หลังจากที่ชาวบ้านบะหว้า ต.บะหว้า อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ได้รวมกลุ่มเข้าร่วมปฏิบัติการโมเดลแก้จน “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” ภายใต้โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน โดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
โดยมี คุณประพงค์ ผายทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านกลาง (พี่เลี้ยง) ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ทักษะกระบวนการเพาะเห็ดนางฟ้า อนุเคราะห์สถานที่และเครื่องมือเทคโนโลยีในการผลิต พร้อมทั้งจับมือแต่ละกลุ่มปฏิบัติการจริงทีละขั้นตอน ได้แก่ ทักษะการอัดและผลิตก้อนเห็ด ทักษะการทำโรงเรือน และทักษะดูแลการบ่มก้อนเชื้อเห็ด
ในขณะเดียวกันระหว่างการอัดและผลิตก้อนเห็ดอยู่นั้น การเตรียมโรงเรือนเปิดดอกเห็ดนางฟ้า ก็ต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จทันเพื่อลำเลียงก้อนเห็ดมาบรรจุด้วยเช่นกัน ลักษณะโรงเรือนควรมีความสูงที่สามารถระบายอากาศได้ดี และไม่อับชื้นหรือร้อนเกินไป หลังคาควรใช้วัสดุที่ระบายความร้อนได้ดี มีอุณหภูมิในโรงเรือนประมาณ 23-32 อาศาฯ หรือถ้าคนเข้าไปอยู่ในโรงเรือนมีความรู้สึกว่าเย็นสบาย เห็ดนางฟ้าจะเกิดดอกเจริญเติบโตได้ดี
ด้าน นายจรูญ นาขะมิ้น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านบะหว้า กล่าวว่า หลังจากที่ศึกษาตัวอย่างโรงเรือนและได้คำแนะนำจากพี่เลี้ยง ให้สร้างโรงเรือนบรรจุก้อนเห็ดได้ 3,500 ก้อน มีขนาดประมาณ 3.6 เมตร X 8 เมตร โดยใช้วัสดุที่หาได้ในชุมชน มีสมาชิกนำมาช่วยเหลือกันตามกำลัง เช่น ไม้ไผ่ ไม้ยูคาลิปตัส ไม้เสา หญ้า ฟางข้าว เป็นต้น พร้อมทั้งเป็นกำลังแรงงานช่างมาช่วยกันทำโรงเรือน ในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนมีเป้าหมายสร้างทั้งหมด 3 หลัง
ส่วนนักวิจัยได้สังเกตเห็นชาวบ้านนำวัสดุฟางข้าวมาใช้เพื่อลดอุณหภูมิในโรงเรือน ถือเป็นชุมชนนวัตกรรมที่เกิดจากการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมโดยชุมชนมีส่วนร่วม หลังจากนี้นักวิจัยจะติดตั้งนวัตกรรมการจัดการน้ำในโรงเรือนเพื่อควบคุมความชื้นและอุณหภูมิ จะช่วยให้เห็ดมีอัตราการเกิดดอกมากยิ่งขึ้น
เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านจะนำฟางข้าวมามัดรวมกันทำเป็นหลังคาที่พัก (เถียงนา) ให้ความเย็นสบายในช่วงฤดูเกี่ยวข้าว จึงนำมาเป็นวัสดุทดแทนหญ้าคาซึ่งหายากและมีราคาสูง
นายจรูญ นาขมิ้น ผู้ใหญ่บ้าน
ทั้งนี้ “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” กลุ่มบ้านบะหว้า สมาชิกทุกคนมีทักษะการอัดและผลิตก้อนเห็ด ไปเป็นแรงงานผลิตก้อนเองทำให้มีต้นทุนการผลิตถูกลงเหลือก้อนละ 5 บาท ปัจจุบันมีเห็ดนางฟ้ากำลังบ่มเชื้อจำนวน 10,000 ก้อน คาดการณ์เห็ดจะเกิดดอกช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนประมาณ 140,000 บาทต่อรอบผลิต (4เดือน)
ที่มา : www.1poverty.com
เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnePoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
บทความที่เกี่ยวข้อง
นำร่องเครือข่ายกลุ่มเพาะเห็ด ขยายผลโมเดลแก้จน “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” – THECITIZEN.PLUS
“ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” โมเดลแก้จนเพาะเห็ดเกื้อกูลคนฐานราก จ.สกลนคร – THECITIZEN.PLUS