3G และดิจิตอล ทีวี ความก้าวไกลของเทคโนโลยี จุดเปลี่ยนของสังคมไทย
โดย..ดร.อธิป อัศวานันท์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และนวัตกรรม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 3G ที่มีสามารถรองรับการหลอมรวมสื่อในทุกด้านในการนำเสนอรายละเอียดข้อมูลข่าวสาร การติดต่อถึงกันที่รวดเร็ว ย่อมสามารถทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง และเป็นอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ดีกว่า เทคโนโลยีใช้สาย และเทคโนโลยีแบบเดิมทั้งหมด
และยิ่งมีการพัฒนาโทรศัพท์มือถือ Smartphones ในระดับราคาที่ลูกค้าเป็นเจ้าของได้ง่าย คนในสังคมสามารถก็ยิ่งเข้าถึงอินเตอร์เน็ต โดยใช้ Smartphones เป็นอุปกรณ์หลัก และ 3G เป็นโครงข่ายหลักเสมือนถนนที่นำพาความเจริญไปสู่ทั่วทุกภูมิภาค
การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งเพราะจะพลิกวิถีชีวิตของคนไทยแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
หากมองย้อนกลับไปประมาณ 2 ปีก่อน 3G จะเป็นเรื่องที่เป็นกระแสพอสมควรคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)ชุดที่แล้วมีความพยายามที่จะจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับ 3G แต่ถูกศาลปกครองระงับไปก่อน ปัจจุบัน มีหน่วยงานใหม่ที่เรียกว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ซึ่งมีภารกิจหลายเรื่องแต่ที่ได้รับความสนใจตอนนี้
เรื่องแรก คือ เรื่องของ 3G ที่ค้างมาจากสมัยที่แล้ว ส่วนเรื่องที่สองคือเรื่องของดิจิตอลทีวีที่ค่อนข้างจะได้รับความสนใจมากเพราะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายกว่าสำหรับคนส่วนใหญ่
มองในมุมของกฎหมายประเทศไทยนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540 มาไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ได้ เมื่อมีการจัดตั้งกสทช.ขึ้นมาก็สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้ บทบาทของกสทช.แบ่งเป็นฝั่งโทรคมนาคมกับฝั่งบรอดแคสต์ ฝั่งโทรคมนาคมหน้าที่แรกเลย คือการจัดสรรคลื่นความถี่ 2100 MHz เพื่อประมูลเป็น 3G ส่วนด้านของบรอดแคสต์ก็นำคลื่นความถี่ทั้งของเดิมและของใหม่มาจัดสรรเป็นดิจิตอลทีวี
อุปสรรคของ 3G คือคลื่นความถี่ 2100 MHz เป็นคลื่นใหม่ที่ดีที่สุด แต่ติดปัญหาทางกฎหมายทำให้ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ผู้ประกอบการในปัจจุบันจึงหาทางออกทางอื่น โดยการใช้คลื่นความถี่เดิมมาใช้ ดังกรณีของทรูที่ทำ 3G กับคลื่นความถี่ 850 MHz กรณีของดีแทคและเอไอเอสที่เริ่มทำ 3G ไปแล้ว
ถ้าจะถามว่า 3G มีประโยชน์ยังไง จุดแรก คือ ทำให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตง่ายมากขึ้น ดังนั้นจากตัวเลขเดิมที่มีผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตอยู่ประมาณ 20 กว่าเปอร์เซ็น อาจจะขยับขึ้นถึง 80% ของประเทศ ในขณะที่เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจากเดิมอยู่ที่ 2-5% ก็มีโอกาสขึ้นถึง 80%
ซึ่งหากดูจากตัวเลขแนวโน้มผู้ใช้ Smartphone จะพบว่าอีก 2 หรือ 3 ปีข้างหน้า ครึ่งหนึ่งของประชากรไทยจะสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือในรูปแบบของไอโฟนและแอนดรอยด์ได้
ความก้าวไกลของเทคโนโลยีกำลังจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งไม่เพียงแค่ 3G เท่านั้น ปลายปีนี้ทุกคนจะเห็นอีกปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กัน นั่นคือ การเปลี่ยนผ่านจากยุคอนาล็อกสู่ดิจิตอลทีวี ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนรอคอยมานานมาก
ข้อสังเกตจากงานสัมมนาในหัวข้อเกี่ยวกับบทบาทของกสทช.ในหลายเวทีได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า การหลอมรวมสื่อหรือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างโทรคมนาคมที่จะเป็น 3G หรือ กระทั่ง 4G กับดิจิตอลทีวี คนจำนวนหนึ่งจะตื่นเต้นกับดิจิตอลทีวี เพราะทุกบ้านมีทีวี และทีวีที่คนทุกรุ่นทุกวัยมีไว้เสพข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิงกำลังจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่มีอยู่แค่เพียง 6 ช่อง คือ 3,5,7,9,11 และ ThaiPBS เป็น 100 กว่าช่อง แถมยังเป็นฟรีทีวีไม่ต้องผ่านจานดาวเทียมหรือเคเบิ้ลทีวี ให้ผู้บริโภคได้เลือกดูกันได้แบบสบาย ๆโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือน
อุตสาหกรรมโทรทัศน์ของประเทศไทยที่เป็นที่รู้กันว่าใหญ่มาก เพราะมีลักษณะเป็น National TV มีรายได้รวมกันทั้งประเทศประมาณ 100,000-150,000 ล้านบาท เมื่อประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนจากระบบอนาลอกมาเป็นดิจิตอลทีวี รายได้ตรงนี้จะไม่กระจุกตัวอยู่แค่ทีวี 6 ช่องเหมือนในอดีตแต่จะกระจายไปสู่รายย่อย จะมีการปฎิรูปการใช้โทรทัศน์เพื่อการสื่อสาร การโฆษณา ในหลากหลายรูปแบบ มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร อุตสาหกรรม การศึกษา ก็สามารถมีช่องของตัวเองได้เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
เมื่อถึงจุดนั้น คนไทยในฐานะผู้บริโภคต้องปรับตัวอย่างไร ถ้าดูตัวอย่างของประเทศต่างๆ ผู้บริโภคที่จะรับชมดิจิตอลทีวีไม่ต้องเปลี่ยนทีวีแต่อาจจะต้องมี Set-top Box ส่วนเสาอากาศใช้ของเดิมได้ แต่สามารถรับชมรายการได้มากกว่า 100 ช่อง
สิ่งที่น่าจับตานอกจากการปรับตัวของฟรีทีวีเดิม 3,5,7,9,11 และ ThaiPBS แล้ว เคเบิ้ลทีวี ที่ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 200 กว่าช่องจะสร้างความแตกต่างอย่างไรกับดิจิตอลทีวีที่กำลังเกิดใหม่
จะเห็นว่าทั้งเทคโนโลยี 3G หรือแม้แต่ดิจิตอลทีวี ล้วนเป็นเรื่องใหม่ใกล้ตัวที่พวกเราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี คือโจทย์ที่เปลี่ยนไปขององค์กรธุรกิจ
ที่มา: คอลัมน์ คุยกับซีพี ปีที่ 2 ฉบับที่ 38 l ประจำวันที่ 9 เมษายน 2555