เรียบเรียง พงษ์เทพ บุญกล้า และ ธีรนันท์ ขันตี
พื้นที่ดำเนินโครงการวิจัยพัฒนาโมเดลแก้จน จังหวัดสุรินทร์ ดำเนินการด้วยแนวคิด “ธรรมเกษตรอินทรีย์ วิถีเกื้อกูล” สู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และการประสานความร่วมมือในชุมชน หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ และประชาชน เพื่อสร้างโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับครัวเรือนยากจน ซึ่งเรียกว่า “ผักอินทรีย์แก้จน” โดยดำเนินการบริเวณ “ทุ่งกุลาร้องไห้” หรือพื้นที่ (space) ที่ชาวบ้านเรียกว่า “งวงช้าง” ของแผนที่จังหวัดสุรินทร์
โมเดลผักอินทรีย์แก้จน : เกี่ยวโยงครัวเรือนยากจนกลุ่มหัวไวใจสู้สู่การสร้างอาชีพและรายได้
ผศ.ดร.นิศานาถ แก้ววินัด และทีมวิจัยฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ สะท้อนให้เห็นว่า การเข้ามาดำเนินโครงการในพื้นที่ระยะแรกมีการตั้งคำถามจากชุมชน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีโครงการลักษณะของงานวิจัย/งานวิชาการมาก่อน หลังจากมีการพบปะพูดคุยชี้แจงรายละเอียดการทำงานต่างๆ ทำให้พื้นที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการทำงานพัฒนาเชิงพื้นที่พร้อมกับการทำงานผ่านองค์ความรู้ด้านวิชาการศาสตร์ต่างๆ ชาวบ้านจึงเข้าร่วมดำเนินกิจกรรมปลูกผักอินทรีย์แปลงรวม หรือเรียกว่า “ผักอินทรีย์แก้จน” ที่บ้านยะวึก บ้านหัวนาคำ และบ้านไทรงาม จังหวัดสุรินทร์ โดยจุดเด่นของการปลูกผักอินทรีย์เน้นชนิดผักสวนครัวที่นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับสมาชิกครัวเรือนยากจนราวๆ 400 บาทต่อวัน และบางฤดูกาลสามารถขายผักได้มากถึง 5,000 บาท ผศ.ดร.นิศานาถ แก้ววินัด สะท้อนให้เห็นอีกว่า การทำงานในพื้นที่ได้ใช้ข้อมูลรายครัวเรือนจาก TPMAP พบว่าเป็นครัวเรือนยากจนราวร้อยละ 20 เป็นครัวเรือนยากจนที่ตกเกณฑ์ จปฐ. และพบอีกว่าครัวเรือนยากจนประสบปัญหาจากหลากหลายปัจจัย และส่วนหนึ่งทีมวิจัยได้ใช้ข้อมูลเชื่อมโยงกับข้อมูลที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านการศึกษาเพื่อผลักดันโอกาสด้านการศึกษาให้กับลูกหลานในครัวเรือนยากจน
“คนจนหัวไวใจสู้” ครัวเรือนยากจนเกาะเกี่ยวยึดโยงกันเข้ารวมกลุ่มผลิตผักอินทรีย์และดำเนินกิจกรรมเชิงรณรงค์ทางสังคม
ผศ.ดร.นิศานาถ แก้ววินัด ทีมวิจัยฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
กระบวนการเปิดโอกาสและสร้างการเรียนรู้ให้กับครัวเรือนยากจน
การปลูกผักแปลงรวมอินทรีย์ของครัวเรือนยากจนดำเนินการพร้อมกับการสร้างความร่วมมือกับชุมชน พบว่า การดำเนินการรระยะแรกใช้พื้นที่ปลูกผักแปลงรวมที่โรงเรียน เนื้อที่จำนวน 12 ไร่ ระยะหลังเปลี่ยนมาใช้พื้นที่ว่างเปล่าของชุมชน โดยผู้นำชุมชน ชาวบ้าน และครัวเรือนยากจนร่วมกันปรับพื้นที่ ปรับปรุงดิน และจัดแบ่งแปลงผักร่วมกัน ผศ.ดร.นิศานาถ แก้ววินัด กล่าวว่า “ชาวบ้านพึ่งพากันเองและไม่ได้งอมืองอเท้า” ซึ่ง แม่น้อย (นามสมมติ) กล่าวว่า “ช่วงแรกเข้ามาร่วมปลูกผักได้ผลผลิตผักที่ไม่งอกงามมากนัก แต่พอได้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้การดูแลผักร่วมกับสมาชิกได้เห็นกระบวนการปลูกผักแบบประณีต” อย่างไรก็ตาม การดำเนินการปลูกผักแปลงรวมกำลังไปได้ดีกลับได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานเมื่อปี พ.ศ.2565 (เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในรอบ 30 ปี) รวมทั้งข้าว 5 ไร่ (3 แปลง) ของตนเองที่ปลูกไว้ได้รับผลกระทบทั้งหมด ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้เป็นหนี้เพราะไม่ได้ผลผลิตข้าว
ถ้าเดินเข้ามาแปลงผักจะรู้ได้เลยว่าตัวเองจะมีรายได้ แต่ก่อนไม่มีรายได้ลูกขอเงินไปซื้อขนมแค่ 20 บาทก็อารมณ์เสีย แต่ตอนนี้ให้ลูกไปซื้อขนมและไปโรงเรียนได้อย่างสบายใจ
แม่น้อย (นามสมมติ) ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมโครงการฯ
ผักอินทรีย์แก้จน : หลักประกันด้านการเข้าถึงเงินทุนต่อยอดอาชีพและรายได้
กรณี ผักอินทรีย์แก้จน บ้านยะวึก เริ่มดำเนินการปี พ.ศ.2564 มีครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมจำนวน 12 ครัวเรือน มีการรวมตัวกันในแบบกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชน” และเป็นสมาชิก ระดมเงินทุนของกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมและหมุนเวียน การเข้าร่วมมีการบริหารจัดการค่าแรงตามความสามารถในการทำงาน กล่าวคือ คนที่เข้ามาทำงานที่แปลงรวมมีโอกาสได้รับค่าแรง/ค่าตอบแทนมากกว่าคนที่ไม่เข้าร่วม รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มคนที่เป็นสมาชิกยังมีโอกาสในการกู้ยืมเงินเริ่มต้นตั้งแต่ 500 บาท โดยการพิจารณาเห็นชอบร่วมกันของสมาชิก ใช้ความไว้ใจและเชื่อใจกันของกลุ่มเป็นหลักประกัน เนื่องจากบางครั้งครัวเรือนยากจนไม่ได้มีหลักประกันมาค้ำ แต่การเข้าถึงเงินกู้ขนาดเล็กจะเป็นโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนที่จะใช้ในการประกอบอาชีพหรือต่อยอดให้เกิดรายได้ในครัวเรือน โดยกลุ่มคิดดอกเบี้ยตามความสมัครใจของผู้กู้ (แล้วแต่จะให้) และสร้างความเชื่อใจกันภายในกลุ่มว่าทุกคนสามารถนำไปใช้ได้และต้องนำกลับมาคืนให้กับกลุ่ม “อย่าคิดว่าเป็นเงินกลุ่มให้คิดว่าเป็นเงินตัวเอง ใช้แล้วเกิดประโยชน์สูงที่สุด” ขณะที่ กลุ่มบ้านนาคำ มีครัวเรือนสมาชิกที่เข้าร่วมปลูกผัก 154 ครัวเรือน (ทั้งครัวเรือนยากจนและไม่จน) มีการทำกิจกรรมระดมเสารั้วจากชุมชนได้มากถึง 168 ต้น และระดมทุนตั้งต้นได้ 2300 บาท นำเงินที่ได้ไปใช้ในการบริหารจัดการแปลงร่วมกัน ขณะที่บ้านยะวึก ระดมทุนไว้สำหรับทำกิจกรรมของกลุ่มแปลงละ 10 บาทต่อเดือน (เก็บส่วนต่าง 5 บาทเข้ากลุ่ม เก็บค่าแปลง 10 บาทต่อเดือน)
เชื่อมโยงผลผลิต “ผักอินทรีย์แก้จน” กับท้องถิ่นและตลาด
การผลิตผักอินทรีย์แก้จน มุ่งให้เกิดการสร้างรายได้และเป็นพื้นที่ของความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือนยากจนที่เป็นสมาชิกและชุมชน โดยกลุ่มพยายามเชื่อมโยงผลผลิตผักอินทรีย์ที่ผลิตได้กับชุมชนและตลาดท้องถิ่น ได้แก่ ขายผักที่แปลง ร้านค้าชุมชน รถพุ่มพวง และเคยมีประสบการณ์ส่งออกผักให้กับห้างสรรพสินค้า แต่ประสบปัญหาด้านคุณภาพและปริมาณการผลิต สมาชิกกลุ่มจึงหารือกันว่าควรผลิตผักแปลงรวมจำนวนให้เพียงพอกับตลาดท้องถิ่นก่อน เพื่อให้คนท้องถิ่นใกล้แปลงผักได้บริโภคผักปลอดภัย และเน้นปลูกชนิดผักพื้นบ้านที่เหมาะสมกับผู้บริโภคในท้องถิ่น พบว่า ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมได้ขายผักในท้องถิ่น รวมทั้งการดึงบทบาทของคนรุ่นใหม่ในครอบครัวเข้ามาช่วยขายผักทางออนไลน์ เพื่อเปิดการมองเห็นให้กับสมาชิกในชุมชนและตลาดชุมชน อย่างไรก็ดี พบอีกว่า การดำเนินกิจกรรมเป็นไปได้ด้วยความร่วมมือและสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ โดยครัวเรือนยากจนท่านหนึ่งกล่าวว่า“หน่วยงานอื่นมักจะเข้ามาอบรมหรือประชุมแค่วันเดียว แต่มหาวิทยาลัยเข้ามาระยะยาว จับมือพาทำ ทำให้เรามีความรู้ไปพร้อมกัน”
“ปิดกั้นความจริงปิดกั้นโอกาส” : ผักแปลงรวมเปิดเผย “ความจริง” กับโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ
ปัญหาหนึ่งที่ความช่วยเหลือหรือโครงการต่างๆ เข้าไม่ถึงครัวเรือนยากจนเกิดขึ้นจากการทำงานสำรวจข้อมูล จปฐ. เนื่องจากมักจะมีคำสั่งจากหน่วยงานหรือคนที่เกี่ยวข้องทำนองว่า “สำรวจยังไงก็ได้ให้ผ่านเกณฑ์” การสำรวจข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงทำให้ข้อมูลผ่านเกณฑ์ แต่ขณะเดียวกันครัวเรือนยากจนที่ต้องการความช่วยเหลือก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ การดำเนินการกิจกรรมปลูกผักแปลงรวมแก้จนจึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ครัวเรือนยากจนได้สร้างรายได้และมีอาหารให้กับครอบครัว นอกจากนั้น การเข้าร่วมกิจกรรมปลูกผักแก้จนยังนำไปสู่การเปิดพื้นที่ทางสังคมให้กับครัวเรือนยากจน กล่าวคือ การปลูกผักแปลงรวมสมาชิกได้เข้าร่วมกิจกรรมกรรมด้วยกัน ได้ดูแลแปลงผักของตัวเอง ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนทั้งความรู้เรื่องการปลูกผักและความทุกข์สุขของครอบครัว ยายอ่อน (นามสมมติ) กล่าวว่า “มาปลูกผักที่แปลงมันสนุก บางคนมาตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำก็ยังไม่อยากกลับจนผัวมาตามเอา เพราะที่นี่ได้พบปะพูดคุยกันตลอดทั้งวัน ได้ปลดปล่อยและคลายความเครียด และมีประธานกลุ่มที่เข้าใจ (ประธานกลุ่มเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน) บางคนสุขภาพไม่ดีมากก็มีสมาชิกกลุ่มช่วยกันแบ่งเบา วันไหนเจ็บไข้ไม่สบายก็ฝากกันดูแลผักได้”
เวลาทำข้อมูล จปฐ. เขาบอกว่าทำให้ผ่านอย่าทำให้ตก
สมาชิกกลุ่มท่านหนึ่งที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการสำรวจข้อมูล จปฐ.
เกาะเกี่ยวสมาชิดปลูกผักอินทรีย์แก้จนที่ “แปลงรวม” และ “สวนหลังบ้าน”
สมาชิกกลุ่มที่เข้าร่วมปลูกผักแปลงรวมที่บ้านยะวึก ส่วนใหญ่เป็นคนในหมู่บ้านอยู่แล้ว สามารถเดินทางถึงแปลงผักของตัวเองได้อย่างสะดวก สำหรับครัวเรือนยากจนสมาชิกที่ไม่สะดวกปลูกผักที่แปลงรวมสามารถปลูกที่บ้านของตัวเองและส่งผักร่วมขายกับกลุ่มได้ มีการแวะเวียนไปเยี่ยมกันปลูกผัก การลงไปเยี่ยมแปลงผักของ ยายแตง (นามสมมติ) พบว่า ยายแตงอาศัยอยู่บ้านกับสามีและหลานชาย 1 คน ยายแตงใช้พื้นที่หลังบ้านในการทำแปลงผัก แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกผักที่ใช้สำหรับเป็นผักหอม เช่น หอมแดง สาระแน กระเพรา แมงลัก ผักชีฝรั่ง แปลงถั่วฝักยาว แตงกวา และมะเขือ โดยยายแตงใช้น้ำจากบ่อน้ำหมู่บ้านให้ความชุ่มชื่นกับแปลงผัก สามารถสร้างอาหารและรายได้ให้กับครอบครัวตลอดทั้งปี เพราะแต่ละช่วงฤดูกาลจะหมุนเวียนปลูกผักชนิดที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ
ทำแปลงผักเองกับหลานตามกำลังที่ตัวเองมีแบบนี้แหละ แบ่งปลูกผักต่างๆ ให้หลากหลาย เพราะแต่ละอย่างขายได้ตลอด เก็บอย่างละนิดละหน่อยไป มีรายได้อย่างน้อยๆ ก็วันละ 200-300 บาท แค่นี้ก็พออยู่ได้ เพราะอายุมากแล้วทำแค่นี้ก็พอ
ยายแตง (นามสมมติ) ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมโครงการฯ
หมายเหตุ : นำเสนอประเด็นโดย หน่วยบริหารจัดการข้อมูลเพื่อสื่อสารและเผยแพร่ (นขส.), ข้อมูลจากการลงพื้นที่ภาคสนามในโครงการ “การพัฒนาระบบกลไกกระบวนการสื่อสารฯ”, มูลนิธิปัญญาวุฒิ, ภายใต้การ สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), และขอขอบคุณโครงการวิจัยพัฒนาโมเดลแก้จน จังหวัดสุรินทร์ ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์