จังหวัดอำนาจเจริญประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่นการทำไร่ ทำนา นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งผลิตพืชผักอินทรีย์และมีข้าวหอมมะลิที่อร่อยที่สุดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน
อำนาจเจริญยังเผชิญกับปัญหาความยากจน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทและพื้นที่เมืองมีความยากจนที่แตกต่างกัน เช่นพื้นที่ชนบทจะเป็นกลุ่มคนเปราะบาง ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้พิการ และผู้ป่วยเรื้อรังที่มีภาวะพึ่งพิงสูง กลุ่มคนจนในพื้นที่เมืองบางกลุ่มต้องอพยพย้านถิ่นฐานจากที่อื่น ไม่มีญาติพี่น้องที่อาศัยเกื้อกูลกัน ไม่มีทรัพย์ยากรจากธรรมชาติที่จะพึ่งพิง จึงทำให้สถานการณ์ความยากจนในพื้นที่เมืองจะรุนแรงมากกว่าความยากจนในชนบท
ผศ.ดร.ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ ผู้บริหารโครงการวิจัยการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการแบบร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำศึกษาพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ และเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยที่เห็นปัญหาความยากจน และมองว่าความยากจนเป็นปัญหาสำคัญสำหรับคนทั้งประเทศ การแก้ไขปัญหาความยากจนจึงมีความสำคัญ เพื่อยกระดับให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โครงการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดอำนาจเจริญ เข้ามาหนุนเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ อีกทั้งต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือนให้ดียิ่งขึ้น
ทุกข์ อึด ยาก
คือคำนิมยามที่คนจนในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญได้ให้ความหมายกับทีมวิจัยเอาไว้ ซึ่งประชากรในจังหวัดอำนาจเจริญมากว่า 2,720 ครัวเรือนที่เป็นครัวเรือนยากจน ซึ่งความยากจนมีหลากหลายมิติ เช่น การเข้าไม่ถึงการบริการรของภาครัฐ การเข้าไม่ถึงสวัสดิการต่าง ๆ รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย มีหนี้สิน
“บางทีเราเห็นครัวเรือยากจนเราคิดว่าครัวเรือนยากจนมีหนี้สินแต่จริง ๆ แล้วบางทีครัวเรือนยากจนไม่กล้ามีหนี้สินเพราะว่าไม่มีความสามารถในการหาเงินไปใช้หนี้ แต่กลุ่มคนที่มีหนี้เขาก็มีความสามารถในการหารายได้ในระดับหนึ่ง แต่ในกลุ่มที่ยากจนบางครั้งการจะไปเป็นหนี้จำนวนมากต้องคิดแล้วคิดอีกเพราะไม่รู้ว่าเขาจะมีความสามารถเป็นหนี้มากแค่ไหน”
โมเดลแก้จน
โครงการวิจัยแก้จนมีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจนและครอบคลุมพื้นที่ทั้งในเขตตัวเมือง และชุมชนที่อยู่รอบเมืองและการแก้ไขปัญหาความความยากจนจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม การฝึกอาชีพ และการเชื่อมโยงกลไกภาคี ซึ่งโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมเริ่มต้นมาจากการทำกองบุญข้าวปันสุขเป็นการสร้างแหล่งอาหารที่มั่นคงในพื้นที่ก่อน ซึ่งเป็นกองทุนสวัสดิการในชุมชน นอกจากนั้นยังขยายไปสู่กองทุนระดับตำบล และในชุมชนเมืองก็ทำกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเมือง เพื่อที่จะให้ครัวเรือนยากจนมีโอกาศเข้าถึงการกู้ยืมได้ในระดับของชุมชนเมือง เพราะกองทุนอื่นที่มีอยู่บางครั้งอาจจะติดในเรื่องเงื่อนไขต่าง ๆ จนทำให้ครัวเรือนยากจนเข้าไม่ถึง ทางทีมวิจัยจึงพยายามตั้งกองทุนเหล่านี้ขึ้นมา นอกจากนั้นยังยกระดับขึ้นมาทำกองทุนเมืองธรรมเกษตรเป็นกองทุนระดับจังหวัด ซึ่งร่วมมือกันกับองค์กรขบวนชุมชน ซึ่งมีความพยายามที่จะจัดตั้งกองทุนนี้เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนยากจนในพื้นที่อำนาจเจริญและพื้นที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการเห็นควร
นอกจากนี้ยังมีการฝึกอาชีพแต่ไม่ได้เป็นการฝึกอาชีพเหมือนกับคนทั่วไปในเรื่องของกระบวนการ แต่ก็เป็นอาชีพเหมือนกับอาชีพทั่วไป เช่น การเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เพาะเห็ด ซึ่งก็เป็นเหมือนอาชีพทั่วไปแต่เป็นอาชีพที่ครัวเรือนยากจนทำได้ และมีทักษะพอที่จะทำได้ นอกจากนั้นยังมีการคัดกรอง เช่น มีการประชุม ฝึกอบรมเมื่อผ่านกระบวนการดังกล่าว ทางทีมวิจัยก็จะเข้ามาสนับสนุนเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อที่จะไปทำอาชีพที่ตัวเองสนใจ นอกจากนั้นยังมีการติดตามประเมินผลซึ่งเป็นกระบวนการคัดกรองอย่างเข้มข้นในการช่วยเหลือครัวเรือนยากจน ซึ่งมีทั้งครัวเรือนที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จตามศักยภาพที่แต่ละครัวเรือนจะทำได้
เชื่อมโยงกลไกภาคีคือการดึงเอาเครือข่ายต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่เข้ามาทำงานร่วมกัน เช่น ขบวนองค์กรชุมชน อาสาต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่และเข้าถึงครัวเรือนยากจนทำให้พื้นที่เข้มแข็งมากขึ้น มหาวิทยาลัยก็ทำหน้าที่เชื่อมภาครัฐเข้ามาทำงานร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น
“สิ่งที่พยายามส่งเสริมทักษะวิธีคิดในการดำเนินชีวิตให้กับครัวเรือนยากจนก็คือ ในเรื่องของการแก้ปัญหาการเพิ่มรายได้ ก็ต้องพูดถึงการลดรายจ่าย การเฝ้าระวังมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีให้เราเห็นตามข่าว หรือทางออนไลน์ การพยายามบอกว่าหนี้บางอย่างก็ไม่ควรไปหวังพึ่งพา รวมถึงการลดการเป็นหนี้นอกระบบ”
การแก้ปัญหาความยากจนไม่สามารถแก้ได้ในเวลาอันสั้น สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจถึงปัญหาและออกแบบระบบกลไกเพื่อเชื่อมประสานเป็นเครือข่ายทางสังคมที่เหนียวแน่น ซึ่งต้องอาศัยความรู้ทางวิชาการเข้ามาหนุนเสริม และมองความจนเป็นเป้าหมายร่วมกันในการหาทางออกร่วมกัน