ภาพ : มูลนิธิสื่อสร้างสุข
“….ถ้าเกิดว่าคุณไม่เคยทำความเข้าใจในคำว่าแล้งของอีสาน มิติแล้งในอีสาน หน้าตาเป็นอย่างไร คุณก็จะไปยึดติดแล้งภาพแล้งของอีสาน คือ ต้องผืนดินแตก อดอยาก ดิ้นรน แต่แล้งในอีสานมันมีนัยยะสำคัญกับคนอีสาน เพื่อให้ผืนดินแม่ธรณีได้ตากแดดฆ่าเชื้อ และนั่นคืออีสาน มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้าคำว่าแล้งในอีสานต้องมีน้ำเต็มท้องนา มันไม่ถูก มันผิดฤดูกาลไปแล้ว แบบคุณกำลังฝืนฤดูกาล ฝืนธรรมชาติที่สร้างสรรค์ให้แต่ละภูมิภาคแตกต่างกัน….”
สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน เน้นย้ำความหมายคำว่า “แล้ง” อีกครั้ง ผ่านมุมมองลูกอีสานที่ทำงานเรื่องน้ำในพื้นที่
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานคืออะไร ?
เป็นเครือข่ายที่รวมตัวกันภายใต้ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน เกี่ยวกับประเด็นเรื่องน้ำเป็นหลัก เช่น พี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ โขง เลย ชี มูล และโครงการพัฒนาจากกรมชลประทาน เช่น แก่งละหว้า ห้วยเสือเต้น อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น รวมถึงพี่น้องจากหนองหาน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ซึ่งทั้งหมดคือเครือข่ายที่ทำกิจกรรมร่วมกันติดตามนโยบายที่จะได้รับผลกระทบตามพื้นที่ลุ่มน้ำ
“แล้ง” ในความหมายของคุณสิริศักดิ์เป็นอย่างไร
ถ้าเกิดว่าเราไปเปิดปฏิทินฤดูกาล อีสานจะมีฤดูกาลเป็นตัวกำหนดในการทำกิจกรรมต่างๆ “ดอกจานบานสะพรั่งหน้าแล้ง” ถ้าเราเข้าใจคำว่าแล้งของคนอีสาน แล้งในความหมายของคนอีสาน คือ แล้งเพราะฤดูกาล ฤดูกาลมันพาแล้งแค่นั้นเอง แต่คนอื่นเข้าใจผิด ว่าคนอีสานแล้ง แล้งจนไม่มีอะไรจะกิน ทำให้ต้องอพยพเข้าเมืองกรุงเพื่อหางานทำ จริงๆ ไม่ใช่นะ
ต้องมองว่าเมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง มันจะเป็นประเพณีวัฒนธรรมของชาวอีสาน หรือเป็นวิถีของเขา คือเขาต้องเข้าไปทำงานในเมือง พอหมดหน้าแล้งถึงฤดูการทำนา เขาก็จะออกจากในเมืองกรุงกลับมาทำนา ไม่ใช่ว่าเขาหนีความแล้งเพื่อไปหางานทำ จะบอกว่าอีสานแล้งซ้ำซาก มันก็ถูก เพราะอีสานมันแล้งแบบนี้เป็นปกติ คุณจะบอกว่าต้องมีการจัดการน้ำในหน้าแล้งเป็นไปไม่ได้ คุณจะมาฝืนธรรมชาติไม่ได้
ถ้าเกิดว่าคุณไม่เคยทำความเข้าใจในคำว่าแล้งของอีสาน มิติแล้งในอีสาน หน้าตาเป็นอย่างไร คุณก็จะไปยึดติดแล้งภาพแล้งของอีสาน คือ ต้องผืนดินแตก อดอยาก ดิ้นรน แต่แล้งในอีสานมันมีนัยยะสำคัญกับคนอีสาน เพื่อให้ผืนดินแม่ธรณีได้ตากแดดฆ่าเชื้อ และนั่นคืออีสาน มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้าคำว่าแล้งในอีสานต้องมีน้ำเต็มท้องนา มันไม่ถูก มันผิดฤดูกาลไปแล้ว แบบคุณกำลังฝืนฤดูกาล ฝืนธรรมชาติที่สร้างสรรค์ให้แต่ละภูมิภาคแตกต่างกัน
หากคุณเข้าใจแล้งของคนอีสาน ที่มีมิติความหมายที่หลากหลายซึ่งเชื่อมโยงระหว่าง คนกับธรรมชาติ คนกับคน และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ คนจะเข้าใจเองว่า นี่แหละ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสานที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
พื้นที่อีสานตอนกลางขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา และชัยภูมิ กำลังเผชิญปัญหา“แล้ง”
คือ 4 จังหวัดนี้เป็นพื้นที่ตอนกลางของแม่น้ำ ซึ่งลักษณะภูมิประเทศจะมีหินเป็นส่วนมาก โดยเราต้องเข้าใจว่าสภาพภูมิประเทศของทั้ง 4 จังหวัด กักเก็บน้ำได้ไม่เท่ากัน
และต้องเข้าใจว่าคำว่าแล้งของอีสาน คือ การเข้าฤดูแล้ง (ฤดูร้อน) ก็จะแล้งตามฤดูกาล โดยสภาพพื้นที่เป็นตัวกำหนด ว่ามันถึงแล้งแล้วนะ และคนในชุมชนก็จะมีการปรับตัวให้เข้ากับภาวะของหน้าแล้ง การปรับตัวก็อย่างเช่น การประกอบอาชีพอื่น ที่มันสอดคล้องกับฤดูกาล
ถ้าจะบอกว่า 4 จังหวัดนี้มันจะแล้ง ผมกลับมองว่า ถ้ามันเข้าสู่หน้าแล้ง มันก็ต้องแล้งอยู่แล้ว จะให้หน้าแล้งมีน้ำเต็มบ่อ เต็มหนอง เต็มแม่น้ำ มันก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะโดยทั่วไปอีสานจะมีฤดูกาลเป็นตัวกำหนด ฝน หนาว หรือ แล้ง
แล้วแล้งแบบไหน ? ที่คนอีสานจะต้องตระหนก ตกใจ
แล้งที่น่าตกใจคือ การไม่มีน้ำบริโภค อุปโภค เพราะการจัดการของคนในชุมชน ในเมื่อก่อนที่เมืองยังไม่มีการเติบโตขยายตัวเยอะ น้ำในการอุปโภค บริโภคในหน้าแล้ง ยังสามารถจัดการได้ อย่างเช่น การขุดบ่อบาดาล ซึ่งคนในชุมชนร่วมกันจัดการได้
แต่ปัจจุบันมีการขยายตัวเกิดขึ้น ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่าการบริหารจัดการน้ำบ่อบาดาลเป็นอย่างไร ถ้าไม่เพียงพอต่อการบริโภค อุปโภค นั่นแหละที่เราควรจะตกใจ แต่ถ้าจะมาบอกว่าอีสานแล้งเพราะไม่มีน้ำในการเกษตรไม่ใช่ เพราะหน้าแล้งอีสานไม่ทำเกษตร และปัจจุบันมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเข้ามา การใช้น้ำจึงมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไปแย่งการใช้น้ำของส่วนอุปโภค บริโภค การที่บอกว่าให้ประชาชนลดการใช้น้ำ 30 % ผมมองว่าไม่อยากให้ไปเบียดเบียนในจุดนั้น เพราะส่วนอุปโภค บริโภคมันถูกจัดสรรอย่างแน่นอนอยู่แล้ว และมันคนละส่วนกันกับด้านการเกษตร
ผมมองว่า อีสานแล้ง มันเป็นวาทกรรมที่เกี่ยวของกับการเมือง
ซึ่งมันได้หยิบยกมาพูดตั้งแต่ปี 2532 ที่ถูกตราหน้าว่า “อีสานแล้ง” ต้องมีการจัดการน้ำ โดยการเมืองเรื่องน้ำที่มาเกี่ยวข้องคือเรื่องนโยบาย ปี 2532 มีการพยายามผลักดันโครงการโขง เลย ชี มูล เข้ามา เพื่อบอกว่าอีสานมันแล้งต้องมีการจัดการน้ำเพื่อให้อีสานมันเขียวขจี โครงการโขง เลย ชี มูล ก็ได้รับการอนุมัติในปี 2536 โดยมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง
ประเด็นคือ โครงการนี้อาจไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ตรงจุด มิหนำซ้ำอาจจะมาทำร้ายชุมชนอื่นแทน คือว่าบอกจะแก้ไขปัญหาภัยแล้งพื้นที่นี้ แต่มันทำให้อีกพื้นที่น้ำท่วมแทน และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ยุคแรกๆจุดประสงค์ในการสร้างเขื่อนคือ หนึ่งเพื่อการเกษตร สองเพื่อการอุปโภค บริโภค และสามเพื่อชะลอการโยกย้ายแรงงาน
ฤดูแล้งปีนี้สำหรับภาคอีสาน สาหัสไหม?
ผมมองว่าแล้งสำหรับภาคอีสานปีนี้ ยังไม่สาหัส ไม่แล้งขนาดที่เป็นเรื่องรุนแรง ไม่แล้งขนาดที่ต้องกระพือข่าวให้มันเป็นประเด็น เพียงแค่เราวางแผนในการจัดการมันให้ดี มันก็ไม่น่าจะมีปัญหา เรื่องปัญหาน้ำในภัยแล้งเป็นปัญหาที่น่าจะต้องจัดการ แต่ผมเชื่อว่าชุมชนเขามีการบริหารจัดการที่ดีอยู่แล้ว เขารู้ว่าต้องใช้น้ำเท่าไรเพื่อความอยู่รอดในหน้าแล้ง
อีกประเด็น คือ ถ้าเราเข้าใจคำว่าแล้งของคนอีสาน เราก็ไม่ต้องมีการกำหนดนโยบายให้มีการบริหารจัดการน้ำแต่อย่างใด ผมมองว่าการเน้นย้ำเรื่องภัยแล้ง เป็นกุศโลบายที่จะนำโครงการพัฒนาดังกล่าวเข้ามา
มองวาทกรรมคำว่า “อีสานแล้ง” อย่างไร ?
ทุกปีจะมีวาทกรรมคำนี้ออกมา โดยทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด พอพูดเรื่องแล้งสื่อก็จะไปคิดถึงดินแตก ระแหง และจะไปถ่ายภาพดินแตกมาและชูว่าอีสานแล้ง ผมว่ามันไม่ถูก เพราะที่สื่อไปถ่ายไปถ่ายแค่เดียว คุณก็เข้าใจที่เดียว โดยไม่เคยเห็นภาพรวมของอีสาน วิถีชีวิตคนอีสานเป็นอย่างไร พอไม่รู้ก็นำเสนอแค่ว่าพออีสานแล้ง ต้องมีดินแตก ซึ่งมันแฝงนัยยะว่า มันต้องมีโครงการเกี่ยวกับน้ำมาช่วยเกษตรกรเพื่อให้อีสานเขียวขจี คือจะให้อีสานมาเขียวขจีในหน้าแล้งเป็นไปไม่ได้ คือ พอถึงหน้าแล้ง ฤดูกาลจะมีหน้าที่ของมันเอง คุณไม่จำเป็นต้องเอาน้ำมาเติมตลอด เขื่อนที่เข้ามาผมมองว่าไม่สำคัญเท่ากับ ดิน น้ำ ป่า คุณรักษาดินไว้ขนาดไหน รักษาน้ำไว้ขนาดไหน รักษาป่าไว้ได้ขนาดไหน อันนั้นผมว่ามันสำคัญกว่า