ภาคใต้/ พอช.หนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในภาคใต้ 14 จังหวัด เผยตลอดช่วง 20 ปี ตั้งแต่ปี 2546-2566 พัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการ ‘บ้านมั่นคงเมืองและชนบท’ แล้ว 222 โครงการ ใช้งบรวม 1,193 ล้านบาท ชาวบ้านได้รับประโยชน์ 24,522 ครัวเรือน ‘โครงการบ้านพอเพียง’ ซ่อมแซมบ้านผู้มีฐานะยากจนใน 697 ตำบล ผู้รับประโยชน์ 24,694 ครัวเรือน .ใช้งบรวม 476 ล้านบาทเศษ และเตรียมดำเนินการการในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟรางคู่ในภาคใต้อีกนับหมื่นครัวเรือน นอกจากนี้ยังสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่และกลุ่มสตรีร่วมหนุนเสริมการพัฒนาชุมชนด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจสำคัญประการหนึ่ง คือสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ โดยยึดหลัก “ชุมชนที่เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา พอช.และภาคีเครือข่ายร่วมสนับสนุน” มีโครงการที่สำคัญ คือ “โครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบท” เริ่มดำเนินการทั่วประเทศในปี 2546 นอกจากนี้ยังมีโครงการบ้านพอเพียง โดยการสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านทรุดโทรม ให้เหมาะสมแก่การอยู่อาศัย ฯลฯ
20 ปี พอช.หนุนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในภาคใต้แล้ว 24,522 ครัวเรือน
นายธนภณ เมืองเฉลิม ผู้อำนวยการ สำนักงานภาคใต้ พอช. กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 20 ปี พอช.ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในภาคใต้ตามโครงการ ‘บ้านมั่นคงเมืองและชนบท’ ครอบคลุม 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 98 เมือง 246 ชุมชน มีผู้รับประโยชน์รวม 24,522 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 1,193 ล้านบาทเศษ
โดยแยกเป็น 1.โครงการบ้านมั่นคงเมือง สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมือง เช่น ชุมชนที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐหรือเอกชน ที่ดินเช่า บ้านเช่า ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย โดยชุมชนที่เดือดร้อนจะรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา โดยการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน ร่วมกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลเพื่อทำนิติกรรมจัดซื้อหรือเช่าที่ดิน เสนอใช้สินเชื่อจาก พอช. เพื่อซื้อที่ดินหรือก่อสร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่ ดำเนินการแล้วใน 80 เมือง 205 ชุมชน รวม 20,880 ครัวเรือน งบประมาณรวม 1,036 ล้านบาทเศษ
2.โครงการบ้านมั่นคงชนบท พอช.สนับสนุนการดำเนินการเช่นเดียวกับโครงการบ้านมั่นคงชนบท ส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงที่อยู่อาศัยในชุมชนเดิมในพื้นที่ชนบท ดำเนินการแล้วจำนวน 18 เมือง 41 ชุมชน ผู้รับประโยชน์รวม 3,642 ครัวเรือน งบประมาณ 156 ล้านบาทเศษ
นอกจากนี้ยังมี ‘โครงการบ้านพอเพียง’ เป็นโครงการสนับสนุนการซ่อมแซม ปรับปรุงบ้านเรือนผู้มีรายได้น้อยในชนบท โดยชุมชนตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน หรือใช้กลุ่มองค์กรที่ชุมชนมีอยู่ เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชน สำรวจข้อมูลชุมชน ครอบครัวที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม ผุพัง หลังคารั่ว ฯลฯ เพื่อดำเนินการซ่อมแซม โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณไม่เกินครอบครัวละ 20,000 บาท ขณะที่ชุมชนจะร่วมกันช่วยซ่อมบ้าน โดยใช้ช่างชุมชนหรือจิตอาสา เพื่อให้ครอบครัวที่เดือดร้อนมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและมีความปลอดภัยแก่การอยู่อาศัย ดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 – 2566 จำนวนทั้งสิ้น 697 ตำบล มีผู้รับประโยชน์รวม 24,694 ครัวเรือน ใช้งบรวม 476 ล้านบาทเศษ
เตรียมพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดินรถไฟภาคใต้
ส่วนโครงการที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการในขณะนี้ เช่น โครงการบ้านมั่นคงในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีโครงการรถไฟรางคู่จากกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ (ขณะนี้ขยายรางคู่มาถึงจังหวัดชุมพรแล้ว และกระทรวงคมนาคมมีแผนจะขยายรางคู่จากหาดใหญ่-สงขลา-ปาดังเบซาร์ เพื่อเชื่อมต่อไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์) โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือชาวชุมชนที่มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ
โดย พอช.มีแผนดำเนินการภายใน 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2566-2570 จำนวน 300 ชุมชน 35 จังหวัด รวม 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ พอช. เครือข่ายชุมชน และสลัมสี่ภาค กำลังเร่งสำรวจข้อมูลชุมชนที่เดือดร้อนเพื่อเข้าร่วมโครงการ และทำสัญญาเช่าที่ดินจาก รฟท. (กรณีที่อยู่ในชุมชนเดิมได้) หรือจัดหาที่ดินแปลงใหม่รองรับเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ตามโครงการบ้านมั่นคง
ส่วนในภาคใต้มีชุมชนที่ได้รับสัญญาเช่าที่ดินจาก รฟท.แล้วหลายชุมชน เช่น จังหวัดตรัง จำนวน 3 ชุมชน รวม 133 ครัวเรือน จะเริ่มก่อสร้างบ้านมั่นคงในเร็วๆ นี้ ส่วนที่เหลือ เช่น จังหวัดสงขลา ยะลา อยู่ในระหว่างการจัดทำสัญญาเช่าที่ดินจาก รฟท. รวมทั้งหาที่ดินแปลงใหม่รองรับ
นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วย ผอ.พอช. ในฐานะที่ดูแลการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ กล่าวว่า ภาคใต้จะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรางมากที่สุด คาดว่าจะมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบประมาณ 15,000 ครัวเรือน จากชุมชนทั้งหมดทั่วประเทศ 27,084 ครัวเรือน โดยในระหว่างวันที่ 21-22 พ.ย.นี้ พอช.และภาคีเครือข่ายจะจัดการสัมมนาผู้นำชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางที่จังหวัดสงขลา เพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.
3 จังหวัดชายแดนใต้ “สร้างสันติสุขที่กินได้”
ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ ‘สภาพัฒน์’ ระบุว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ติด 1 ใน 10 ของจังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศไทย โดยมีครัวเรือนที่เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย จำนวน 14,321 ครัวเรือน ขณะที่ พอช. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีวิสัยทัศน์ คือ “สร้างสันติภาพที่กินได้ สู่สังคมแห่งความสุขจังหวัดชายแดนใต้”
โดย พอช.มียุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน คือ 1.ชุมชนเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้ 2.สร้างฐานเศรษฐกิจชุมชน (เกื้อกูลแบ่งปัน) 3.สร้างความมั่นคงในชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ 4.สร้างความมั่นคงทางอาหารและความสามารถ และ 5.การจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา พอช. ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชนและหน่วยงานภาคี สนับสนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบทแล้ว 34 โครงการ ผู้รับผลประโยชน์รวม 4,407 ครัวเรือน และซ่อมสร้างบ้านตามโครงการบ้านพอเพียงจำนวน 117 ตำบล รวม 3,472 ครัวเรือน
นอกจากนี้ยังสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบลหรือเทศบาล เพื่อเป็นกองทุนในการช่วยเหลือดูแลกันในยามเจ็บป่วย เดือดร้อนจำเป็น ช่วยเหลือผู้เปราะบาง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ โดยสมาชิกกองทุนสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท หรือเดือนละ 30 บาท แล้วนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือกัน ปัจจุบันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนแล้ว 236 ตำบล/เทศบาล มีสมาชิกรวมประมาณ 110,900 คน เงินกองทุนรวมประมาณ 201 ล้านบาทเศษ
ส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่-กลุ่มสตรีร่วมพัฒนาชุมชน
นอกจากการสนับสนุนให้ชุมชนเป็นแกนนำในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนดังกล่าวแล้ว พอช.และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนได้สนับสนุนให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ รวมทั้งกลุ่มสตรีและกลุ่มต่างๆ ในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมและเป็นแกนนำในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นด้วย
นายหมัดยูโซ๊ะ โต๊ะโก๊ะ อายุ 23 ปี คนรุ่นใหม่ที่มาช่วยจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ ที่ตำบลบางตาวา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา บอกว่า ตนเรียนจบที่วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี สาขาช่างเชื่อมโลหะ เป็นชาวรูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี ทำงานจิตอาสา โดยเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานีตั้งแต่ปี 2564 นอกจากนี้ยังร่วมงานกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดปัตตานีในการทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน โดยตนและสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนได้ช่วยกันสำรวจข้อมูลชุมชนที่เดือดร้อน (สมาชิกสภาเด็กชุมชนตำบลหนึ่งไม่เกิน 21 คน) มาช่วยกันลงพื้นที่ในตำบลของตัวเอง
“หากมีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลชุมชนในตำบลไหน เราจะสอบถามสมาชิกสภาเด็กฯ ในตำบลนั้นว่าจะมีใครมาร่วมกันสำรวจข้อมูลบ้าง เป็นงานจิตอาสา ไม่มีค่าตอบแทน โดยในงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่บางตาวานี้ ผมและเพื่อนๆ ได้มาช่วยงานเรื่องการจัดการขยะและฟื้นฟูกลุ่มเยาวชนที่บางตาวา ซึ่งในการเรื่องการจัดการขยะนี้ เราได้ประสานงานกับนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี มาสอนการคัดแยกขยะในชุมชน และสภาเด็กจะให้ความรู้เรื่องการนำขยะไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน” เยาวชนคนรุ่นใหม่บอกถึงงานที่ทำ
เขาบอกด้วยว่า ในการลงสำรวจข้อมูลชุมชนนั้น จะสำรวจข้อมูลทุกมิติ เช่น ข้อมูลครัวเรือน การศึกษา อาชีพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ทำแผนที่ชุมชน จับพิกัด ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่สำรวจไปแล้ว 5 ชุมชนในจังหวัดปัตตานี โดยมีแบบสอบถามจาก พอช. เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปให้ชุมชนและเครือข่ายเสนอโครงการและวางแผนแก้ไขปัญหาต่อไป
“เมื่อก่อนผมลงสำรวจชุมชนใหม่ๆ ตอนแรกจะเห็นคนที่เดือดร้อนยากจน เห็นเขามีความเศร้า แล้วกลายมาเป็นรอยยิ้ม…นั่นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นรอยยิ้มที่ไม่ได้ถูกแต่งเติม แต่เป็นพราะชาวบ้านได้รับการช่วยเหลือจากเครือข่ายบ้านมั่นคง ซึ่งผมและสภาเด็กฯ มีส่วนร่วม ทำให้ผมมีความภูมิใจ และจะทำเรื่องนี้ต่อไป” หมัดยูโซ๊ะ เยาวชนคนรุ่นใหม่บอกความรู้สึก
นางรอฮาณี กามูจันทรดี ชาวบ้านบางตาวา แกนนำกลุ่มสตรีชุมชนบางตาวา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี บอกว่า เมื่อก่อนตนเป็นแม่บ้านธรรมดา ไม่ได้รู้เรื่องการพัฒนาชุมชน แต่เมื่อมีเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดปัตตานีและเจ้าหน้าที่ พอช.เข้ามาสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาชุมชน เริ่มจากรวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อเอาไว้ช่วยเหลือกันในปี 2562 ทำให้กลุ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยแกนนำทั้ง 2 กลุ่มเป็นกลุ่มสตรีในตำบลซึ่งมาจากแม่บ้านก็ได้เรียนรู้การพัฒนาชุมชนจากการทำงานกลุ่ม
“ตอนนี้มีสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์และกองทุนสวัสดิการฯ กลุ่มละ 134 คน และต่อมาพวกเราได้ร่วมกันแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในชุมชน โดยกลุ่มสตรีเป็นหลัก มีการจัดทำโครงการ ‘บ้านมั่นคงชนบทตำบลบางตาวา’ ขึ้นมาในปี 2566 มีการสำรวจข้อมูลปัญหาครอบครัวที่เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย โดยมีเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดปัตตานี กลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ และสภาเด็กมาร่วมสำรวจข้อมูล นำข้อมูลไปเสนอโครงการบ้านมั่นคงกับ พอช. เพื่อปรับปรุงบ้านเรือนที่ทรุดโทรม มีฐานะยากจนในตำบล รวมทั้งหมด 392 ครอบครัว ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช. รวมทั้งหมด 14 ล้านบาท ตอนนี้ปรับปรุงบ้านใหม่เกือบเสร็จหมดแล้ว บางหลังไม่เคยมีส้วมตอนนี้ก็มีแล้ว ไม่ต้องวิ่งไปลงทะเลเหมือนก่อน ส่วนปีหน้าก็จะทำในส่วนที่ยังเหลืออีกกว่า 100 ครอบครัว” นางรอฮาณีบอก
ขณะเดียวกัน ‘เครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต กลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้’ ซึ่งได้ประกาศแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เนื่องในงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2566 ที่จัดขึ้นที่ตำบลบางตาวา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ยืนยันแนวทางการสนับคนรุ่นใหม่และกลุ่มสตรีให้มีบทบาทในการพัฒนา โดยประกาศว่า…
“เราจะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนบทบาทคนรุ่นใหม่ และเครือข่ายสตรี ให้เป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิต โดยผ่านสภาเด็กและเยาวชน เครือข่ายสตรี สภาองค์กรชุมชนตำบล สวัสดิการชุมชนตำบล และเครือข่ายอื่นๆ ในพื้นที่ ตำบล จังหวัด เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ต่อไป”
ส่วน พอช.หรือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (ชื่อย่อภาษาอังกฤษ ‘CODI’) ล่าสุดได้มีจัดตั้ง ‘CODI ACADEMY’ เพื่อเป็นสำนักหรือส่วนงานที่จะมีหน้าที่สนับสนุนการสร้างจิตสำนึก และแนวทางการพัฒนาชุมชนโดยชุมชนเป็นแกนหลัก โดยจะส่งเสริมสนับสนุนเยาวชน คนรุ่นใหม่ ทั้งในองค์กร ภาคีเครือข่าย ขบวนองค์กรชุมชน เพื่อเป็นกำลังหลัก เป็นพลังคนรุ่นใหม่ที่จะมาร่วมกันพัฒนา ขับเคลื่อนชุมชน ท้องถิ่น ให้มีความเข้มแข็งทุกมิติ…ไปพร้อมๆ กับพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศต่อไป… !!
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์