รวมพลคน 101 แก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน : การขับเคลื่อน “ธุรกิจฐานราก” สู่การแก้ไข “ปัญหาความยากจน”

รวมพลคน 101 แก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน : การขับเคลื่อน “ธุรกิจฐานราก” สู่การแก้ไข “ปัญหาความยากจน”

เรียบเรียง พงษ์เทพ บุญกล้า และ สันติ ศรีมันตะ

ภาพถ่าย ซาวอีสาน

ปัญหาความยากจนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดอย่างยาวนาน การประสานความร่วมมือและพลังของผู้ประกอบการท้องถิ่น วิสาหกิจชุมชน และยกระดับสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนากลุ่ม “ธุรกิจฐานราก” ให้เกิดศักยภาพ ความเข้มแข็งในกระบวนการผลิต การเชื่อมต่อกับธุรกิจขนาดกลาง/ตลาด และการเข้าถึงความช่วยเหลืองของหน่วยงานภาครัฐ ตลอดทั้งเกิดการจ้างงานคนในชุมชน กลุ่มเปราะบาง และครัวเรือนยากจนสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เวทีเสวนา “รวมพลคน 101 แก้ไขปัญหาความยากจนแอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ณ โรงแรมเพชรรัตน์การ์เด้น จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย คุณประสมสงค์ พยัคพันธ์ สมาพันธ์ SME ไทย, ผศ.ดร.ศรีสุนันท์ ประเสริฐสังข์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด, คุณปิยะณัฐ หอมวิเชียร นักวิชาการวิสาหกิจเพื่อสังคมชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม, คุณพิชัยยา ตุระซอง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ด, คุณสว่าง สุขแสง ประธานคลัสเตอร์ข้าวร้อยเอ็ด, ดร.ประจักษ์ บุญภาทิพย์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ด, คุณขวัญพัฒน์ ไชยประเสริฐ ผู้จัดการศูนย์ให้บริการ SMEs จังหวัดร้อยเอ็ด (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย), และคุณอดิศักดิ์ พานา เกษตรกร ดำเนินรายการโดย คุณวลัยลักษณ์ ชมสูงเนิน เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายอาวุโส สำนักงานเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ Thai PBS

“ข้อมูล” มีส่วนจำเป็นและสำคัญในการออกแบบการพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ด การเข้าใจข้อมูลพื้นฐานจะทำให้เห็นสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงในการแก้ไขปัญหาความยากจน พบว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาจังหวัดร้อยเอ็ดมีการจัดทำแผนงานต่างๆ แต่ส่วนใหญ่งบประมาณถูกใช้ไปกับการพัฒนาเชิงโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างถนนหนทางมากกว่าการใช้งบประมาณในการพัฒนาทุนมนุษย์และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและประชาชนชาวร้อยเอ็ด

การพัฒนา “ทุนมนุษย์” เป็นพื้นฐานการแก้ไขปัญหาความยากจน

คุณพิชัยยา ตุระซอง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ด สะท้อนว่า “ที่เราจะมาพูดเรื่องความยากจนเราต้องรู้ศักยภาพของเราก่อนว่าพื้นฐานของร้อยเอ็ดเราเป็นอย่างไร” จังหวัดร้อยเอ็ดมีเนื้อที่อยู่ประมาณ 5.2 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตร 3.5 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 2 แสนกว่าไร่ และล้านกว่าไร่เป็นที่อยู่อาศัย อาคาร สถานที่ต่างๆ จะเห็นว่าเกินครึ่งหนึ่งของพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งปลูกข้าว 3.6 ล้านไร่ หากเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นเขาปลูกข้าว 1 ปี 4 ครั้ง ของบ้านเราเต็มที่ปลูกได้ 3 ครั้งต่อปี แต่การปลูกข้าวของประเทศญี่ปุ่น 1 ไร่เขาปลูกข้าวได้ 1,000 กิโลกรัม ส่วนของบ้านเราปลูกข้าว 1 ไร่เต็มที่ได้ประมาณ 300-400 กิโลกรัม ความแตกต่างนั้นทำให้เห็นว่า “เกษตรกรไทยยังคงยากจนและไม่สามารถยกระดับชีวิตขึ้นมาได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีประเทศไหนในโลกที่อุดมสมบูรณ์เหมือนประเทศไทย เรามีทรัพยากรทั้งดิน ทั้งน้ำพร้อม แต่เรายังไม่สามารถดึงเอาศักยภาพของธรรมชาติมาใช้สร้างรายได้ หรือสร้างอาชีพเพื่อให้เกิดความมั่นคงของชีวิตให้หลุดพ้นจากความยากจนได้” เกษตรกรที่ทำนามาตลอดหลายยุคสมัยเราทำนาโดยใช้ควาย ยุคสมัยเปลี่ยนไปเทคโนโลยีเข้ามาแต่ทำไมเกษตรกรเรายังยากจนอยู่…? ประชากรจังหวัดร้อยเอ็ดทั้งสิ้น 1 ล้าน 3 แสนคน อยู่จริงๆ ประมาณ 1 ล้าน 2 แสนคน ในกลุ่มนี้มีวัยแรงงานที่จะพาให้หลุดพ้นจากความยากจนได้มีประมาณ 8 แสนคน อีก 4 แสนคนเป็นนักเรียน เด็กและเยาวชน ประมาณ 1 แสน 7 หมื่นคนเป็นผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มเปราะบาง กลุ่มยากไร้ และประมาณ 1 แสนคนเป็นกลุ่มที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ

นอกจากนั้น คุณพิชัยยา ตุระซอง ได้ชี้ต่อว่า “การฉายตัวเลขให้เห็นเพื่อที่จะเข้าใจและเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน” ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลทำโดยการแจกเงิน 10,000 บาทให้ประชาชนนำไปซื้อของเป็นสิ่งที่ดีจะได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เพียงแต่เป็นการช่วยปลายทาง เพราะต้นเหตุจริงๆ ต้องแก้โดยการมองว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรและพี่น้องประชาชนพึ่งตนเองได้ หนี้ครัวเรือนลดลง หรือทำอย่างไรคนจะไม่ถูกหลอก “พื้นฐานของการแก้ไขปัญหาของความยากจนจะต้องมาดูคน” ซึ่งนโยบายของจังหวัดในการทำแผนพัฒนาจังหวัดมีนโยบายเกี่ยวกับ “การพัฒนาทุนมนุษย์” เพื่อลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ การทำงานในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดจะเห็นว่า “สมัยก่อนมีหน่วยงานเกษตรและสหกรณ์ หรือหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จะมีโครงการที่สนับสนุนด้าน SMEs เยอะมาก ทั้งการสนับสนุนปัจจัยการผลิต หรือเครื่องจักรในการผลิต แต่ระยะหลังไม่ค่อยเห็นหน่วยงานเหล่านี้ในการผลักดันโครงการ” จังหวัดได้ขอความร่วมมือให้หน่วยงานดังกล่าวเสนอโครงการด้านการส่งเสริม SMEs วิสาหกิจชุมชน หรือการพัฒนาคุณภาพข้าว “ปัญหาเบื้องต้นของเราคือหน่วยงานภาครัฐที่เจอไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเสนอแผนงานโครงการ” ทั้งๆ ที่วิสัยทัศน์จังหวัดร้อยเอ็ดต้องการให้เป็นการผลิตแบบ “เกษตรมูลค่าสูง” แต่เมื่อดูแผนงานโครงการราวๆ ร้อยละ 80 ของโครงการเป็นโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างถนน แต่โครงการส่งเสริมพี่น้องเกษตรกรและคุณภาพชีวิตยังมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดเห็นความสำคัญของปัญหานี้ และในปีงบประมาณ พ.ศ.2569 จะต้องให้มีแผนงานโครงการที่ครอบคลุมด้านการเกษตรให้มากที่สุด และเน้นการทำงานกับคน “ถ้าคนเรามีคุณภาพ ได้รับการปูพื้นฐานตั้งแต่ยังเด็กและเยาวชน พอมาถึงผู้ใหญ่เราก็สามารถสร้างความเข้มแข็งทางสังคมได้” นอกจากนั้น จังหวัดร้อยเอ็ดยังมีนโยบายในการแก้ไขปัญหายาเสพติดเนื่องจากพบปัญหาเสพยาเสพติดราว 22,000 คน จากการตรวจ 500,000 คน เป็นผู้ค้ายาเสพติดราว 2,000 คน และมีผู้ป่วยจิตเวชที่พร้อมทำร้ายคนรอบข้างราว 280 คนในจังหวัดร้อยเอ็ด และได้ใช้วิธี “ชุมชนบำบัด” ให้ผู้ป่วยจากระดับสีแดงให้ปรับเป็นสีเขียว

ดังนั้น “ข้อมูลพื้นฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาความยากจน เราต้องรู้ให้ได้ว่าคนร้อยเอ็ดจำนวน 1 แสน 2 หมื่นคนมีฐานะยากจนจริงๆ กี่คน” หากดูฐานข้อมูลของ จปฐ. ของกรมพัฒนาชุมชน ชี้ว่า จังหวัดร้อยเอ็ดมีคนจนเพียง 870 ครัวเรือน หากประมาณการสมาชิกในครัวเรือนละ 5 คน ก็จะเห็นว่าเป็นประชากรเพียง 4,000 คน ที่ตกเกณฑ์รายได้ของ จปฐ. (รายได้ 1 ปีรวมกันไม่ถึง 38,000 บาท) แต่ปรากฏการณ์ระดับพื้นที่น่าจะมีคนจนมากกว่านั้น การถัวเฉลี่ยรายได้ของจังหวัดอาจจะสูง แต่ในความเป็นจริงระดับครัวเรือนรายได้อาจจะต่ำ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดมีแผน 1 ปี แผน 4 ปี และแผน 20 ปี ทั้ง 3 แผนนี้สิ่งที่ให้ความสำคัญมากที่สุด คือ การพัฒนาคน แต่ความเป็นจริงสวนทางกันคืองบประมาณที่ได้รับการจัดสรรส่วนใหญ่ไปทางโครงสร้างพื้นฐาน มากกว่าการให้การสนับสนุนการพัฒนาคน จึงทำให้การแก้ไขปัญหาความยากจนยังไม่บรรลุตามเป้าหมาย”

ภารกิจสำคัญนอกจากการเป็นเกษตรกรหรือการเป็นผู้ขายแล้ว ในมิติของความยั่งยืน “ธุรกิจฐานราก” จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าของธุรกิจและจดทะเบียนในระบบของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อที่หน่วยงานภาครัฐจะได้มีฐานข้อมูลที่นำไปสู่การวิเคราะห์ จัดกลุ่ม และส่งเสริม  

การส่งเสริม SMEs กลุ่มธุรกิจฐานล่างจะนำไปสู่การจ้างงานในพื้นที่และการแก้ไขปัญหาความยากจน

คุณขวัญพัฒน์ ไชยประเสริฐ ผู้จัดการศูนย์ให้บริการ SMEs จังหวัดร้อยเอ็ด (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย) สะท้อนว่า บางคนเข้าใจว่า สสว. เป็นธนาคาร SMEs แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ คำว่า SMEs ที่เรียกนั้นเป็นชื่อตาม พ.ร.บ. ตั้งขึ้นในปี 2544 ชื่อเต็มๆ คือ “วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” ที่ใช้กับทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ หรือสถาบันทางการเงิน ซึ่ง สสว.เป็นหน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีทีมบริหาร 2 ทีม คือ ทีมส่งเสริม และ ทีมบริหาร ที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นเลขานุการ งบประมาณส่วนหลักจึงมาจากสำนักนายกรัฐมนตรีโดยตรง โดยผ่านทีมบริหารเป็นผู้กำหนดนโยบายและร่วมออกแบบนโยบาย SMEs ทั่วประเทศส่งให้กับทีมส่งเสริม ซึ่งมีงบประมาณอยู่ประมาณปีละ 1 หมื่นล้านบาท และล่าสุด สสว. ได้ขานรับนโยบายของรัฐบาลด้านการส่งเสริม SMEs กลุ่มฐานล่างในการเข้าถึงกองทุนดอกเบี้ยต่ำ เป็นกองทุน 5 พันล้านบาท จำนวน 0.5-1.0 เปอร์เซ็นต์ และส่วนที่สองคือการผลักดันตลาด “เมดอินไทยแลนด์” คุณขวัญพัฒน์ ไชยประเสริฐ สะท้อนต่อว่า จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาควิชาการ พบว่า ความแตกต่างระหว่าง “ธุรกิจฐานราก” ตัวเลขทั้งประเทศประมาณ 3 ล้านกว่า และในจังหวัดร้อยเอ็ดมีประมาณ 55,000 แห่ง ที่อยู่ในฐานข้อมูลของสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะจดทะเบียนเป็น OTop วิสาหกิจชุมชน นิติบุคคล หรือบุคคล ต่างๆ เหล่านี้ สสว. เป็นคนรวบรวมข้อมูลและรายงานต่อกระทรวงและสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อประมวลผลเกี่ยวกับความต้องการ

คุณขวัญพัฒน์ ไชยประเสริฐ ชี้อีกว่า แต่เดิมรัฐบาลพยายามจะเข้าถึง “กลุ่มธุรกิจชุมชน” และ “กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก” เพราะเป็นกลุ่มที่กำลังพยายามแก้ไขปัญหาความยากจน การผลิตและขายในตลาดทั้งเล็กและใหญ่ถือเป็นธุรกิจทั้งหมด แต่การไม่จดทะเบียนตามกฎหมายรัฐจะไม่สามารถผลักดันได้ ฉะนั้น ภารกิจหลักของ สสว. คือการผลักดันธุรกิจ SMEs ให้ไปสู่ความยั่งยืน และพันธกิจคือการเชื่อมโยงทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ ทุกหน่วยงานมีการขับเคลื่อนธุรกิจฐานรากและธุรกิจชุมชน แต่ปัญหาที่พบคือกลุ่มธุรกิจฐานรากซึ่งเป็นกลุ่มผลิต (ธุรกิจมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผลิต กลุ่มการค้า และกลุ่มบริการ) ซึ่งธุรกิจฐานล่างส่วนใหญ่ปลูกข้าว เลี้ยงไก่ หรือทำธุรกิจขนาดเล็ก และภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่ม ขณะที่ ระบบกลุ่มต้องมีโครงสร้างบุคคล/คณะดำเนินงานให้ได้เหมือนกับธุรกิจเอกชนที่ประสบความสำเร็จ แต่จุดอ่อนของธุรกิจขนาดเล็ก คือ ความไม่เสมอต้นเสมอปลายและกฎระเบียบของคนที่มาร่วมทุนกัน และอีกราวๆ ร้อยละ 90 ของธุรกิจฐานรากที่ยังทำไม่ได้ คือ การจัดการและการทำระบบบัญชี “เรื่องการบริหารจัดการเป็นสิ่งสำคัญแต่ส่วนนี้เป็นจุดอ่อนของธุรกิจฐานราก” การอยู่ในระบบของรัฐจะนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลว่าธุรกิจฐานรากนั้นๆ อยู่ในกลุ่มใด ดังนั้น สสว. ร้อยเอ็ดจึงพยายามผลักดันกลุ่ม SMEs ธุรกิจฐานล่างให้สามารถเข้าถึงนโยบายของภาครัฐทั้งหมด และเสริมศักยภาพ เชื่อมโยงกับตลาดและกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง “ถ้าเราทำธุรกิจฐานรากให้มีศักยภาพจะส่งผลต่อการจ้างงานในพื้นที่และนำมาสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน”

สิ่งสำคัญในการพัฒนาศักยภาพธุรกิจฐานรากและการแก้ไขปัญหาความยากจน คือ “การเติมองค์ความรู้”

การใช้ “องค์ความรู้” ในการทำงานและการแก้ไขปัญหาความยากจน

ผศ.ดร.ศรีสุนันท์ ประเสริฐสังข์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ชี้ว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ คือ การส่งเสริมการพัฒนาในท้องถิ่น เป้าหมายสำคัญที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด คือ การยึดการพัฒนาธุรกิจฐานราก “สิ่งที่มหาวิทยาลัยพยายามผลักดันเสมอมา คือ การพัฒนาคนผ่านองค์ความรู้ เพราะการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ จะทำได้โดยคน” ด้วยความพร้อมของอาจารย์ที่เป็นคนมีความรู้ และโดยความพร้อมของเครือข่ายที่ “ฮักกัน แพงกัน มีอีหยังให้ส่อยเหลือกัน” มหาวิทยาลัยมีความสามารถในการสร้างคนที่มีความรู้ ทั้งนักศึกษา/ลูกหลานบ้านเราที่มาเรียนที่มหาวิทยาลัย รวมทั้งการสร้างหลักสูตรระยะสั้นในการเพิ่มทักษะอาชีพ การทำงานของมหาวิทยาลัย ทั้งนำองค์ความรู้ลงสู่ชุมชน และมีการสร้าง “วิศวกรสังคม” หรือ “นวัตกร” ที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงของชุมชน มุ่งเน้นให้ทุกคณะ/กลุ่มงานมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านการสร้างคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณขับเคลื่อนจาก บพท. เพื่อช่วยเหลือและขับเคลื่อนการทำงานประเด็นความยากจน พบว่ามีครัวเรือนยากจนมากกว่า 5 หมื่นคน (แต่ต้องนำรายชื่อเหล่านั้นมาคัดกรองอีกครั้ง) และเชื่อว่าทุกหน่วยงานที่ลงพื้นที่มีเป้าหมายเพื่อชุมชน มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยหนึ่งในการทำกิจกรรม และการขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจฐานล่างสามารถยกระดับได้

การยกระดับธุรกิจฐานรากสู่การเป็น “ธุรกิจเพื่อสังคม” จะนำไปสู่การสร้างงานในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่น การสร้างอาชีพ การจ้างงาน หรือการเพิ่มรายได้ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่จะ “ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต” คนในชุมชนท้องถิ่น และ “การแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่”

การยกระดับธุรกิจฐานรากสู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม : สร้างงาน สร้างรายได้ และแก้ไขปัญหาความยากจน

คุณปิยะณัฐ หอมวิเชียร นักวิชาการวิสาหกิจเพื่อสังคมชำนาญการ (ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม สะท้อนว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ สวส. เป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ในปี พ.ศ.2562 ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ภารกิจและหน้าที่หลัก คือ การส่งเสริม “ผู้ประกอบการเพื่อสังคม” ซึ่งวิสาหกิจที่เข้าร่วมในวันนี้ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานเพื่อสังคมและชุมชนอยู่แล้ว ซึ่งวิสากิจต่างๆ สามารถเข้ามาร่วม “บ่มเพาะ” ศักยภาพกับ สวส. ที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนในการส่งเสริมผู้ประกอบการ ดังนั้น กลุ่มวิสาหกิจต่างๆ ที่ทำงานอยู่ในชุมชน ต้องพิจารณาว่าได้ช่วยชุมชนหรือไม่ ช่วยสังคมหรือไม่ หรือมีการจ้างงานคนในชุมชน/กลุ่มเปราะบางหรือไม่ หรือให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่ หากทำงานในรูปแบบดังกล่าวถือ ก็ได้ว่าเป็นการดำเนินการในรูปแบบ “ธุรกิจเพื่อสังคม” กลุ่มธุรกิจฐานรากจึงต้องสำรวจตัวเองว่าเข้าข่ายนี้หรือไม่ เพื่อที่จะยกระดับเป็นกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม “เพราะการทำงานเพื่อสังคมเป็นเรื่องยาก สวส. จึงมีหน้าที่ในการสนับสนุนการทำงานและมีสิทธิประโยชน์ให้ อยากให้กลุ่มธุรกิจฐานล่างยกระดับการทำงานขึ้น เพื่อให้มีมาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ค้า ไปให้ถึงเป้าหมายของการสร้างงาน สร้างอาชีพ และการแก้ไขปัญหาความยากจน”

ดังกล่าวข้างต้น ทุนการดำรงชีพ (Social Capital) ของจังหวัดร้อยเอ็ดมีค่อนข้างหลากหลาย ทั้งหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในพื้นที่…

เกษตรกรต้องอดทน มีวินัย ซื้อสัตย์ และมองการไกลพร้อมกับวางแผน

ดร.ประจักษ์ บุญภาทิพย์ ประธานสภาเกษตรกร สะท้อนว่า สิ่งที่ภาคเกษตรกรประสบพบเจอเกี่ยวกับความยากจนมีมาอย่างยาวนาน “พบเจอตั้งแต่ยังเป็นเด็กจำความได้ประมาณอายุ 5 ปี กระทั่งปัจจุบันอายุ 65 ปี ตอนนี้ 60 ปีผ่านไปก็ยังเห็นว่าเกษตรกรยากจน” ขออนุญาตมองแบบตรงไปตรงมาว่า “เกษตรกรบ้านเรายากจนเพราะขาดวินัย” แล้วจะทำอย่างไรจึงจะพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืนได้ “เกษตรกรต้องคิดให้ไกล ลองวางแผนว่าหากไม่มีเงินจะหาจากไหน จะขายสินค้าให้ตลาดไหน” ดังนั้น ในวันนี้เกษตรกรจะต้องวางแผน มีวินัย และอดทน บางครั้งพบว่าการจ้างงานของแรงงานบ้านเรามักปฏิเสธงานเพราะมองว่าได้รับค่าตอบแทนต่ำ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การจ้างแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่บ้านครอบครัวที่ตามใจลูกมาก ก็ปล่อยปะ ลูกลายเป็นคนติดสารเสพติด หรือไม่เรียนหนังสือ ดร.ประจักษ์ บุญภาทิพย์ เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการหารือของชาวบ้านเกี่ยวกับการปลูกผักว่า ในการประชุมมีการตกลงเกี่ยวกับการปลูกผัก แต่หลังจากเลิกประชุมกลับบ้านไปโกหกกัน ไปปลูกผักที่มองว่าเป็นโอกาสของตัวเอง สุดท้ายเมื่อนำมาขายกลับได้ราคาที่ต่ำเพราะผักล้นตลาด “เกษตรกรต้องมีศีลธรรม” ไม่ใช้มุ่งแต่จะเอาเปรียบกันและกัน

ทิศทางและโอกาสของความร่วมมือ “ร่วมซื้อร่วมขาย” สู่การแก้ไขปัญหาความยากจน

คุณประสมสงค์ พยัคพันธ์ รองประธานสมาพันธ์ SME ไทย ชวนมองอย่างตรงไปตรงมาว่า จังหวัดร้อยเอ็ดมีศักยภาพสูง เป็นไปได้หรือไม่ที่เครือข่ายต่างๆ จะร่วมกันทำงานและมองกลไกการผลิต การค้า และการสร้างอำนาจการต่อรอง รวมถึงการปรับภาพและมุมคิด “เอาคนจนซื้อของคนจน” เช่น นำปลาเค็มจากปัตตานีมาให้คนร้อยเอ็ด และนำข้าวของคนร้อยเอ็ดไปให้คนปัตตานี การมีพบกันของเครือข่ายผู้ประกอบการควรจับกลุ่มรวมกัน จังหวัดร้อยเอ็ดมีผู้ประกอบการข้าวที่สามารถสร้างชื่อเสียงระดับโลก แต่ยังติดปัญหาที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จด้านรายได้ จังหวัดร้อยเอ็ดมีเกษตรแปลงใหญ่ แต่ยังไปไม่ได้มากนักเพราะยังติดเกี่ยวกับระบบการเงินและการเสียภาษี หรือการนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์จะเป็นทางออกหนึ่งในการเข้าถึงเงินทุน รวมทั้งผู้ประกอบการในท้องถิ่นจะต้องมีการแลกเปลี่ยนสินค้าและผลประโยชน์กันแบบ “ร่วมซื้อร่วมขาย” และต้องการให้มีคนที่มีใจอยากร่วมกันในการออกแบบธุรกิจ และร่วมกันทำงานแบบจริงจัง

ความคาดหวังของเกษตรกร “กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้ลด มีความสุข”

คุณอดิศักดิ์ พานา เกษตรกร กล่าวว่า “เกษตรกรมีความต้องการกินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้ลด และมีความสุข” เกษตรกรต้องมีการปรับตัวและการรวมตัวกันเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่ผ่านมาเกษตรกรไม่ค่อยรู้จักกัน ขณะที่หน่วยงานต่างๆ มีจำนวนมากที่พร้อมในการสนับสนุน “เกษตรกรต้องเริ่มจากความอยากทำ เพื่อที่จะได้พบกับปัญหาและเลือกหน่วยงานที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาให้ตรงกับปัญหาและความต้องการของตนเอง เกษตรกรต้องยกระดับตัวเองให้เข้าสู่ระบบและพัฒนากลุ่มของตนเอง”

คนร้อยเอ็ดต้องการสื่อสารให้รู้ว่าต้องการใช้ศักยภาพภายในสู่การยกระดับพื้นที่

คุณสว่าง สุขแสง ประธานคลัสเตอร์ข้าวร้อยเอ็ด กล่าวว่า “งบประมาณที่เราได้มาเกิดจากการรวมกลุ่มของวิสาหกิจ แต่เรายังไมปไม่สุด เพราะเรายังไม่มีการจัดการ เราจึงต้องเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้การจัดการ วันนี้มีวิสาหกิจทั่วจังหวัดร้อยเอ็ดเข้าร่วมกว่า 101 เครือข่าย เรามีเงินมหาศาลแต่เรายังไปไม่รอด ไปต่อไม่ได้ และยังไม่ยั่งยืนและวันนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่จัดเวทีตรงกันกับวันแถลงข่าวของรัฐบาล เนื่องจากต้องการสื่อสารให้รู้ว่า คนร้อยเอ็ดต้องการใช้ศักยภาพของคนร้อยเอ็ดร่วมกัน ในฐานะที่เราเป็นประชาชนเราต้องการได้นโยบายที่สร้างความยั่งยืน ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลมองเรื่องจองการ “แจก” เราต้องการนำเงินที่ได้มารวมกัน คือ รวมกันซื้อ รวมกันขาย รวมกันซื้อในสิ่งที่จำเป็น ตัวอย่างของแต่ละครอบครัวใช้จ่ายประมาณ 3,000 บาท สิ่งที่อยากทดลองคือการนำเงินมาซื้อสินค้าและมีผลประโยชน์กลับคืนให้ผ่านเงินปันผลกำไร สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นเพิ่มคือการบริหารธุรกิจของตนเอง ภายใต้รูปแบบการบริหารธุรกิจเพื่อสังคม สิ่งที่จะได้คือรัฐไม่ต้องจ่ายเงินให้อีกแล้ว และมองภาพการใช้เงินของจังหวัดเพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการร่วมกัน ที่ผ่านมามีการทำมาตรฐานต่างๆ มากมายแต่ไปไม่ได้เพราะไม่มีวินัย สิ่งที่คนร้อยเอ็ดจะทดลองกันคือการใช้ภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนร่วมกัน ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้

ร่วมกันมอง SMEs และขับเคลื่อนจังหวัดร้อยเอ็ด

คุณพิชัยยา ตุระซอง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ภาษาโบราณบอกว่า “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง” กล่าวคือ หากสังเกตจะเห็นว่า สินค้ากลุ่ม OTop หรือกลุ่ม SMEs เวลาเห็นเพื่อนทำอะไรได้ดีจะทำตามกัน แตกต่างกับวัฒนธรรมธุรกิจของคนญี่ปุ่นที่แตกต่างจากคนบ้านเรา เพราะคนญี่ปุ่นจะไม่ทำอะไรตามกัน หรือคล้ายกัน “ปัจจุบันเงินลอยอยู่ในอากาศแต่วิสาหกิจยังไม่สามารถคว้าลงมาได้ หลายๆ กลุ่มล้มไปเพราะระบบบัญชีและการตลาดไม่เท่าทันกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่” จึงต้องกลับมาทบทวนและให้ความสำคัญกับการจัดทำระบบบัญชี นอกจากนั้น หากพิจารณาพฤติกรรมของคนร้อยเอ็ดจะเห็นว่า ทั้งๆ ที่มีที่ดินจำนวนมากแต่ยังพึ่งพาระบบตลาด ไม่สามารถนำที่ดินหรือทรัพยากรที่มีมาใช้ในการผลิต และยังขาดการเชื่อมโยงร่วมกัน อีกทั้ง คุณพิชัยยา ตุระซอง ได้ยกตัวอย่างคุณยายท่านหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร ว่ามีศักยภาพและความสามารถในการไลฟ์สดผ่านสื่อออนไลน์ขายผ้าสร้างรายได้สูงถึงเดือนละ 1 แสนบาท ไม่ต้องพึ่งภาครัฐ และหาช่องทางการตลาดสมัยใหม่ ดังนั้น การผลิตสินค้าจำเป็นจะต้องเพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าในช่องทางออนไลน์ และหน่วยงานภาครัฐมีเป้าหมายอยากสร้างความมั่นคงทางอาหาร เปลี่ยนวิธีคิดประชาชนที่ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงหาช่องทางในการผลิตสินค้าให้ได้ปริมาณตามความต้องการของผู้ซื้อและตลาด หากตั้งเป้าว่า “จะทำอย่างไรให้คนร้อยเอ็ดหลุดพ้นจากความยากจนได้” จะต้องทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง อาจใช้ตัวอย่างความสำเร็จของระบบสหกรณ์บางแห่งที่มีศักยภาพในการทำงานและเชื่อมโยงสินค้ากับเครือข่าย วิสาหกิจต่างๆ จึงต้องมองภาพเชื่อมโยงและมองภาพกว้างในการประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างผลกระทบทางสังคมและประเทศไทย

ขณะที่ ดร.ประจักษ์ บุญภาทิพย์ ประธานสภาเกษตรกร มองว่า สำหรับการหาเงินอาจจะต้องมองว่าอะไรที่หาได้มากต้องมองตรงนั้น แต่บางครั้งสินค้าขายดี ขายได้มาก แต่ไม่คุ้มค่าเพราะได้รับผลกำไรน้อย หากกลุ่มใช้ศักยภาพในการทำงานร่วมกันก็เป็นไปได้ว่าจะได้รับผลกำไรที่มากร่วมกัน บางสินค้าอาจจะไปร่วมหุ้นส่วนกับคนอื่นที่มีศักยภาพ เป็นเกษตรกรแต่ไม่จำเป็นต้องผลิตอย่างเดียว “อย่าไปคิดว่าไม่มีเครือข่าย” รวมทั้งอาจใช้เครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมและส่วนตัวในการหาลูกค้าและผู้บริโภค การซื้อขายและแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับคนที่เกี่ยวข้องร่วมกัน สำหรับเกษตรกรเงิน 1 หมื่นหายากมาก หรือพฤติกรรมของคนในสังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบทบางครั้งก็ชอบขอจากคนอื่น รวมทั้งมีการแข่งกันเกินเหตุ หรือการกู้ยืมเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ การไม่นำเงินไปต่อยอดในการลงทุน รวมทั้งเงินกู้บางอย่างของหน่วยงานภาครัฐเกษตรกรถูกมองเป็น “ลูกค้า” ซึ่งเป็น “วัฏจักร” ทั่วประเทศ อีกทั้งผู้ผลิตบางรายไม่มีความซื้อสัตย์ในการขายสินค้าให้กับผู้บริโภค “พูดกันตรงๆ มันถึงจะไม่โกรธกัน พากันไปทำสิ่งดีๆ เพื่อได้รับสิ่งดีๆ ร่วมกัน”

“แบไพ่ในมือ” ยกระดับศักยภาพด้วยองค์ความรู้และพลังเครือข่าย

คุณขวัญพัฒน์ ไชยประเสริฐ ชี้ว่า สวส. ต้องการทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ ยกระดับเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อที่จะได้รับการส่งเสริมและการสนับสนุนให้ “เนื้อแท้” เกิดการ “แต่งตัว” โดยใช้สิ่งที่มีอยู่ยกระดับ ต้องช่วยกันมองว่าปัจจุบันติดขัดปัญหาอะไรจึงไปไม่ได้ ต้องมองให้เห็นประเด็นปัญหาเพื่อที่จะดึงพลังของภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศเข้ามาช่วย รวมทั้งสิทธิประโยชน์เรื่องภาษี รัฐจะเข้ามาช่วยสนับสนุนเกี่ยวกับการลดภาษี การเป็นวิสาหกิจชุมชนจึงต้องเลือกประเภทของตนเอง เพื่อที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียที่เหมาะสม อีกทั้ง การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีข้อจำกัดเรื่องการแข่งขันราคา หากเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมรัฐจะสามารถจัดซื้อจัดจ้างกับวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ตามกฎหมาย “การมีวิสาหกิจเพื่อสังคมในการทำงานและการแก้ไขปัญหาทางสังคม คือ การลดภาระและหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ” สิ่งที่สำคัญอีกประการ คือ การดึงผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ “ลองทำกลไกขึ้นมาและมองว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะเรามีศักยภาพและไปถึงได้” ขณะที่ คุณขวัญพัฒน์ ไชยประเสริฐ ชวนมองต่อว่า สสว. เปรียบเสมือนเป็น “คุณหมอด้านการทำธุรกิจ” เพราะมีประสบการณ์ มีภาคีเครือข่าย และการผลักดันให้เกิดวิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการฐานล่าง เป็นพันธกิจของ สสว. และต้องทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชนฐานรากที่ต้องมีรายได้เพิ่ม มีตลาดเพิ่ม และศักยภาพเพิ่มมากขึ้น จุดอ่อนของธุรกิจขนาดเล็กคือไม่สามารถเชื่อมการตลาดได้ ซึ่ง สสว. มีความหวังดีในการร่วมขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนต่อไป

ขณะที่ ผศ.ดร.ศรีสุนันท์ ประเสริฐสังข์ สะท้อนว่า มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานสนับสนุน มีศูนย์บ่งเพาะอาชีพ มีห้องปฏิบัติการ มีบุคลากรในการช่วยเหลือด้านผลิตภัณฑ์ และมีการขับเคลื่อนตลาด “Hug Market” ที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้จำนวนมาก “การขับเคลื่อนส่วนนี้สามารถร้อยคนจนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง” และทำงานออกแบบแผนการทำงานร่วมกัน ซึ่ง คุณประสมสงค์ พยัคพันธ์ ชี้ตรงไปตรงมาว่า อยากเห็นทุกคนช่วยตนเอง “แบไพ่ในมือ” เพื่อให้เห็นว่าใครมีอะไร วันนี้เรามาออกแบบธุรกิจและร่วมกันขยับ ใครทำอะไรอยู่อาจจะมีส่วนที่ได้ร่วมกันเสริม อยากเห็นการทำงานร่วมกันและขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งระบบ “รวยไม่รวยเงินในบัญชียืนยัน วันนี้ไม่ต้องเขินเพราะเราจะทำงานร่วมกัน การจัดการขอให้มีพื้นที่กลางและมีการผลัดเปลี่ยนเวรกันดูแล” ใครอยากทำอะไร หรือติดขัดเรื่องอะไรต้องร่วมกันคุย เช่น พาสินค้าเข้าระบบออนไลน์ ใครมีของส่งของมาร่วม ใครมีคนส่งคนมาร่วม “การหาเงินง่ายกว่าที่เราคิด เพียงแต่ต้องมีการจัดการและการไว้ใจกัน”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ