ชี้คดีชาวบ้านทุ่งป่าคาแพะขบวนการค้าไม้สาละวิน บทเรียนกระบวนการ(ไม่)ยุติธรรม

ชี้คดีชาวบ้านทุ่งป่าคาแพะขบวนการค้าไม้สาละวิน บทเรียนกระบวนการ(ไม่)ยุติธรรม

25 เม.ย. 2558 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) ออกแถลงการณ์กรณี ชาวปกาเกอะญอบ้านทุ่งป่าคา อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 20 ราย ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 1-5 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2558 ในความผิดฐานมีไม้สักที่ยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต

คดีดังกล่าวเกิดจากการรสนธิกำลังของเจ้าหน้ารัฐกว่า 1,000 นายพร้อมอาวุธครบมือเข้าไปตรวจค้นบ้านเรือนของราษฎรบ้านทุ่งป่าคา ม.8 ต.แม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 4 – 6 พ.ค. 2557 เป็นเหตุให้มีการยึดไม้ที่ชาวบ้านเตรียมไว้สำหรับสร้างบ้านและต่อเติมบ้านเรือนเพื่ออยู่อาศัย จำนวน 39 ราย

กป.อพช.ภาคเหนือ ระบุว่าจากการติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิดและเห็นว่า ชาวปกาเกอะญอ บ้านทุ่งปาคา เป็นชุมชนชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่ดำรงชีวิตอยู่กับป่ามาก่อนที่รัฐจะมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ การกระทำของเจ้าหน้าที่ป่าไม้และหน่วยงานของรัฐในพื้นที่เป็นการปฏิบัติการที่ไม่แยกแยะ การกระทำหรือเจตนาของชาวบ้านที่มีไม้สำหรับการสร้างบ้านที่อยู่อาศัยและซ่อมแซมบ้านที่ชำรุดไม่ใช่ครอบครองไว้ขาย 

อีกทั้ง การยอมรับความผิดในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นของชาวบ้าน เกิดจากการเจรจาที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอว่าให้ชาวบ้านรับผิดตามข้อหา แล้วภาครัฐจะให้การช่วยเหลือ ชาวบ้านจึงยอมรับสารภาพโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กลายเป็นแพะของขบวนการค้าไม้สาละวิน 

กป.อพช.ภาคเหนือ ขอแสดงท่าทีและมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ 1.การปฏิบัติการของภาครัฐโดยไม่แยกแยะกรณีคดีชาวบ้านปกาเกอะญอดังกล่าวได้ทำลายวิถีคนอยู่ป่า ทำลายความสันติสุขที่ชุมชนอยู่ร่วมกันมาช้านาน และอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนได้

2.การแก้ปัญหาเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า รัฐควรมุ่งจับกุมไปที่กลุ่มผู้ทำไม้เถื่อนเพื่อการค้าจริงๆ ไม่ใช่คนจนที่ใช้ไม้เพื่อการอยู่อาศัย ไม่ควรใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการจับกุมคนจน แต่ในทางกลับกันรัฐจะต้องให้การสนับสนุนชุมชนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการดูแลทรัพยากรอย่างยั่งยืน 

กป.อพช.ภาคเหนือ หวังว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ จะนำเอาบทเรียนจากคดีดังกล่าวที่ชาวบ้านทุ่งป่าคาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายของภาครัฐ และการกระทำที่ไม่แยกแยะจนเป็นเหตุให้มีการละเมิดสิทธิของชุมชนอย่างรุนแรงไปปรับปรุงนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม พร้อมทั้งต้องทบทวนการดำเนินการในกระบวนยุติธรรมเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ที่ต้องอำนวยให้ประชาชนได้ความเป็นธรรมและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง 

20152604231003.jpg

แถลงการณ์คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ)
กรณี ชาวปกาเกอะญอบ้านทุ่งป่าคา อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้องคำพิพากษาจำคุก

ตามที่ศาลอุธรณ์ จังหวัดแม่สะเรียง ได้อ่านคำพิพากษากรณีที่ชาวบ้านเผ่าปกาเกอะญอ บ้านทุ่งป่าคา หมู่ 8 ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินคดีในความผิดฐานมีไม้สักที่ยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 20 ราย โดยศาลอุธรณ์ฯ ได้ยืนคำพิพากษาให้จำคุกจำเลย 1-5 ปี ไม่รอลงอาญาตามศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2558 ที่ผ่านมานั้น คดีดังกล่าวเกิดจากการปฏิบัติการสนธิกำลังของเจ้าหน้ารัฐ นำโดยหัวหน้าทหารพรานที่ 36 ค่ายเทพสิงห์ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้, เจ้าหน้าที่ตำรวจ, เจ้าหน้าที่อำเภอจำนวนกว่า 1,000 นายพร้อมอาวุธครบมือ ได้เข้าไปตรวจค้นบ้านเรือนของราษฎรบ้านทุ่งป่าคา ม.8 ต.แม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 4 – 6 พฤษภาคม 2557 โดยอ้างว่ามีเบาะแสการค้าไม้เถื่อน และมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเหตุให้มีการยึดไม้ที่ชาวบ้านเตรียมไว้สำหรับสร้างบ้านและต่อเติมบ้านเรือนเพื่ออยู่อาศัย จำนวน 39 ราย 

คดีนี้มีความละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้น เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่งที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน รวมถึงประกาศ คสช.ที่ 106 /2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ แม้นโยบายของ คสช.ดังกล่าวจะมีเงื่อนไขว่า การดำเนินการ ต้องมีการแยกแยะลักษณะของการกระทำของราษฎร และราษฎรที่ถูกกล่าวว่ากระทำผิด หรือเข้าข่ายผู้บุกรุกรายใหญ่ตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนดหรือไม่ และต้องเปิดโอกาสให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และร่วมตัดสินใจต่อการดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว จะเห็นได้ว่ากรณีคดีชาวบ้านปกาเกอะญอบ้านทุ่งป่าคาได้มีลักษณะที่เป็นไปเงื่อนไขตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 ข้อ 2.1 ที่ระบุว่า 

“การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมๆ นั้น ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป”

ดังนั้น การดำเนินคดีกรณีดังกล่าว จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวอย่างรอบคอบ หากแต่พนักงานอัยการในคดีดังกล่าว กลับยื่นฟ้องชาวบ้านทั้ง 39 รายต่อศาลจังหวัดแม่สะเรียงตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ในข้อหาว่า มีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครอง ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ศาลชั้นต้นได้ตัดสินจำเลย 39 คนในคดีนี้ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี – 7 ปี โดยไม่รอลงอาญา รวม 23 คน ส่วนจำเลยอีก 14 คน ให้ลงโทษปรับเป็นเงินจำนวน 10,000-20,000 บาท ตามจำนวนไม้ที่ครอบครอง และจำเลย 2 คน ได้เสียชีวิตลงก่อนหน้าที่ศาลจะมีคำพิพากษา ต่อมาจำเลยจำนวน 20 คน ที่ต้องโทษจำคุกได้ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลรอลงอาญาหรือรอการลงโทษ โดยอ้างเหตุเรื่องความยากจน ผลกระทบต่อครอบครัว หากต้องโทษจำขัง และวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงที่ใช้ไม้เพื่อต่อเติมหรือสร้างบ้าน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบตัดไม้แต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่าคำร้องดังกล่าวฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลยทั้ง 20 คน โทษตั้งแต่ 1 ปี- 5 ปี ลดหลั่นกันตามจำนวนไม้ที่ครอบครอง โดยไม่รอลงอาญา

ทางคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) ได้ติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิดและเห็นว่า ชาวปกาเกอะญอ บ้านทุ่งปาคา เป็นชุมชนชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตจารีตประเพณีผูกพันอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล ทำการเกษตรเลี้ยงชีพตามวิถีแบบทำไร่หมุนเวียน ดำรงชีวิตอยู่กับป่ามาก่อนที่รัฐจะมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ดังนั้น การกระทำของเจ้าหน้าที่ป่าไม้และหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ จึงเป็นการปฏิบัติการที่ไม่แยกแยะลักษณะของการกระทำหรือเจตนาของชาวบ้านที่มีไม้สำหรับการสร้างบ้านที่อยู่อาศัยและซ่อมแซมบ้านที่ชำรุดไม่ใช่ครอบครองไว้ขาย ประการสำคัญ การยอมรับความผิดในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นของชาวบ้าน ก็เกิดจากการเจรจาของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เสนอว่าให้ชาวบ้านรับผิดตามข้อหาแล้วภาครัฐจะให้การช่วยเหลือ ชาวบ้านซึ่งมีฐานะยากจนไม่มีประสบการณ์ในการต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรม จึงยอมรับสารภาพโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กลายเป็นแพะของขบวนการค้าไม้สาละวิน 

กป.อพช.ภาคเหนือ ขอแสดงท่าทีและมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

1.การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนนำมาซึ่งคำพิพากษาในครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ไม่การกลั่นกรองและแยกแยะความแตกต่างของพื้นที่ที่มีบริบทความเป็นมาของชุมชน ตามวิถีวัฒนธรรมความเชื่อและการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความชัดเจนในการกำหนดลักษณะการกระทำและผู้กระทำว่า ลักษณะใดที่เข้าข่ายเป็นผู้กระทำผิดรายใหญ่ที่มีเจตนาในทางการค้าไม้หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตน และลักษณะใดเป็นการกระทำเพื่อการดำรงชีวิตตามประเพณีวัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีวิตที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ การปฏิบัติการของภาครัฐโดยไม่แยกแยะ กรณีคดีชาวบ้านปกาเกอะญอดังกล่าวนี้ ได้ทำลายวิถีคนอยู่ป่า ทำลายความสันติสุขที่ชุมชนอยู่ร่วมกันมาช้านาน และอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนได้

2.ทางกป.อพช.ภาคเหนือเห็นว่าความยุติธรรมสำคัญมากกว่ากฎหมาย การแก้ปัญหาเรื่องป่า รัฐควรมุ่งจับกุมไปที่กลุ่มผู้ทำไม้เถื่อนเพื่อการค้าจริงๆ ไม่ใช่คนจนที่ใช้ไม้เพื่อการอยู่อาศัย ไม่ควรใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการจับกุมคนจนเพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่มากยิ่งขึ้น ในทางกลับกันรัฐจะต้องให้การสนับสนุนชุมชนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการดูแลทรัพยากรอย่างยั่งยืน และยังเป็นการปกป้องวิถีชีวิตแห่งชาติพันธุ์ที่ผูกพันอยู่กับทรัพยากรป่าไม้อย่างสมดุลและสอดคล้อง 

สุดท้ายนี้ กป.อพช.ภาคเหนือ หวังว่าเป็นอย่างยิ่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ จะนำเอาบทเรียนจากคดีดังกล่าวที่ชาวบ้านทุ่งป่าคาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายของภาครัฐ และการกระทำที่ไม่แยกแยะจนเป็นเหตุให้มีการละเมิดสิทธิของชุมชนอย่างรุนแรง เพื่อปรับปรุงนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม และป้องกันผลกระทบและความขัดแย้งที่อาจมีความรุนแรงมากขึ้น จนอาจกลายเป็นสาเหตุปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอนาคตอันใกล้ พร้อมทั้งต้องทบทวนการดำเนินการในกระบวนยุติธรรมเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ที่ต้องอำนวยให้ประชาชนได้ความเป็นธรรมและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง อันจะนำมาซึ่งสันติสุขและความเป็นธรรมในสังคมไทยโดยเร่งด่วน 

ด้วยจิตคาราวะ
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ
วันที่ 25 เมษายน 2558

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ