13 มี.ค. 2558 เฟซบุ๊กเพจอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและ 1 ใน 4 นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ โพสต์ตั้งคำถาม 8 ข้อ ถึงพล.ร.ท.กฤษฎา เจริญพานิช รองเจ้ากรมพระธรรมนูญ หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร จากกรณีที่ พล.ร.ท.กฤษฎา ชี้แจงกรณี กลุ่มพลเมืองโต้กลับจะจัดกิจกรรม พลเมืองรุกเดิน เพื่อเรียกร้องในประเด็น การนำพลเรือนขึ้นศาลทหารว่า พลเรือนจะขึ้นศาลทหารเฉพาะ ในกรณีความผิดร้ายแรง ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557
ข้อความดังนี้
เรียนถาม พล.ร.ท.กฤษฎา เจริญพานิช รองเจ้ากรมพระธรรมนูญ หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร
1) ภายหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ท่านได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และยังคงดำรงตำแหน่งควบตำแหน่ง รองเจ้ากรมพระธรรมนูญ หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร จนถึงปัจจุบัน ใช่หรือไม่
2) ตุลาการศาลทหาร เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม มีผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช่หรือไม่
3) ตุลาการศาลทหาร ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาเนติบัณฑิต จบเพียง ป.ตรีด้านกฎหมาย และมีนายทหารประกอบด้วยโดยไม่ต้องจบกฎหมายก็ได้ ใช่หรือไม่
4) ศาลทหารไม่อนุญาตให้ใช้ตำแหน่งบุคคลค้ำประกันการปล่อยตัวชั่วคราว ในขณะที่ศาลพลเรือนทำได้ ใช่หรือไม่
5) ศาลทหารในภาวะประกาศกฎอัยการศึก มีเพียงศาลทหารชั้นต้นศาลเดียว ไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้แม้คดีจะมีโทษสูงเพียงใดก็ตาม แต่ศาลพลเรือนมีศาลอุทธรณ์-ฎีกา มีการพิจารณากลั่นกรองคำพิพากษา 3 ชั้นศาล ใช่หรือ
6) คดีเกี่ยวกับความมั่นคงที่อยู่ในศาลทหารตอนนี้ ส่วนใหญ่คือคดีที่ต่อต้านการรัฐประหารโดยคณะทหาร มีคู่กรณีคือทหารโดยตรง ใช่หรือไม่
7) กิจกรรม “เลือกตั้งที่ลัก” ซึ่งรำลึกการเลือกตั้ง มอบดอกไม้ให้เจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 14 ก.พ. เป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคง ต้องขึ้นศาลทหาร และมีโทษสูงสุด 1 ปี เป็นคดีที่มีความร้ายแรงมาก ใช่หรือไม่
8) คดีเกี่ยวกับความมั่นคง, คดี ม.112 และคดีขัดคำสั่งประกาศคณะรัฐประหาร (โทษ 1-2 ปี) ศาลพลเรือนไม่มีความสามารถเพียงพอในการพิจารณาใช่หรือไม่ ถึงต้องดึงคดีไปศาลทหาร
ช่วยตอบด้วยครับ
ทั้งนี้ มติชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค. พล.ร.ท.กฤษฎา เจริญพานิช รองเจ้ากรมพระธรรมนูญ หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร ชี้แจงกรณี กลุ่มพลเมืองโต้กลับ จะจัดกิจกรรม พลเมืองรุกเดิน โดยเป็นการเดินทางจาก อ.บางบัวทอง มายังพื้นที่ปทุมวัน ในระหว่างวันที่ 14 -16 มี.ค. ผ่านย่านชุมชนสายเส้นทาง เพื่อเรียกร้องในประเด็น การนำพลเรือนขึ้นศาลทหารว่า อยากทำความเข้าใจต่อประชาชน และ กลุ่มผู้ที่คิดจะจัดกิจกรรมว่าพลเรือนจะขึ้นศาลทหารเฉพาะ ในกรณีความผิดร้ายแรง ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ที่ระบุให้อำนาจพิจารณาและพิพากษาของศาลทหาร ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107-112 และมาตรา 113-118 โดยความผิดมาตรา 107-112 เป็นกรณีความผิดต่อสถาบัน และมาตรา 113-118 เกี่ยวกับความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร เช่น มาตรา 113 ล้มล้างเปลี่ยนแปลง แบ่งแยกราชอาณาจักร มาตรา 114 สะสมอาวุธสมคบกันเป็นกบฎ
“ผู้กระทำผิดในคดีร้ายแรงภายใต้กฎอัยการศึก ต้องขึ้นศาลทหารเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง อย่างไรก็ตาม กระบวนการยุติธรรมของศาลทหารกับศาลพลเรือน ไม่มีความแตกต่างกัน ขอให้ประชาชนเข้าใจและไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่ยั่วยุเพื่อหวังผลทางการเมือง” พล.ร.ท.กฤษฎา กล่าว