา อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ