กระทรวงแรงงานป่วน เจรจาเหลว ปลัดกระทรวงฯแจ้งความจับผู้ชุมนุม ประธานสหภาพซันโค โกเซฯ ถูกล็อค พร้อมชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. เสริมกำลังกว่า 2 กองร้อย เตรียมสลายคนงาน
รายงานโดย: นักสื่อสารแรงงาน
ที่มา: voicelabour.org
6 มกราคม 2559 เมื่อเวลา 02.00 น. สหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย พาสมาชิกกว่า 500 คน เดินทางจากจังหวัดระยองมากระทรวงแรงงาน เพื่อมาขออาศัยพื้นที่กระทรวงแรงงานชุมนุม เนื่องจากเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2558 บริษัทซันโคโกเซ ประเทศไทย จำกัด ใช้สิทธิปิดงาน ทางสหภาพแรงงานจึงได้ตั้งเต็นท์ชุมนุมหน้าบริษัทฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ทางบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดิน ขอหมายศาลให้รื้อถอนเต็นท์ที่ตั้งชุมนุมหน้าบริษัทฯ ประกอบกับผลการเจรจาข้อเรียกร้องกับทางบริษัทฯ ไม่มีอะไรคืบหน้า ทางสหภาพแรงงานฯ
จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงสร้างความวิตกกังวลใจต่อลูกจ้างมากยิ่งขึ้นว่าอาจนำไปสู่การเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งหมด มากกว่าการเจรจาข้อพิพาทแรงงานตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ได้วางหลักการไว้แล้ว จึงได้ตัดสินใจเดินทางมาที่กระทรวงแรงงานเพื่อขอความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ และนำมาสู่การประชุมในเวลา 10.20 น.
ตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน นำหารือโดยนายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน (ทำหน้าที่อภิปรายและชี้แจงคำตอบเป็นส่วนใหญ่), นายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน, นายสมหวัง หมอยาดี ผู้อำนวยการกลุ่มงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้ง
ส่วนตัวแทนจากสหภาพแรงงานฯ นำโดย นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, นายเสมา สืบตระกูล สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย, นายไพฑูรย์ บางหลง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกพื้นที่อมตะนคร, นายอมรเดช ศรีเมือง ประธานสหภาพแรงงานฯ และสมาชิกกว่า 20 คน
กระบวนการประชุมเริ่มต้นด้วยตัวแทนฝ่ายสหภาพแรงงานได้ฉายภาพความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นให้ทางเจ้าหน้าที่รัฐทราบสถานการณ์ (พร้อมกับน้ำตาที่ไหลหยาดระหว่างอธิบาย) หลังจากนั้นทางกระทรวงแรงงานได้ตอบข้อซักถามต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
สามารถสรุปประเด็นสำคัญในการตอบข้อซักถามได้ 5 ประเด็น ดังนี้
(1) นายจ้างมีความไม่ไว้วางใจสมาชิกสหภาพแรงงานว่าถ้ามีการเจรจาไปและยังคงเปิดให้สมาชิกสหภาพแรงงานทำงานในสถานประกอบการร่วมด้วย อาจมีความเสี่ยงต่อกระบวนการผลิต โดยนายจ้างอ้างว่าที่ผ่านมามีครั้งหนึ่งที่ลูกจ้างจำนวนกว่า 400 คน ได้มีการลาป่วยพร้อมกันและส่งผลกระทบต่อยอดการผลิตที่ต้องส่งให้ลูกค้า จึงทำให้ต้องใช้มาตรการปิดงานตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ได้กำหนดไว้ และมีการนำพนักงานเหมาค่าแรงเข้ามาทำงานแทน เพื่อให้กระบวนการผลิตดำเนินไปได้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง
(2) นายจ้างอ้างว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามสามารถจ่ายโบนัสให้ลูกจ้างได้เพียง 0.6 เดือนเท่านั้น แม้ว่าทางกระทรวงแรงงานหรือสหภาพแรงงานฯเองจะให้ข้อมูลเปรียบเทียบถึงจำนวนโบนัสที่เคยจ่ายในปีที่ผ่านมา รวมถึงตัวเลขงบดุลต่างๆ แต่ทางนายจ้างก็ยังยืนยันตามเดิมและไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขแต่อย่างใด ทั้งนี้นายจ้างได้อ้างเรื่องการมุ่งการแข่งขันกับสถานประกอบการอื่นๆ เพื่อให้บริษัทฯสามารถอยู่รอดได้ในอนาคต จึงจำเป็นต้องลดขนาดองค์กรลง และมีการนำลูกจ้างรับเหมาค่าแรงงานเข้าทำงานแทนที่พนักงานประจำ เพื่อลดต้นทุนการบริหารงานองค์กรไม่ให้ขาดทุน
(3) สำหรับในกรณีที่ทางสหภาพแรงงานฯได้ทำหนังสือถึงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานตามมาตรา 11/1 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั้น ทางตัวแทนจากกระทรวงแรงงานได้แจ้งว่า ตามการนัดหมายจะมีการเข้าตรวจสอบในวันพรุ่งนี้ คือ วันที่ 7 มกราคม 2559
อย่างไรก็ตามตนเองได้แจ้งให้ระงับไว้ก่อน โดยให้เหตุผลว่าจะส่งผลต่อบรรยากาศที่ไม่ดีในการเจรจามากขึ้น ดังนั้นเมื่อการเจรจาได้ข้อยุติจึงจะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป ทั้งนี้เห็นว่าการที่บริษัทฯ ได้นำแรงงานเหมาค่าแรงเข้ามาทำงานเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด หน้าที่กระทรวงแรงงาน คือ พิจารณาว่าบริษัทจัดสวัสดิการได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่เพียงเท่านั้น แต่ไม่สามารถห้ามการใช้แรงงานเหมาค่าแรงได้แต่อย่างใด
(4) ทางกระทรวงแรงงานได้นัดตัวแทนนายจ้างเข้ามาหารือในวันนี้ เวลา 16.30 น. อย่างไรก็ตามไม่มีข้อบ่งชี้หรือยืนยันใดๆว่านายจ้างจะมาหรือไม่มาแต่อย่างใด รวมถึงการเจรจาเพื่อแสวงหาข้อยุติและทางออก ทั้งนี้ทางกระทรวงแรงงานแจ้งว่าสุดท้ายอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่การเจรจาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ใช่ภาครัฐที่จะจัดการได้แต่อย่างใด นอกจากนั้นยังแจ้งว่าอำนาจทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นสำคัญเพียงเท่านั้น
(5) ทางกระทรวงแรงงานได้แจ้งเรื่องการที่ไม่สามารถอนุญาตให้สหภาพแรงงานฯสามารถอยู่ค้างคืนที่บริเวณใต้ถุนกระทรวงแรงงานได้ เนื่องจากกระทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ที่ห้ามชุมนุมในสถานที่ราชการ จึงแจ้งให้ออกไปชุมนุมที่บริเวณภายนอกกระทรวงแรงงานแทน อีกทั้งยังได้แจ้งว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นและส่งผลเสียหายต่อทรัพย์สินภายในกระทรวงในเวลาวิกาล ทางสหภาพแรงงานฯต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น
ด้านนายอมรเดช ศรีเมือง ประธานสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย ชี้แจงว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานหลายท่าน เช่น เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดระยอง, เจ้าหน้าที่จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ,รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, รองปลัดกระทรวงแรงงาน, รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ นายจ้างไม่สนใจด้วยซ้ำไป และยังได้กล่าวในห้องเจรจาต่อหน้าทุกคนว่าต่อให้นายกรัฐมนตรีมาเองบริษัทฯ ก็ไม่มีจะให้
ดังนั้นในเมื่อสหภาพแรงงานฯ ได้ดำเนินการผ่านมาทุกขั้นตอนทุกระดับแล้วแต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ อีกทั้งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ทางการนิคมอิสเทิร์นซีบอร์ดได้ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานให้แกนนำสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย รื้อถอนเต๊นท์ออกจากพื้นที่การนิคมฯ เป็นการด่วน
“ทางสหภาพแรงงานฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางมาที่กระทรวงแรงงาน หวังว่าทางกระทรวงแรงงานจะช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับพวกเรา แต่ทางกระทรวงแรงงานกลับให้พวกเราไปชุมนุมหน้ากระทรวงฯ ก่อน สี่โมงเย็น แล้วพวกผู้หญิง พวกน้องที่ท้องจะอยู่อย่างไรแล้วถ้าชุมนุมริมถนนประชาชนที่สัญจรไปมาก็เดือดร้อนอีก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรา พวกเราอยากจบอยากเข้าไปทำงาน และประเด็นของปัญหาก็ไม่ได้อยู่ที่ตัวเงินแต่อยู่ที่ความสุจริตใจในการเจรจาของนายจ้างเช่น ถ้าอยากลดคนงานแต่ทำไมกลับจ้างพนักงานเหมาค่าแรงเข้ามา เงินจ่ายโบนัสไม่มี แต่เตรียมเงินไว้สำหรับจ้างพนักงานประจำออกถึงสามสิบล้านบาท มันหมายถึงอะไร” นายอมรเดชกล่าว
ลำดับเหตุการณ์ช่วงเย็น
เวลาประมาณ 16.30 น. ทางด้านผู้แทนนายจ้างนำโดย นาย นาคาโอะ ประธานบริษัทซันโคโกเซ ประเทศไทย จำกัด ได้ขึ้นไปเจรจากับทางทีมไกล่เกลี่ยของกระทรวง ก่อนที่ทางตัวแทนฝ่ายสหภาพแรงงาน จะร่วมเจราในเวลา 17.30 น.ซึ่งการเจรจาสิ้นลงเมื่อเวลา 19.00 น.โดยทางนายจ้างยังยืนยันเหมือนเดิมและทางฝ่ายกระทรวงแรงงาน ก็ยังยืนยันที่จะให้ทางฝ่ายลูกจ้างเลิกชุมนุม หากไม่เลิกจะใช้พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งทางฝ่ายลูกจ้างก็ยืนยันจะชุมนุมต่อไปจนกว่าจะได้ข้อยุติ
เวลา 19.20 น. ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญ นายอมรเดช ศรีเมือง ประธานสหภาพแรงงานฯ และนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เข้าพบและได้ใส่กุญแจมือทั้งสองคน กักตัวอยู่ในห้องบริเวณชั้น 6 สำนักปลัดกระทรวงแรงงาน จนบัดนี้เวลา 21.34 ยังไม่ลงมา จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สั่งให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน พร้อมทั้งเตรียมเจ้าหน้าที่กว่า 2 กองร้อย เตรียมสลายการชุมนุม แต่ยังไม่มีคนงานยอมกลับบ้าน ด้วยห่วงผู้นำแรงงานที่ถูกกักตัว
เวลา 20.40 น. นายชาลี ลอยสูง ได้ติดต่อลงมาโดยใช้โทรศัพท์นายสมหวัง หมอยาดี ผู้อำนวยการกลุ่มงาน สำนักแรงงานสัมพันธ์ แจ้งว่า ทางกระทรวงแรงงานได้ประสานให้รถ ปอ.มารับแรงงานกลับทั้งหมดในคืนนี้ประมาณ 500 กว่าคน
ระหว่างนั้นคณะทำงานที่ยังเหลืออยู่นำโดยนายเสมา สืบตระกูล นายไพฑูรย์ บางหลง นางสาวเสน่ห์ หงส์ทอง ได้เจรจากับตำรวจและมีข้อเสนอว่า ขอให้ทางนายชาลี ลอยสูง และนายอมรเดช ศรีเมือง ลงมาก่อนว่าได้ข้อสรุปอย่างไร จะหารือตามนั้น ทำให้ยุติการเจรจา
ล่าสุดรถตำรวจทีมีห้องขังทยอยเข้ามาในกระทรวงแรงงานแล้ว และนางสาวเสน่ห์ หงส์ทอง และนายโสภณ ทองโสภา ถูกนำตัวไปโรงพักเรื่องการเสียค่าปรับเรื่องเครื่องเสียง
เวลา 21.40 น. ทางผู้กำกับ สน.ห้วยขวาง กำลังคุยกับคุณวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธาน คสรท., นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สรส., นายลาเร่ อยู่เป็นสุข ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์ และคณะจาก สรส. และทีมจากอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เพื่อหารือว่าการให้คนงานกลับบ้าน จ.ระยอง ไปตอนนี้อันตรายมาก และไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ คนงานไม่ได้รับค่าจ้างมาตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558 แล้ว การให้คนงานกลับไปไม่ได้มีหลักประกันใดๆ ในการทำให้คนงานไม่ถูกละเมิดสิทธิ ทั้งนี้ข้อเสนอสำคัญของกลุ่มแรงงาน คือ รมต.ต้องใช้อำนาจในการสั่งให้นายจ้างรับคนงานกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้าง
เวลาประมาณ 22.00 น. ปล่อยตัวนายอมรเดช ศรีเมือง ประธานสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย และนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หลังถูกควบคุมตัวบริเวณชั้น 6 สำนักปลัดกระทรวงแรงงาน กรณีแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทยกว่า 500 คน รวมตัวอยู่ที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน วันนี้ (6 มกราคม 2559)
แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อผู้นำแรงงานลงมาถึงทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกให้สมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 500 คนมารวมตัวกัน เพื่อฟังการชี้แจงจากนายอมรเดช ศรีเมือง ประธานฯ
นายอมรเดชได้ชี้แจงว่า ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้รับรู้สภาพปัญหาของสหภาพแรงงานซันโคโก้เซฯ ถึงความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานแล้ว และรับปากว่าจะเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยแก้ปัญหาในวันศุกร์นี้ ฉะนั้นวันนี้ขอให้ทุกคนเดินทางกลับไปก่อน โดยทางตำรวจได้เตรียมรถเพื่อส่งให้ถึงบ้านที่ จ.ระยอง โดยทางกระทรวงแรงงาน จะไม่มีการดำเนินคดีกับคนงานและผู้นำแรงงาน (อ่านข่าวเพิ่มเติม: http://voicelabour.org/?p=23684)
ที่มาภาพ: Nok Voice Labour
สรุปสถานการณ์การชุมนุมของ สหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย
thanaiphorn.com/files/sankogosei_edb_paan25-12-58.pdf