ชวนเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ ที่ “ข่วงเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่”27-29ธ.ค.นี้

ชวนเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ ที่ “ข่วงเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่”27-29ธ.ค.นี้

มหกรรมสินค้าเกษตรอินทรีย์และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์
กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน  ๑ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๔
วันที่ ๒๗-๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ ณ ข่วงเกษตรอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่   ริมคลองชลประทาน จากตลาดต้นพยอมทางไปพืชสวนโลก

เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าการทำการเกษตรในระบบเกษตรเคมีเชิงเดี่ยว  ทำให้ประเทศมีอาหารบริโภคเพียงพอ และมีส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ แต่เนื่องจากขั้นตอนการผลิตอาหารดังกล่าว (๑) เน้นการพึ่งพิงปัจจัยการผลิตภายนอกไร่นาและชุมชน โดยเฉพาะการใช้พันธุ์พืชลูกผสมที่ต้องการน้ำ ปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงอย่างเข้มข้น รวมทั้งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (๒) เน้นการพึ่งแรงงานจำนวนมากและในช่วงเวลาเดียวกัน (๓) พึ่งองค์ความรู้จากภายนอกจนละเลยภูมิปัญญาท้องถิ่น (๔) ลงทุนสูง (๕) พึ่งตลาดต่างประเทศ ได้ทำให้เกิดปัญหาแก่เกษตรกรหลายประการ เช่น การเป็นหนี้เพราะรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตไม่พอที่จะชำระคืนเงินต้น หลายรายต้องขายที่ดินใช้หนี้ และสุขภาพทรุดโทรมจากการใช้สารเคมี การบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี และเครียดจากภาวะหนี้ที่พอกพูน ในขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากเกษตรกร โดยเฉพาะจากการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลง สารปฏิชีวนะ สารเร่งเนื้อแดง และสารกันบูด เป็นต้น

นอกจากนี้ระบบเกษตรเคมีเชิงเดี่ยว ยังทำให้วัฒนธรรมการผลิตและการบริโภคเปลี่ยนแปลง สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย พันธุกรรมพืชสัตว์พื้นบ้านสูญหาย ความหลากหลายทางชีวะภาพลดลง  เกิดความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร เกิดการเอาเปรียบระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค และเกิดปัญหาของสังคมต่อเนื่องตามมาอีกมากมาย

ท่ามกลางของปัญหาดังกล่าว ช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมาได้มีเกษตรกรในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๑ (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน) ได้ริเริ่มและพัฒนา “เกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และระบบตลาดเกษตรอินทรีย์ที่เป็นธรรม” ทั้งด้วยตัวของเกษตรกรเอง และการสนับสนุนจากภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน จนปัจจุบันนี้ได้เกิด“พื้นที่รูปธรรมที่เป็นตัวอย่างหรือเรียกว่า “ชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งหมายถึง ชุมชนของกลุ่มเกษตรกรเกษตรกรกรรมยั่งยืน และกลุ่มผู้บริโภคสีเขียวที่ร่วมมือกันในการจัดการระบบอาหารของชุมชน สร้างระบบตลาดที่เป็นธรรม สร้างสภาวะแวดล้อมที่กระตุ้นการสร้างสรรค์ เท่าทัน พึ่งตนเอง และเพิ่มพูนความสามารถของคนในชุมชนให้เอื้อต่อการพัฒนาจนเกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลยั่งยืน สร้างสภาพสังคมให้เป็นธรรม มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี” เกิดขึ้นในทุกจังหวัดของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๑ ซึ่งผลจากการทำดังกล่าว ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาหารอินทรีย์บริโภคเพียงพอ มีรายรับต่อเนื่อง ปลดหนี้ได้ มีเงินส่งลูกเรียนจบมหาวิทยาลัย หลายครอบครัวซื้อที่ดินทำการเกษตรเพิ่ม มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันผู้ทำเกษตรอินทรีย์และตลาดเกษตรอินทรีย์ที่เป็นธรรม ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยและมีจำนวนน้อยมาก รวมทั้ง ๔ จังหวัดประมาณ ๕,๐๐๐ ครอบครัว จากครอบครัวเกษตรกรรวมทั้ง ๔ จังหวัดประมาณ  ๖๑๖,๔๔๖ ครอบครัว หรือประมาณ ๐.๘๑ % เท่านั้น

เพื่อให้เกษตรกรและผู้บริโภคได้เข้าใจเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและระบบตลาดที่เป็นธรรมและปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์และบริโภคสินค้าอินทรีย์มากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจแนวคิดเกษตรอินทรีย์ ตลาดที่เป็นธรรมและการพัฒนาเป็นผู้ประกอบการทางสังคม และเพื่อให้สื่อมวลชนได้มีข้อมูลด้านนี้เผยแพร่สู่สาธารณชน ทางกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๑ ประกอบด้วยจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง จึงได้ร่วมจัดมหกรรมสินค้าเกษตรอินทรีย์และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสมาชิกกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๑ ครั้งที่ ๒ ประจำปี ๒๕๕๔

 
กิจกรรมในงาน

วันอังคารที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๔   
๐๗.๓๐-๐๘.๓๐ น.      ลงทะเบียนพร้อมรับประทานอาหารเช้า
๐๘.๓๐-๐๙.๐๐ น.      ชี้แจงกำหนดการเยี่ยมชมไร่นา โดย คุณเกษศิรินทร์    พิบูลย์   
๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น.   แบ่งกลุ่มคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานในพื้นที่ของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่
   ๑.สหกรณ์เกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทา จำกัด อำเภอแม่ออน                ประสานการงานโดยคุณจรัญญา สังขชาติ
   ๒.เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ลุ่มน้ำแม่ฮาวตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง             ประสานการงานโดยคุณเกษศิรินทร์    พิบูลย์   
        ๓.เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อำเภอสารภี                             ประสานการงานโดยคุณเกียรติศักดิ์  ฉัตรดี
   * รับประทานอาหารกลางวันในพื้นที่เยี่ยมชมแต่ละจุด

๓.๒ ข่วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้
วันพุธที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๔
๑๒.๐๐-๑๓.๐๐ น.     รับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน
๑๓.๐๐-๑๖.๐๐  น.   เสวนาเรื่อง “ยกระดับเครือข่ายระบบตลาดที่เป็นธรรมสู่ผู้ประกอบการทางสังคม” 
แลกเปลี่ยนโดย
๑) คุณวัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด  กรรมการมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปและประธานเครือข่ายตลาดสีเขียวกทม. 
๒) คุณเบญจมาพร  จันทรพัฒน์      ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม (สสส.)***
๓) คุณสุพรรณ   กำเพ็ญ      ผู้ประสานงานเครือข่ายแม่กาดเกษตรอินทรีย์
๕) คุณโชคสกุล   มหาค้ารุ่ง            เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา
๔) ดร. ชมชวน  บุญระหงษ์     ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน
ผู้ดำเนินรายการ อาจารย์ ดร. สมคิด  แก้วทิพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยบริหารศาสาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
๑๖.๐๐-๑๖.๓๐ น.  นายสุรชัย  ขันอาสา ผู้ว่าราชการการจังหวัดลำพูน เยี่ยมชมข่วงเกษตรอินทรีย์
๑๖.๓๐-๑๗.๓๐ น.  เสวนาทิศทางพัฒนาเกษตรอินทรีย์และตลาดกษตรอินทรีย์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน๑ 
   โดย นายสุรชัย  ขันอาสา ผู้ว่าราชการการจังหวัดลำพูน ***และตัวแทนเกษตรกรจากจังหวัดลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่
   ดำเนินรายการโดยคุณจีระวรรณ  โสดาวัฒน์ ผู้จัดการสมาคมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ
๑๗.๓๐-๑๙.๐๐ น.  ร่วมรับประทานอาหารอินทรีย์ ท่ามกลางบรรยากาศล้านนา
   
วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๔
๑๐.๐๐ – ๑๒.๐๐ น.   เสวนาเรื่อง “พันธุกรรมพืชพื้นบ้านกับความมั่นคงทางอาหาร”
   แลกเปลี่ยนโดย
๑)   คุณวิฑูรย์  เลี่ยนจำรูญ    ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) 
๒)   ตัวแทนเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน
   ผู้ดำเนินรายการ คุณรุ่งสุรีย์  ชัยศร กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จ. ลำปาง
๑๒.๐๐–๑๓.๐๐ น.    รับประทานอาหารกลางวัน      
๑๓.๓๐–๑๔.๓๐ น.     ทอดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้าน และพิธีส่งมอบเมล็ดพันธ์พืชพื้นบ้านให้พี่น้องเกษตรกรภาคกลางที่ถูกน้ำท่วม
             ส่งมอบโดย ตัวแทนเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ทั้ง ๔ จังหวัดรับมอบโดย คุณวิฑูรย์  เลี่ยนจำรูญ    ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) 
            ดำเนินกิจกรรมโดย คุณสมัย  แก้วภูศรี ผู้อานวยการศูนย์เรียนรู้เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านเกษตรอินทรีย์ลุ่มน้ำลี้ จ.ลำพูน

ผู้รับผิดชอบการจัดงาน และที่ติดต่อ
๑)   กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๑
โดยนายบุญเวทย์ ศรีพวงใจ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำพูน
โทรศัพท์/โทรสาร๐๕๓๕๑๑๑๙๒
๒)   ดร. ชมชวน  บุญระหงษ์
      เลขานุการมูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน
      ๓๖๓ หมู่ ๔ ต. หนองจ๊อม อ. สันทราย จ. เชียงใหม่ ๕๐๒๑๐
   โทรศัพท์/โทรสาร ๐๕๓ ๓๕๔๐๕๓-๔ มือถือ ๐๘๑ ๘๘๕๖๒๗๒ boonrahong@hotmail.com

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ