ดอกเบี้ยนโยบายปี 2555: กระสุนที่ (อาจ) ด้าน โดย ศูนย์วิเคราะห์ศก. TMB

ดอกเบี้ยนโยบายปี 2555: กระสุนที่ (อาจ) ด้าน โดย ศูนย์วิเคราะห์ศก. TMB

ดอกเบี้ยนโยบายปี 2555: กระสุนที่ (อาจ) ด้าน
 
TMB Analytics หรือศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ชี้ ขาลงดอกเบี้ยนโยบายยังไม่จบ แต่ค่าต๋ง FIDF อาจจะทำให้ประสิทธิภาพการส่งผ่านของดอกเบี้ยนโยบายแย่ลง

จากที่กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 55 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 25 basis points (bps) เป็นร้อยละ 3.00 จากร้อยละ 3.25 ณ สิ้นปี 2554  นั้น ทาง TMB Analytics คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกปรับลงอีก 25bps หนึ่งครั้งในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งการประชุม กนง. จะมีขึ้นอีกสามครั้ง ในเดือน มีนาคม พฤษภาคม และ มิถุนายน  และน่าจะยืนที่ระดับร้อยละ 2.75 จนสิ้นปี ด้วยสองปัจจัยหลักด้วยกัน คือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาค ปัญหาเดิมที่เรื้อรังมากว่าสองปีแล้ว คือความเสี่ยงของเศรษฐกิจยุโรปที่คาดว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 0.5-1.0 ในปี 2555  นั่นหมายถึงตลาดส่งออกหลักจะส่งผลกระทบเชิงลบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อความต้องการสินค้าส่งออกจากไทย นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวจากผลกระทบน้ำท่วมที่น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าขั้นหดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วถึงร้อยละ 5.3

อีกทั้ง แรงกดดันเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกยังไม่สูง โดยเงินเฟ้อทั่วไปลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.53 ในเดือนธันวาคมปีที่แล้วจากร้อยละ 4.19 ณ เดือนพฤศจิกายน และเงินเฟ้อพื้นฐานก็เริ่มทรงตัว โดยผลจากการกระตุ้นการบริโภค การขึ้นค่าจ้างแรงงานในเดือนเมษายน และการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในประเทศ จะเริ่มส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ก็จะไม่ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อบีบคั้นอย่างเช่นในปีก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอตัวลงของอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าหลักๆ ทั้งนี้ TMB Analytics หรือศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2555 จะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ชะลอลงจากเฉลี่ยร้อยละ 3.8 ในปีที่แล้ว

แต่ทว่า การลดลงของต้นทุนทางการเงินในปีนี้ดังกล่าว อาจไม่สามารถให้ประโยชน์แก่ผู้ประกอบการและภาคเศรษฐกิจจริงอย่างที่เคยเป็น ด้วยสาเหตุที่มาจากปัจจัยเรื่องกฎระเบียบทางการเงินที่เกี่ยวเนื่องกับกับเพิ่มต้นทุนการระดมเงินของธนาคารพาณิชย์ จากแนวทางการเพิ่มค่าธรรมเนียมนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 0.4 อาจเป็นร้อยละ 0.55 หรือสูงกว่านั้น ซึ่งหากธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องการรับภาระต้นทุนนี้ทั้งหมดเพียงผู้เดียว  ก็สามารถประคองส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากไม่ให้ลดลงจากเดิมมากนัก ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และ/หรือ เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ในส่วนผสมที่พอเหมาะ  อย่างไรก็ตาม การลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทำได้ไม่ง่าย เนื่องจากการแข่งขันระดมเงินฝากที่สูงขึ้นทั้งจากธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ด้วยกันเองเนื่องจากการลดลงของวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือเพียง 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงินในช่วงกลางสิงหาคมปีนี้ และ จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากดั่งเช่นธนาคารพาณิชย์

จากการศึกษาของ TMB Analytics พบว่า ทุกร้อยละ 0.01 (1bps) ของค่าธรรมเนียมที่ถูกเก็บเพิ่ม  อาจทำให้เงินฝากจำนวน 7,000 ล้านบาท ไหลออกจากธพ. ไปสู่ SFIs   ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เงินฝากของ SFIs เติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 20 ต่อปี ขณะที่เงินฝากของธพ.เติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 5 ต่อปี   ปัจจุบันเงินฝากของธพ.จึงมากกว่าเงินฝากของ SFIs เพียง 2.5 เท่า จากสี่ปีที่แล้วอยู่ที่ 4.2 เท่า ซึ่งก็ล้อไปกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของ SFIs ที่มากกว่าของธพ.  ดังนั้น เราจึงสามารถใช้พฤติกรรมการไหลของเงินฝากจากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมาประเมินความเป็นไปได้ที่เงินฝากจะไหลออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ไปสู่ SFIs

 หากค่าธรรมเนียมที่ธพ.ต้องส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.15 เป็นร้อยละ 0.55 ไปให้กับผู้ฝากเงิน เงินฝากจากธพ. อาจไหลไปยัง SFIs ประมาณ 1.05 แสนล้านบาทได้  นั่นหมายความถึงธพ.จะต้องพยายามรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ในระดับที่รักษาฐานลูกค้าได้ ซึ่งอาจต่ำไม่พอเพียงต่อการชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงจึงอาจเป็นทางออกหนึ่งของธพ.ในการรักษาความสามารถในการแข่งขันและการทำกำไร  ในอดีตธพ.จะตอบสนองต่อการปรับดอกเบี้ยนโยบายขาลงมากกว่าขาขึ้น โดยดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR) ลดลงโดยเฉลี่ย 5.8 bps ต่อทุกการลด 10 bps ของดอกเบี้ยนโยบาย

ในขณะที่ตัวเลขเดียวกันนี้ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นอยู่เพียง 3.8 bps ต่อทุกการเพิ่ม 10 bps ค่าธรรมเนียมดังกล่าวอาจทำให้อัตราส่วนการตอบสนองนี้ลดลงตามเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว การส่งผ่านนโยบายการเงินด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จึงอาจไร้ประสิทธิภาพไปโดยปริยาย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ