เรียบเรียง พงษ์เทพ บุญกล้า และ ธีรนันท์ ขันตี
“รถพุ่มพวงแก้จน” เป็นโมเดลแก้จนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์พัฒนาขึ้น เพื่อลดความยากจนในตำบลสะแกโพรง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยเน้นการกระจายสินค้าจากผู้ผลิตในชุมชนสู่ผู้บริโภคผ่านรถพุ่มพวง ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ครัวเรือนยากจน อีกทั้ง “รถพุ่มพวง” เป็นตลาดสินค้าที่เข้าถึงได้ง่ายสำหรับครัวเรือนยากจนในท้องถิ่น โดยรถพุ่มพวงแต่ละคันมีเครือข่ายทางสังคมที่กว้างขวางและการจัดเตรียมสินค้าอย่างเป็นระบบ โมเดลนี้ช่วยเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนที่เข้าร่วมในชุมชน ขณะที่ การผลักดันครัวเรือนยากจนสู่ “สายพานเศรษฐกิจรถพุ่มพวง” ผ่านการเป็นแรงงานคัดแยกสินค้า ช่วยสร้างรายได้ระยะสั้นและเข้าถึงง่าย ครัวเรือนยากจนได้รับค่าจ้างประมาณ 200-300 บาทต่อวันจากการคัดแยกสินค้าที่บ้านผู้ประกอบการ โดยต้นทุนการเป็นเจ้าของรถพุ่มพวงขึ้นอยู่กับประเภทของรถพุ่มพวง
เสาเข็มโมเดล “รถพุ่มพวงแก้จน” : ผู้ประกอบการรถพุ่มพวง คือ “ทุนมนุษย์” ช่วยเหลือครัวเรือนยากจน
“รถพุ่มพวงแก้จน” เป็นการบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยโมเดลรถพุ่มพวง ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จากการใช้ฐานข้อมูลการสำรวจสอบทานข้อมูลและฐานข้อมูล TPMAP พบว่า มีครัวเรือนยากจนในพื้นที่ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 686 ครัวเรือน เป็นข้อมูล Inclusion error จำนวน 32 ครัวเรือน และนำเข้า add on สู่ระบบจำนวน 48 ครัวเรือน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 734 ครัวเรือน รวมถึงการพิจารณาเกี่ยวกับทุนการดำรงชีพ (social capital) ด้านทุนมนุษย์ ที่อยู่ระดับต่ำ คือ 1.87 เนื่องจากครัวเรือนยากจนประสบปัญหาว่างงาน การมีอาชีพรับจ้างอยู่ในภาคเกษตรกรรม และเป็นผู้อยู่ในภาวะเปราะบาง ดร.เชาวลิต สิมสวย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และคณะ ได้ลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยฯ ผ่านกระบวนการสำรวจข้อมูลเชิงพื้นที่ การประสานงานกับกลุ่มครัวเรือนยากจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และหน่วยงานระดับพื้นที่ รวมทั้งสำรวจข้อมูลเชิงลึกสู่การวิเคราะห์และสังเคราะห์ กระทั่งเกิดการออกแบบ “โมเดลรถพุ่มพวงแก้จน” หรือ “ธุรกิจเชิงคุณธรรม” พบว่า บริบทของรถพุ่มพวงในพื้นที่ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นรูปแบบกิจกรรมที่ชุมชนใช้ในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและรายได้จากการขายสินค้า มีผู้ประกอบการรถพุ่มพวงมากถึง 67 คันในตำบลสะแกโพรง ความน่าสนใจของกลุ่มผู้ประกอบการรถพุ่มพวงคือการวิ่งขาย/กระจายสินค้าทั่วทั้งตำบลและพื้นที่ใกล้เคียงผ่าน “เส้นทางที่ไม่ซ้ำกัน” ส่งผลต่อโอกาสในการกระจายสินค้าถึงผู้บริโภคเป็นวงกว้าง โดยรถพุ่มพวง 1 คันจะวิ่งขายสินค้าที่รับมาจากตลาดค้าปลีกและจากผู้ผลิตในชุมชน โดย 1 ครั้งใช้เวลาขาย 3 วัน รวมเงินหมุนเวียน (ต้นทุนรวมกำไร) 1 คันประมาณ 8,000-50,000 บาท เป็นลักษณะการแลกเปลี่ยนผ่านการซื้อขายเงินสด
ครัวเรือนยากจนได้ขึ้นสู่การโอบอุ้มของตะกร้าของรถพุ่มพวง ก่อเกิดผู้ประกอบการรถพุ่มพวงที่ต่อสู้ดิ้นรนด้วยศักยภาพและต้นทุนที่มี เช่น กรณีน้าเอก (นามสมมติ) เป็นครัวเรือนยากจนที่มีศักยภาพด้านแรงงานแต่ไม่มีต้นทุนทางด้านเศรษฐกิจ ใช้วิธีการกู้ยืมเงินจากคนรู้จักในชุมชน/ญาติพี่น้อง และใช้รถมอเตอร์ไซค์ของตัวเองดัดแปลงเป็นรถพุ่มพวง สะท้อนถึง “การปรับตัวและดิ้นรนของครัวเรือนยากจนที่ไม่ได้งอมืองอเท้า”
สนทนากับ ดร.เชาวลิต สิมสวย และคณะ
ครัวเรือนยากจนมีส่วนร่วมในการรับประโยชน์จากรถพุ่มพวงอย่างไร…?
ดร.เชาวลิต สิมสวย และคณะ สะท้อนให้เห็นว่า การผลักดันโมเดลแก้จนรถพุ่มพวง เริ่มต้นจากการมองเห็นว่า “รถพุ่มพวง” คือ ตลาดสินค้าที่ผู้ซื้อรายย่อยระดับครัวเรือนในชุมชนท้องถิ่นเข้าถึงได้ง่าย สามารถรับและกระจายสินค้าได้ถึงระดับครัวเรือน (หน้าบ้าน) โดยรูปแบบของรถพุ่มพวงที่พบอย่างน้อย 3 ประเภท ได้แก่ รถพุ่มพวงกระบะ รถพุ่มพวงมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง (57 คัน) และรถพุ่มพวงมอเตอร์ไซค์แบบมีสินค้าห้อย “การค้นหาความหมายของรถพุ่มพวงทำให้เห็นโอกาสในการผลักดันและเชื่อมโยงตลาดสินค้ากับครัวเรือนยากจน” เนื่องจากเส้นทางการวิ่งกระจายสินค้าของรถพุ่มพวงแต่ละคันผ่านไปในเส้นทางที่ไม่ซ้ำกัน รวมทั้งพบว่า รถพุ่มพวงแต่ละคันมีเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม (social relationship) วงกว้าง ซึ่ง ผศ.ดร.เทพพร โลมรักษ์ ทีมวิจัยฯ ชี้ให้เห็นว่า “รถพุ่มพวงมีเครือข่ายของเขาและมีการจัดเตรียมสต๊อกสินค้า ผู้ประกอบการรถพุ่มพวงเป็นทุนดั้งเดิมที่คนในพื้นที่ทำมานาน” การทำงานวิจัยฯ จึงพยายามผลักดันและเชื่อมโยงครัวเรือนยากจนสู่เครือข่ายรถพุ่มพวง ทั้งเรื่องของการจัดเตรียมสินค้า การเชื่อมโยงตลาด และเส้นทางของรถพุ่มพวง ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมในโมเดลรถพุ่มพวงจะมีโอกาสเพิ่มรายได้และสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับครอบครัว” อีกทั้งหากพิจารณาจะเห็นภาพของตลาดรถพุ่มพวงที่สร้างการกระจายสินค้าและรายได้หมุนเวียนมหาศาลในท้องถิ่น ผ่านรูปแบบการบริหารจัดการตลาดของท้องถิ่น
วงรอบระยะทางวิ่งขาย/กระจายสินค้า 1 คันไปไกลต่อ 180 กิโลเมตรที่ไม่ซ้ำเส้นทางกัน “ลูกค้ารู้ว่าคันไหนซื้อประจำและจะมาถึงหน้าบ้านเวลาไหน
สนทนากับ ดร.เชาวลิต สิมสวย และคณะ
“กลยุทธ์” รถพุ่มพวงและ “การช่วงชิงโอกาสทางเศรษฐกิจ” ของครัวเรือนยากจน
การก่อเกิดของรถพุ่มพวงในพื้นที่ตำบลสะแกโพรงเกิดขึ้นอย่างเป็นพลวัต (dynamic) และมีการเพิ่ม/ลดจำนวนตามบริบทและสถานการณ์ ซึ่งทีมวิจัยฯ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการรถพุ่มพวงเกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เนื่องจากคนในเมืองส่วนใหญ่ตกงานและต้องกลับมาอยู่ที่ท้องถิ่น การผันตัวจากการว่างงานสู่ผู้ประกอบการรถพุ่มพวงจึงเป็นโอกาสของการอยู่รอดในสถานการณ์วิกฤติ จึงพบเห็นรถพุ่มพวงจำนวนมากวิ่งขาย/กระจายสินค้าในท้องถิ่น แต่หลังจากสถานการณ์ผ่อนเบาลงจำนวนผู้ประกอบการรถพุ่มพวงเริ่มกลับเข้าไปทำงานในเมืองคืน ปัจจุบันผู้ประกอบการรถพุ่มพวงในชุมชนเป็นวัยแรงงานที่ต้องการอยู่บ้าน และครัวเรือนที่ใช้เวลาว่างจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
อย่างไรก็ตาม กลับพบว่า ครัวเรือนยากจนฐานล่างส่วนใหญ่ไม่มีกำลังทางเศรษฐกิจมากเพียงพอสำหรับเป็นผู้ประกอบการรถพุ่มพวงเองได้โดยตรง เนื่องจากการเป็นผู้ประกอบการรถพุ่มพวงจะต้องมีทุนทางการเงินอย่างน้อย 2 ก้อน คือ ก้อนสำหรับซื้อ/จัดหารถ และก้อนสำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนซื้อขายสินค้า ขณะที่ รถพุ่มพวงมีกลยุทธ์ในการกระจายสินค้าถึงผู้บริโภคที่ไม่ทับเส้นทางกัน หรือการวิ่งขาย/กระจายสินค้ากันคนละเวลา หรือการซื้อสินค้าแบบค้าส่งถึงใหญ่มาคัดแยกแบ่งเป็นถุงเล็ก ครัวเรือนยากจนได้ช่วงชิงโอกาสนี้ในการเข้าไปเป็นแรงงานรับจ้างช่วงคัดแยกแบ่งถุงสินค้า สามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนยากจนมากถึง 200-300 บาทต่อวัน (ครัวเรือนยากจนที่ขยัน) ดร.เชาวลิต สิมสวย ชี้ว่า “การขายของรถพุ่มพวงแต่ละคันจะต้องจัดการกับสินค้าของตัวเองให้ได้ หากมองสินค้าในรถพุ่มพวงจะเห็นสินค้าต่างๆ ราว 200-300 รายการต่อคัน และสินค้าส่วนใหญ่เป็นอาหารสด” และได้สะท้อนให้เห็นการทำงานเชิงพื้นที่อีกว่า “การลงพื้นที่นอกจากจะต้องโพกัสที่ครัวเรือนยากจนเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักแล้ว จำเป็นต้องมองหาโอกาสในชุมชนที่ครัวเรือนยากจนจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งได้” ทั้งการประสานงานเพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการท้องถิ่น และเชื่อมโยงผู้นำท้องถิ่น หรืออื่นๆ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้เป็น “เข็มทิศ” นำทางครัวเรือนยากจนให้ไปถึงโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ
วิ่งในเส้นทางประจำของตนเอง มีลูกค้าที่รู้จักและอุดหนุนประจำ การเปลี่ยนเส้นทางอาจขายไม่ได้ เพราะลูกค้าจำหน้าไม่ได้ ความผูกพันเดิมไม่มี จะซื้อขายได้มากหรือน้อยเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เดิมที่มีและความไว้วางใจกันของรถพุ่มพวงกับผู้ซื้อ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนในหมู่บ้าน/ผู้สูงอายุที่ไม่ได้ออกไปไหน และเป็นผู้หญิงที่มักจะได้รับมอบภาระด้านการจัดการอาหารของครอบครัว
สนทนากับผู้ประกอบการรถพุ่มพวง
“พนักงานคัดแยก” ใน “ธุรกิจครอบครัว” : ลงทุน 10 บาทได้กำไร 10 บาททันที…
กระบวนการทำงานภาคสนามทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพของทีมวิจัยฯ ได้นำไปสู่การทำความเข้าใจและการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการผลักดันให้ครัวเรือนยากจนเข้าถึง “สายพานเศรษฐกิจรถพุ่มพวง” พบว่า เนื่องจากครัวเรือนยากจนส่วนใหญ่มีกำลังทางด้านเศรษฐกิจน้อย อาจมีข้อจำกัดในการยกระดับตนเองสู่การเป็นผู้ประกอบการรถพุ่มพวง อย่างไรก็ตาม การช่วงชิงโอกาสทางด้านเศรษฐกิจของครัวเรือนยากจนผ่านการเป็นแรงงานและลูกจ้างคัดแยก ถือเป็นความสำเร็จระยะสั้น ใกล้ตัว และจับต้องได้มากที่สุด เนื่องจากพบว่า ครัวเรือนยากจนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะครัวเรือนฐานล่างสุดประสบปัญหาคล้ายกันจากการมีบุคคลที่เป็นภาระพึ่งพิง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เด็กเล็ก หรือไม่มีเงินทุน เป็นต้น มีความต้องต้องการรายได้ระยะสั้น/รายวันเพื่อไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้ประกอบการรถพุ่มพวง ชี้ให้เห็นว่า การซื้อสินค้าของรถพุ่มพวงแต่ละคันมีความต้องการสินค้าที่หลากหลายเพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับผู้บริโภค สินค้าในรถพุ่มพวงจึงเป็นทั้งสินค้าที่มาจากตลาด (ตลาดดอนแขวง อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และตลาดนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์) และผู้ผลิตสินค้าในชุมชน เช่น ขนมหวาน อาหารแปรรูป ผัก ผลไม้ตามฤดูกาล ฯลฯ ซึ่งครัวเรือนยากจนเป็นส่วนหนึ่งในการจัดหาและผลิตสินค้าเหล่านี้
ลุงต๋อง (นามสมมติ) กล่าถึงการจัดการสินค้าของรถพุ่มพวงว่า รถพุ่มพวงแต่ละคันจะตื่นนอนประมาณตี 3 เพื่อเข้าตลาดไปซื้อสินค้า มีทั้งคนที่นำรถกะบะไปซื้อและขับรถพุ่มพวงของตัวเองไปซื้อ หลังจากซื้อของเสร็จจะกลับมาถึงบ้านประมาณ 6 โมงเช้า ช่วยกันคันแยกจัดแบ่งสินค้า ซึ่งครัวเรือนยากจนเป็นแรงงานในส่วนนี้และถูกเรียกว่า “พนักงานคัดแยก” การคัดแยกสินค้าจัดขึ้นที่บ้านของผู้ประกอบการรถพุ่มพวง “บ้านใครบ้านมัน” ซึ่งลุงต๋องมองว่ากิจกรรมรถพุ่มพวงเป็น “ธุรกิจครอบครัว” และการทำงานคัดแยกสินค้าจะใช้เวลาประมาณวันละ 1-2 ชั่วโมงอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันออกขายก่อนที่ครัวเรือนผู้บริโภคจะประกอบอาหารเช้าเสร็จ หลังจากคัดแยกเสร็จพนักงานคัดแยกจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินสดในวันนั้นทันที คนละประมาณ 200-300 บาทตามความเหมาะสมของสินค้าแต่ละวัน นอกจากนั้น การทำงานภาคสนามของทีมวิจัยฯ ชี้ให้เห็นว่า ต้นทุนการเป็นผู้ประกอบการรถพุ่มพวงแบ่งออกตามประเภทของรถ คือ รถพุ่มพวงมอเตอร์ไซค์ ใช้ต้นทุนประมาณ 8,000-12,000 บาท รถพุ่มพวงพ่วงข้าง 15,000-20,000 บาท และรถพุ่มพวงกะบะ 30,000-50,000 บาท
บางครั้งก็ไปช่วยเข้าคัดแยกของที่บ้าน บางครั้งก็ทำขนมหวานที่บ้านของตัวเองไปส่งให้รถพุ่มพวง และมีผักที่ปลูกไว้ในสวนหลังบ้านเก็บขายได้ตลอด โดยเฉพาะถั่วฝักยาวที่รถพุ่มพวงต้องการจำนวนมาก ปลูกได้เท่าไหร่ก็ไม่เคยเหลือ รถพุ่มพวงบางเจ้ามาจองไว้ตั้งแต่ถั่วยังไม่ออกฝักก็มี
ยายพร (นามสมมติ) ครัวเรือนยากจนตามฐานข้อมูลการสอบทานและ TPMAP
หมายเหตุ : นำเสนอประเด็นโดย หน่วยบริหารจัดการข้อมูลเพื่อสื่อสารและเผยแพร่ (นขส.), ข้อมูลจากการลงพื้นที่ภาคสนามในโครงการ “การพัฒนาระบบกลไกกระบวนการสื่อสารฯ”, มูลนิธิปัญญาวุฒิ, ภายใต้การ สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), และขอขอบคุณโครงการการบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยโมเดลรถพุ่มพวง, ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์