แรงงานเกลือ แห่งกุดเรือ “ถ้าบ่ขี้ค้าน กะบ่อึดเงิน”

แรงงานเกลือ แห่งกุดเรือ “ถ้าบ่ขี้ค้าน กะบ่อึดเงิน”

@ เปลวไฟ ไอเกลือ เหงื่อหยด

เช้าจรด ค่ำดึก ผลึกขาว

ตักออก กรอกถุง มุ่งเอา

รายได้ ไทเฮา ชาวกุดเรือคำ.

สภาพพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ ถูกกันออกเป็นสัดส่วนจากนาข้าวและแหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่ติดกัน ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความเค็มจากกระบวนการผลิตเกลือจะไม่ปนเปื้อนหรือแพร่กระจายออกไปภายนอก แต่ทั้งนี้ชุมชนก็พยายามจัดการปัญหาผลกระทบร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ ชาวนาข้างเคียง และหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น เพื่อให้มันบาลานซ์กับรายได้และเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนแห่งนี้

“ที่นี่มีการยื่นขอใบอนุญาตต้มเกลือตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งเราจะเข้มงวดไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการควบคุมและป้องกันตามมาตรฐานที่อุตสาหกรรมกำหนด เช่น มีการทำคันคูสูงล้อมรอบ และมีบ่อพักน้ำเสีย เพื่อกันไม่ให้น้ำเค็มออกสู่ภายนอก”

พิสุทธา ศรีดาวงษ์ หรือแม่ต้อย แม่ค้าเกลือต้มแห่งบ้านกุดเรือคำ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร นั่งให้ข้อมูลกับพวกเราชาวคณะระหว่างการลงพื้นที่ ขณะเดียวกันนั้น หม้อต้มเกลือใบใหญ่ ขนาด 3 เมตร x 5 เมตร ก็กำลังเดือดปุดๆ และไอเกลือกำลังพวยพ่ง อยู่ด้านหลังของเธอ

ธรรมชาติเนรมิต ให้พื้นที่บริเวณนี้มีแหล่งน้ำใต้ดินที่มีค่าความเค็มสูง จนสามารถนำมาผ่านกระบวนการผลิตโดยกรรมวิธีต้มและตาก เพื่อทำให้เปลี่ยนสถานะจากของเหลวกลายเป็นผลึกสีขาว ก่อนจะมานำมาบริโภคและขายสร้างรายได้ครัวเรือน กระทั่งเติบโตเป็นอุตสาหกรรมเกลือและเกิดห่วงโซ่เศรษฐกิจของชุมชนในเวลาต่อมา

“คนไม่มีความรู้ หรือคนสูงอายุทำงานอย่างอื่นไม่ได้ แต่ว่าต้มเกลือได้ เขาก็เข้ามาทำงานที่นี่ได้ หรือมีแรงงานเป็นคนพิการทางสมอง เขาก็สามารถกรอกเกลือบรรจุถุง หาเงินได้ อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่า ถ้าบ่ขี้ค้าน บ่อึดเงินใช้”

แม่ต้อย ยังเล่าให้ฟังด้วยว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวน 33 ราย กับหม้อต้มเกลือ 63 โรงเรือน ถึงยุคนี้ถืว่าเป็นคนรุ่นที่สองแล้วที่ต้มเกลือต่อจากรุ่นพ่อแม่

“การทำเกลือของคนเจนที่สอง พัฒนากว่าแต่ก่อนมาก คือ เกลือสามารถส่งไปขายเชียงราย เชียงใหม่ ทั่วกรุงเทพ ระยอง อำนาจเจริญ สุรินทร์ แม้กระทั่งส่งออกไปขายที่กัมพูชาด้วย เรียกว่ามีรายได้ต่อเดือน มีกิน มีใช้ ไม่มีหนี้” แม่ต้อยกล่าวอย่างภูมิใจ

เมื่อได้ฟังข้อมูลภาพรวมเสร็จ เราก็เดินเตร็ดเตร่ ออกไปดูชีวิตของผู้คนที่นี่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่รู้สึกตระหนก หรือแปลกใจกับการเข้ามาของพวกเรา บ้างก็แอ็คท่าให้ถ่ายรูปสวยๆ ด้วยซ้ำ นั่นคงเป็นเพราะมีเคยคณะเข้ามาเยี่ยมชม ทำข่าว ทำวิจัย เก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ จนเป็นภาพชินตาของพวกเขาแล้ว

ประนุช อินรีย์ ชาวบ้านกุดเรือคำ ลูกจ้างแรงงานต้มเกลือ เธอนั่งพักด้วยความเหนื่อยล้าและรอสามีของเธอที่กำลังตักเกลือขึ้นจากหม้อต้ม แต่พอเราขอคุยด้วยเธอก็ไม่อิดออด ก่อนจะเล่าให้ฟังว่า

ทำเกลือมาประมาณ 20-30 ปีแล้ว ซึ่งพื้นที่โรงเรือนตรงนี้เป็นของเถ้าแก่แต่ละเจ้า โดยพี่น้องจะรวมกันมารับจ้างต้มเกลือ หม้อที่เห็นอยู่นี่จะต้มได้ประมาณ 2 ตันต่อวัน เป็นเงินก็ตันละ 350 บาท

“เราจะลงมาตั้งแต่ 6 ทุ่ม มาตักน้ำเกลือใส่หม้อ ติดไฟ แล้วก็หว่านแป้งข้าวจ้าวผสมปูนลงใส่ในหม้อเพื่อไม่ให้มันแดง และช่วยให้จับตัวเร็ว เดือดเร็ว ซึ่งกว่าหม้อเดือด ก็ตี 4-5 และจนเวลา 11 โมง จึงจะได้ตักครั้งแรก ครั้งที่ 2 ประมาณ บ่าย 3-4 โมงเย็น ครั้ง 3 แช่น้ำเกลือ ตักใส่แล้วก็ติดไฟ กลับบ้าน ทำแบบนี้ทุกวันเป็นชีวิตประจำวัน” ประนุช อธิบายกระบวนการผลิตที่ค่อนข้างซับซ้อน ให้เราพยายามทำความเข้าใจภายใน 1 นาที

ส่วนรายได้ของคนกรอกหรือบรรจุถุงก็อีกต่างหาก ยกตัวอย่าง รถสิบล้อ 1 คัน บรรจุ 15 ตัน ประมาณ 460 กระสอบ น้ำหนักกระสอบละ 33-35 กิโลกรัม ก็ตกราคา 1,800-2,000 บาท หรือแล้วแต่จะคุยกันได้ แต่ช่วงหน้าฝนก็ไม่ดีเท่าไร สังเกตุได้เกลือจะค้างในฉาง

“รายได้ถ้าเกลือขายดีก็ตกอยู่ราวๆ เดือนละ 20,000-25,000 บาท ถ้าขายไม่ดีก็ 15,000-18,000 บาท เรียกว่า ลงมาที่นี่ก็เป็นเงินโล้ด”

ที่กุดเรือคำ จะมีการผลิตเกลือ 2 แบบ คือ เกลือขาว ปัจจุบันมีราคาตันละ 2,300-2,400 บาท และ เกลือมะตูม ซึ่งจะทำยากกว่าเกลือขาว เพราะต้องคอยตักเอายางมะตูมออก และต้มได้น้อยกว่าเกลือขาว วันหนึ่งไม่ถึง 1 ตัน แต่ราคาจะดีกว่า คือ ตันละ 2,700-2,800 บาท

เรื่อง : เดชา คำเบ้าเมือง

ภาพ : มิ่งขวัญ ถือเหมาะ

หมายเหตุ : การลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวเมืองเก่าสกลนคร “จากเกลือถึงสกล สู่สกลไม่เก่า” ณ บริเวณเขตชุมชนย่านเมืองเก่าสกลนคร คุ้มกลางธงชัย อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมเขตเมืองเก่าสกลนครด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งกิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2567 ในช่วงเวลา 15.00 – 21.00 น. ของแต่ละวัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ