เรียบเรียง พงษ์เทพ บุญกล้า, ธีรนันทร์ ขันตี, สันติ ศรีมันตะ
บทนี้กล่าวถึง “สิทธิชุมชน” ของครัวเรือนยากจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน “ที่ดิน” รกร้างว่างเปล่าของชุมชน การเข้าถึงสิทธิที่ดินเป็น “ทางเลือก” และ “ทางรอด” ในสถานการณ์วิกฤติและความเปราะบาง รวมทั้ง “สิทธิคนจน” โดยการเปลี่ยนที่รกร้างว่างเปล่าให้ครัวเรือนยากจนได้ใช้ประโยชน์ หรือ “สิทธิเชิงซ้อน” ที่สะท้อนผ่านการจับสลากแบ่งแปลงปลูก กำหนดขอบเขตแปลงรวม และการดูแลร่วมกัน หรือการเข้าถึงสิทธิที่ดินนำไปสู่ “โอกาส” ของครัวเรือนยากจนและผู้ผลิตผักรายย่อย ตลอดทั้งการเข้าถึงสิทธิที่ดินนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางสังคม (social relationship) ผู้เขียนใช้ข้อมูลจากการลงพื้นที่ภาคสนาม บ้านนาเกียรตินิยม ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ และใช้ข้อมูลจาก “โมเดลแก้จน” และนวัตกรรมยกระดับแพลตฟอร์มขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จังหวัดบุรีรัมย์ ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ภายใต้การสนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
สิทธิชุมชน : ครัวเรือนยากจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน “ที่ดิน” รกร้างว่างเปล่าของชุมชน
คุณเอกปริญญ์ รักษา (ผู้ใหญ่บ้าน) บ้านนาเกียรตินิยม กล่าวสะท้อน “สิทธิชุมชน” (community right) ว่า จุดเริ่มต้นการปรับพื้นที่รกร้างว่างเปล่าสู่การเปิดเป็น “พื้นที่โอกาส” ของครัวเรือนยากจนบ้านนาเกียรตินิยม จากการเข้าร่วมในกระบวนการของโครงการวิจัยเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนฯ ร่วมกับทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ทำให้มองเห็น “โอกาส” ในการทำงานเชิงพื้นที่ด้วยพลังหนุนเสริมจากหน่วยงานภาคีด้านวิชาการ และทำการ “ประชาคม” ครัวเรือนยากจน พบว่า แต่เดิมครัวเรือนยากจนส่วนใหญ่เคยอยู่แต่บ้าน (ต่างคนต่างอยู่/ต่างเก็บตัว) จึงดำเนินการประสานขอความรู้และความช่วยเหลือจากทีมวิจัยฯ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการเชิงพื้นที่ และนำความรู้ต่างๆ เข้ามาถ่ายทอดให้กับครัวเรือนยากจนอย่างเหมาะสม กล่าวคือ กระบวนการทำงานของทีมนักวิจัยฯ ลงมาพื้นที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องแตกต่างจากหลายๆ หน่วยงานก่อนหน้าที่เข้ามาระยะสั้น โดยทีมวิจัยฯ เข้าร่วมกระบวนการตั้งแต่การวางแผน หารือ ประชาคม และออกแบบต่างๆ พร้อมกับร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนเป็นระยะ ได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมที่ครัวเรือนยากจนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) เข้าถึงกระบวนการอย่างตรงเป้าและแม่นยำผ่านฐานข้อมูล TPMAP จากการลงสำรวจเชิงพื้นที่ เพื่อทลายข้อจำกัดเดิมเกี่ยวกับที่ดินและการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้กับครัวเรือนยากจน ซึ่งพบประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับที่ดินและการใช้ประโยชน์ของครัวเรือนยากจนอย่างน้อย 2 ลักษณะ คือ ลักษณะที่หนึ่ง ครัวเรือนยากจนมีที่นา/ที่ดินทำกินแต่ประสบปัญหาภาระหนี้สิน บางรายนำที่ดินไปเป็นหลักค้ำประกันกับธนาคาร (ธกส.) เพื่อให้ตนเองเข้าถึงเงินทุน และลักษณะที่สอง เป็นครัวเรือนยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินอย่างจำกัดไม่เหมาะกับการต่อยอดประกอบอาชีพ จากนั้นมีการนำ “เสียง” ของข้อเสนอและความต้องการของครัวเรือนยากจนจากการประชาคมเข้าหารือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางในการจัดการปรับเปลี่ยนที่ดินเดิมที่เคยเป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนยากจน และเป็นการออกแบบการใช้ประโยชน์จากที่ดินโดยครัวเรือนยากจนและชุมชนนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบ “ล่างขึ้นบน” (bottom up) แตกต่างจากการทำงานที่ผ่านๆ มาของหน่วยงานฟังก์ชั่นที่มักกำหนดโครงการต่างๆ จากบนลงล่าง (top down) และเป็นการสร้างความตระหนักด้าน “สิทธิ” (right) และ “สิทธิชุมชน”(community right) ให้กับครัวเรือนยากจนผ่าน “ปฏิบัติการปลูกผัก”
การเข้าถึงสิทธิที่ดินเป็น “ทางเลือก” และ “ทางรอด” ในสถานการณ์วิกฤติและความเปราะบาง
การลงพื้นที่ภาคสนามพบความน่าสนใจ คือ การเข้าถึงสิทธิที่ดินของครัวเรือนยากจนเป็น “ทางเลือก” ในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งผลเชิงบวกต่อความมั่นคงทางอาหาร (food security) ของครอบครัว และเป็น “ทางรอด” ของครัวเรือนยากจนหรือคนที่ตกอยู่ในสภาวะวิกฤติและความเปราะบาง เนื่องจากครัวเรือนยากจนจำนวนหนึ่งไม่มีรายได้ประจำ การเก็บผักแต่ละวันช่วยลดต้นทุนในการซื้อหาอาหารและสร้างรายได้ “ระยะสั้นรายวัน” ให้กับครัวเรือนยากจนได้ ซึ่ง คุณสุรศักดิ์ มุมทอง ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมโครงการฯ เล่าสะท้อนว่า “แต่ก่อนไปทำงานที่กรุงเทพฯ 20 กว่าปี พอถึงช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาประสบปัญหาเศรษฐกิจ การจ้างงาน และปัญหาสุขภาพจึงกลับมาอยู่ที่บ้าน” การกลับบ้านท่ามกลางสภาวะลุ่มๆ ดอนๆ ไม่มีเงินก้อนติดตัวเป็นทุน ว่างงานระยะยาว และไม่มีรายได้ประจำ สุรศักดิ์ ประกอบอาชีพปลูกผักเนื่องจากเป็นอาชีพที่ลงแรงในการดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ กระทั่ง หมู่บ้านเล็งเห็นความสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้ครัวเรือนยากจนได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินว่างเปล่าของหมู่บ้านซึ่งสะท้อนการเข้าถึงสิทธิชุมชนด้านที่ดิน กล่าวคือ ครัวเรือนยากจนบ้านเกียรตินิยมจำนวนหนึ่งไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง การเปิดพื้นที่ได้ช่วยให้ครัวเรือนยากจนได้ใช้ประโยชน์ในการปลูกผักร่วมกัน ซึ่งพบว่า สมาชิกในแปลงผักส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (สมาชิดในครอบครัวผลัดกันมาช่วยงานตามความเหมาะสม) สุรศักดิ์ นอกจากจะร่วมปลูกผักกับครัวเรือนยากจนในหมู่บ้านกับคนอื่นๆ แล้ว ยังมองเห็น “ทางรอด” ช่องทางอื่นในการเพิ่มรายได้และการช่วยเหลือกลุ่มผู้หญิง (ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ) ในการนำผักไปออกวิ่งขายในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง
อบต. อยากขยายให้พื้นที่เพิ่มเติมสำหรับครัวเรือนที่ต้องการปลูกผักเพิ่ม เนื่องจากการดำเนินกิจกรรมประสบความสำเร็จต่อเนื่องเรื่อยมา มีการขุดปรับพื้นที่รอบสระน้ำ และทำรั้วกันวัว-ควายไม่ให้เข้ามารบกวน ทางมหาวิทยาลัยช่วยสนับสนุนกระบวนการปลูก การดูแล การทำปุ๋ย การเรียนรู้และเทคนิคต่างๆ ร่วมกับสมาชิกอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
สุรศักดิ์ มุมทอง ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมโครงการฯ
สิทธิคนจน : เปลี่ยนที่รกร้างว่างเปล่าให้ครัวเรือนยากจนได้ใช้ประโยชน์
สุรศักดิ์ มุมทอง ได้เน้นย้ำถึงกระบวนการผลักดันและการก่อเกิดกลุ่มปลูกผักบ้านนาเกียรตินิยมต่ออีกว่า แรกเริ่มเกิดขึ้นจากผู้ใหญ่บ้าน ได้มีโอกาสเข้าร่วมกระบวนการกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จึงเกิดไอเดียว่าอยากปรับเปลี่ยนที่ดินจากที่รกร้างว่างเปล่าที่มีหญ้าและวัชพืชไร้ประโยชน์ให้เป็นพื้นที่สำหรับปลูกผักให้กับครัวเรือนยากจนและครัวเรือนที่สนใจได้เข้าร่วมกันใช้ประโยชน์ “ผู้ใหญ่บ้านไปคุยกับทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยว่าอยากผลักดันพื้นที่ให้คนจนได้ใช้ประโยชน์ ทางอาจารย์ก็ลงมาช่วยกันจนเกิดเป็นแปลงผักในวันนี้ ต้องขอบคุณทางอาจารย์ที่มองเห็นพื้นที่ของพวกเราและเข้ามาช่วย” สุรศักดิ์ กล่าว และสะท้อนให้เห็นอีกว่า ครัวเรือนที่เข้าร่วมกิจกรรมปลูกผักทั้งสิ้น 41 ครัวเรือน มีทั้งครัวเรือนยากจนและคนในชุมชนที่อยากปลูกผัก (ครัวเรือนยากจนจำนวน 35 ครัวเรือน) และเน้นย้ำถึงประโยชน์ของการปลูกผักว่าครัวเรือนยากจนกลุ่มที่ไม่มีที่ดินทำกินได้เข้ามาร่วมใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ชาวบ้านเรียกว่า “หนองน้ำสาธารณะ” นอกจากนั้น การสนทนากับ คุณธิติวุฒิ นนพิภัคดิ์ สมาชิก อบต. ได้ฉายภาพมิติ“สิทธิที่ดิน” และ “สิทธิคนจน” ด้านการเข้าถึงที่ดินว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำงานโดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีต่างๆ ด้วยการเปิดพื้นที่และให้บทบาทกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญทำงานผลักดันสิทธิที่ดินผ่าน “แปลงผัก” ซึ่งมีครัวเรือนยากจนจากฐานข้อมูลสำรวจที่ตรงเป้าและแม่นยำโดยสถาบันทางวิชาการ กระทั่งครัวเรือนยากจนเข้าถึงสิทธิที่ดิน หรือ “สิทธิคนจน” หมายความว่า การให้ความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนในการเข้าถึงสิทธิที่ดินที่ตรงเป้าช่วยให้ครัวเรือนยากจนที่ถูก “พล่าเลือน” ได้ปรากฏตัวในชุมชน และเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการช่วยกันผลักดันให้ครัวเรือนเหล่านั้นหลุดพ้นออกจาก “กับดักความยากจน” โดยใช้ศักยภาพของครัวเรือนยากจนตามความแตกต่างและข้อจำกัด และพลังหนุนเสริมจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่มีความหลากหลาย “อยากให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันทำงานตามความเชี่ยวชาญและสามารถบอกได้เต็มปากร่วมกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของหน่วยงานนั้นๆ” ธิติวุฒิ กล่าวสะท้อน
สิทธิเชิงซ้อน : จับสลากแบ่งแปลงปลูก กำหนดขอบเขตแปลงรวม และการดูแลร่วมกัน
สุรศักดิ์ มุมทอง เล่าว่า ปัจจุบันมีสมาชิกปลูกผักจำนวน 41 ครัวเรือน ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินว่างเปล่าปลูกผักร่วมกัน โดยหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) ได้เข้ามาร่วมบริหารจัดการที่ดินให้ครัวเรือนยากจนเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกันครอบครัวละ 4 แปลง โดยใช้กระบวนการจับสลากแบ่งแปลง จากนั้นสมาชิกกลุ่มได้ร่วมกันทำความสะอาดและจัดเตรียมแปลงผักของตัวเองเพื่อปลูกพืชผักตามความต้องการ พบว่า แปลงผักมีการเลือกปลูกผักตามความชื่นชอบ ส่วนใหญ่เป็นพืชผักสายพันธุ์ท้องถิ่นที่ใช้ประกอบอาหารในครัว เช่น พริก มะเขือ หอม กระเทียม ผักกาด ผักบุ้ง ผักชีลาว หอมเป (ผักชีฝรั่ง) ถั่วฝักยาว ถั่วพู เผือก ข้าวโพด ตะไคร้ ข่า ฯลฯ กระทั่งได้ผลผลิตผักจากแปลงที่มีคุณภาพ จากนั้นเริ่มได้รับความสนใจจากพ่อค้าแม่ค้าคนกลางนอกหมู่บ้านที่เดินทางมาซื้อถึงแปลง ปัจจุบันผักแปลงรวมที่ปลูกโดยครัวเรือนยากจนถูกยกระดับสู่มาตรฐาน GAP โดยความร่วมมือกับหน่วยงานด้านเกษตร ซึ่ง ธิติวุฒิ นนพิภัคดิ์ ได้สะท้อนถึงความพยายามในการเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงการทำงานพัฒนาเชิงพื้นที่ “ผักแปลงรวม” กับหน่วยงานภาคีต่างๆ นอกชุมชน เนื่องจากมองว่าหน่วยงานภาคีที่มีความรู้และศักยภาพสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและเติมเต็มความรู้ให้กับครัวเรือนยากจนได้ ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านและครัวเรือนยากจนสามารถปลูกผักในที่ดินเอกสาร นสล. จำนวน 4 ไร่ และอยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 2 ไร่ จากที่ดินรวมทั้งหมด 23 ไร่ ซึ่งส่วนที่เหลือนั้นเป็นสระน้ำ ป่าไม้ และโครงสร้างอาคารศาลาประชาคมของหมู่บ้าน ธิติวุฒิ กล่าวว่า “การให้คนจนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ว่างเปล่าของชุมชนแบบนี้เป็นการจัดการที่ดี ดีกว่าปล่อยพื้นที่ให้ว่างไร้ประโยชน์ หรือให้ที่ดินหลุดไปอยู่ในมือของนายทุน” พบอีกว่า การจัดการที่ดินผักแปลงรวมสะท้อนมิติสิทธิเชิงซ้อน กล่าวคือ ที่ดินจำนวน 23 ไร่ยังคงเป็นที่ดิน นสล. ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของชุมชนที่แบ่งให้ครัวเรือนยากจนมีสิทธิในการจัดการแปลงของตัวเอง 4 แปลง ผักที่ปลูกในแปลงแม้จะอยู่ในพื้นที่แปลงรวมสมาชิกในแปลงรวมจะไม่ละเมิดลักขโมยผักในแปลงของคนอื่น หากต้องการผักจะใช้วิธีการแบ่งปัน แลกเปลี่ยน หรือซื้อจากเจ้าของแปลง ขณะที่แปลงส่วนที่ไม่ได้ถูกแบ่งจะร่วมกันดูแลผัก ภายหลังจากการทำงานมาได้ระยะหนึ่งเริ่มมีผลตอบรับที่ดีจากชุมชน มีแนวโน้มในการขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกแปลงผักเพิ่มขึ้นโดยครัวเรือนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายครัวเรือนยากจน ชุมชนและสมาชิกแปลงผักไม่ได้กีดกันแต่เปิดพื้นที่แปลงเพิ่มโดยการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลที่เข้ามาปรับพื้นที่เพิ่ม 2 ไร่ ขณะที่น้ำในสระยังคงใช้ประโยชน์ร่วมกันในชุมชนได้ปกติ
การให้คนจนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ว่างเปล่าของชุมชนแบบนี้เป็นการจัดการที่ดี ดีกว่าปล่อยพื้นที่ให้ว่างไร้ประโยชน์ หรือให้ที่ดินหลุดไปอยู่ในมือของนายทุน อยากให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันทำงานตามความเชี่ยวชาญและสามารถบอกได้เต็มปากร่วมกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของหน่วยงานนั้นๆ
คุณธิติวุฒิ นนพิภัคดิ์ สมาชิก อบต. สะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
การเข้าถึงสิทธิที่ดินนำไปสู่ “โอกาส” ของครัวเรือนยากจนและผู้ผลิตผักรายย่อย
การเข้ามารับซื้อผักของผู้ค้าภายนอกชุมชนทำให้ สุรศักดิ์ และสมาชิกผู้ปลูกผัก 41 ครัวเรือน เริ่มปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ผักคุณภาพที่ปลูกได้ถูกกดราคาจากภายนอก สุรศักดิ์ จึงเกิดแนวคิดในการเป็นผู้ขายเองโดยการนำเงินดิจิทัลที่ได้รับจากรัฐบาลไปใช้ในการต่อเติมรถจักรยานยนต์เป็น “รถพุ่มพวง” สุรศักดิ์ เล่าว่า “ได้เงินจากรัฐบาลมาปุ๊บก็ตัดสินใจเอามาต่อดัดแปลงรถของตัวเอง และได้ไอเดียมาจากรถพุ่มพวงของชาวบ้านหมู่ 16” แต่ความแตกต่างของรถพุ่มพวงของสุรศักดิ์กับของหมู่ 16 คือ สุรศักดิ์จะรับซื้อสินค้าเฉพาะจากสมาชิกในแปลงเท่านั้น ไม่ได้วิ่งรถออกไปรับสินค้าจากตลาดใหญ่เหมือนกับรถพุ่มพวงคันอื่น “แต่ละวันสมาชิกจะเก็บผักรวมมาให้ และจะได้ส่วนแบ่งหลังจากขาย 3 บาทต่อกำ/ถุง ถือว่าเป็นค่าน้ำมันรถและวิ่งขาย” รายได้รวมๆ ตามปริมาณผักต่อวันอยู่ที่ราวๆ 2,000-3,000 บาท “พ่อค้าคนกลางเข้ามาซื้อถึงที่ เขาซื้อเยอะ แต่เขากดราคาถูกมากกว่าเราเอาไปวิ่งขายเอง” สุรศักดิ์ กล่าว และปัจจุบันเริ่มมีคนสนใจดำเนินการรถพุ่มพวงแบบเดียวกับสุรศักดิ์เพิ่มขึ้นอีก 2 คัน คือ กิตติ บุญอาจ อายุ 58 ปี และ สมพร สุมหิรัญ อายุ 37 ปี
คุณสมพร สุมหิรัญ (ขออนุญาตเผยแพร่ด้วยวาจา) คุณกิตติ บุญอาจ (ขออนุญาตเผยแพร่ด้วยวาจา)
ไม่อยากขายผักตลาดเพราะคนบริโภคจะเปรียบเทียบคุณภาพได้ว่าอันไหนน่ารับประทานมากกว่า อยากให้หมู่บ้านที่ไม่มีรถพุ่มพวงแบบนี้ลองคิดหาสินค้าพื้นบ้านของตัวเองนำไปขาย
สุรศักดิ์ มุมทอง ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมโครงการฯ
การเข้าถึงสิทธิที่ดินนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางสังคม (social relationship)
การปลูกผักไม่ใช่เพียงได้ผลผลิตผักที่สามารถนำไปทำอาหารในครัวเรือนหรือสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนยากจนเท่านั้น แต่ยังเปิดพื้นที่ความสัมพันธ์ทางสังคม (social relationship) ให้กับครัวเรือนยากจนซึ่งส่วนใหญ่เป็น “คนปลูก” กล่าวคือ ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมปลูกผักได้มีโอกาสพบปะปฏิสัมพันธ์สังสรรค์กัน แลกเปลี่ยนเทคนิค ทักษะ ความรู้เรื่องการดูแลผักให้ได้คุณภาพ รวมทั้งรับประทานอาหารร่วมกัน พูดคุยระบายอารมณ์ (emotion) ความทุกข์สุขกันและกัน “ผู้เฒ่าบางคนอยู่บ้านไม่มีอะไรทำ บางคนว่างงาน บางคนอยู่ลำพังไม่มีลูกหลาน พอมาปลูกผักก็ได้ผ่อนคลายจากการพูดคุย” สุรศักดิ์ กล่าว นอกจากนั้น พบว่า การริเริ่มไอเดียต่อรถพุ่มพวงของสุรศักดิ์ได้รับการพูดถึงกันในชุมชนว่าเป็น “รถพุ่มพวงคันแรก” ของหมู่บ้าน และเป็นรถพุ่มพวงที่พิเศษกว่าคันอื่นๆ ที่เคยพบเห็นในละแวกนี้ เนื่องจากเป็นรถพุ่มพวงที่เพิ่มโอกาส ไม่กดราคา และเป็นสมาชิกของกลุ่มปลูกผัก ที่รับสินค้าพืช ผัก และผลไม้ท้องถิ่นตามฤดูกาลวิ่งขาย ซึ่ง สุรศักดิ์ กล่าวว่า “ไปขายวันแรกรู้สึกอายเพราะไม่เคยทำมาก่อน พอขายวันที่สองก็เริ่มมีคนพูดคุยด้วยมากขึ้น จนตอนนี้เริ่มมีลูกค้ารู้จักพูดคุยเป็นกันเองและไม่รู้สึกอายแล้ว ผักที่เอาไปขายแต่ละวันไม่เหลือกลับมา มีอะไรไปขายก็ขายได้หมดทุกวัน เพราะผักของเราปลอดสารพิษแตกต่างจากผักตลาดทั่วไปลูกค้าเขามองและเขารู้”
การปลูกผักเห็นเขาสนุกสนานเฮฮาเพราะมาปลูกผักด้วยกัน ห่อข้าวมากินที่แปลงผัก ทำส้มตำกินด้วยกัน หลังจากปลูกผักค่าใช้จ่ายลดลง มีผักรับประทานเอง ไม่ต้องซื้อผักจากที่อื่นและมีความมั่นใจในการรับประทานผักปลอดภัยของตัวเอง ถ้าผักมีเยอะเราก็มีโอกาสได้นำผักไปขาย ไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลางจากในเมือง ตื่นเช้ามาสุขภาพร่างกายของตัวเองก็สดชื่น
สุรศักดิ์ มุมทอง ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมโครงการฯ
หมายเหตุ : นำเสนอประเด็นโดย หน่วยบริหารจัดการข้อมูลเพื่อสื่อสารและเผยแพร่ (นขส.), ข้อมูลจากการลงพื้นที่ภาคสนามในโครงการ “การพัฒนาระบบกลไกกระบวนการสื่อสารฯ”, มูลนิธิปัญญาวุฒิ, ภายใต้การ สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), และขอขอบคุณโครงการการบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยโมเดลรถพุ่มพวง, ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์