การเดินทางในแต่ละครั้ง ในบางครั้งความรู้สึกประทับใจก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิวที่เราได้เห็นตรงหน้า แต่ความประทับใจอาจจะเกิดขึ้นได้กับประสบการณ์ที่เราได้พบเจอ
“เที่ยวศรีดอนชัย เหมือนได้ไปสิบสองปันนา”
ชุมชนบ้านศรีดอนชัย ของวัดท่าข้ามศรีดอนชัย ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย คนในเป็นชุมชนส่วนใหญ่ชาวไทลื้อที่อพยพมาจากสิบสองปันนา และเป็นชุมชนไทลื้อที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดเชียงราย มีความเป็นเอกลักษณ์หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นภาษาไทลื้อ ที่ใช้สื่อสารกัน การแต่งกายด้วยผ้าทอไทลื้อที่ทอเอง มีความประณีตสวยงาม อีกทั้งยังมีการละเล่น ความเชื่อ และพิธีกรรม ที่แตกต่างกับที่อื่น เช่น พิธีกำบ่อ พิธีสืบชะตา เป็นต้น นอกจากนี้ชุมชนยังมีเสน่ห์วิถีชีวิตพึ่งพาแม่น้ำอิง สายน้ำแห่งวัฒนธรรม
ประเพณีมหาบุญจุลกฐินถิ่นไทลื้อวัดท่าข้ามศรีดอนชัย Soft Power หนึ่ง ของพี่น้องชาวไทลื้อที่รวบรวมประเพณีวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคม เป็นอีกภูมิปัญญาหนึ่งของชาวไทลื้อที่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเป็นอุดมคติ ที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ที่อยู่คู่วัฒนธรรมแบบชาวพุทธล้านนาไทลื้อมาช้านานที่หล่อหลอมเข้ากับ ประเพณี ความเชื่อ ความศรัทธาดั้งเดิม ของชาวไทลื้อได้อย่างกลมกลืน ทำให้พิธีกรรมตามประเพณีต่าง ๆ มีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของชาวพุทธในดินแดนล้านนาไปแล้ว
อีกทั้งเป็นงานที่รวบรวมเอาองค์ความรู้ต่างๆภายในชุมชนไทลื้อศรีดอนชัย ทั้ง 4 หมู่บ้าน ด้วยการมีส่วนร่วม และความสมัครสมานสามัคคี ด้วยโมเดล 4 สืบ คือ สืบสานประเพณี สืบศรีสมัย สืบพระธรรมวินัย สืบสายสัมพันธ์
การจัดงานขึ้นในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาชมวิถีชาวพุทธแบบไทลื้อส่งผลและยังทำให้ตัวอำเภอเชียงของคักคึกจากนักท่องเที่ยว นำคนต่างจังหวัดมาพบกับประเพณี วัฒนธรรม ผู้คนที่ความน่ารักของชาวเชียงของ และยังเป็นการสืบสานให้สืบทอดระเบียบประเพณีอย่างถูกต้องจากรุ่นสู่รุ่นสืบไป
ขบวนเก็บดอกฝ้ายถวายพระ
ขั้นตอนกระบวนการผลิตผ้าจุลกฐิน
การแสดงชนเผ่าพื้นเมือง 13 เผ่า
พิธีถวายผ้าจุลกฐินก่อนรุ่งอรุณ
ชวนไปสัมผัสประสบการณ์ สัมผัสของวิถีชาวไทยลื้อในประเพณีมหาบุญจุลกฐินถิ่นไทลื้อ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้ในวันที่ 24-26 พฤศจิกายน 2566 นี้
ขอบคุณรูปภาพจากเฟซบุ๊ค : มหาบุญจุลกฐินถิ่นไทลื้อ ศรีดอนชัย
ปักหมุด C-site โดย : ชาญนรงค์ วรรณสอน เรียบเรียงโดย : อักษรสิริ ต้อยปาน