ระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแนวทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของมหาวิทยาลัยพะเยาอย่างยั่งยืน

ระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแนวทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของมหาวิทยาลัยพะเยาอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก สาเหตุหลักๆ มาจากสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ส่งผลกระทบอย่างเป็นวงกว้างต่อทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศสูงขึ้น ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ (CO2) ที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของก๊าซเรือนกระจก ในวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) หลากหลายประเทศทั่วโลกเริ่มตื่นตัวและพยายามให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยกระบวนการหรือแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นประเด็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และพยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่องของหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ ‘Carbon Neutrality’ หรือ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ซึ่งมีความหมายคือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดกลับคืน จึงทำให้นานาชาติต่างประกาศเป้าหมายที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในการประชุมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ทั้งนี้ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้แสดงเจตนารมย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและได้ประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และหนึ่งในแนวคิดของความเป็นกลางทางคาร์บอน มีกระบวน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) “ลด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) 2) “ดูดกลับ” ก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ เช่น การปลูกป่าเพื่อเพิ่มแหล่งสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ (Carbon Sink) และ 3) “ชดเชย” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Offset)           

มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเล็งเห็นความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตามยุทธศาสตร์ระดับประเทศ “การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” หรือ “การเติบโตสีเขียว” มีสุขภาวะ จึงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2571 และได้กำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญที่จะทำให้มหาวิทยาลัยพะเยาเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นกลางทางคาร์บอนอย่างยั่งยืน และได้รับการจัดอันดับองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการใช้พลังงานต่างๆ ของ

มหาวิทยาลัยพะเยา จะต้องเป็นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยพะเยาได้กำหนดแนวทางในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยการ “ลด” การใช้พลังงานฟอลซิลและมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยพะเยาปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ได้แก่ การใช้พลังงานในภาคส่วนต่างๆ เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้า การใช้พลังงานจากการขนส่งภายใน ทั้งนี้ รถโดยสารที่มาให้บริการภายในมหาวิทยาลัยพะเยาจากเดิมเป็นระบบเชื้อเพลิงประเภทก๊าซ NGV ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

มหาวิทยาลัยพะเยา พิจารณาแล้วเห็นว่าหากยังคงใช้ระบบเชื้อเพลิงเดิมก็จะไม่สามารถตอบสนองให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ จึงได้กำหนดแนวทางการเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะภายในมหาวิทยาลัยทั้งหมดมาเป็นรถโดยสารขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV Bus) เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ และการส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) โดยจากการเก็บข้อมูลระยะทางรวมที่รถโดยสารวิ่งและการใช้พลังงานไฟฟ้าของรถโดยสารในช่วงระยะเวลา 3 เดือน (เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2567) พบว่า       

1) เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 มีปริมาณระยะทางรวมที่รถโดยสารวิ่งได้อยู่ที่ 63,809 กิโลเมตร

2) เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 มีปริมาณระยะทางรวมที่รถโดยสารวิ่งได้อยู่ที่ 110,778 กิโลเมตร

3) เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 มีปริมาณระยะทางรวมที่รถโดยสารวิ่งได้อยู่ที่ 116,900 กิโลเมตร          

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระยะทางรวมที่รถโดยสารวิ่งรับส่งบุคลากรและนิสิตภายในมหาวิทยาลัยพะเยา หากคิดอัตราการสิ้นเปลื้องพลังงานรถโดยสารประเภทเชื้อเพลิงเบนซินอยู่ที่ 4 กิโลเมตรต่อลิตร และประเภทเชื้อเพลิงดีเซลอยู่ที่ 5 กิโลเมตรต่อลิตร (สำหรับรถโดยสารขนาดเล็ก) รวมถึงมีค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) ของน้ำมันเบนซินแบบเคลื่อนเท่ากับ 2.2376 kgCO2/ลิตร ของน้ำมันดีเซลแบบเคลื่อนที่เท่ากับ 2.7446 kgCO2/ลิตร และของการใช้พลังงานไฟฟ้า (ไทย) เท่ากับ 0.4999 kgCO2/kWh จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้รถโดยสารของมหาวิทยาลัยพะเยา ดังนี้

การเปรียบเทียบอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรถโดยสารภายในมหาวิทยาลัยพะเยา โดยผลพบว่ารถโดยสารที่เติมน้ำมันเบนซินมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยอยู่ที่ 0.56 kgCO2e./กิโลเมตร ส่วนรถโดยสารที่เติมน้ำมันดีเซลมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยอยู่ที่ 0.55 kgCO2e./กิโลเมตร สำหรับรถโดยสารไฟฟ้า (EV Bus) จะมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยอยู่ที่ 0.36 kgCO2e./กิโลเมตร โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรถโดยสารไฟฟ้าทั้งหมดจะอยู๋ในกระบวนการชาร์ทพลังงานไฟฟ้าในแต่ละครั้ง แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะการใช้รถโดยสารไฟฟ้าบนท้องถนนจะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยหรือเรียกได้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ดังนั้น ถ้ามหาวิทยาลัยพะเยาพิจารณาใช้ระบบการชาร์ทไฟของรถโดยสารไฟฟ้ามาเป็นพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในระบบขนส่งสาธารณะของมหาวิทยาลัยพะเยาจะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืนได้


จากกิจกรรมระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (รถโดยสารไฟฟ้าแบตเตอรี่) ที่มหาวิทยาลัยพะเยาดำเนินการอยู่แสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยพะเยามีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือเป็นองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจกตามตัวชี้วัดของมหาวิทยาลัยพะเยา ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2571 และมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืน
ดร.ปรัชญ์ ปิงเมืองเหล็กหัวหน้างานสิ่งแวดล้อม กองอาคารและสถานที่


ระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแนวทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของมหาวิทยาลัยพะเยาอย่างยั่งยืน

ระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแนวทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของมหาวิทยาลัยพะเยาอย่างยั่งยืน

ระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแนวทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของมหาวิทยาลัยพะเยาอย่างยั่งยืน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ