“เมื่อก่อน เราจะเห็นมันเยอะมาก เยอะขนาดที่ว่า
เวลาเดินลงไปในลำตะคอง พวกมันจะหนีกระเจิง
บางตัวยังวิ่งมาชนขาเราเลยนะ
มีเป็นร้อยๆ ริมสองฝั่งคลองเต็มไปหมด”
ภาพในความทรงจำเมื่อ 30 ปีก่อน ของชายชราวัย 75 ปี
คุณลุงวิชชุ ชุปวา ผู้หลงใหลในเสน่ห์ของกิ้งก่ายักษ์แห่งลำตะคอง นามว่า “ตะกอง”
ภาพในวันวานคือความประทับตรึงใจ กลายมาเป็นความผูกพันที่ลุงวิชชุมีต่อเจ้าตะกองเหล่านั้น
และอยากเห็นพวกมันมีชีวิตอยู่คู่กับลำน้ำแห่งนี้ต่อไป
นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักอนุรักษ์
เป็นแรงผลักที่ทำให้ลุงวิชชุลุกขึ้นมาศึกษาเพื่อทำความรู้จักพวกมันอย่างจริงจัง
ปัจจุบันตะกองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
เป็นสัตว์ประจำถิ่นของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยเฉพาะตามสองฝั่งของลำน้ำลำตะคอง
ซึ่งในปัจจุบันนับว่าเป็นสัตว์ป่าที่พบเห็นได้น้อย แต่ก็ยังมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น
ที่เคยมีข้อมูลการพบเห็นตะกอง เช่นในบางพื้นที่ทางภาคตะวันออก
ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าตะกองที่ลำตะคองอาจเป็นตะกองกลุ่มสุดท้ายที่เรายังพอพบเห็นได้
เพราะจำนวนประชากรของพวกมันลดลงมากอย่างน่าใจหาย
อนาคตของพวกมันจะเป็นอย่างไร คงไม่ใช่เรื่องยากเกินคาดเดา
สิ่งที่ยากคือจะทำอย่างไรให้พวกมันยังคงอยู่และสืบต่อเผ่าพันธุ์ต่อไปได้
นี่จึงเป็นทั้งโจทย์และเป็นเป้าหมายในการเป็นนักอนุรักษ์ของลุงวิชชุ
“อำเภอปากช่องนี่นะ มันเป็นพื้นที่อนุรักษ์มีกลุ่มอนุรักษ์ที่หลากหลาย รักป่าเขาใหญ่ รักช้าง รักกระทิง รักนกเงือก รักโน่นนี่เยอะมาก แต่ไม่มีใครรักตะกอง งั้นเราก็รักษ์ตะกองเลยละกัน ซึ่งตะกองเนี่ยมันเป็นสัตว์ที่เป็นเอกลักษณ์ของลำตะคอง หรือเรียกเป็นเอกลักษณ์ของปากช่องเลยก็ว่าได้ แต่กลับไม่ค่อยมีคนรู้จัก บางทีคนปากช่องเองยังไม่ค่อยจะรู้จักเลย อีกอย่างหนึ่งคือชื่อของลำตะคองก็มาจากตัวตะกองนี่แหละ เป็นลำน้ำที่มีตะกองมากจึงเรียกว่าลำตะกอง ทีนี้ผมก็ไปถามครูภาษาไทยว่ามันเพี้ยนมาได้ยังไง เขาก็อธิบายว่า คำว่า “กอง” มันออกเสียงยาก แต่คำว่า “คอง” มันออกมาจากลำคอเลย มันออกเสียงง่ายกว่า ลำตะกอง ก็เลยเพี้ยนมาเป็น ลำตะคอง บางคนว่ามันมาจากชื่อต้นหนามตะคอง แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะหนามตะคองพบได้ทั่วไป แต่ตะกองน่ะ พบได้เฉพาะริมลำน้ำนี้เท่านั้น มันเป็นของที่นี่โดยเฉพาะเลย”
ไปรู้จัก…ก้าวแรกของงานอนุรักษ์แบบบ้านๆ
จากอดีตที่เคยมีอยู่มากมาย วันเวลาผ่านไปการจะได้พบเห็นตะกองนั้นกลับยากขึ้นเรื่อยๆ
พวกมันหายไปพร้อมกับนิเวศริมฝั่งคลองที่เปลี่ยนแปลง จากที่เคยมีสภาพเป็นป่า
เหมาะแก่การอยู่อาศัยของสัตว์เล็กสัตว์น้อยต่าง ๆ แปรสภาพเป็นที่โล่งเตียนสำหรับชมวิวริมน้ำ
ไว้พักผ่อนหย่อนใจของรีสอร์ท ร้านอาหารและบ้านเรือนของผู้คน
ต้นไม้ พงหญ้า ถูกแทนที่ด้วยซีเมนต์บ้าง ก้อนหินขนาดใหญ่บ้าง
พืชต่างถิ่นรุกรานมาแทนที่สัตว์ท้องถิ่นอย่างตะกอง
ปรับภูมิทัศน์ริมฝั่งน้ำเพื่อความเป็นระเบียบสวยงาม ทว่าเป็นความงามที่ไร้ชีวิต
ความสงสัยใคร่รู้ว่าพวกมันหายไปไหน ยังอยู่ดีหรือไม่ หลงเหลืออยู่กี่มากน้อย
ทำให้ลุงวิชชุตัดสินใจออกเดินทางสำรวจประชากรของพวกมัน ตั้งแต่ต้นน้ำในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ไปจนถึงปลายสุดของลำน้ำ ระยะทางกว่า 120 กิโลเมตร
ในระยะแรกของการสำรวจ ลุงวิชชุใช้วิธีการเดินเท้าลัดเลาะไปตามลำน้ำ
โดยไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องเดินได้วันละกี่กิโลหรือต้องสำรวจให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด
คือได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ตามที่กำลังกายไหว
และไม่จำเป็นว่าจะต้องเดินต่อเนื่องไร่เรียงแต่ต้นถึงปลาย สะดวกเดินช่วงไหนก็ตามนั้น
แล้วค่อยลงบันทึกว่าจุดไหนที่สำรวจแล้วยังเหลือจุดไหนที่ยังไม่ได้สำรวจ
ลุงวิชชุให้เหตุผลว่ามันเป็นการสำรวจเพราะความอยากรู้ส่วนตัว ใช้เวลาส่วนตัว ใช้งบส่วนตัว
จึงไม่ได้ทำเป็นแบบแผนขั้นตอนเหมือนงานวิชาการและไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียด
อีกอย่างหนึ่งก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกาย ได้ผ่อนคลายจากการเที่ยวชมธรรมชาติอีกด้วย
จากการสำรวจตลอดทั้งลำน้ำ ได้พบเจอตะกองนับพันตัว
แต่จะมีเพียงช่วงเดียวที่ตะกองอาศัยอยู่หนาแน่น ในระยะทางไม่กี่กิโลเมตรพบตะกองมากถึง 30 ตัว
คือจากวัดแก่งกลางดงมาถึงวัดป่าอำนวยผลและพบว่าปัจจัยสำคัญก็คือนิเวศริมฝั่งคลอง
ที่ยังมีความเป็นป่าดั้งเดิมและน้ำที่ยังใสสะอาดอยู่นั่นเอง
ส่งไม้ต่อให้คนรุ่นหลัง ความยั่งยืนของงานอนุรักษ์
แม้ว่าการสำรวจตะกองของลุงวิชชุจะทำอย่างเงียบๆ เพียงลำพัง
แต่การเดินเท้าทำให้ลุงได้มีโอกาสสอบถามพูดคุยกับผู้คนจำนวนมาก
เรื่องราวของตะกองได้ถูกหยิบยกขึ้นมาสนทนา ตะกองที่กำลังจะเลือนหาย จึงค่อยๆ ปรากฏชัดเจนขึ้น
เป็นแรงสั่นสะเทือนเล็กๆ ที่กระตุ้นให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจตะกอง
พร้อมกันนั้นเรื่องราวการเดินเท้าตามหาตะกองของลุงวิชชุก็แพร่กระจายออกไปสู่การรับรู้ของผู้คนเช่นเดียวกัน
ทำให้มีคนสนใจเข้ามาเป็นแนวร่วมสำรวจและเรียนรู้ไปพร้อมกับลุง อาทิกลุ่มโคราชคายัคคลับ
ที่นำเรือคายัคมาร่วม ทำให้การสำรวจทำได้สะดวกมากขึ้น
กลุ่มเยาวชนและนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ที่เข้ามาร่วมเรียนรู้และทำกิจกรรมอนุรักษ์ลำน้ำ เป็นต้น
"มันเป็นสัตว์สายพันธุ์ดึกดำบรรพ์ที่ยังมีชีวิตยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน มันก็น่าเสียดายว่าจะต้องมาสูญพันธุ์ในยุคของเรา ตะกองมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Physignathus cocincinus ชื่อมันถูกเรียกเหมือนกับไดโนเสาร์ เล่าให้เด็กๆ ฟัง เด็กเขาก็บอกว่า อ้าว...มันก็เป็นไดโนเสาร์ที่น่ารักน่ะสิ ก็พากันเรียกว่าไดโนเสาร์มีชีวิต พอเป็นอย่างนี้เด็กๆ ก็สนุก ก็ชวนเพื่อนมา แล้วเขาก็เรียกผมว่าลุงตะกองทีนี้คนอื่นก็เรียกตาม ผมก็เลยกลายเป็นลุงตะกองตั้งแต่นั้น”
เมื่อตะกองไร้บ้าน ไร้อาหาร
หลายปีของการสำรวจ สิ่งที่ลุงวิชชุได้พบคือความเปลี่ยนแปลงไปของลำน้ำ
ช่วงที่ลำน้ำยังบริสุทธิ์ น้ำใสสะอาดมีต้นไม้มีป่าริมตลิ่ง ก็จะมีโอกาสพบเห็นตะกองได้มากกว่า
พื้นที่ป่าริมตลิ่งนั้นนับว่ามีความสำคัญมากสำหรับตะกอง
เพราะพวกมันจะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ใกล้น้ำเท่านั้นหรือห่างจากน้ำไม่เกิน 10-15 เมตร
เนื่องด้วยพวกมันจัดเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
ในน้ำพวกมันสามารถดำน้ำจับกุ้งปลาตัวเล็กๆ เป็นอาหาร ส่วนบนบกพวกมันกินแมลงตัวเล็กๆ
ซึ่งโดยมากพวกมันมักจะเกาะนิ่งๆ อยู่บนต้นไม้เป็นหลัก เมื่อภัยมาก็กระโดดหนีลงน้ำ
เป็นวิธีการเอาตัวรอดอย่างฉับไวนั่นเอง
ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการมีป่าริมตลิ่งก็คือตะกองจะใช้พื้นที่ที่มีหาดทรายในการวางไข่
ซึ่งพวกมันจะวางไข่ปีละครั้งเท่านั้น
การหายไปของป่าริมตลิ่ง จึงหมายถึงการหายไปของถิ่นอาศัย แหล่งอาหารและแหล่งวางไข่ของตะกอง
ไร้บ้านไร้อาหาร ก็ย่อมเป็นเรื่องยากยิ่งที่พวกมันจะดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้
ยิ่งไปกว่านั้นพวกมันอาจสูญหายไปในเวลาอันใกล้
หากทุกคนยังนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ที่กำลังเป็นไปอยู่ในปัจจุบัน
สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานอนุรักษ์เกิดความยั่งยืน นอกเหนือไปจากการทำกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็คือการส่งต่อปณิธานและความรู้ ให้เรื่องราวของตะกองเข้าไปอยู่ในการรับรู้ของผู้คน เพราะหากเกิดแนวร่วม มีพลังของคนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อก็พอจะวาดหวังได้ว่าตะกองจะยังคงอยู่กับลำตะคองต่อไป
“ใครมาสอบถาม มาขอข้อมูลอะไรเกี่ยวกับตะกอง ผมยินดี ผมให้หมด ไม่หวง
ถ้าคนได้รู้จักตะกองมากก็เป็นเรื่องที่ดี เขาก็อาจจะมาช่วยกันอนุรักษ์ ผมคิดอย่างนั้นนะ
อย่างเด็กๆ เยาวชนที่เขามาเห็นเราทำแบบนี้แล้วเขาสนใจ มันก็เป็นเรื่องที่ดีมาก
ต่อไปในอนาคตถ้าเราไม่อยู่แล้วเด็กๆ เขาก็อนุรักษ์ต่อไปได้”
คนอยู่ได้ ตะกองอยู่ด้วย (ได้มั๊ย)
ส่วนหนึ่งที่คนรู้จักตะกองน้อย ก็เพราะพวกมันเป็นสัตว์ป่าหายาก มีจำนวนน้อย เป็นสัตว์ที่พบได้เฉพาะถิ่น
คือต้องมาที่ลำตะคอง อ.ปากช่อง ในประเด็นนี้ลุงวิชชุมองว่าเป็นจุดเด่นหรือจุดแข็ง
ที่สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เพียงแต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน
เริ่มจากการทำความรู้จักกับตะกองหน้าตาเป็นยังไง อาศัยอยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร กินอะไร
แล้วก็ทำพื้นที่ให้พวกมันอยู่ได้ มีบ้านก็คือต้นไม้ มีน้ำสะอาด มีอาหารกิน
แล้วก็ชวนคนมาเที่ยวมาดูตะกองที่ลำตะคอง
เป็นแนวคิดในการอนุรักษ์ที่ได้ประโยชน์เกื้อกูลกันทุกฝ่าย
ผู้ประกอบการจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวตะกองได้มีบ้านอยู่อย่างปลอดภัย
ส่วนลำน้ำลำตะคองเอง ก็ได้คงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ธรรมชาติก็จะยังคงสวยงามสืบต่อไป
และงดงามต่อไป