ตรังประชุมร่วมราชการ-ชาวบ้าน แก้ปัญหา ‘สมาชิกโฉนดชุมชน’ 6 ราย ถูกคำสั่งตัดฟันสวนยาง

ตรังประชุมร่วมราชการ-ชาวบ้าน แก้ปัญหา ‘สมาชิกโฉนดชุมชน’ 6 ราย ถูกคำสั่งตัดฟันสวนยาง

20151711200124.jpg

16 พ.ย. 58 เวลาประมาณ 14.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดตรัง ชั้น 5 มีการประชุมพิจารณาแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง โดยมี นายนิพันธ์ ศิริธร รอง ผวจ.ตรัง เป็นประธาน มีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ รอง ผอ.รมน. จ.ตรัง ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ตรัง นายอำเภอ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ตรัง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด อัยการจังหวัดตรัง ที่ดินจังหวัดตรัง และตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด

สืบเนื่องจาก กรณีสมาชิกเครือข่ายฯ ในพื้นที่โฉนดชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินและป่าไม้ (การตัดไม้ยางพาราจังหวัดตรัง) จำนวน 6 ราย เนื้อที่ประมาณ 55 ไร่ ดังนี้ 

1. นายสมคิด กันตังกุล พื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู อ.นาโยง เนื้อที่ 4-0-25 ไร่ ยางพาราจำนวน 285 ต้น

2.นายสมพล สุขสำราญ พื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู อ.นาโยง เนื้อที่ 0-3-79 ไร่ ยางพาราจำนวน 95 ต้น

3.นายสนอง มะยุรี พื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู อ.นาโยง เนื้อที่ 6-0-83 ไร่ ยางพาราจำนวน 415 ต้น

4.นายประพันธ์ จันทร์ขาว พื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านไร่เหนือ อ.ห้วยยอด เนื้อที่ 7-2-37.50 ไร่ ยางพารา จำนวน 500 ต้น

5.นางชฎา ชูทิ่ง พื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านลำขนุน อ.ย่านตาขาว เนื้อที่ 12-0-0ไร่ ยางพาราจำนวน 1,000 ต้น

6.นางประดู่ บุญจันทร์ พื้นที่ดำเนินงานโฉนดชุมชนบ้านห้วยน้ำใส เนื้อที่ 23-2-70 ไร่ ยางพาราจำนวน 900 ต้น

20151711200143.jpg

ผลการหารือ รอง ผวจ.ตรัง กล่าวว่า รัฐบาลได้แต่งตั้ง หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล มาเป็นประธานพิจารณาเรื่องโฉนดชุมชน และได้มีหนังสือขอความร่วมมือหน่วยงานว่าในช่วงที่กำลังดำเนินงานโฉนดชุมชนขอให้ชะลอไว้ก่อน ในส่วนกรณีสมาชิกเครือข่ายฯ จำนวน 6 รายที่อยู่ในแผนตัดฟันสวนยางพาราของจังหวัดตรังจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของทางจังหวัดในระดับระดับตำบลและอำเภอ ว่าเป็นผู้ยากไร้และได้รับความคุ้มครองตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 หรือไม่ กระบวนการนี้ก็ใช้เวลาพอสมควร ดังนั้น ไม่ชะลอก็เหมือนชะลอ 

ในส่วนกรณีการดำเนินงานโฉนดชุมชนในพื้นที่จังหวัดตรัง รอง ผวจ.ตรัง รับข้อเสนอในการสานต่อคณะทำงานโฉนดชุมชน ซึ่งทางจังหวัดตรังได้แต่งตั้งคณะทำงานชุดนี้เมื่อ พ.ศ.2556 และมีการประชุมครั้งล่าสุด เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2558

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีความเห็นให้ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาเกณฑ์ความยากจน หรือความยากไร้ เนื่องจากเกณฑ์ความยากจนที่ทางราชการใช้คือต่ำกว่าวันละ 100 บาท นั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันอยู่ที่วันละประมาณ 300 บาท ในส่วนกรณีคดีความทางจังหวัดตรังจะทำหนังสือหารือหัวหน้า คสช. เกี่ยวกับคดีความที่สั่งสมมาแต่เดิมว่าสามารถบูรณาการ คำสั่งที่ 66/2557 ข้อ 2.3 และ 2.4 เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันได้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากจบการประชุม สมาชิกเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือถึงแม่ทัพภาคที่ 4 ผ่านรอง ผวจ.ตรัง ขอให้ยุติการตัดฟันสวนยางพาราสมาชิกเครือข่ายฯ และสนับสนุนการดำเนินงานโฉนดชุมชน เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 และกรอบแนวทางในการดำเนินการของคณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้ง ซึ่งระบุให้คำนึงถึงความเดือนร้อนของประชาชนเป็นสำคัญ

20151711200132.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ