เมียนมาลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศแล้ว พรรคการเมืองไทยใหญ่หาเสียงคึกคัก ขณะที่ชาวไทยใหญ่ในไทยส่วนหนึ่งจุดเทียนไว้อาลัยการสู้รบที่ยังมีอยู่และออกแถลงการณ์ถ้ารัฐบาลพม่าต้องการสันติภาพ ต้องยุติการรุกคืบด้านทหารในเขตหยุดยิงรัฐฉาน
วันนี้ 15 ตุลาคม 2558 ที่กรุงเนปิดอ ประเทศเมียนมา มีการประกอบพิธีลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศระหว่างรัฐบาลเมียนมากับ 8 กลุ่มชาติพันธุ์ อย่างเป็นทางการขึ้น โดยนักข่าวพลเมืองแกวเกอลู ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวอิสระชาวกะเหรี่ยงรายงานว่า พิธีลงนามเริ่มในเวลา 09.00น.ด้วยคำกล่าวจากประธานาธิบดีเมียนมา ต่อด้วยคำกล่าวของ Mu Tu Say poe ผู้นำ KNU ตัวแทน 8 กลุ่มชาติพันธุ์ จากนั้นเป็นการลงนามจากตัวแทนทั้ง 8 กลุ่มและถ่ายภาพร่วมกัน ทั้งนี้ตัวแทนกลุ่มที่ร่วมลงนามประกอบด้วยประกอบด้วยตัวแทนของ 1.KNU สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง 2.DKBA กะเหรี่ยงผู้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อประชาธิปไตย 3.KNLAPC สภาสันติภาพกองทัพปลดปล่อยชนชาติกะเหรี่ยง 4.RCSS กองทัพรัฐฉาน 5.CNF กองกำลังชาติพันธุ์ชิน 6.PNLO องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ 7.ALP พรรคปลดปล่อยอาระกัน 8.ABSDF แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า
หลังพิธีลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ ภาพโดยนักข่าวพลเมืองฉาน
การลงนามครั้งนี้ เป็นการประกอบพิธีอย่างเป็นทางการ หลังความขัดแย้งและต่อสู้กันทางการเมืองและการทหารมาอย่างยาวนานในประเทศพม่า และเริ่มมีการเจรจราเพื่อยุติการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยหลายชาติพันธุ์มากว่า 2 ปี อย่างไรก็ตามยังคงเป็นการลงนามโดยตัวแทนกองกำลังกลุ่มชาติพันธ์เพียง 8 กลุ่มและยังมีกองกำลังและกลุ่มชาติพันธ์อีกหลายกลุ่มปฏิเสธที่จะลงนามข้อตกลง และยังคงมีการสู้รบในหลายพื้นที่
นักข่าวพลเมืองฉาน ซึ่งเป็นชาวไทยใหญ่ รายงานจากเมืองบั่นในเขตรัฐฉานทางตอนใต้ว่า ประชาชนกลุ่มเมืองบั่น และพรรค SNDP พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ จัดพิธีสนับสนุนการลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ ที่รัฐบาลเมียนมาจัดอย่างเป็นทางการที่กรุงเนปิดอในวันนี้ โดยเมืองบั่นเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามมายาวนาน พวกเขาสนับสนุนการลงนามครั้งนี้ ขณะที่บรรยากาศทางตอนเหนือของรัฐฉาน พรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่งของไทใหญ่ คือพรรคSNLD หรือพรรคหัวเสือมีการรณรงค์หาเสียงทางตอนเหนือของรัฐฉานด้วย โดยการเลือกตั้งในประเทศเมียนมากำหนดจะมีขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคม นี้
บรรยากาศที่เมืองปั่น รัฐฉานตอนใต้ ที่ประชาชนหนุนการลงนามข้อตกลงหยุดยิง
คือพรรคSNLD หรือพรรคหัวเสือมีการรณรงค์หาเสียงทางตอนเหนือของรัฐฉาน ภาพโดยนักข่าวพลเมืองฉาน
อย่างไรก็ตาม ขณะที่พิธีลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศระหว่างรัฐบาลเมียนมากับ 8 กลุ่มชาติพันธ์ดำเนินไป องค์กรชุมชนรัฐฉานได้ออกแถลงการณ์ ถึงความกังวลใจ กรณีที่ยังมีการปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลทหารพม่าอยู่ในเขตหยุดยิงรัฐฉานทั้งสี่เมืองตอนกลางของรัฐ ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 1,500 คน ต้องอพยพออกจากที่อยู่
แถลงการณ์จากองค์กรชุมชนรัฐฉาน ระบุว่า ถ้ารัฐบาลพม่าต้องการสันติภาพ พวกเขาต้องยุติปฏิบัติการรุกคืบด้านทหารในเขตหยุดยิงรัฐฉาน โดยให้รายละเอียดว่า ในวันที่ 6 ตุลาคม 2558 กองทัพพม่าเปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่ในพื้นที่ของพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (Shan State Progress Party)/กองทัพรัฐฉาน (Shan State Army) (SSPP/SSA) เขตเมืองสู้และเมืองนอง มีการส่งทหาร 10 กองพันเข้า ไปสู้รบอย่างหนักหน่วง ส่งผลให้ราษฎรกว่า 2,500 ได้รับผลกระทย
ในวันที่ 11 ตุลาคม 2558 กองทัพพม่าเริ่มยิงปืนใหญ่ถล่มกองบัญชาการของกลุ่ม SSPP/SSA ที่บ้านไฮ เขตเมือง เกซี ทำให้เกิดภัยคุกคามต่อพลเรือนนับพัน ๆ คน ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ยังมีการระดมกำลังทหารในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยนาย การโจมตีเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ ปฏิบัติการทางทหารอย่างเป็นระบบในช่วงหลายปี ที่ผ่านมาของรัฐบาลพม่า ทั้งนี้เพื่อยึดครองพื้นที่ของกลุ่ม SSPP/SSA นับเป็นการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงที่มีผลบังคับใช้อยู่และมีการลงนามตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 การเปิดฉากโจมตีครั้งใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานก่อนจะมีการลงนามความตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement – NCA) แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพม่าไม่สนใจการเจรจาทางการเมือง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง และยังคงเดินหน้าตามยุทธศาสตร์เหมือนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยใช้กำลังยึดและปกครองดินแดนของกลุ่มชาติพันธุ์กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ความตกลงหยุดยิงทั่วประเทศที่ยังไม่ได้ข้อสรุปเป็นเพียงยุทธิวิธีแบ่งแยกและปกครอง มีการยอมสงบศึกกับกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่ม แต่เร่งเดินหน้าปราบปรามอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะไม่ช่วยให้เกิดสันติภาพ
ดังนั้นถ้าประชาคมนานาชาติต้องการให้เกิดสันติภาพอย่างแท้จริงในพม่า ต้องมีการประณามอย่าง เร่งด่วนต่อปฏิบัติการโจมตีครั้งใหม่นี้ และกดดันให้รัฐบาลพม่ายุติการรุกคืบเข้าไปในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ และให้ถอนทหาร ออกจากบริเวณนั้นให้หมด องค์กรชุมชนรัฐฉานกระตุ้นแหล่งทุนระหว่างประเทศ ให้จัดให้มีความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนกับ ผู้ที่ต้องอพยพหลบหนีในตอนกลางของรัฐฉาน โดยเป็นการจัดสรรความช่วยเหลือผ่านองค์กรที่ตั้งอยู่ในชุมชนต่าง ๆ
อ่านรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง https://thecitizen.plus/node/6882
ประชาชนไทใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ ภาพโดยนักข่าวพลเมืองฉาน
เย็นวันนี้ที่วัดกู่เต้า จ.เชียงใหม่ มีการเชิญชวนชาวไทใหญ่และผู้สนใจร่วมจุดเทียนไว้อาลัยผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากการโจมตีของกองทัพพม่า