ถ้าหากพูดถึงเมืองสาธารณะ City For Public เชื่อว่าหลายคนก็คงนึกถึงเรื่องการเป็นเมืองที่มีความสะดวกสะบาย ความปลอดภัยการ เข้าถึงทรัพยากรที่เป็นบริการสาธารณะของเมือง เช่น การเดินทาง สาธารณูปโภค การศึกษา น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี ซึ่งมีส่วนต่อทำให้คุณภาพชีวิตของสมาชิกทุกเพศทุกวัยของเมืองดีขึ้น และรวมไปถึงการช่วยกันออกแบบวางแผนที่ทุกคนมีส่วนในการช่วยกัน
การรับมือกับภัยพิบัติก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากสถานการณ์ของโลกที่ไม่ปกติส่งผลกระทบต่อ คน พืช สัตว์ และเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ความถี่ที่มากขึ้น ขยายวงกว้างมากขึ้น ทำให้เราจะต้องกลับมาตระหนักในเรื่องการใช้ชีวิตมากขึ้นเพราะเราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกมีความแปลปรวน การออกแบบเมืองที่จะรับมือกับภัยพิบัตไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือแผ่นดินไหวจึงต้องเป็นเรื่องของคนทุกคนที่จะต้องออกมาช่วยกันในการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้
อุบลราชธานี เมืองปลายน้ำ
สืบเนื่องจากอุบลเป็นพื้นที่รองรับน้ำภาคอีสานและมักเผชิญน้ำท่วมเกือบทุกปี โดยเฉพาะปี 2562 และ 2565 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่เสียหายเป็นวงกว้าง ด้วยภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเมื่อถึงฤดูหน้ำหลากมักจะเกิดน้ำท่วมโดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ ซึ่งมีหลายชุมชนที่ได้รับผลกระทบเรียกว่าเป็นขาประจำไปแล้วก็ว่าได้ เช่น ชุมชนท่ากอไผ่ หาดสวนยา เกตุแก้ว ท่าบ้งมั่งและชุมชนอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่อยู่ติดกับแม่น้ำมูลมักจะได้รับผลกระทบก่อน
แม่บุญทัน เพ็งธรรม ชาวชุมชนท่าบ่งมั่งและเป็นอาสาสมัครชุมชนป้องกันภัยพิบัติ(อช.ปภ.) พาทีมงานเมืองสาธารณะเดินสำรวจภายในชุมชนท่าบ้งมั่งเพื่อไปดูร่องลอยของน้ำท่วมตั้งแต่ปี 2562 และ 2565 แม้จะผ่านมานานหลายปีแต่ลองรอยของน้ำและความทรงจำยังชัดเจน
ชุมชนท่าบ้งมั่งเป็นชุมชนที่อยู่ติดริมแม่น้ำมูลและเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำจะล้นตลิ่งมาจากท้ายบุ่งก่อน จากนั้นน้ำก็จะเข้ามาทางท่อระบายน้ำและเข้าท่วมถนนท่วมพื้นที่ชุมชน ปี2565 น้ำท่วมถึงชั้น 2 ของบ้าน ถ้าวัดความสูงจากพื้นดินขึ้นไปจะอยู่ที่ความสูง 11 เมตร บริเวณแถวนี้ท่วม 100 เปอร์เซ็นต์ ชาวบ้านไม่สามารถอาศัยอยู่ได้เพราะไม่มีน้ำประปาและไฟฟ้าใช้ ต้องอพยพออกไปอยู่ศูยน์พักพิงชั่วคราว
ความท้าทาย ที่จะต้องอยู่กับน้ำให้ได้
แม้จะต้องเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมอยู่เกือบทุกปีซึ่งมากบ้างน้อยบ้างก็ตามที แต่สิ่งสำคัญคือต้องอยู่กับน้ำให้ได้นี่เป็นเสมือนโจทย์ของคนที่นี่ที่จะต้องช่วยกันออกแบบวิธีการรับมือกับเหตุการณ์เพื่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินน้อยที่สุด ชาวบ้านที่นี่จึงเปลี่ยนบทบาทจากผู้ประสบภัยมารวมกลุ่มเป็นอาสาสมัครดูแลกันเองอย่างเป็นระบบ ภายใต้การทำงานร่วมกันกับเทศบาลเมืองวารินชำราบ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ออกแบบแผนในการรับมือร่วมกันเช่น การเตรียมพร้อมของชุมชน/การสื่อสาร/จุดอพยพ/มีเรือ และอาสาสมัครขับเรือของชุมชน/การซ้อมแผนเผชิญเหตุ/การทำหลักสูตรภัยพิบัติของชุมชน/การดูแลกลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มคนพิการ เด็ก สตี
ในอดีตน้ำท่วมไม่เกิน 1 เดือน น้ำท่วมมาแล้วก็ไปเพราะในพื้นที่สามารถรองรับน้ำได้ ยังไม่มีการสร้างบ้าน หรือสร้างถนนและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ทำให้น้ำสามารถผ่านไปได้ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ได้แล้ว เพราะน้ำท่วมเยอะกว่าเดิม รุนแรกมากขึ้น โลกไม่เหมือนเดิม จึงทำให้น้ำท่วมมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
จัดการภัยพิบัติคือโจทย์ที่ต้องช่วยกันแก้
เทศบาลเมืองวารินชำราบถือเป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลชุมชนที่อยู่ติดริมแม่น้ำมูลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมเช่น การดูแลในเรื่องจัดตั้งศูนย์พักพิง การสูบน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ การป้องกัน การฟื้นฟู การเยียวยา รวมไปถึงการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อมที่จะป้องกันน้ำท่วมตั้งแต่ช่วงต้นปี ก่อนที่จะเข้าฤดูฝน
บริเวณพื้นที่ในเขตเทศบาลวารินชำราบที่อยู่ติดริมแม่มูลเช่น ชุมชนกุดปลาขาว ชุมชนเกตุแก้ว มักจะได้รับผลกระทบก่อนเพราะมีประตูระบายน้ำ เมื่อน้ำมูลหนุนสูงขึ้นส่งผลให้น้ำที่เข้ามาออกไม่ได้จึงต้องปิดประตูน้ำและใช้เครื่องสูบน้ำระบายน้ำออกในระยะแรก แต่ในระยะต่อมาพอน้ำสูงขึ้นในระดับที่ล้นตลิ่งก็จะส่งผลกระทบที่ชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนหาดสวนสุข ซึ่งการเตรียมความพร้อมไม่ใช่แค่ช่วงหน้างาน แต่ต้องเร่งทำในช่วงก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง ซึ่งปีนี้ทางเทศบาลวารินชำราบมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือนอกจากนั้นยังใช้ข้อมูลสถานการณ์น้ำ ตัวเลข สถิติเข้ามาช่วยในการออกแบบแผนรับมืออีกด้วย
“จากการเก็บข้อมูลทำให้ทราบว่าระดับน้ำเท่านี้จะต้องเตรียมการอย่างไรบ้าง เรามีข้อมูลทั้งหมด ถ้าน้ำขึ้นมาอีกแค่ไหน จะต้องมีชุมชนไหนที่ได้รับผลกระทบ จะมีกี่ครัวเรือนที่ต้องอพยพ ต้องเตรียมสถานที่ในการรองรับพี่น้องประชาชน ถึงข้อมูลจะแม่นยำแต่ก็ในเรื่องของภัยธรรมชาติบางทีก็ไม่แน่นอน ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ข้อมูลกับพี่น้องประชาชน ก็ดีที่เรามีกรรมการชุมชนคอยกระจายข้อมูล เช่นหน่วยงานราชการรับนโยบายมา คณะกรรมการชุมชนก็จะบอกต่อกับพี่น้องประชาชน ซึ่งมีวิธีติดต่อสื่อสารกัน และเข้าใจเป็นข้อมูลที่เชื่อถือกันในการรับฝังและปฏิบัติตามทำให้ไม่เกิดความสูญเสียที่มากขึ้น”
มหาลัยบริการชุมชน
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งมหาวิทยาลัยมีความพยายามในการพัฒนาระบบที่จะทำให้การช่วยเหลือหรือการเตรียมความพร้อมในการรับมือน้ำท่วมมีประสิทธิภาพมากขึ้นให้เกิดความร่วมมือกับภาคประชาชนและหน่วยงานราชการมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นสถาบันทางวิชาการที่พยายามจะดึงเอาหลาย ๆ ภาคส่วนเข้ามาช่วยทำให้เมืองอุบลมีความพร้อมในการรับมือกับน้ำท่วมมากที่สุด อีกทั้งวารินชำราบยังเป็นที่ตั้งของมหาวิยาลัยอุบลราชธานี และเป็นพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับเหตุน้ำท่วมมาโดยตลอด ซึ่งมหาลัยเองก็มีบทบาทที่จะเข้าไปช่วยในเรื่ององค์ความรู้ งานวิจัย มาใช้ประโยชย์กับชุมชน
แพลตฟอร์มอุบลพร้อมพัฒนาขึ้นมาจากที่เราเคยทำระบบที่เรียกว่าMatching ระหว่างผู้ที่ประสบภัยกับผู้ที่ต้องการจะบริจาคหรือให้ความช่วยเหลือซึ้งใช้ระบบนี้มาตั้งแต่ปี 2562 และปี 2565 นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบให้ดีขึ้นเช่น การเรียกร้องความช่วยเหลือในกรณีมีเหตุฉุกเฉินไม่สามารถติดต่อใครได้ สามารถร้องขอผ่านระบบออนไลน์ที่เราทำขึ้นมาซึ่งพัฒนาขึ้นมาในรูปแบบไลน์ OA มีระบบในเว็บไซด์ แอพพิเคชั่น มีระบบที่สามารถติดต่อได้ง่ายขึ้น คนสามรถเข้าถึงได้เร็วขึ้นสะดวกในการช่วยเหลือมากขึ้น
การจัดการน้ำท่วมในโมเดลคนปลายน้ำอุบลราชธานี ยังชี้ให้เห็นว่าการบริหารจัดการภัยพิบัติเป็นเรื่องที่ทำได้ การเตรียมพร้อมรับมือก่อนปัญหาจะเข้ามา ได้กลายเป็นรูปธรรมของการร่วมมือระหว่าง ประชาชน ราชการ ภาควิชาการ เพื่อเปลี่ยนจากเมืองที่ต้องรอรับความช่วยเหลือให้เป็นเมืองที่ทุกคนอยู่ได้อย่างมีความสุข
พูดง่าย ๆ ว่าหลับตาฟังเสียงฝนตกก็รู้แล้วว่าชุมชนไหนจะเดือนร้อนน้ำจะท่วมตรงจุดไหน จนเดียวนี้นอนหลับสบายแล้วจะตกแค่ไหนก็ตกไป เพราะเราดูแลทุกอย่างเช่นท่อระบายน้ำ ถนนหนทางดีหมด เป็นเรื่องที่ค่อย ๆ ยกระดับมาตรฐานของเมืองขึ้นมา เพื่อให้เป็นเมืองน่าอยู่ หลักการของความเป็นเมืองน่าอยู่ก็คือผู้คนที่อยู่ตรงนั้นได้อยู่ตามที่เขาต้องการ ตามอัตภาพของเขาตามที่หน่วยงานจะบริการให้ได้ดีที่สุดเช่นเดียวกันและค่อย ๆ ยกระดับการบริการและชาวบ้านก็จะยกระดับความเป็นอยู่ขึ้นมาเช่นเดียวกัน
นายจีรชัย ไกรกังวาร นายกเทศบาลเมืองวารินชราบ
ถ้ายกตัวอย่างเรื่องน้ำท่วมในหลาย ๆ ประเทศนอกจากภาครัฐจะเป็นผู้ดำเนินการในการออกแบบเมืองเช่น การขุดอุโมงค์น้ำ สร้างถนนยกระดับต่าง ๆ แต่สิ่งที่สำคัญคือการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมต้องขึ้นอยู่กับคนที่ได้รับผลกระทบด้วยให้เขามีส่วนในการออกแบบเพราะว่าเขาต้องมีชีวิตอยู่ตรงนั้น เขาจะอยู่อย่างไรที่มันจะมีความสุขได้ในระดับหนึ่งและอยู่ลอดปลอดภัยด้วย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร เราก็ต้องรับฟังเสียงคนกลุ่มเหล่านั้นก่อนว่าเขามีปัญหาหรือเดือดร้อนอย่างไรและต้องออกแบบอย่างไรที่เขาสามารถมีชีวิตอยู่ได้ จุดสำคัญที่สุดเราต้องมีเวทีหรือมีกระบวนการที่จะทำให้เรามองไปข้างหน้าไปด้วยกันว่าอนาคตเมืองอุบลจะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร
ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ภัยพิบัติยังคงเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ สิ่งสำคัญคือการเตรียมพร้อมในการรับมืออยู่เสมอไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นหรือไม่ก็ตาม
การเป็นเมืองสาธารณะที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเมืองที่จะรองรับกับความหลากหลายทั้งในเรื่องเศรฐกิจ ผู้คน รวมถึงการรับมือกับภัยพิบัติถือเป็นความท้าทายที่จะต้องอยู่กับน้ำให้ได้ อีกทั้งการรับฟังเสียงของคนในพื้นที่ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เมืองมีความน่าอยู่และเป็นเมืองของทุกคนที่มีส่วนในการออกแบบร่วมกัน