30 มี.ค. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน Thai Lawyers for Human Rights เผยแพร่แถลงการณ์คัดค้านการบังคับใช้ มาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ลงนามโดย 8 องค์กรสิทธิมนุษยชน อาทิ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
แถลงการณ์ ระบุว่า การประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกโดยนำมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) มาบังคับใช้ แทน พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ไม่อาจถือเป็นการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา แต่จะยิ่งทำให้ประชาชนขาดหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมาตราดังกล่าวได้ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติเหนือฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ โดยให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว นั้นชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด อีกทั้ง ประเทศมีกฎหมายที่ให้อำนาจในการควบคุมดุแลความสงบเรียบร้อยอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎอัยการศึกหรือมาตรา 44
แถลงการณ์ดัง เรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ทบทวนการบังคับใช้มาตราดังกล่าว
“มาตราดังกล่าวนั้นขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักนิติรัฐ และขัดต่อพันธกรณีด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะนำมาซึ่งขาดการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ และอาจก่อให้เกิดการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ และส่งผลประชาชนขาดหลักประกันต่อสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรงยิ่งไปกว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึก และไม่อาจบรรลุเจตนารมณ์ตามที่ประชาคมโลกเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกได้” แถลงการณ์ระบุ
แถลงการณ์ มีรายละเอียดดังนี้
แถลงการณ์คัดค้านการบังคับใช้ มาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เผยแพร่วันที่ 30 มีนาคม 2558 ตามที่ปรากฏข่าวในวันที่ 27 มีนาคม 2558 ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังพิจารณานำมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาบังคับใช้แทนพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 นั้น องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อข้างท้ายนี้ขอแสดงความห่วงกังวลถึงแนวคิดดังกล่าวต่อไปนี้ 1.การเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกของหลายองค์กรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้เกิดการละเมิด เนื่องจากพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารอย่างกว้างขวางในการค้น การยึด การเกณฑ์ การห้าม การควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน ตามมาตรา 15 ทวิ และทำให้การพิจารณาคดีในศาลทหารไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตลอดมา 2.หากมีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกโดยนำมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) มาบังคับใช้ แทนพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 ก็ไม่อาจถือเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา แต่จะยิ่งทำให้ประชาชนขาดหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมาตราดังกล่าวได้ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติเหนือฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ โดยให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว นั้นชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด ซึ่งหมายความว่า การกระทำหรือคำสั่ง รวมถึงการปฏิบัติการตามคำสั่งดังกล่าวนั้นไม่อาจถูกตรวจสอบโดยองค์กรใดได้เลยแม้กระทั้งองค์กรตุลาการ อาจก่อให้เกิดการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากเกิดความเสียหายขึ้นจากการกระทำดังกล่าวประชาชนก็ไม่อาจได้รับการเยียวยา และไม่นำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด (Impunity) 3.โดยที่การยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น เป็นไปเพื่อคุ้มครองและปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และประเทศมีกฎหมายที่ให้อำนาจในการควบคุมดุแลความสงบเรียบร้อยอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎอัยการศึกหรือมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อข้างท้ายจึงขอเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทบทวนการบังคับใช้มาตราดังกล่าว เนื่องจากมาตราดังกล่าวนั้นขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักนิติรัฐ และขัดต่อพันธกรณีด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะนำมาซึ่งขาดการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ และอาจก่อให้เกิดการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ และส่งผลประชาชนขาดหลักประกันต่อสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรงยิ่งไปกว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึก และไม่อาจบรรลุเจตนารมณ์ตามที่ประชาคมโลกเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกได้ ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน |