จังหวัดปัตตานี-หน่วยงานภาคี-พอช.จัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ ภาคใต้

จังหวัดปัตตานี-หน่วยงานภาคี-พอช.จัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ ภาคใต้

นางพาตีเมาะ ผู้ว่าฯ จ.ปัตตานี (ที่ 3 จากซ้าย) รับมอบข้อเสนอแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตจากผู้แทนชุมชน

จังหวัดปัตตานี  เครือข่ายชุมชน  หน่วยงานภาคี  และ พอช.ร่วมจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ ภาคใต้ที่ปัตตานี       ชูประเด็น “ผนึกพลังเครือข่ายชุมชน  สู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน”  ยกชุมชนบางตาวา อ.หนองจิก เป็นต้นแบบพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนชายฝั่ง  ซ่อมสร้างบ้านเรือนแล้ว 392 ครัวเรือน  และเตรียมดำเนินการต่อใน      จ.ปัตตานีในปี 2567 อีก 4 ตำบล รวม 567 ครัวเรือน  ขณะที่เครือข่ายประชาชนร่วมกันประกาศแนวทางการพัฒนาในพื้นที่กลุ่มจังหวัดชายแดนใต้  โดยจะประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป

เนื่องในโอกาส ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ หรือ ‘World Habitat Day 2023’ (องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  หน่วยงานภาคี  และเครือข่ายองค์กรชุมชน  ร่วมกันจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2566 ตลอดช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายนนี้  ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย  และนำเสนอรูปธรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

โดยในวันนี้ (16 พฤศจิกายน) ตั้แต่เวลา 9.00 น. ที่ชุมชนบ้านบางตาวา  ต.บางตาวา อ.หนองจิก  จ.ปัตตานี  มีการจัดงาน วันที่อยู่อาศัยโลกประเทศไทย 2566 ภาคใต้ “ผนึกพลังเครือข่ายชุมชน  สู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน”  โดยจังหวัดปัตตานี  เครือข่ายองค์กรชุมชน  พอช. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  และ อบต.บางตาวา  ร่วมจัดงาน  โดยมีนางพาตีเมาะ สะดียามู  ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธี  มีผู้เข้าร่วม  เช่น  นางสาวเฉลิมศรี  ระดากูล  รองผู้อำนวยการ พอช.  นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา  ประธานอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน พอช. ผู้บริหาร พอช.สำนักงานภาคใต้  พมจ.ปัตตานี  นายอำเภอหนองจิก  อบจ.ปัตตานี  อบต.บางตาวา  ผู้แทนหน่วยงานภาคี  ภาคประชาสังคม  เครือข่ายองค์กรชุมชนใน 14 จังหวัดภาคใต้  และชาวบางตาวาเข้าร่วมงานประมาณ 350 คน

2
ชุมชนบางตาวาตั้งอยู่ริมชายฝั่ง  อ.หนองจิก  จ.ปัตานี  ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง

‘บางตาวา’ พื้นที่ต้นแบบการแก้ไขปัญหา-พัฒนาชุมชนชายฝั่ง

          ตำบลบางตาวา  เป็นชุมชนชายฝั่งทะเล มีลำคลองเชื่อมกับทะเลและป่าชายเลน มี 2 หมู่บ้าน  จำนวน 615 ครัวเรือนประชากรประมาณ 3,800 คน  อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองปัตตานี  มีน้ำจืดตลอดปี  เดิมชาวบ้านเรียกชื่อว่า “กวาลออาเยร์ตาวา”  แปลว่า “ปากบางน้ำจืด” ต่อมาได้เปลี่ยนคำหลังเป็น “ตาวา” แปลว่า “น้ำจืด” และเรียกชื่อตำบลว่า “บางตาวา”

ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม  ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งเป็นอาชีพหลัก จับปลา  ปู  ทำปลาแห้ง  ปลาเค็ม  ค้าขาย  และรับจ้างเป็นอาชีพรอง  ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน  (รายได้เฉลี่ย/ต่อคน/ปีประมาณ 49,000 บาท) เนื่องจากไม่สามารถทำประมงได้ตลอดทั้งปี  เพราะลมมรสุม  และต้องหยุดจับปลาและสัตว์น้ำในฤดูวางไข่ รวมระยะเวลาที่ไม่สามารถทำประมงได้ปีละ 6 เดือน  สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่แออัด  ทรุดโทรม  บ้านบางหลังไม่มีห้องสุขา

นางรอฮาณี  กามูจันทรดี  ชาวบ้านบางตาวา  ในฐานะกรรมการเมืองบางตาวา  บอกว่า  ในปี 2562 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’  เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาชุมชน  โดยชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘กลุ่มออมทรัพย์’ เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ  ออมเงินกันเดือนละ 100 บาท  ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 134 คน  มีเงินออมประมาณ 70,000 บาทเศษ

นอกจากนี้ยังจัดตั้ง ‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ เพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือดูแลกัน  มีสมาชิก 134 คน  สมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเดือนละ 30 บาท  เพื่อนำมาช่วยเหลือสมาชิก  เช่น  คลอดบุตรช่วยเหลือ 500 บาท  เจ็บป่วย  คลอดบุตร  นอนโรงพยาบาลช่วยคืนละ 300 บาท   ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน  เสียชีวิตช่วยเหลือ 5,000 บาท  ฯลฯ

3
สภาพบ้านก่อนการปรับปรุงซ่อมแซม

“ส่วนการพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้น  มีการตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตำบลบางตาวาขึ้นมา  เพื่อสำรวจข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้าน  หลังจากนั้นจึงได้จัดทำโครงการเพื่อเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.ตามโครงการบ้านมั่นคงชนบทในปี 2566 รวมทั้งหมด 392 ครัวเรือน  ขณะนี้ปรับปรุงแล้วเสร็จเกือบทั้งหมด”  นางรอฮานีบอก

ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในตำบลบางตาวา  ส่วนใหญ่สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง  ปลูกสร้างบ้านอยู่ในที่ดินป่าชายเลนซึ่งเป็นที่ดินรัฐ (ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยอย่างถูกต้องแล้ว) และที่ดินมัสยิด  จำนวนผู้เดือดร้อนทั้งหมด  566 ครัวเรือน  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท  จำนวน 392 หลัง  (เฉลี่ยหลังละ 30,000 บาท)

ส่วนใหญ่จะซ่อมแซม  ปรับปรุงหลังคา  ฝาบ้าน  สร้างห้องน้ำ  เปลี่ยนพื้นบ้านที่ผุพัง  รวมทั้งการพัฒนาสาธารณูปโภคในชุมชน  รวมงบประมาณสนับสนุนทั้งหมด 14 ล้านบาทเศษ  ขณะนี้ดำเนินการเกือบแล้วเสร็จทั้งหมด   ตามแผนงานจะปรับปรุงให้แล้วเสร็จทั้ง 392 ครัวเรือนภายในเดือนธันวาคมนี้  ส่วนที่เหลืออีก 174 ครัวเรือนจะดำเนินการต่อไปในปี 2567

4
บ้านหลังการปรับปรุงซ่อมแซม

“ผนึกพลังเครือข่ายชุมชน  สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

การจัดงาน “ผนึกพลังเครือข่ายชุมชน  สู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน”  ที่ตำบลบางตาวาในครั้งนี้   มีเป้าหมายเพื่อ 1.ผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ในการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง  2.การบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคี ทุกภาคส่วน       3.การเชื่อมโยงเครือข่าย พัฒนาคนรุ่นใหม่ การพัฒนาให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย ในการขับเคลื่อนงานและการพัฒนาชุมชนชายฝั่ง   4.การยกระดับกองทุนชุมชน ไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติในพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง

โดยในช่วงเช้ามีฐานการเรียนรู้กระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัย 6 ฐาน  เพื่อให้ผ็เข้าร่วมงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้   คือ 1.การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนชายฝั่ง 2.กองทุนและการออมทรัพย์  3.การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม 4.การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก  5.การพัฒนาคุณภาพชีวิต/กลุ่มอาชีพ  และ 6.เครือข่ายความร่วมมือสู่การพัฒนาเมือง

ส่วนช่วงบ่ายมีเวทีเสวนา  หัวข้อ “ร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและพัฒนาที่ดิน ที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตชุมชนบนวิถีชีวิตและพหุวัฒนธรรม”  โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากหน่วยงานภาคีต่างๆ

5
ผู้ว่าฯ จ.ปัตตานี  มอบของใช้ให้ครอบครัวผู้เปราะบาง

                นางพาตีเมาะ สะดียามู  ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี  กล่าวมีใจความสำคัญว่า  การช่วยเหลือเรื่องการสร้างบ้านให้คนยากจนในจังหวัดมีหลายหน่วยงานร่วมสนับสนุน  ในส่วนของ ผวจ.ได้สนับสนุนการสร้างบ้านตามแนวทางของกาชาดจังหวัด  งบประมาณหลังละ 1 แสนบาท  และขอรับการสนับสนุนเรื่องวัสดุและแรงงานจากภาคส่วนต่างๆ  และในปีหน้าจะใช้วาระเฉลิมพระชนม์พรรษาในหลวง 72 พรรษา  สร้างบ้านให้คนที่ไม่มีบ้านจำนวน 12 หลัง  และจะซ่อมแซมบ้านอีกจำนวน 60 หลัง

ส่วนการจะประกาศเรื่องการสร้างบ้านหรือการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้เป็นวาระของจังหวัดนั้น  ผู้ว่าฯ ปัตตานีกล่าวว่า  การประกาศให้เป็นวาระของจังหวัดนั้น  อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง  แต่ควรจะเป็นวาระของชุมชนต่างหากจึงจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง  โดยมีหน่วยงานต่างๆ มาสนับสนุนส่งเสริมชุมชน  เช่น ที่บางตาวา  โดยมีคนในชุมชนมาร่วมกัน  ช่วยเหลือกัน  เพื่อให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้  ผู้ว่าฯ ยังกล่าวชื่นชมโครงการบ้านมั่นคง  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร  กรุงเทพฯ ที่สนับสนุนโดย พอช.ว่า  ตนได้ติดตามข้อมูลโครงการนี้  เห็นว่าเป็นโครงการที่มีบ้านหลากสีสัน  สวยงาม  มีทางเลียบคลอง  มีการพัฒนาคุณภาพชีวิต  มีทิวทัศน์สวย  เป็นโครงการที่ทำได้ดี  เป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาชุมชน

นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา  ประธานอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน พอช. กล่าวว่า  วันที่อยู่อาศัยโลกมีความสำคัญในระดับนานาชาติ  และมีข้อสรุปว่า  เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นแกนกลางของการพัฒนาที่ยั่งยืน  สามารถแก้ไขปัญหาได้มากกว่า 10 อย่าง  เช่น  แก้ปัญหาความยากจน  เรื่องเศรษฐกิจ  การลดความเหลื่อมล้ำ  ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  เป็นต้น

“โครงการบ้านมั่นคงที่เกิดขึ้นโดย พอช.  เราเป็นองค์กรที่สนับสนุนให้ชุมชนเป็นตัวตั้ง  ใช้โครงการเป็นเครื่องมือเพื่อเชื่อมโยงชาวบ้านขึ้นมา  ไม่ได้มองว่าชาวบ้านเป็นปัญหา  แต่ชาวบ้านเป็นผู้แก้ปัญหา  และเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการเชื่อมโยงจัดการทุกๆ เรื่องๆ และไม่ได้เป็นเหมือนบ้านจัดสรรที่ต่างคนต่างอยู่  แต่โครงการบ้านมั่นคงจะนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยรวม  ทำให้เกิดความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัย  มีระบบต่างๆ ที่ชาวบ้านมาร่วมคิดร่วมทำ  และพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งในทุกด้าน”

นางสาวสมสุขกล่าว  และยกตัวอย่างเช่น  เมื่อก่อนชุมชนอยู่ในที่ดินป่าชายเลน  ไม่มีความมั่นคง  แต่เมื่อแก้ไขปัญหาที่ดินได้  ไม่ว่าจะโดยการเช่าหรือการได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง  มีความมั่นคงในที่ดิน และเมื่อได้ที่ดินแล้วก็ไม่ใช่ต่างคนต่างไป  แต่มาร่วมกันพัฒนา  เช่น  ช่วยกันดูแลป่าชายเลน  มีกองทุนสวัสดิการในการดูแลกัน  มีกลุ่มออมทรัพย์  มีการพัฒนาเด็กและผู้สูงอายุ  ฯลฯ  เป็นวงจรการพัฒนาที่มั่นคงผ่านโครงการบ้านมั่นคง  แต่เรื่องที่ดินเป็นปัญหาใหญ่ ถ้าแก้ไขปัญหาที่ดินได้ก็จะมีงบประมาณมาสนับสนุนการพัฒนาชุมชนได้

เช่น  ที่บางตาวา  เมื่อก่อนมีปัญหาขยะสะสมมาก  แต่เมื่อได้แก้ไขปัญหาที่ดินป่าชายเลนแล้ว  ชาวบ้านก็มีความมั่นใจ  นำไปสู่การพัฒนาต่างๆ  เช่น ปรับปรุง  ซ่อมแซมบ้าน  พัฒนาสาธารณูปโภค  มีกลุ่มออมทรัพย์  พัฒนาด้านเด็ก ฯลฯ  โดยชาวบ้านมีส่วนร่วมคิด  ร่วมทำ  มีหน่วยงานต่างๆ มาสนับสนุน  เป็นกลไกการพัฒนาที่สำคัญและยิ่งใหญ่  แก้ไขปัญหาต่างๆ ไปพร้อมกัน

นางสาวสมสุขกล่าวด้วยว่า  โครงการบ้านมั่นคงในช่วงต่อไป  ควรจะทำกันทั้งเมือง  โดยชุมชนและหน่วยงานมาร่วมกันทำ  ซึ่ง พอช.พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงทั้งในเมืองและชนบท  ในชุมชนที่มีการรวมตัวและมีความพร้อมจะดำเนินการ  เช่น  มีความพร้อมเรื่องที่ดิน  มีการรวมตัวของชุมชนในการจัดตั้งสหกรณ์  โดย พอช.ไม่มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนโครงการและงบประมาณที่จะสนับสนุนชุมชน

6
ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนร่วมประกาศแนวทางการพัฒนา

ร่วมประกาศ “แนวทางการพัฒนาในพื้นที่กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้”

          ในตอนท้ายของการจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2556 ภาคใต้’ ที่ตำบลบางตาวา อ.หนองจิก  จ.ปัตตานี  ผู้เข้าร่วมงานและเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ได้ร่วมกันประกาศ “แนวทางและเป้าหมายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้”  มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า

“กระบวนการทำงานที่ผ่านมากับปัญหาความยากจนของครัวเรือนผู้เปราะบางทางสังคม จากข้อมูลของ พบว่า  พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ติด 1 ใน 10 ของจังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดความต้องการในการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตครัวเรือนเป็นสิ่งสำคัญ  โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย จึงจำเป็นต้องบูรณาการ การทำงานของหน่วยงาน ในการแก้ปัญหาความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ให้มีประสิทธิภาพ เกิดรูปธรรมการแก้ปัญหาดังกล่าว

            จากการเก็บข้อมูล พบว่า มีครัวเรือนที่เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้  จำนวน 14,321 ครัวเรือน  เข้าสู่กระบวนการทำงานแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย โดยชุมชนลุกขึ้นมาเป็นแกนหลักในการสำรวจข้อมูล/จัดทำแผนพัฒนาตนเองและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในการลงมือปฏิบัติการร่วมกัน โดยมีผลการดำเนินงานในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน จำนวน 34 โครงการ 4,407 ครัวเรือน นำไปสู่การสร้างทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมเข้มแข็งและสันติสุข เพื่อให้บรรลุ เจตนารมณ์ข้างต้น เครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน จึงมีข้อเสนอ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันในอนาคต ดังนี้

1.พวกเราเครือข่ายพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต กลุ่ม 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดน จะร่วมกันเชื่อมโยง ขบวนองค์กรชุมชน ทั้งในระดับชุมชน ตำบล จังหวัด และกลุ่มจังหวัด ในการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือกันตามแนวทางผู้เดือดร้อน ลุกขึ้นมาพัฒนาร่วมกัน

2.ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดกลไกการทำงานร่วมในทุกระดับ อาทิ คณะทำงานแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล  คณะทำงานการขับเคลื่อนนโยบายและแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระดับจังหวัด คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)จังหวัด และนำไปสู่การปฏิบัติการร่วมกัน ให้เกิดพื้นที่รูปธรรมการทำงานในทุกจังหวัดและพื้นที่ที่เป็นปัญหาของชุมชน

3.พวกเราจะร่วมกันพัฒนาแผนที่อยู่อาศัย ด้วยเครื่องมือแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิต ภายใต้นิยาม  “บ้านที่มากกว่าบ้าน” เช่น ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนชายฝั่ง ด้านเศรษฐกิจและกองทุนการเงินชุมชน การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก การสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ เป็นต้น ตลอดจนทำงานเชื่อมโยงและบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน

4.เราจะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนบทบาทคนรุ่นใหม่ และเครือข่ายสตรี ให้เป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิต โดยผ่านกลไกการทำงานของสภาเด็กและเยาวชน เครือข่ายสตรี สภาองค์กรชุมชนตำบล สวัสดิการชุมชนตำบล และเครือข่ายอื่นๆ ในพื้นที่ ตำบล จังหวัด

เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ เครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต กลุ่ม 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดน กับหน่วยงาน ทั้งสามจังหวัด  จะกลับไปดำเนินการพูดคุย พร้อมจัดทำบันทึกความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของพื้นที่ร่วมกันให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน และส่งต่อลูกหลานต่อไป”

8

‘20 ปี’ พอช.หนุนพัฒนาที่อยู่อาศัยภาคใต้แล้ว 24,522 ครัวเรือน

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มีภารกิจสำคัญประการหนึ่ง  คือสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  โดยยึดหลัก “ชุมชนที่เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา  พอช.และภาคีเครือข่ายร่วมสนับสนุน”  มีโครงการที่สำคัญ  คือ “โครงการบ้านมั่นคง”  เริ่มดำเนินการทั่วประเทศในปี 2546  นอกจากนี้ยังมีโครงการบ้านพอเพียง  โดยการสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่มีฐานะยากจน  สภาพบ้านทรุดโทรม  ให้เหมาะสมแก่การอยู่อาศัย  ฯลฯ

นายธนภณ เมืองเฉลิม ผู้อำนวยการ  สำนักงานภาคใต้ พอช. กล่าวว่า  นับตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน  เป็นเวลา 20 ปี   พอช.ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในภาคใต้ ครอบคลุม 14 จังหวัด จำนวน 98 เมือง 246 ชุมชน รวม 24,522 ครัวเรือน งบประมาณรวม 1,193  ล้านบาทเศษ โดยแบ่งเป็น 1.โครงการบ้านมั่นคงเมือง 80 เมือง 205 ชุมชน รวม 20,880 ครัวเรือน งบประมาณรวม 1,036 ล้านบาทเศษ

2.โครงการบ้านมั่นคงชนบท จำนวน 18 เมือง 41 ชุมชน รวม 3,642 ครัวเรือน งบประมาณ 156 ล้านบาทเศษ  3.โครงการบ้านพอเพียง (การซ่อมแซม ปรับปรุงบ้านเรือนผู้มีรายได้น้อยในชนบท) ดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 – 2566 จำนวนทั้งสิ้น 697 ตำบล รวม 24,694 ครัวเรือน งบประมาณรวม 476.89 ล้านบาท

9
นายธนภณ  เมืองเฉลิม  ผอ.สำนักงานภาคใต้ พอช.

“ส่วนของจังหวัดปัตตานี  พอช.ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบท โดยใช้กระบวนการสำรวจข้อมูลเป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของชาวบ้านและผู้เดือดร้อน สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการหาแนวทางแก้ไขปัญหาและนำเสนอข้อมูลชุมชน วิเคราะห์ประเด็นปัญหา การพัฒนาหมู่บ้าน  ตำบล  ท้องถิ่นของตัวเองร่วมกับผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น เป็นการสำรวจเพื่อทำแผนการพัฒนาที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของตนเอง” นายธนภณกล่าวถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาโดยชุมชนเป็นแกนหลัก

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2549 – 2562 พอช.ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตาม ‘โครงการบ้านมั่นคง’ ในจังหวัดปัตตานี      จำนวน 7 เมือง 18 ชุมชน มีผู้รับประโยชน์รวม 2,826 ครัวเรือน งบประมาณรวม 100 ล้านบาทเศษ และ’โครงการบ้านพอเพียง’ ดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 – 2566 ในพื้นที่ 59 ตำบล มีผู้รับประโยชน์รวม 2,113 ครัวเรือน  งบประมาณรวม 41 ล้านบาทเศษ และในปี 2566 สนับสนุนการซ่อมสร้างบ้าน จำนวน 52 ตำบล รวม 677 ครัวเรือน

ส่วนในปี 2567  พอช. มีแผนสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยในจังหวัดปัตตานีจำนวน 4 ตำบล  รวม  567 ครัวเรือน  ประกอบด้วย  ตำบลบางตาวา  อ.หนองจิก 100 ครัวเรือน,  ต.รูสะมิแล  อ.เมือง 87  ครัวเรือน,  ต.บานา อ.เมือง 276  ครัวเรือน  และ ต.ตันหยงลุโล๊ะ  อ.เมือง 104  ครัวเรือน

9
สภาพบ้านที่ตำบลบางตาวา อ.หนองจิก จ.ปัตตานีที่จะดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมต่อไป

เรื่องและภาพ  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ