พลังชุมชน ‘คนตะกุก’ อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี รักษ์ป่า-พัฒนาที่อยู่อาศัย-สร้างอาชีพ-ท่องเที่ยวชุมชน ชวนล่องแก่งคลองยัน-เดินป่าชมทะเลหมอก ‘ม่านฟ้าผาขี้ลม’

พลังชุมชน ‘คนตะกุก’ อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี รักษ์ป่า-พัฒนาที่อยู่อาศัย-สร้างอาชีพ-ท่องเที่ยวชุมชน ชวนล่องแก่งคลองยัน-เดินป่าชมทะเลหมอก ‘ม่านฟ้าผาขี้ลม’

ทุนทางธรรมชาติของคนตำบลตะกุก  อ.วิภาวดี  จ.สุราษฎร์ธานี  

อำเภอวิภาวดี  อยู่ห่างจากตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 60 กิโลเมตร  สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขาสลับซับซ้อน  เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง  มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย  ทั้งเถื่อนถ้ำ  น้ำตก  บ่อน้ำร้อน  ลำธาร  จุดชมวิว ‘ม่านฟ้าผาขี้ลม’ มีคลองยันเป็นเสมือนเส้นเลือดหลัก  เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำพุมดวงและแม่น้ำตาปีที่หล่อเลี้ยงคนสุราษฎร์ธานีมาเนิ่นนาน…

ขณะเดียวกันชาวบ้านที่นี่ได้ใช้พลังของชุมชนช่วยกันดูแลรักษาป่าไม้  สายน้ำ  และใช้ทุนธรรมชาติที่มีอยู่สร้างอาชีพ  สร้างรายได้  สร้างชุมชนที่น่าอยู่ขึ้นมา…!!

เล่าขานตำนานท้องถิ่น “ธรรมชาติงามยิ่ง เมืองแม่หญิงกล้าหาญ”

อำเภอวิภาวดี  มีพื้นที่ประมาณ 543 ตารางกิโลเมตร  มีเพียง 2 ตำบล  คือ  ตำบลตะกุกเหนือ  และตำบลตะกุกใต้  รวม 31 หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ 16,000 คน  ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยางพารา  ปาล์มน้ำมัน  สวนมะนาว  สวนผลไม้  ทุเรียน  ลองกอง  มังคุด  ฯลฯ  นอกจากนี้ยังปลูกข้าวไร่แซมในสวนยาง

คมพจน์  พิกุลทอง  เลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบลตะกุกเหนือ  บอกเล่าความเป็นมาของตำบลว่า  ในอดีตชาวบ้านจะใช้คลองยันและคลองสาขาต่างๆ พายเรือแจวไปมาหาสู่กัน  แต่สภาพของลำคลองจะมีแก่งหินและโขดหินอยู่ในคลองเป็นระยะๆ  เวลาพายเรือ  ไม้พายและลำเรือจะกระทบกระแทกแก่งหินและโขดหิน  ดัง “กุกๆ กักๆ ” หรือพายเรือไปอย่าง “ตะกุกตะกัก”  ไม่ลื่นไหลเหมือนคลองอื่นๆ  เมื่อตั้งเป็นหมู่บ้านและตำบลจึงเรียกชื่อตามนั้น

“ส่วนชื่ออำเภอวิภาวดีก็มีประวัติความเป็นมาที่มีความสำคัญเหมือนกัน  เพราะมาจากชื่อของ ‘หม่อมเจ้าวิภาวดีรังสิต’  คือเมื่อก่อนตำบลกะกุกยังขึ้นอยู่กับอำเภอคีรีรัฐนิคม  สมัยนั้นแถบนี้ยังมีคอมมิวนิสต์ มีการสู้รบกัน หม่อมเจ้าวิภาวดีฯ จะเสด็จมาเยี่ยมประชาชนที่ตะกุกอยู่บ่อยๆ จนเมื่อพระองค์ท่านเสียชีวิตเพราะโดนผู้ก่อการร้ายยิงเฮลิคอปเตอร์ในปี 2520  ต่อมาเมื่อมีการตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ทางราชการจึงนำชื่อของพระองค์มาตั้ง”  คมพจน์บอกเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบกระชับ

มพจน์   ลูกหลานคนตะกุก  บอกเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ส่วนเหตุการณ์ที่นำมาสู่ความสูญเสียนั้น  เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2520 ขณะที่หม่อมเจ้าวิภาวดีรังสิต  (นางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ) เสด็จด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อไปรับตำรวจตระเวนชายแดนที่บาดเจ็บจากการสู้รบที่ตำบลบ้านส้อง  อำเภอเวียงสระ  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  โดยพระองค์ท่านมิได้หวั่นเกรงต่ออันตราย  แต่ได้ถูกกลุ่มคอมมิวนิสต์ใช้อาวุธปืนระดมยิงใส่เครื่องบิน  กระสุนถูกพระองค์จนสิ้นชีพ

ในปี 2535 ตำบลตะกุกเหนือและตะกุกใต้ถูกยกฐานะเป็น “กิ่งอำเภอวิภาวดี”  ต่อมาในปี 2550 ทางราชการจึงยกขึ้นเป็นอำเภอ  ขณะที่ชาวบ้านพร้อมใจกันเรียกหมู่บ้านหมู่ที่ 1  และโรงเรียนที่พระองค์ท่านเคยเสด็จมาเยี่ยมในตำบลตะกุกเหนือว่า “บ้านท่านหญิงวิภา”  และ “โรงเรียนบ้านท่านหญิงวิภา” รวมทั้งนำมาตั้งเป็นชื่อของน้ำตกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน  เพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ท่านจนถึงปัจจุบัน

ส่วนทางอำเภอวิภาวดีได้ตั้งคำขวัญประจำอำเภอว่า  “ธรรมชาติงามยิ่ง เมืองแม่หญิงกล้าหาญ  อุทยานแก่งกรุง  น้ำตกสูงวิภาวดี   มหานทีคลองยัน   ศูนย์พระราชทานศิลปาชีพ”

สภาองค์กรชุมชนเชื่อมประสาน ‘คนตะกุกเหนือ-ใต้’

            สภาองค์กรชุมชนตำบลตะกุกเหนือ  และสภาองค์กรชุมชนตำบลตะกุกใต้  อ.วิภาวดี  จ.สุราษฎร์ธานี  จัดตั้งในเดือนมิถุนายน 2558  (ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551) โดยการสนับสนุนของ ‘สภาองค์กรชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี’  มีบทบาทในการเชื่อมประสานชาวบ้าน  กลุ่ม  องค์กรต่างๆ ทั้ง 2 ตำบล  อบต. และอำเภอ  รวมทั้งหน่วยงานจากภายนอกให้มาสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน  นอกจากนี้ยังเชื่อมประสานกับกลุ่มชาวบ้านในตำบลปากฉลุย  อ.ท่าฉาง  พื้นที่ที่อยู่ติดกันด้วย

เช่น  ในเดือนพฤษภาคม 2565  เกิดฝนตกหนัก  น้ำป่าไหลหลาก  ทำให้บ้านเรือนชาวบ้านในตำบลตะกุกเหนือ 5 หมู่บ้าน  และตำบลปากฉลุย อ.ท่าฉางที่อยู่ติดกันถูกน้ำท่วม  บ้านเรือนถูกน้ำพัดเสียหาย  มีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน  กว่า 100 ครอบครัว  สภาองค์กรชุมชนตำบลตะกุกเหนือและตะกุกใต้   ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี  สถาบันพัฒนาองค์รชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ อบต.  อำเภอ  ตำรวจ  ทหาร  และอาสาสมัครในพื้นที่  ร่วมกันช่วยเหลือชาวบ้านเบื้องต้น  และต่อมา พอช. ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย

ไอรดา  ม่วงพานิช  ผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชนตำบลตะกุกเหนือและตะกุกใต้  บอกว่า  สภาองค์กรชุมชนทั้ง 2 ตำบลมีการทำงานเชื่อมประสานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานร่วมกันมาตลอด  เช่น  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยครอบครัวที่มีรายได้น้อย  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  หรือบ้านเรือนเสียหายจากภัยพิบัติ  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก  พอช. ตามโครงการ ‘บ้านพอเพียง’  เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้าน  โดยใช้คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลสำรวจครอบครัวที่มีความเดือดร้อน  บ้านเรือนชำรุดทรุดโทรม

เช่น  ในปี 2561-2565 ทำโครงการบ้านพอเพียงในตำบลตะกุกเหนือ  ประมาณ 80 ครอบครัว  และในตำบลตะกุกใต้  ประมาณ 53 ครอบครัว  ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช. ครอบครัวละ 20,500 บาท  เพื่อเอามาซื้อวัสดุ  อุปกรณ์  ซ่อมแซมบ้าน   ใช้แรงงานจากช่างชุมชนและจิตอาสา

“นอกจากนี้เรายังสร้างกองทุนเพื่อเป็นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  โดยให้ชาวบ้านที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการบ้านพอเพียงคืนงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์  เพื่อนำมาตั้งเป็นกองทุนเอาไปช่วยเหลือครอบครัวอื่นที่เดือดร้อน  หรือเอาไปใช้ส่งเสริมอาชีพ   เช่น  หากได้รับงบสนับสนุน 1 หมื่นบาท  จะต้องทยอยคืนเงินเข้ากองทุน 3 พันบาท  โดยทยอยคืนเป็นรายเดือนตามกำลัง  จนกว่าจะครบ  ยกเว้นครอบครัวที่ยากจน  เดือดร้อน  ไม่มีรายได้  ไม่ต้องคืนเงิน”  ไอรดาบอก  และว่า  ปัจจุบันตำบลตะกุกเหนือมีเงินกองทุนดังกล่าวประมาณ 6 หมื่นบาท  และตำบลตะกุกใต้มีเงินกองทุนประมาณ 1 หมื่นบาท

ป่าชุมชน สร้างอาชีพ ‘เลี้ยงผึ้งโพรง’

นอกจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยแล้ว  ก่อนหน้านั้นชาวบ้านใน 2 ตำบลได้ร่วมกันพัฒนาชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง  เช่น  การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้  โดยเฉพาะป่าชุมชนในตำบล เช่น  ป่าชุมชนบ้านปากลาง  ตำบลตะกุกใต้  เนื้อที่ประมาณ 765 ไร่  (กรมป่าไม้สนับสนุนการจัดตั้งในปี 2545)  ป่าชุมชนบ้านวังลาน ตำบลตะกุกเหนือ  เนื้อที่ประมาณ 102 ไร่ (กรมป่าไม้สนับสนุนในปี 2560)   ฯลฯ

พงษ์ศักดิ์  เชื่อมใจ  อายุ 57 ปี  หรือ ‘ลุงเลี่ยม’  ปราชญ์ชุมชนตำบลตะกุกใต้  ผู้รู้จักต้นไม้เกือบทุกต้นในป่าชุมชนบ้านปากลาง  บอกว่า  ป่าแห่งนี้มีไม้สำคัญต่างๆ  เช่น เคี่ยม  หลุมพอ  ตะเคียน  มะหาด สักเขา  ยาง  เลือดควาย    พะยอม  มีหวายป่าเกือบ 10 ชนิด  มีสมุนไพรต่างๆ มากมาย  เช่น  ปลาไหลเผือก  รากนำมาต้ม  ดื่มบำรุงร่างกาย  นอกจากนี้ยังมีสัตว์ต่างๆ  มีกระรอก  ค่างแว่น  ฯลฯ

“ชาวบ้านมีกฎ  กติกาในการดูแลรักษาป่า  เช่น  ไม่ตัดไม้ยืนต้นมาใช้  หากใครฝ่าฝืนจะปรับ 1 แสนบาท  ส่วนไม้ใช้สอย  เช่น  หวาย  เอามาใช้จักสาน  ทำเครื่องใช้ได้  แต่จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการหมู่บ้าน  นอกจากนี้เรายังทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่า  เพื่อให้เด็กและเยาวชน  รวมทั้งคนจากภายนอกได้มาศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ  และเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา  เราได้ช่วยกันบวชป่า  เพื่อให้เป็นเขตอภัยทาน  ไม่ให้มีการบุกรุกทำลายป่า”  ลุงเลี่ยมบอก

จากการช่วยกันดูแลป่าชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง  ทำให้ป่าชุมชนทั้ง 2 ตำบลมีความอุดมสมบูรณ์  มีไม้ป่า  ดอกไม้ป่านานาพรรณ  เป็นแหล่งอาหารชั้นยอดของผึ้ง  รวมทั้งผึ้งยังช่วยผสมเกสรตามธรรมชาติให้แก่สวนผลไม้ที่ชาวบ้านปลูกเอาไว้  จึงเป็นที่มาของ ‘การเลี้ยงผึ้งโพรง’  สร้างอาชีพ  สร้างรายได้ให้แก่ชาวชุมชน

ไอรดา   ม่วงพานิช  ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง  บอกว่า ชาวบ้านทั้ง 2 ตำบล  รวมทั้งชาวบ้านปากฉลุย  อ.ท่าฉาง  เริ่มรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งโพรงตั้งแต่ปี 2560  ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และจาก พอช. ‘โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน’ ทำให้ตำบลตะกุกและปากฉลุยมีคนเลี้ยงผึ้งมากขึ้น  รวมแล้วกว่า 100 ราย  บางคนเลี้ยง 4-5 รัง  บางคนมากถึง 30 รัง

“แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ  เมื่อมีคนเลี้ยงผึ้งมากขึ้น  มีน้ำผึ้ง  แต่ไม่มีตลาดรองรับ  พอช่วงปี 2563 เกิดปัญหาโควิด ทำให้ตลาดยิ่งมีปัญหา  เราจึงใช้สภาองค์กรชุมชนฯ ชวนคนเลี้ยงผึ้งทั้ง 3 ตำบลมาจัดเวทีวิเคราะห์ปัญหา  ถอดบทเรียนเรื่องน้ำผึ้งล้นตลาด  จึงนำมาสู่การนำน้ำผึ้งมาแปรรูป  และส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งให้มีคุณภาพ  โดยสนับสนุนให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันแปรรูป ผลิตเป็นสินค้าต่างๆ  ขายตามงานออกบูธ  และทางออนไลน์  ทำให้การขายดีขึ้น  ชาวบ้านมีรายได้มากกว่าเดิมจากที่เคยขายเป็นขวดๆ ละ 500 บาท”  ไอรดาบอก

ปัจจุบันกลุ่มผลิตน้ำผึ้งใช้ชื่อว่า ‘vipawabee’  มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ   เช่น   น้ำผึ้งธรรมชาติ  ขนาดกระปุกละ 250 มิลลิลิตร (มล.)  ราคา 120 บาท  สบู่น้ำผึ้งก้อนละ 40 บาท   สบู่เหลวหรือครีมอาบน้ำผึ้ง  ขนาด 250 มล. ราคา  180 บาท สารฟีโรโมนใช้ฉีดล่อผึ้งให้เข้ามาทำรัง ขนาด 100 มล. ราคา 150 บาท  ฯลฯ  ปัจจุบันมีคนเลี้ยงผึ้งทั้ง 3 ตำบล  ประมาณ 130 ราย  รังผึ้งรวมกันกว่า 1,000 รัง  สมาชิกที่มีรายได้จากการแปรรูปน้ำผึ้งจะหักรายได้เข้าสู่กองกลางและพัฒนาหมู่บ้านจำนวน 15 %

ลุงเลี่ยม  ในฐานะผู้เลี้ยงผึ้งและวิทยากรสอนการเลี้ยงผึ้งโพรงแนะเคล็ดลับการเลี้ยงผึ้งโพรงว่า  ลุงจะใช้ไม้กระท้อนนำมาทำรังผึ้ง  เพราะเป็นไม้เนื้อละเอียด  ทำให้เก็บรวงผึ้งในรังได้ง่าย  ขนาดรังกว้างยาวประมาณ 50X30 เซนติเมตร  เจาะรูขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร 1-2 รู  เพื่อให้ผึ้งเข้า-ออกไปหากิน  เมื่อทำรังเสร็จจะนำรังผึ้งไปปักบนเสาไม้หรือซีเมนต์  ห่างกันรังละ 2-3 เมตร  นำเศษกระเบื้องหรือสังกะสีปิดด้านบนเพื่อกันฝน  ช่วงแรกจะต้องฉีดสารสกัดจากรวงผึ้งหรือ ‘ฟีโรโมน’ ผสมกับผลไม้  จะทำให้มีกลิ่นล่อให้ผึ้งโพรงในป่าเข้ามาอยู่ในรัง  ผึ้งจะบินหากินน้ำหวานและเกสรดอกไม้เป็นวงกลมรัศมีประมาณ 2-3- กิโลเมตร

“ผมจะเลี้ยงผึ้งบริเวณที่ว่างในป่าชุมชน  ผึ้งจะบินหากินวนอยู่ในป่า  เป็นป่าธรรมชาติ ป่าชุมชน มีดอกไม้        มีสมุนไพรต่างๆ ไม่มีการใช้สารเคมี  ทำให้ได้น้ำผึ้งจากป่าธรรมชาติที่บริสุทธิ์ มีคุณภาพ  แต่ถ้าไปเลี้ยงในสวนผลไม้  สวนทุเรียน  ที่อาจจะมีการฉีดพ่นสารเคมี  จะได้น้ำผึ้งที่ไม่บริสุทธิ์  และผึ้งอาจจะตายยกรังจากสารเคมีที่ฉีดพ่นในสวน”  ลุงเลี่ยมปราชญ์ชุมชนบอกเคล็ดลับการเลี้ยงผึ้งให้มีคุณภาพ

ลุงบอกด้วยว่า  ตอนนี้ลุงเลี้ยงผึ้งร่วมกับสมาชิกกลุ่มในตำบลตะกุกใต้ 25 คน  เลี้ยงผึ้งรวมกัน 60 รังๆ หนึ่งจะได้น้ำผึ้งประมาณ 3-4 ขวด  บางรังที่สมบูรณ์อาจจะได้น้ำผึ้ง 5-6 ขวด  ปีหนึ่งจะเก็บได้ 2 ช่วง  คือเดือนมีนาคม-เมษายน  และพฤษภาคม-มิถุนายน  ราคาขายขวดละ 500 บาท  แต่ถ้านำไปแปรรูปจะเพิ่มราคาได้มากกว่านี้หลายเท่า

“ต้นทุนทำรังผึ้ง  ตกประมาณรังละ 300 บาท  รังนึงจะอยู่ได้นานประมาณ 5 ปีจึงค่อยเปลี่ยนใหม่  คนนึงถ้าเลี้ยง 10 รังจะได้ประมาณ 40 ขวด  ถ้า 20-30  รังจะได้น้ำผึ้งปีนึงเป็นร้อยขวด  สามารถสร้างอาชีพได้  แต่ชาวบ้านก็จะต้องช่วยกันดูแลป่าให้สมบูรณ์  ไม่บุกรุกทำลาย  และผึ้งก็จะช่วยผสมเกสรทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตแพร่พันธุ์ได้มากขึ้นด้วย  นอกจากนี้กลุ่มของเรายังเอาน้ำผึ้งมาผสมดิน  ผสมยางไม้  ทำสีดินให้เด็กเอาไปใช้ระบายสีได้เลย  ไม่ต้องเสียเงินซื้อ” ลุงเลี่ยมบอกถึงประโยชน์จากการเลี้ยงผึ้ง

สีดินจากรังผึ้ง  นำดินเหนียวมาตำแล้วร่อนให้ได้ผงดินเนื้อละเอียด  ผสมน้ำผึ้งและยางจากต้นพญาสัตบรรณจะได้สีดิน ใช้แทนสีน้ำ หากผสมสีจากเปลือกไม้  ใบไม้  จะได้สีต่างๆ เช่น  น้ำตาล  ส้ม  ชมพู  เขียว  ฯลฯ  เป็น ‘สีรักษ์โลก’ ไม่มีสารเคมี เป็นนวัตกรรมจากคนเลี้ยงผึ้ง

‘สัมผัสเมฆหมอก-ม่านฟ้าผาขี้ลม’

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า  ตำบลตะกุกทั้ง 2 ตำบลมีต้นทุนธรรมชาติมากมาย  ทั้งน้ำตก  ถ้ำ  ป่าไม้  ภูเขา  จุดชมวิว  การล่องแก่งในคลองยัน  ฯลฯ  สภาองค์กรชุมชนตำบลตะกุกทั้ง 2 ตำบลจึงได้ร่วมกันพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวในตำบลมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน

ไอรดา  ม่วงพานิช  บอกว่า  การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในตำบลในช่วงแรกยังเหมือนการลองผิดลองถูก  แต่ชุมชนได้มีการพัฒนาและปรับปรุงการทำงานเรื่อยมา  ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  สภาองค์กรชุมชนได้จัดอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ให้แก่คณะทำงานด้านการท่องเที่ยว  ซึ่งมีเยาวชน  คนรุ่นใหม่  และแกนนำชุมชนทั้ง 3 ตำบล (รวมตำบลปากฉลุย  อ.ท่าฉาง) เข้าร่วมอบรมประมาณ 35 คน

เช่น  เรียนรู้การจัดเส้นทางท่องเที่ยว  การคิดต้นทุนการดำเนินการ  ราคาค่าบริการ  ค่าเรือ  ล่องแพ  ค่ารถยนต์  ค่าไกด์  ค่าอาหาร  และการแบ่งปันรายได้เข้าสู่กองทุนหรือกลับคืนสู่ชุมชนให้เกิดความเหมาะสม  โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตหาดใหญ่  และวิทยากรจากสมาคมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นผู้ฝึกอบรม

“ที่ผ่านมา  มีคณะมาศึกษาดูงานและมาท่องเที่ยวธรรมชาติในตำบลตะกุกหลายคณะแล้ว  แต่เรายังไม่มีการกำหนดราคาค่าบริการที่เหมาะสม  รวมทั้งจัดการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน  มีความเป็นมืออาชีพ  การอบรมครั้งนี้จะทำให้เราได้เรียนรู้เพื่อนำมาพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนต่อไป”  ไอรดาบอก

คมพจน์  พิกุลทอง  เลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบลตะกุกเหนือ  บอกว่า  ปัจจุบันชุมชนมีเส้นทางท่องเที่ยวหลักคือการล่องแก่งในคลองยัน  เริ่มจากหมู่ที่ 16 ลงมาที่หมู่ 14 ตำบลตะกุกเหนือ ระยะทางประมาณ 2-3 กิโลเมตร  เป็นช่วงที่ลำคลองมีความสวยงาม ไม่มีอันตราย  โดยมีเรือแจวประมาณ 10 ลำ  เรือหางยาว 10 ลำ  รองรับได้ลำละประมาณ 5 คน  คิดราคาเป็นหัวต่อ 1 ชั่วโมงประมาณ 200 บาท  หรือเหมาลำประมาณ 1,200 บาท  ไม่รวมค่าอาหาร  ช่วงท่องเที่ยวที่เหมาะสมประมาณเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน

“เรือพวกนี้เป็นเรือของชาวบ้าน  หากเป็นวันธรรมดา  ไม่มีใครเหมาไปล่องแก่ง  ชาวบ้านก็จะเอาเรือไปตัดต้นจาก  หรือบรรทุกมะพร้าว  แต่ถ้ามีคนมาเที่ยวล่องแก่ง  ก็จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้วันละ 800 ถึง 1 พันบาท  ทางกลุ่มจะหักรายได้เพื่อเข้ากองทุนชุมชนจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์  เพื่อเป็นค่าบริหารจัดการ  เช่น  เก็บขยะ  บริหารท่าเรือ  นอกจากนี้ก็จะให้ชาวบ้านทำอาหาร  ทำขนม  หรือสินค้าจากชุมชนมาขาย  มีรายได้จากการท่องเที่ยว  เป็นการกระจายรายได้  ทำให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น”  คมพจน์บอก

นอกจากการล่องแก่งแล้ว  ในตำบลตะกุกเหนือยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นที่น่าสนใจ  เช่น ถ้ำหนองไหล  มีหินงอก  หินย้อยที่มีความสวยงาม  จุดชมวิว  ดูพระอาทิตย์ขึ้นและชมเมฆหมอกที่ป่าชุมชนบ้านวังลาน  หมู่ที่ 14 ตำบลตะกุกเหนือ  ยามเช้าจะมีทะเลหมอกสวยงามเหมือนทางภาคเหนือ  หรือหากอากาศดีจะมองเห็นทิวทัศน์อำเภอวิภาวดีได้กว้างไกลแบบพาโนรามา

ชม ‘ม่านฟ้าผาขี้ลม’ ในป่าวังลาน  เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์  มีไลเคนเป็นสายสีเขียวห้อยระย้าลงมาเหมือนสายสร้อย  ชาวบ้านเรียกว่า “สร้อยขี้ลม” คล้ายกับ “เคราฤาษี” แต่ดูสวยงามตระการตากว่า  เปรียบเสมือน ‘ม่านฟ้าสีเขียว’ ที่ห้อยลงมาจากสรวงสวรรค์

“สร้อยขี้ลม” ม่านฟ้าจากสวรรค์

ส่วนพื้นดินด้านล่างมี ‘มอสขนนก’ สีเขียวเหมือนปูด้วยพรมกำมะหยี่  มีผักกูด  เฟิร์นต่างๆ  แต่งแต้มให้ป่าแห่งนี้ดูลึกลับมหัศจรรย์เหมือนป่าในเทพนิยาย  ช่วงฤดูชมทะเลหมอกและม่านฟ้าผาขี้ลม  ตั้งแต่เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์

ไอรดา บอกเพิ่มเติมว่า  ชาวบ้านทั้ง 3 ตำบลยังร่วมกันทำผ้ามัดย้อมออกจำหน่าย  ซึ่งแต่เดิมใช้สีเคมีมามัดย้อม  ปัจจุบันส่งเสริมให้ใช้สีจากธรรมชาติ เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้  โดยนำเปลือกไม้จากป่าชุมชน  เช่น  มะหาดให้สีชมพู  กระโดนให้สีน้ำตาล  ขมิ้นเครือให้สีเหลือง ฯลฯ นำมาทำสีมัดย้อม  ลวดลายสวยงาม  มีสมาชิกร่วมกันผลิต 45 คน  ขายราคาผืนละ 250 บาท

นอกจากนี้ยังมีตลาดนัดป่าชุมชนบ้านปากลางรองรับ  เพื่อให้ชาวบ้านนำผ้ามัดย้อม  ผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้ง ผักพื้นบ้าน  สะตอ  หน่อไม้  ผักกูด เครื่องแกง  ผลไม้และอาหารปลอดภัย  มีขนมจาก  ขนมครก  ของกิน  ของใช้  มาวางขายแลกเปลี่ยน  สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้หมุนเวียน…เป็นพลังของคนตะกุกที่ร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาคุณภาพชีวิตคน-ชุมชน-ตำบลในทุกมิติ…!!

(ผู้ที่สนใจอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ศึกษาดูงาน  หรือท่องเที่ยวชุมชน  ติดต่อได้ที่…คุณไอรดา  ผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชนตำบลตะกุก 093-1645965)

***************

ภาพ : คนตะกุก  / เรื่อง : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ