“เราต้องมีความเชื่อว่า อีสานคุ้นเคยกับความแล้ง” ยรรยงค์ อินทร์ม่วง

“เราต้องมีความเชื่อว่า อีสานคุ้นเคยกับความแล้ง” ยรรยงค์ อินทร์ม่วง

“…สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ อยากให้ตระหนักและให้เห็นความสำคัญ ว่าพวกเขาสามารถจัดการได้ ต้องเชื่อมั่นว่าพวกเขามีข้อมูล ความรู้ในเรื่องทรัพยากรของตนเองเป็นอย่างดี ดีกว่ารัฐบาลกลาง

ถ้ามีสิทธิแล้วก็ควรกำหนดหน้าที่ให้เขาด้วย ว่าเขาจะมีมีหน้าที่อะไร ถ้าเริ่มต้นตรงนั้น ควรจะมีกฎหมายน้ำ เป็นกฎหมายลูก เพื่อให้ชุมชนมีหน้าที่อะไรบ้าง การบริหารจัดการน้ำของตนเอง ซึ่งตัวนี้ถือเป็นโครงสร้างใหญ่ ที่จะแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน…”  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยรรยงค์ อินทร์ม่วง  คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงแนวทางในการแก้ปัญหาการจัดการน้ำ และวิกฤตภัยแล้งในภาคอีสานซึ่งควรให้ชุมชนเขามามีส่วนร่วม โดยหมายรวมถึงการมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม

20160603190625.jpg

“แล้ง”มีนิยามในทางวิชาการไหม?

ความแห้งแล้ง หรือ หลายคนเรียกว่าภัยแล้ง จะวิกฤตหรือไม่ อยู่ที่ว่าเรามองในมิติไหนบ้าง ในเงื่อนไขอะไร เงื่อนไขแรกคือเรื่องของภาคเกษตร ซึ่งภาคเกษตรนี้ถ้าเกิดว่าความต้องการน้ำขั้นต่ำภาคเกษตร เราบอกว่าในหลักการทางวิชาการนะครับ ก็ 1,000 คิวบิกเมตรต่อไร่ ถ้ามีปริมาณน้ำน้อยกว่านั้น ก็ถือว่าแล้ง

ภาคชุมชนคือโดยทั่วไปเราดื่มน้ำ วันละ 2 ลิตร ใช้น้ำอาบ ซักล้าง บริโภคในครัวเรือน ขั้นต่ำสุดคือ 70 ลิตรต่อคนต่อวัน ซึ่งถ้าเกิดว่าไม่มีน้ำเท่าจำนวนนี้ ก็ถือว่าน้ำเพื่อการบริโภคชุมชนเข้าขั้นวิกฤต และถือเป็นภัยแล้งชุมชน

ระดับน้ำในเขื่อน เท่าไรที่วิกฤต เท่าไรที่ยังใช้ได้?

เขื่อนโดยทั่วไปในภาคอีสานเป็นเขื่อนดิน ซึ่งก็มีโครงสร้างที่ใช้ดินเป็นฐานเขื่อนและมีน้ำหล่อเลี้ยง ทั่วไปขั้นต่ำต้องมีน้ำ 25% ซึ่งต้องหล่อเลี้ยงเขื่อนปล่อยออกไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยออกดินก็จะแห้งเขื่อนจะแตก ซึ่งหลักการเดียวกันกับที่เราเห็น ถนนขาด ถนนทรุดเพราะน้ำหายไป อันนี้เช่นเดียวกัน

เขื่อนแต่ละเขื่อนมีปริมาณการกักเก็บน้ำไม่เท่ากัน บางเขื่อนก็ 50% บางเขื่อนก็ 40% ทีนี้ก็ต้องมาดูว่าการใช้น้ำปริมาณที่เหลืออยู่ในฤดูแล้งมีใช้ได้แค่ 10% หรือ 15% หรือ 25% ตรงนี้มันจะพอไหม เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ตอนนี้มีประมาณ 50% ถ้าเราใช้ 25% สุดท้ายก็จะเหลืออยู่ 25% ทำให้มาถึงจุดวิกฤตว่าเขื่อนไม่สามารถปล่อยน้ำได้

น้ำในเขื่อนบางครั้งก็ไม่ได้เต็มที่ เพราะมันก็มีการไหลซึมรวมถึงมีการระเหยความร้อน ซึ่งก็คือว่าการบริหารน้ำที่มีต้นทุนจำกัด ซึ่งค่อนข้างที่จะลำบากต้องคิดไตร่ตรอง โดยเฉพาะภาคส่วนที่จะต้องใช้ ชุมชน ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

แนวทางการบริหารจัดการน้ำควรเป็นอย่างไร ?

ผมคิดว่าถ้าสังคมลองมองการบริหารจัดการน้ำ ถ้าเป็นสมัยก่อนเราจะมองว่าถ้าภัยแล้ง เราจะหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม การหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เราก็จะต้องสร้าง เขื่อน ฝาย สระ เก็บกักน้ำขึ้นมา อันนี้ถือเป็นสูตรสำเร็จ เป็นเรื่องของการที่มองการจ่ายน้ำ ภาษาวิชาการเรียกว่า supply side

แต่เราลืมมอง เรื่องของ demand side ลองประเมินว่า ความต้องการน้ำจริงๆ แต่ละส่วนมีเท่าไร แล้วก็ต้องอยู่ภายใต้ธรรมาภิบาลด้วย ถ้าเกิดเรามอง 2 อย่างพร้อมกันทั้ง supply side และ demand side เราก็จะพบว่าบางทีน้ำที่มีอยู่มันพอ ไม่ต้องไปสร้างอะไรเพิ่มก็ได้ เพียงแต่เราไม่ได้คำนวณการใช้น้ำที่เป็นจริงว่าเท่าไร แล้วถ้าเกิดภาคส่วนไหนใช้น้ำมาก อันนี้ก็ไม่เป็นธรรมกับภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งประเทศไทยยังขาดในจุดนี้

เราต้องมีความเชื่อว่า ความแล้งอยู่คู่กับอีสานมานานแล้ว อีสานคุ้นเคยกับความแล้งตลอดทุกปี ไม่ว่าจะแล้งมากแล้งน้อย ผมเข้าใจว่าประชาชนสามารถปรับตัวได้เรื่องความแล้งโดยเฉพาะชุมชน แต่บางทีก็จะมีปรากฎการณ์ธรรมชาติ เช่น เอลนีโญ่ ฝนมาช้ากว่าปกติ ฝนน้อยก็เกิดภัยแล้ง ทำให้ชาวบ้านมีการปรับตัวมากขึ้น ซึ่งการปรับตัวยังไม่มีการพูดถึง เราสนใจ supply side มากกว่าเรื่องนี้

ชุมชนบางแห่งมีการปรับตัวที่ดีมาก คือสามารถจัดการน้ำได้เอง ทั้งความรู้สึก ความคิด และการหาน้ำ โดยเฉพาะเรื่องการใช้น้ำใต้ดิน ผสมกับน้ำบนดิน ซึ่งชาวบ้านทำได้

ข้อจำกัดที่ยังไม่ถูกพูดถึงคือ เราน่าจะให้สิทธิในการจัดการน้ำของชุมชนพวกเขา ผมคิดว่าชุมชนปรับตัวได้ เขามีภูมิปัญญาในการจัดการ เราควรเชื่อมั่นในจุดนั้น แต่กฎหมายเรายังไม่ได้สนับสนุนในส่วนนั้น ทำให้ดูว่าสิทธินี้เป็นของรัฐบาล ส่วนนี้มันเลยขาดไป ทำให้ชาวบ้านไม่ช่วยเหลือตนเอง รอหวังจากรัฐจะให้ช่วย ว่าแล้งจริงไม่จริง

การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำต้องเริ่ม ?

ต้องเรียนถึง ท่านคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ อยากให้ตระหนักและให้เห็นความสำคัญ ว่าพวกเขาสามารถจัดการได้ ต้องเชื่อมั่นว่าพวกเขามีข้อมูล ความรู้ ในเรื่องทรัพยากรของตนเองเป็นอย่างดี ดีกว่ารัฐบาลกลาง

ถ้ามีสิทธิแล้วก็ควรกำหนดหน้าที่ให้เขาด้วย ว่าเขาจะมีมีหน้าที่อะไร ถ้าเริ่มต้นตรงนั้น ควรจะมีกฎหมายน้ำ เป็นกฎหมายลูก เพื่อให้ชุมชนมีหน้าที่อะไรบ้าง การบริหารจัดการน้ำของตนเอง ซึ่งตัวนี้ถือเป็นโครงสร้างใหญ่ ที่จะแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน

หลักปรัชญาในการแก้ปัญหาภัยแล้ง เราควรจะให้เป็นปัญหาของชุมชน ไม่ใช่เป็นปัญหาของภาครัฐ พูดง่ายๆ คือ ให้ชุมชนเป็นเจ้าของปัญหา ต้องมาเริ่มต้นจุดคิดตรงนี้ก่อน ถ้าเกิดเปลี่ยนจุดคิดตรงนี้ได้ ว่าใครเป็นเจ้าของปัญหา ก็จะเห็นวิธีการจัดการ ซึ่งการแก้ปัญหาของชุมชนในแต่ละแห่งก็จะแตกต่างกันไป ไม่มีสูตรสำเร็จ อย่างเช่นภาครัฐบอกว่าสูตรสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำคือการสร้างเขื่อน ฝาย แก้มลิง หรือสระน้ำ แต่ชุมชนเขาอาจไม่ได้คิดแบบนี้ก็ได้ ตรงนี้ต้องเปลี่ยนใหม่ ซึ่งมันน่าจะยั่งยืน

มีกรณีตัวอย่างของ ผู้นำชุมชนที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ทำนวัตกรรมใหม่ ที่เรียกว่าทำ “ผังน้ำชุมชน” เป็นการที่ลงทุนน้อยแค่ให้ชุมชนรู้จักระบบน้ำในชุมชน ว่ามีจุดน้ำมากน้ำน้อยตรงไหน แล้ววางแผนจัดการน้ำในชุมชน ทั้งน้ำบริโภค น้ำภาคการเกษตร ปรากฏว่าผังน้ำชุมชนช่วยแก้ไขปัญหาในชุมชนนั้นได้ และความคิดผังน้ำชุมชนไม่ได้อยู่ในระบบรัฐเลย

หลังจากนี้ เราจะมีวิธีการรับมือกรณีภัยแล้งอย่างไร

เมื่อรัฐธรรมนูญยังไม่เปลี่ยน เราก็ต้องใช้ พ.ร.บ.การบรรเทาสาธารณะภัยไปก่อน เพราะยังไม่มีอะไรแก้ได้อย่างจริงจัง แต่ถ้ามีชุมชนไหนมีการจัดการ เริ่มใหม่ คิดค้นขึ้นเอง นั่นคือกรณีตัวอย่างในการจัดการปัญหาน้ำแล้งอย่างยั่งยืน เช่น การใช้น้ำหลากหลาย น้ำบนดิน น้ำใต้ดิน การปรับเปลี่ยนพืชที่ปลูกใช้น้ำน้อย เปลี่ยนโครงสร้างการผลิต สร้างถังกักเก็บน้ำฝน เพื่อการบริโภคพอเพียง เป็นต้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ