ตื่นเขื่อนจีนปล่อยน้ำโขง ชี้ 6 ปีไทยไร้ระบบสื่อสาร เตือนภัย

ตื่นเขื่อนจีนปล่อยน้ำโขง ชี้ 6 ปีไทยไร้ระบบสื่อสาร เตือนภัย

ตื่นเขื่อนจีนปล่อยน้ำโขง ชี้ 6 ปีไทยไร้ระบบสื่อสาร เตือนภัย
จดหมายระบุเขื่อนปล่อยน้ำอยู่เหนือเขื่อนจิ่งหงเฝ้าระวังถึงสิ้นเดือน

กรณีมีกระแสข่าวจีนปล่อยน้ำจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำโขงในช่วงที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักและน้ำท่วมหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย ช่วงเวลาวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่าจดหมายของบริษัทเจ้าของเขื่อนจิงหง แจ้งในจดหมายถึงท่าเรือเชียงรุ้ง เมื่อ 3 กย. จนทำให้เกิดข่าวสับสนที่เมืองไทย (และลาว) เรื่องจีนจะปล่อยน้ำระลอกใหญ่ตั้งแต่วันศุกร์ แต่ 2-3 วันผ่านไปก็ยังไม่เกิดเหตุการณ์ และพบว่าระดับน้ำที่เชียงแสน ยังคงไม่เพิ่มขึ้นนั้น

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)  กล่าวว่าตนได้ให้เพื่อนชาวจีนแปลจดหมายกลับมาให้ พบสิ่งที่น่าสนใจที่แตกต่างจากฉบับแปลที่เผยแพร่กัน คือระบุว่า เขื่อนที่มีน้ำเพิ่มขึ้นจนต้องระบายน้ำมาก คือเขื่อนนั่วจาตู้  ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนจิงหงขึ้นไป

คำแปลระบุว่า “ในช่วงเดือนที่ผ่านมาลุ่มน้ำล้านช้างมีปริมาณฝนมาก ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนนั่วจาตู้เพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว คาดว่าระหว่างวันที่ 4-30 กันยายนจะมีการเพิ่มการปล่อยน้ำจากเขื่อนเพิ่มเป็น 9,000 ลบ.ม./วินาที …เขื่อนจิงหงก็จะปล่อยน้ำตามปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นหรือลดของน้ำในเขื่อน”

จดหมายฉบับดังกล่าวระบุด้วยว่า การระบายน้ำอาจมีไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 ขณะที่เขื่อนนั่วจาตู้ Nuozhadu Dam  ซึ่งมีกำลังผลิตติดตั้ง 5,850 MW สูงถึง 261 เมตร ความจุของอ่าง มีเพียง 11.3 ลูกบาศก์กิโลเมตรและอยู่ถัดขึ้นมาจากเขื่อนจิงหง ซึ่งสุดท้ายน้ำก็ไหลสู่แม่น้ำโขงที่พรมแดนไทย-ลาว  

เพียรพรตั้งข้อสังเกต 

1.เหตุการณ์นี้ทำให้พบว่า คนไทย/คนท้ายน้ำ แทบไม่มีความรู้และข้อมูลเรื่องเขื่อนจีนที่สร้างกั้นแม่น้ำโขง แม้เขื่อนจำนวนมากเหล่านี้จะอยู่เหนือจังหวัดเชียงราย และห่างไปแค่ 300 กว่ากม. แต่ได้เห็นชัดเจนว่าผลกระทบข้ามพรมแดนนั้นเป็นที่ประจักษ์

2 .ไม่มีหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ ออกมาให้ข้อมูลอย่างทันท่วงที และสะท้อนถึงความล้มเหลว-ขาดประสิทธิภาพของการสื่อสารในประเทศลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ โดยเฉพาะการสื่อสารเรื่องภัยพิบัติ/ความปลอดภัย

เพียรพรระบุด้วยว่า 6 ปีผ่านไป นับจากเดือนสิงหาคม 2551 ที่มีน้ำโขงทะลักมาท่วมถึง จ.เชียงรายครั้งใหญ่ สร้างความเสียหายหลายสิบล้านบาท จนถึงปัจจุบัน เรายังคงต้องถามหาระบบสื่อสาร-เตือนภัย แม่น้ำโขงในอุ้งมือ “จีน”   ทั้งนี้จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ย้อนไปเมื่อสิงหาคม 2551   น้ำโขงทะลักลงมาท่วมครั้งใหญ่ ชาวบ้านและองค์กรภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มรักษ์เชียงของ ก็เคยตั้งคำถามมาแล้วว่าตกลงใครรับผิดชอบ? และระบบเตือนภัย-การสื่อสารข้อมูล ระหว่างจีนและประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง-MRC จะมีหน้าตาอย่างไร?  เพราะน้ำโขงจากจีนเดินทางลงมาอย่างน้อย 1-2 วัน หากมีการเตือนภัยทันทีย่อมสามารถป้องกันได้ระดับหนึ่ง   ซึ่งหลังจากนั้นได้กลายเป็นประเด็นภูมิภาค จนนำมาซึ่งคำสัญญาจากทางการจีน ซึ่งร่วมประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงครั้งที่ 1 ที่หัวหิน ในปี 2553 (MRC Summit โดยยอมเปิดเผยข้อมูลอุทกวิทยา และการระบายน้ำจากเขื่อน “ส่วนหนึ่ง” แก่ MRC

ในกองเลขา MRC แผนงานป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมของ MRC หรือ Flood Management and Mitigation Programme (FMMP) ซึ่งมีสำนักงานที่กรุงพนมเปญ ถือเป็นหน่วยงานตรงที่รับข้อมูลจากเขื่อนจีน จากนั้นนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลอื่นๆ และแจ้งประเทศสมาชิก คือ ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม  แต่จากเว็บไซต์ www.mrcmekong.org (ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารกับสาธารณะ) ก็ยังไม่พบการเตือนใดๆ

เพียรพรกล่าวว่า ถึงแม้น้ำจากจีนอาจลงมาเพิ่มระดับน้ำโขงได้ถึง 3 เมตร ก็อาจยังไม่ถึงระดับ “ล้นตลิ่ง” ที่เชียงแสน คืออาจไม่ท่วม แต่ความเสียหายอื่นๆ ก็ยังสามารถเกิดได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาดังกล่าว ( 6 ก.ย.2557) ที่ในพื้นที่เชียงราย เช่น อ.แม่จัน และอ.แม่สาย จ.เชียงราย เกิดฝนตกหนักและน้ำสาขาต่างๆ ไหลลงน้ำโขงอย่างรวดเร็วทั้งแม่น้ำรวก/แม่สาย และน้ำแม่จัน แม่คำ เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมาใน มีฝนตกต่อเนื่องและน้ำสาขาต่างๆ ไหลลงน้ำโขงก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“หากรัฐบาลไม่ประสานงานข้อมูล-สื่อสารกับจีนเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและเตือนภัยอย่างทันการเวลานี้ อาจเสียเวลามาแจกถุงยังชีพกันอีกในเวลาไม่ช้า”เพียรพรกล่าว

อนึ่ง จากแผนที่แม่โขงในจีน ขณะนี้มีเขื่อนกั้นแล้ว 6 เขื่อน  โดยเขื่อนจิงหง Jinghong Dam เป็นเขื่อนสร้างเสร็จแห่งที่ 4 แต่อยู่ใกล้พรมแดนไทยมากที่สุด   และจากข้อมูลที่รวบรวมโดย International Rivers พบว่ามีโครงการทั้งสิ้น 14 โครงการ แต่ถ้ารวมทั้งหมดสองเฟส ก็มีด้วยกัน 28 โครงการ  

เขื่อนกูฉุย 2,600 MW ความสูง 220 m เตรียมการปรับพื้นที่

เขื่อนวุนอองหลง 990 MW ความสูง 136.5 m อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

เขื่อนหลี่ตี้ 420 MW ความสูง 74 m อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

เขื่อนตู้ป่า 1,400 MW ความสูง 158 m เตรียมการปรับพื้นที่

เขื่อนหวงเติ้ง 1,900 MW ความสูง 202 mอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

เขื่อนต้าหัวเฉียว 900 MW ความสูง 106 m เตรียมการปรับพื้นที่

เขื่อนเหมี่ยวเว่ย 1,400 MW ความสูง 139.8 m อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

เขื่อนกอนเกาเฉียว 900 MW ความสูง 130 m สร้างเสร็จ (2555)

เขื่อนเซี่ยวหวาน 4,200 MW ความสูง 292 m สร้างเสร็จ (2553)

เขื่อนมานวาน 1,550 MW ความสูง 126 m สร้างเสร็จ (2540)

เขื่อนต้าเฉาชาน 1,350 MW ความสูง 118 m สร้างเสร็จ (2546)

เขื่อนนั่วจาตู้ 5,850 MW ความสูง 261.5 m สร้างเสร็จ (2555)

เขื่อนจิงหง 1,750 MW ความสูง 118 m สร้างเสร็จ (2552)

เขื่อนก้าหลันป้า 155 MW ความสูง 60.5 m อยู่ในแผน

ดูข้อมูลน้ำรายชั่วโมงจากสถานีจิงหง http://ffw.mrcmekong.org/AHNIP/reports_AHNIP/JIN_AHNIP.html

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ