ซะกาตกับโซลาร์เซลล์
มัสยิดมีภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าคิดเป็นรายจ่ายหลักของมัสยิด ซึ่งมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000 บาทต่อเดือน ด้วยภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นทำให้โต๊ะอิหม่าม กรรมการมัสยิด เทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ และมูลนิธิภาคใต้สีเขียว จึงริเริ่มแนวคิดในการพัฒนากลไกที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาดอย่างเป็นธรรม
“ซะกาต” หรือ การบริจาคทาน เป็นหลักศรัทธาของศาสนาอิสลามที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและขยายการเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยมีการตั้ง “กองทุนซากาตแสงอาทิตย์” ซึ่งมีรายได้จากส่วนต่างค่าไฟฟ้าที่ลดลงจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มัสยิดดารุลมูญาฮีดีน จะถูกจัดเก็บเข้ามายังกองทุนซากาต แล้วนำเงินจากกองทุนไปใช้เพื่อการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับบุคคลที่มีสิทธิ์รับซากาตหรือผู้ยากจน ซึ่งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ที่ยากจนไปในตัว
จากแนวคิดถูกแปลงเป็นปฎิบัติการบนพื้นที่หลังคามัสยิดดารุลมูญาฮีดีน (มัสยิดร้อยไร่) ที่ได้รับการความอนุเคราะห์ทางเทคนิคและความรู้จากบริษัทเก็บตะวัน Save Sun Projects – ช่างโซลาร์เก็บตะวัน ช่วยจัดการให้พื้นที่มัสยิดพื้นที่กลางของชุมชนกลายเป็นพื้นที่ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ และเป็นพื้นที่ขยับขยายแนวคิดสู่ชุมชนและท้องถิ่นอื่น ๆ ที่สนใจ โดยเหตุที่เลือกมัสยิด ก็เพราะมัสยิดเป็นพื้นที่กลางของคนในชุมชน และมีสภาพคล่องทางการเงินอันเป็นผลมาจากแรงศรัทธาของพี่น้องในชุมชนเองที่บริจาคให้กับมัสยิด
ทำให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาดอย่างทั่วถึง
ไฟฟ้าเป็นพลังงานพื้นฐานที่ทุกคน ทุกครัวเรือนต้องการใช้เพื่อดำรงชีพ ถึงแม้เทรนในการใช้โซลาร์เซลล์จะเป็นกระแสนิยมในโลกยุคใหม่ แต่การเข้าถึงพลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์นั้นไม่ง่ายสำหรับชุมชน ต้นทุนในการเข้าถึงพลังงานดังกล่าวในปัจจุบันค่อนข้างมีราคาสูง ทำให้การเข้าถึงพลังงานโซลาร์เซลล์นั้นยังเป็นเรื่องห่างไกลสำหรับชุมชนและผู้มีรายได้ต่ำ
แนวคิดการสร้างกองทุนซากาตแสงอาทิตย์เพื่อขยายผลไปยังผู้คนในชุมชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเข้าถึงพลังงานสะอาด จึงเป็นการลดช่องว่างความเหลือมล้ำทางพลังงาน และทำให้พลังงานสะอาดเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งตรงกับแนวคิดในหลักการศาสนาอิสลาม ที่มุ่งเน้นการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้วยระบบซะกาต
มัสยิดดารุลมูญาฮีดีน เริ่มต้นติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อลดค่าไฟฟ้า เติมเงินลงกองทุนซากาตแสงอาทิตย์ที่ทุกภาคส่วนเป็นเจ้าของ การเริ่มต้นนี้ทำให้เกิดความเชื่อมั่นจากประชาชนว่าพลังงานแสงอาทิตย์พวกเขาเข้าถึงได้ และลดค่าใช้จ่ายลงไปได้ เพียงสองเดือนค่าไฟฟ้าลดลงไปครึ่งหนึ่ง ทำให้เกิดความมั่นใจในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์
ผ่านไป 1 เดือนหลังการติดตั้งโซลาร์เซลล์ พบว่าค่าไฟฟ้าลดลงกว่า 2,500 บาท สำหรับมัสยิดดารุลมูญาฮีดีนมีค่าเฉลี่ยการจ่ายค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนอยู่ที่เดือนละ 6,000 บาท ค่าไฟฟ้าของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ 6,085 บาท และภายหลังการเปิดระบบซึ่งมีความพร้อมอยู่ที่ 70% ของศักยภาพในการผลิตและเก็บไฟเข้าระบบ 100% ผลปรากฏว่าค่าไฟเดือนสิงหาคมลดลงเหลือเพียง 3,564 บาท
ในส่วนต่างที่ประหยัดไป 2,500 บาท จะถูกหักเข้ากองทุนซะกาตแสงอาทิตย์ 80% คิดเป็นเงิน 2,000 บาท และอีก 20% ที่เหลือคิดเป็นเงิน 500 บาท ถือเป็นรายได้ของมัสยิด ทุก ๆ เดือนหลังจากนี้ไปจนกระทั่งสิ้นสุดอายุไขของ Solar cell ซึ่งมีอายุการใช้งานเฉลี่ยโดยประมาณ 25 ปี จะมีเงินส่วนต่างค่าประหยัดพลังงานเติมเข้ากองทุนซะกาตอาทิตย์ในทุก ๆ เดือน
เทศบาลเมืองปาดังเบซาร์มีมัสยิดกว่า 10 แห่ง มัสยิดดารุลมูญาฮีดีนแห่งนี้และกลไกที่ออกแบบไว้กับชุมชนภายใต้กองทุนซากกาตแสงอาทิตย์ เป็นเสมือนรถไฟฟ้าที่กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า และเราเชื่อว่า มีอีกหลายคน หลายมัสยิดที่อยากร่วมขบวนรถไฟนี้ไปพร้อมกัน เพื่อทำให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานที่เป็นธรรม
เป้าหมายในระยะยาวคือ ขยายการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปสู่ภาคครัวเรือนในพื้นที่เทศบาลเมืองให้ครอบคลุมได้มากที่สุด จนเกิดเป็นคอมมูนิตี้พลังงานสะอาดที่ท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองและจัดการเองได้ เพื่อความเป็นอิสระทางพลังงานไฟฟ้าในที่สุด
เรื่องและภาพโดย : มูลนิธิภาคใต้สีเขียว
บรรณาธิการโดย : แลต๊ะแลใต้