วันนี้ (9 พ.ย.2558) กรมราชทัณฑ์ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ “หมอหยอง” ผู้ต้องขังคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยการแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ และถูกนำตัวมาฝากขังผลัดแรกที่ศาลทหารกรุงเทพเมื่อวันที่ 21 ต.ค.2558 พร้อมกับผู้ต้องหาอีก 2 คน คือ นายจิรวงศ์ เทวาวัฒนศิลป์ และ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ทั้ง 3 คนถูกตั้งข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ
นายสุริยันเป็นที่ปรึกษาพิเศษของคณะกรรมการจัดงาน “Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่” เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2558 และกำลังมีบทบาทในการจัดงาน “Bike for Dad ปั่นเพื่อพ่อ” ในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ แต่ถูกจับกุมดำเนินคดีเสียก่อน
ศาลอนุญาตให้ฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. – 1 พ.ย. 2558 ที่เรือนจำไปควบคุมตัวที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี มณฑลทหารบกที่ 11 โดยขณะเสียชีวิตนายสุริยันอยู่ระหว่างฝากขังครั้งที่ 2
รายละเอียดแถลงการณ์กรมราชทัณฑ์ มีดังนี้
“เมื่อวันเสาร์ที่ 7 พ.ย.2558 กรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานจากเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี สังกัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครว่า เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. ข.ช.สุริยัน สุจริตพลวงศ์ ผู้ต้องขังคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างฝากขังผลัดที่ 2 เวรรักษาการณ์ไปตรวจพบขณะนอนอยู่ในห้องขัง เรียกชื่อไม่ขานตอบ มองจากภายนอกห้องขังเห็นว่ามีอาการหายใจเฮือก จึงได้รีบแจ้งให้หน่วยเสนารักษ์ประจำ มทบ.11 มาตรวจสอบพบว่าชีพจรอ่อน ไม่รู้สึกตัว จึงได้รีบนำตัวส่งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร
เมื่อไปถึงราชทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เวลา 22.20 น. ห้องฉุกเฉินแรกรับพบว่า ผู้ต้องขังดังกล่าวไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองใดๆ วัดสัญญาณชีพจรไม่ได้ ม่านตาขยาย 4 มม. ไม่ตอบสนองต่อแสงทั้ง 2 ข้าง โรงพยาบาลฯ ได้ดำเนินการช่วยฟื้นคืนชีพเป็นเวลาชั่วโมงเศษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แพทย์เวรลงความเห็นว่าเสียชีวิตแล้ว
การเสียชีวิตครั้งนี้เป็นการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว เจ้าพนักงานมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือต้องแจ้งให้พนักงานสอบสวน แพทย์ พนักงานอัยการ และพนักงานฝ่ายปกครอง รวม 4 ฝ่าย มาชันสูตรพลิกศพ ซึ่งในกรณีนี้ได้แจ้งพนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ซึ่งเป็นท้องที่ที่พบศพ เข้ามาดำเนินการ
ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต ซึ่งชันสูตรโดยสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ได้ทำการตรวจพิสูจน์ศพเรียบร้อย เอกสารลงวันที่ 8 พ.ย.2558 ปรากฎสาเหตุการเสียชีวิต “สันนิษฐานว่า ระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากติดเชื้อในกระแสโลหิต” เรือนจำแจ้งญาติผู้เสียชีวิตให้มาขอรับศพเพื่อไปดำเนินการตามประเพณีต่อไป
สำหรับการดำเนินการภายหลังการเสียชีวิต เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อรายงานผลมาให้กราราชทัณฑ์พิจารณา ส่วนการดำเนินการตามกฎหมายกรณีเสียชีวิตในสถานที่คุมขังนั้น พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น จะเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องการไต่สวนการเสียชีวิตต่อไป
สรุปเหตุการณ์
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 พ.ย.2558 ต่อเนื่องถึงวันศุกร์ที่ 6 พ.ย.2558 ผู้ต้องขังมีอาการไข้สูง กระสับกระส่าย ไอ พยาบาลเสนารักษ์ประจำเรือนจำได้จ่ายยาลดไข้ ยาลดอาการไอ แล้วให้นอนพัก
ต่อมาในวันที่ 7 พ.ย.2558 เวลาประมาณ 21.00 น. เจ้าหน้าที่เวรไปตรวจ พบว่า ผู้ต้องขังมีอาการเรียกไม่รู้สึกตัว หายใจเฮือกยาว เสนารักษ์จึงแจ้งให้นำส่งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ทันที
เมื่อไปถึงทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แพทย์เวรได้พยายามช่วยชีวิตตามหลักเกณฑ์และจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ทำกระบวนการฟื้นคืนชีพ ใช้เวลาดำเนินกระบวนการ ตั้งแต่แรกพบตัว โดยใส่ท่อช่วยหายใจ ปั้มหัวใจ ให้ยากระตุ้นหัวใจและความดันโลหิต ฯลฯ โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้แจ้งพนักงานสอบสวนท้องที่ มาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า มีเชื้อใดที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตทันทีได้อย่างรวดเร็ว
เท่าที่สอบถามกับแพทย์ พบว่า มีเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุทำให้ระบบหายใจล้มเหลวแล้วเสียชีวิตอย่างรวดเร็วได้ เช่น เชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเดินหายใจ สายพันธุ์รุนแรง ผู้รับเชื้อจะเกิดอาการอย่างเฉียบพลัน ยากแก่การประเมินหรือรักษาไม่ทันการณ์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่ได้รับสารสเตียรอยด์เพื่อกดภูมิต้านทาน หรือผู้เป็นโรคที่ยังไม่ได้ระบุการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอจากการเป็นโรคประจำตัวบางอย่าง หรือภาวะภูมิต้านทานบกพร่องจากโรคเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้รับการค้นพบ หากได้รับเชื้อไวรัสดังกล่าว จะมีอาการรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่รุนแรง
ซึ่งในกรณี ข.ช.สุริยัน มีความเป็นไปได้ที่ผู้ต้องขังอาจมีภูมิต้านทานอ่อนแอ โดยตรวจพบจากการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2558 ว่า มีภาวะไขมันสะสมในตับสูง ประกอบกับผลการตรวจเลือดในขณะช่วยฟื้นคืนชีพ เมื่อคืนวันที่ 7 พ.ย. พบมีเอนไซม์การทำงานของตับสูง ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด พบว่า มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ มีเพียง 60,000 คิวบิกมิลลิเมตร (ค่าปกติ ตั้งแต่ 140,000-400,000/คิวบิกมิลลิเมตร) สันนิษฐานว่าเมื่อได้รับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดเข้าไป จึงอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว”
ด้าน เนชั่นทีวี รายงาน ‘ญาติรับศพหมอหยองแล้วตั้งแต่ 8 พ.ย. ไม่ติดใจสาเหตุการตาย’ ระบุ กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมาญาติได้ติดต่อขอรับศพนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง จากทัณฑสถานโรงพยาบาลแล้ว โดยญาติไม่ติดใจถึงสาเหตุการเสียชีวิต จึงนำศพไปประกอบพิธีทางศาสนา
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ชี้แจงกรณีที่มีกระแสข่าวว่านายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง อายุ 53 ปี ผู้ต้องหาคดีความผิดมาตรา 112 เสียชีวิตแล้วว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของหมอหยอง โดยตนได้รับรายงานจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 7 พ.ย. ว่า หมอหยอง มีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. และได้ทำการรักษาอาการต่อเนื่องแต่มีอาการรุนแรงขึ้น จึงจำเป็นต้องนำตัวออกจากเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ภายในมทบ. 11 ออกไปรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก่อนเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในคืนวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 22.00 น.
ส่วน ThaiPBS รายงานว่า ก่อนหน้านี้ พ.ต.ต.ปรากรม หนึ่งในผู้ต้องหาในคดีเดียวกันได้เสียชีวิตจากการผูกคอภายในเรือนจำชั่วคราว เมื่อประมาณ 22.00 น. ของวันที่ 23 ต.ค.2558 หลังจากนั้นมีข่าวลือเป็นระยะว่านายสุริยันเสียชีวิต แต่เจ้าหน้าที่ออกมาปฏิเสธอย่างต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่านายสุริยันมีอาการป่วยจากความดันโลหิตสูง และได้ส่งตัวเข้ารักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์
ในส่วนของ พ.ต.ต.ปรากรม ยังถูกดำเนินคดีข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครอง, มีใช้ซึ่งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ และตั้งวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมด้วย