365 วัน หลังพวงมาลัย ชีวิตแรงงานนอกระบบ

365 วัน หลังพวงมาลัย ชีวิตแรงงานนอกระบบ

‘วันแรงงานแห่งชาติ’ หลายคนคงเข้าใจว่า เป็นวันหยุดสำหรับผู้ใช้แรงงานทุกคนในประเทศ เพื่อมีความสุขอยู่กับครอบครัว ไปเที่ยว ดูหนัง กินข้าว และทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกัน แต่ยังมีผู้ใช้แรงงานอีกหลายชีวิตที่ไม่ได้ลิ้มรสกับบรรยากาศแบบนั้น เนื่องจากเขาเป็น ‘แรงงานนอกระบบ’ คือ แรงงานที่อยู่ในการจ้างงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (informal sector) หรือเป็นผู้มีงานทำแต่ไม่ได้รับความคุ้มครอง และไม่มีหลักประกัน ทางสังคมจากการทำงานตามกฎหมายแรงงาน

จากการข้อมูลสถานการณ์แรงงานในปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบจำนวน 21.0 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 52.3% ซึ่งมากกว่าแรงงานในระบบที่มีจำนวน 19.1 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 47.7% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด โดยครึ่งหนึ่งของแรงงานนอกระบบจะอยู่ในช่วงอายุ 40-59 ปี ส่วนปัญหาที่ประสบจากการทำงานมากที่สุด เช่น ค่าตอบแทน งานขาดความต่อเนื่อง และงานหนักเกินไป เป็นต้น

ผู้เขียน มีโอกาสได้พูดคุยและสัมภาษณ์ วันชัย พุ่มวันเพ็ญ อายุ 44 ปี ประกอบอาชีพขับรถรับจ้างตู้ทึบส่งพัสดุกับบริษัทขนส่งเอกชนแห่งหนึ่ง ที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งพื้นเพเดิมเขาเป็นคนอยุธยามีภรรยาเป็นคนอีสาน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เขาได้รับผลกระทบประสบปัญหาขาดรายได้ และตกงานในที่สุด จึงตัดสินใจกลับมาตั้งหลักอยู่บ้านภรรยาที่อุดรธานี

ผู้เขียน : ขับรถส่งของมานานแล้วยังครับ

วันชัย : 6-7 ปี

ผู้เขียน : วันแรงงาน เคยได้หยุดบ้างไหมครับ?

วันชัย : ไม่ๆ สะกดคำว่าหยุดไม่เป็น ทำงานอย่างเดียวเลย

ผู้เขียน : งั้นช่วยเล่าให้ฟังหน่อยครับว่า แต่ก่อนทำอาชีพอะไร เป็นมาอย่างไรถึงได้มาขับรถตู้ทึบ?

วันชัย : แต่ก่อนก็ทำอาชีพมาหลายอย่าง อันดับแรกเลยช่วงสมัยนับย้อนหลังไปหลายปีก็เป็นพนักงานบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งที่อยุธยา ทำมาเรื่อยๆ แล้วก็พลิกผันตัวเองลองผิดลองถูกไป มันไม่เข้ากับตัวเองเราก็เปลี่ยน ก็จะมีอยู่ครั้งหนึ่งมาทำงานโรงพยาบาล ทำงานโรงพยาบาลได้ไม่กี่ปีก็ต้องออก เพราะว่าเรามีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น และก็ประสบปัญหาอะไรหลายๆ อย่างด้วย แล้วก็มาขายของขาย ก๋วยเตี๋ยว ขายอาหารตามสั่ง ขายขนมอะไรแบบนี้ ก็พลิกตัวเองไปอันไหนมันดีแล้วก็ขยับขยายไปทำอย่างอื่น

สุดท้ายก็มาทำอาชีพขับรถ ช่วงก่อนโควิด 2-3 ปี ช่วงนั้นน้ำมันยังไม่แพงเท่าไร และเศรษฐกิจก็ถือว่าไม่ดี แต่มันยังพอไปได้ คือมีเพื่อนเขาวิ่งก่อนแล้วมาชักชวนเราว่ามันดีนะ ก็เลยลองดู ซึ่งมันก็เหลือเงินหักจากค่าน้ำมันเราก็ได้ค่าแรง ค่าเที่ยวเต็มๆ พอเห็นว่ามันดีจึงตัดสินใจออกรถคันนี้มาวิ่ง

ผู้เขียน : แล้วไม่คิดว่ามันเสี่ยงเหรอ เพราะว่าเราออกรถมาถ้าไม่มีงานแต่มันมีค่างวดใช่ไหมครับ?

วันชัย : ใช่ ช่วงนั้นพอมีสำรองอยู่ประมาณ 2 เดือน ลองไปสมัครกับเพื่อน เราก็ไปชวนเพื่อนอีกคนหนึ่งมาวิ่งด้วยกัน เราก็ขับตระเวนไปถามว่าผมมีรถนะครับ ผมอยากจะเข้าร่วมวิ่ง ผมต้องทำอย่างไรบ้าง ผมควรจะเข้าตรงไหนได้บ้าง ติดต่อใครได้บ้าง ก็จะมีคนแนะนำเราไป แต่จะถามว่ามันเสี่ยงไหม ถ้าเราไปเจอ supplier ที่ดีก็ดี ถ้าเกิดเราไปเจอ supplier ที่ไม่ดีเราก็จะจม เผลอๆ อาจจะต้องเสียรถไป เพราะว่าเพื่อนที่ออกรถมาไปเจอ supplier ที่ไม่ดี ตอนนี้ก็ต้องเสียรถไป คือว่าวิ่งงานให้เขา 15-16 เที่ยวเขาไม่จ่ายเงิน บอกว่าต้องวิ่งอีกหน่อยเดี๋ยวจะจ่ายให้ ไปๆ มาๆ วิ่งได้ประมาณ 30 เที่ยว supplier เบี้ยวงาน เบี้ยวเงินไม่จ่าย สุดท้ายเราก็ไปไม่รอด

ผู้เขียน : พัสดุที่ขนมีอะไรบ้าง ได้ค่าจ้างหรือค่าเที่ยวอย่างไร?

วันชัย : ของที่ขนก็มีขนม ผ้าอ้อม น้ำดื่ม ปลากระป๋อง ของกินทุกอย่างที่เกี่ยวกับของอุปโภคบริโภคที่มีขายตามห้างใหญ่ๆ ตอนนั้นได้เป็นค่าเที่ยว วิ่งประจำจากนิคมบางปะอินไปราชบุรี เที่ยวละประมาณ 1,400-1,500 บาท ยังไม่หักค่าน้ำมันรวมอยู่ในนั้น วันหนึ่งส่งประมาณ 7-8 ร้าน ก็จะมีห้างและพ่วงร้านยี่ปั๊วไปอย่างนี้ แต่ถามว่ามันเหลือไหมมันก็เหลือ หักค่าน้ำมันไป 800 บาทต่อวัน ก็เหลือใช้ 600 บาท

ผู้เขียน : หักค่าน้ำมันแล้วเหลือไม่ถึงครึ่ง?

วันชัย : ใช่ ต่อเที่ยว น้ำมันก็กินไปเยอะแล้ว

ผู้เขียน : จุดเปลี่ยนน่าจะเป็นช่วงโควิดใช่ไหมครับ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย

วันชัย : ขับอยู่ตรงนั้นประมาณ 3-4 ปี ก็มาสะดุดช่วงโควิด คือช่วงโควิดเป็นอะไรที่ลำบากสำหรับคนทำอาชีพขับรถตู้ทึบส่งของนะ หลายๆ คนผมเชื่อเลยว่าประสบปัญหาเหมือนกันหมด หนึ่งไปตรงนั้นไม่ได้ไปตรงนี้ไม่ได้ แต่ของเราจะต้องไปส่งเพราะมันเสี่ยง ติดโควิดกลับมาบ้านมาติดในครอบครัว แต่เราก็เลี่ยงไม่ได้เราต้องไป ค่าเที่ยวก็อยู่เท่าเดิมแต่เราก็ต้องไป บางครั้งลูกพี่เขาอาจจะเห็นใจเราบ้าง อาจจะโป๊ะเงินให้เราบ้างนิดหน่อย ไปให้ผมหน่อยนะตรงนี้มันเสี่ยง เขาอาจจะเพิ่มให้เรานิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้เพิ่มให้ทุกวัน แต่ก็ไปก็ขับออกจากที่ทำงานประมาณเที่ยงคืนไปถึงหน้างานก็ประมาณตี 5 เพื่อจะรอส่งของร้านแรก

กระทั่งมาสะดุดคือ จะมีช่วงหนักๆ อยู่ช่วงหนึ่งวิ่งบ้าง ไม่ได้วิ่งบ้าง บางทีเราวิ่งไปจุดเสี่ยงปุ๊บ บริษัทรู้ว่าเราไปจุดเสี่ยงที่ร้านนี้มีคนติด แต่เราต้องไปส่ง เซลล์ไม่บอกว่าร้านนี้ติดแต่เซลล์รู้ว่าติด คนส่งของก็ไป กลับมาปุ๊บ 3-4 คัน อีกคันนึงเป็นโควิด คันที่เหลือโดนพักงานเลย 45 วัน แล้วพอเราพ้นกำหนดกักตัว ไปอีกร้านไปเจออีกเราโดนกักตัวอีก โดยที่เราไม่ได้ค่าตอบแทนตรงนั้น มันก็เลยสะดุดมาและเป็นปัญหาที่บางครั้งเราก็แบกรับไม่ไหว ต้องไปหาอะไรที่มันดีกว่า บางคนก็ไปเจอที่แย่กว่า สู้หลายครั้ง บางคนก็สู้ไม่ไหวจนต้องขายรถ ผมเองก็ประสบปัญหาอย่างนั้นมาหลายเที่ยวมาก ไม่ไหวแล้ว ผมไปไม่ไหวแล้ว ผมเอาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัวดีกว่า ดีกว่าไปส่งค่างวดรถเดือนละ 8,000 กว่าบาท บางครั้งก็

เอาดิวะ! กัดฟันสู้อีกครั้งนึงเผื่อมันจะดี ก็เลยลองกัดฟันสู้มาจนถึงทุกวันนี้

ผู้เขียน : ทุกวันนี้ผ่านพ้นสถานการณ์นั้นมาได้ พร้อมรถตู้ทึบคู่ใจเราทำอาชีพเดิมแต่ย้ายสถานที่ใหม่มาที่อุดรธานี เป็นอย่างไรบ้างครับ?

วันชัย : ขับขนส่งพัสดุให้กับบริษัทเอกชนจากโกดัง อำเภอกุมภวาปี-อำเภอวังสามหมอ ไปกลับ คือมันวิ่งผ่าน supplier ทั้งหมด 2 supplier แล้วก็ผ่านนายหน้าที่จะต่อรถเราเข้าไป ถ้าว่าเราผ่านถึง 3 คน supplier ใหญ่ supplier รอง แล้วก็ supplier นายหน้า ซึ่งเราจะต้องจ่ายค่าเที่ยวต้องจ่ายผ่านโดนหักมา 3 ทอดกว่าจะถึงเรา แต่ว่าอันดับแรกเลยผมไม่แน่ใจว่าทุกที่เป็นเหมือนกันไหม แต่ละจังหวัดเป็นเหมือนกันไหม แต่ว่าเครดิตโดนแน่นอน

ผมโดน 90 วัน คือวิ่งเอาเงินไปให้เขา 90 วัน เหมือนกับว่าเป็นเงินค้ำประกันเรา เผื่อเราเอาของหนี เรียกว่าวิ่งเครดิต 90 วัน

ผู้เขียน : ก็คือ 90 วันไม่ได้เงิน?

วันชัย : ใช่ ภายใน 90 วัน นั้นไม่ได้เงิน แต่เขาเปิดโอกาสให้เราเบิกน้ำมันกับเขาได้ คือเราก็คุยกับทาง supplier ว่า “เงินสำรองผมน้อย ผมมีค่างวดจะต้องจ่ายผมขอเบิกน้ำมันได้ไหม” ได้ แต่ว่าเราจะโดนหักให้กับทาง supplier อีก 3%

ผู้เขียน : แล้วปัจจุบันผ่านโปร 90 วันมาแล้ว มีรายได้อย่างไร? 

วันชัย : จากที่วิ่งปัจจุบันไปกุมภวาปี-วังสามหมอ ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร เที่ยวขาไปได้ 650 และกลับอีก 720 บาทประมาณนั้น น้ำมันตกประมาณวันละ 500 บาท เฉลี่ยค่าเที่ยวเราได้ไปกลับวันหนึ่ง 1,370 บาท ซึ่งถ้าวิ่งทั้งเดือนไม่มีวันหยุดเลยคิดเป็นเงิน 44,000 บาท แต่จะมีหักค่าน้ำมันที่เราเบิกก่อน และค่าเที่ยวอีก 3 ทอด ก็เหลือเงินประมาณ 27,000 กว่าบาท แต่อันนี้คือเราวิ่งทุกวัน ไม่มีวันหยุดเลยนะ

นอกจากนี้ก็จะมีค่าปรับหลักๆ คือ หนึ่งรถวิ่งพัสดุส่งมันเป็นส่งแบบรถจำกัดเวลา อย่างไปวังสามหมอ 1 ชั่วโมง 10 นาทีต้องไปให้ทัน ถ้าไปไม่ทันแต่วินาทีเกินก็โดนปรับ สองเราตกสแตนบายรถเพื่อรอขึ้นของ คือเราต้องไปสแตนบายรถก่อนตี 4 ถ้าไปเกินเวลาหรือหลังตี 4 ค่าปรับก็จะหนักหน่อย เช่น ครึ่งชั่วโมงก็ 400 บาทต่อครั้ง หรือระหว่างการขนส่งแล้วของได้รับความเสียหายเราก็โดนปรับแล้วแต่สภาพ

ผู้เขียน : หมายถึงไปสายเหรอครับ?

วันชัย : ใช่ ไปสาย แต่ถามว่าทำไมเราถึงไปสาย ทำไมงานสแตนบายแค่นี้ทำไมคุณไม่เตือนให้ไวขึ้น พูดง่ายๆ ว่า

เราตื่นตี 2 ตี 3 อาบน้ำเตรียมตัว ทำอาหาร ห่อข้าว เพื่อจะไปสแตนบาย คือเราไปสแตนบายตี 4 ขึ้นของ 6 โมงเช้า

ซึ่งบางทีเรานั่งรอหลายชั่วโมงยังไม่ได้ขึ้นของ เราก็ต้องไปรอเขานั่งพร้อมเพื่อให้คนยิงของขึ้นให้ เขาจะได้รู้ว่าเราพร้อมที่จะขึ้นของนะ เขาจะได้มายิงให้เรา ตรงนั้นแหละเราก็ไม่ได้นอนไม่ได้พักผ่อน พอไปถึงหน้างานปิดประตูถ่ายรูปรถทุกอย่างออกเดินทางไป 1 ชั่วโมง 10 นาที ไปถึงก็ประมาณ 7 โมงครึ่งบ้าง บางทีก็เกือบ 2 โมงบ้างแล้วเราก็ไปลงของ ในช่วงนั้นมันนอนไม่ได้ มันนอนได้ชั่วโมงนึงแล้วก็ต้องตื่นแล้ว เพราะว่ามันหลายๆ อย่างอากาศร้อนบ้าง รถวิ่งบ้าง

ผู้เขียน : ทำงานไม่มีวันหยุดเหรอครับ?

วันชัย : ไม่มีวันหยุด นอกจากว่าเราขอเขาหยุด อย่างปีใหม่ สงกรานต์หยุดไม่ได้ เราเป็นรถประจำจะต้องวิ่งไปเลยยาวๆ แม้กระทั่งเราเจ็บป่วยถ้าไม่มีรถแทนเราก็ต้องวิ่ง ถ้าไม่วิ่ง ไม่มีรถแทน เราก็จะโดนปรับ แล้วถ้าไม่ดีอาจจะโดนยุบรถไปเลย

ผู้เขียน : แล้วเรื่องสวัสดิการ ความปลอดภัย และความรับผิดชอบอะไรพวกนี้ล่ะครับ?

วันชัย : สวัสดิการไม่มี ก็คือ เราเป็นรถรับจ้าง พูดง่ายๆ เราเป็นนายของเราเอง แต่ว่าเราเอารถไปเข้าร่วมวิ่งกับเขา วันหยุดไม่หยุด ไม่มีวันหยุดจริงๆ นอกเสียจากว่าเราไม่ไหวจริงๆ เช่นผมทนไม่ไหว ร่างกายทนไม่ไหว ผมต้องหยุดแล้ว คุณจะอย่างไรก็ช่าง ผมไม่ไหวจริงๆ นั่นแหละถึงจะได้ให้หยุด จากประสบการณ์ที่ผ่านที่เจอมานะ

ส่วนเรื่องความปลอดภัยก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเลย เขากำหนดเวลาให้เราเท่านี้เราต้องเหยียบขนาดไหนถึงจะทันเวลา แต่เขาก็จะเปิดโอกาสให้เราว่า ถ้ามันสุดวิสัยจริงๆ เราแจ้งปัญหาระหว่างการเดินทางได้ เพื่อจะไม่ให้ตัวเองโดนค่าปรับ พวกเรื่องภาษี พ.ร.บ. และประกันที่เกี่ยวกับรถ เราก็ต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นหรือมีความผิดพลาดก็รับเคราะห์เอาเอง

ผู้เขียน : เรามักจะได้ยินว่าพอน้ำมันขึ้น ของก็ขึ้นราคาตามไปด้วย ?

วันชัย : ใช่ แล้วหลายครั้งที่น้ำมันขึ้นเราจะได้ยินคำนี้ตลอด พูดง่ายๆ ว่าของมันแพงนะ ร้านค้าบอกว่า ค่าขนส่งมันแพงขึ้น สินค้าหลายอย่างก็ต้องเพิ่มตามขึ้นไป ทั้งๆ ที่ ความเป็นจริงแล้วค่าขนส่งยังไม่ได้ขึ้นเลย แล้วร้านค้าทุกร้านจะปรับของขึ้นตามน้ำมัน เผลอๆ เป็นเดือนกว่าจะได้ขึ้น แต่สินค้าขยับขึ้นไป 1 ขั้น 2 ขั้น 3 ขั้นไปแล้ว แต่ค่าขนส่งยังอยู่เท่าเดิม คือเป็นอาชีพที่โดนอ้างเสมอว่าค่าขนส่งแพงนะ ค่าขนส่งแพงเลยเป็นเหตุทำให้สินค้าขึ้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างที่เขาคิด ค่าขนส่งเรายังได้อยู่เท่าเดิมอยู่เลย แถมยังเป็นคนต้องแบกรับราคาน้ำมันแพงเองอีกด้วย

ผู้เขียน : แล้วคุณคิดว่าอาชีพขับรถที่ทำอยู่ ยังโอเคไหมครับ?

วันชัย : มันก็ต้องขับรถต่อไป เพราะว่าอายุคนเรามันมากขึ้น 40 กว่าปี ไปสมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่รับแล้ว แน่นอนบางที่ไม่เกิน 40 ปี แล้วที่เหลือเราจะทำอะไร เราอายุเท่านี้เราก็เริ่มต้นด้วยการขับรถมาแล้ว เราจะย้อนกลับไปทำอะไร เมื่อเราถนัดสิ่งนี้ไปแล้ว บางคนวุฒิการศึกษาน้อยแต่มีประสบการณ์ในเรื่องขับรถ เขาก็ต้องยืนพื้นขับรถไป วัยรุ่นไม่ค่อยมีหรอกเดี๋ยวนี้ที่จะขับรถอาชีพขนส่ง

สังเกตได้เลย ร้อยละ 80 เป็นคนมีอายุขึ้น 40 อัพขึ้นทั้งนั้นเลย เพราะว่าไม่รู้จะทำอะไรแต่ก็ต้องทนไป ถ้าถามว่าคุ้มไหมมันไม่คุ้มหรอกมันแค่ได้เสมอตัว

ผู้เขียน : ถ้าให้พูดถึงอาชีพนี้คุณอยากบอกอะไร?

วันชัย : อาชีพขนส่งเป็นอาชีพที่ลำบากนะ เป็นอาชีพที่หลายๆ คนไม่มีคำพูดถึง สังเกตได้อาชีพขนส่งไม่มีใครพูดถึงเลย มีแต่คนมองว่าขนส่งเงินเหลือเป็นกอบเป็นกำแน่นอน คุณอย่าลืมว่าอาชีพขนส่งมันมีอะไรอยู่ข้างหลังบ้าง 1.ค่างวดรถ 2. ค่ากินที่ต้องกินต้องใช้ ค่าสึกหรอหลายๆ อย่างที่จะตามมา ไปชนเฉี่ยวเขามาเงินทั้งนั้นมันลำบาก ต้องรับผิดชอบเองหมด  เราต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่มันไม่สมดุลกับรายรับที่เราได้มา ถึงบอกว่าค่าน้ำมันแพงค่าเที่ยวเราก็อยู่เท่าเดิม มันไม่มีที่จะกระเตื้องขึ้นได้เลย 3 เดือน 6 เดือน บางทียังไม่ขึ้นให้เลย หมายถึงว่าคุณรับไหวก็ไหวคุณรับไม่ไหวก็ถอยออกไป

ผู้เขียน : เนื่องในวันแรงงานนี้ ถ้าขอได้ เกี่ยวกับสวัสดิการหรือได้รับการดูแลที่ดีของคนขับรถ คิดว่าควรจะได้อะไรบ้าง?

วันชัย : คนรถเขาไม่อยากได้อะไรมากมาย อยากให้เขาเห็นใจในเรื่องที่ว่า 1. ค่าแรงหรือค่าเที่ยวให้มันสมดุลกับราคาน้ำมัน ถ้าค่าน้ำมันขึ้นก็ให้พิจารณาว่าอีกสักอาทิตย์หนึ่งหรือ 15 วัน น้ำมันมีแนวโน้มที่จะขึ้นอีกก็ให้ปรับค่าแรงเพิ่มค่าเที่ยวเพิ่มตาม แค่นั้นแหละพวกคนรถเขาไม่ขออะไรมากมาย ขอให้ค่าเที่ยวสมดุลกับค่าน้ำมันกับค่ารายจ่ายที่เขาต้องจ่ายไปแต่ละเดือน ซึ่งต้องมีค่าบำรุงรักษารถทุกเดือนอยู่แล้ว และอีกอย่างอาชีพรถตู้ทึบมันเป็นอะไรที่ตัดราคากัน อันนี้คือข้อเสียของตู้ทึบกันเองนะ อย่างที่ว่ารถตู้ทึบรถร่องๆ ก็คือจะตัดราคากันเองบ้าง มีนายหน้ารับมา 4,000 ฝาก 1,500 แต่วิ่งข้ามจังหวัด แต่ตีเป็นงานฝาก 1,500 แบบนี้ก็คือเป็นการที่กินกันเองกินยอดกันเยอะ  อยากจะให้เห็นใจซึ่งกันและกันอาชีพเดียวกัน อันไหนที่พึ่งพากันได้ก็พึ่งพากันไป ไม่ใช่จะมาตัดราคากันจนวิ่งไม่ได้เลย วิ่งไม่ได้แต่เราก็ต้องวิ่งเพื่อจะได้มีงาน เอาไปถัวเฉลี่ยตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง

ผู้เขียน : อยากให้กล่าวทิ้งท้ายความรู้สึกกับวันแรงงาน 1 พฤษภาคมนี้

วันแรงงานก็ดีใจกับหลายๆ คน ที่ได้พักผ่อนอยู่กับครอบครัว แล้วก็อีกหลายๆ คน ที่จะต้องทำงานต่อไป ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องผ่านจุดนี้ไปให้ได้ เพราะว่ามันมีภาระหน้าที่ที่ค้ำหลังเราอยู่ที่เราจะต้องทำ ก็แค่นี้แหละครับไม่มีอะไรมาก วันชัย กล่าวทิ้งท้าย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ