The way of lives – ภาพยนตร์สั้นผลงานชาวบ้านบางกลอย

The way of lives – ภาพยนตร์สั้นผลงานชาวบ้านบางกลอย

The way of lives – ภาพยนตร์สั้นผลงานชาวบ้านบางกลอย

           ใจแผ่นดินหรือบ้านบางกลอยบน อยู่บนเทือกเขา ต้นน้ำเพชร ที่ไหลทอดผ่าน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี  ที่นี่คือ อุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย  ซึ่งเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ  ป่าไม้  สัตว์ป่า  และประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไว้เมื่อปี   2524  แต่ยังมีคนจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ พวกเขาเป็นคนไทย เชื้อสายกะเหรี่ยงมาแต่ดั้งเดิม

          บิลลี่  พอละจี  รักจงเจริญ  เกิดที่ใจแผ่นดินหลังการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติได้ 2 ปี  ด้วยข้อกฎหมายที่เคร่งครัดของอุทยานฯในมิติของการอนุรักษ์ป่า  เขาและชาวบ้านอีกหลายครอบครัวถูกอพยพไล่รื้อลงมายังพื้นราบที่บ้านโป่งลึกและบางกลอยล่างในครั้งแรก ราวปี 2539  บิลลี่บวชเรียนที่วัดท่าคอย และเรียนหนังสือที่โรงเรียนท่าคอยจนจบ ป.6 จากนั้นไปเรียนต่อที่โรงเรียนท่ายางพิทยาคมจนจบ ม.6

         

                เมื่อลงมาอยู่พื้นราบ บิลลี่ไม่มีที่ดินทำกินตามวิถีปกาเกอะญอแบบดั้งเดิม เขาและมึนอ ภรรยา จึงไปรับจ้างที่ต่างหมู่บ้าน แต่แม้จะออกจากหมู่บ้านโป่งลึกบางกลอยไป แต่เขาก็ยังกลับมาช่วยเหลือชุมชนจนได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกอบต.  ด้วยบุคลิกที่เป็นคนใฝ่รู้ เขาทำหน้าที่เชื่อมประสานคนภายนอกกับคนในหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง

              ปฏิบัติการไล่รื้อชาวบ้านบางกลอยบน บ้านดั้งเดิมของเขาเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2554  ครั้งนี้มีการเผาบ้านและ  ยุ้งข้าวชาวบ้านต้องอพยพลงมารวมทั้งปู่ของเขาคือปู้คออี้  พื้นที่ที่ชาวบ้านที่ถูกไล่รื้อมาอยู่ ก็คือพื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอยล่าง  แต่ที่ดินไม่เหมาะกับการเพาะปลูกตามวิถีเดิม ขาดน้ำ ทับซ้อนกับที่ทำกินของคนอยู่เดิม 

              สรศักดิ์ เสนาะพรไพร เลขาธิการสมาพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงสยาม ซึ่งเคยระดมข้าวจากกะเหรี่ยงภาคเหนือไปช่วยเหลือชาวบ้านบางกลอยเล่าว่า เดิมกะเหรี่ยงบางกลอยอยู่ในป่าต้นน้ำเพชร  มีวิถีอยู่กับธรรมชาติ  สร้างบ้านด้วยไม้ไผ่ ทำไร่ ปลูกข้าวตามกำลัง หลังการผลักดันให้ลงมาอยู่ที่บางกลอยล่างซึ่งพื้นที่ราบรวมกันเป็นชุมชนใหญ่ อยู่รวมกัน เป็นสภาพที่แออัด การทำมาหากินลำบาก  ประกอบกับการลงมาอยู่ด้านล่างไม่คุ้นชินชาวบ้านต้องปรับตัวเองมาก

                “การเปลี่ยนแปลงใดใดมันย่อมเกิดขึ้น เราเป็นมนุย์ยอมรับการเปลี่ยนแปลงขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นเรื่องไม่เหมาะไม่ควร เช่น เกิดจากการผลักกดันจากวิธีคิดของคนข้างนอก เร่งด่วน ทำให้คนที่ถูกออกมาไม่มีโอกาสปรับตัว มันก่อให้เกิดปัญหาในการดำรงอยู่”  

               “บิลลี่ เป็นคนที่มีความใฝ่รู้ มีความเป็นผู้นำ เขามีบุคลิกเข้าใจสังคม ทำหน้าที่ประสานกับคนต่าๆ ที่มาร่วมทำกิจกรรม และข้าราชการด้วยการเป็นล่าม   บิลลี่จะเป็นคนหัวไว เรียนรู้การเชื่อมประสานให้เกิดความเข้าใจของคนที่เข้ามาในพื้นที่ว่าสถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างไร สนใจเทคโนโลยีและมีอะไรก็อยากจะบอกเล่าทั้งสิ่งดีงามในพื้นที่และปัญหาอุปสรรคที่อยากให้แก้ไข” สรศักดิ์บอก  

                 ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร อาจารย์ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่าเมื่อชาวบ้านแก่งกระจานที่อยู่บนพื้นที่ต้นน้ำเพชร บางกือ หรือบางกลอยบน ถูกไล่ลงมา แล้วก็ตอนนั้นชาวบ้านก็ไม่มีที่ดินทำกินทางอุทยานก็จะจัดสรรที่ดินทำกินให้คนละ 7 ไร่ แต่เราก็เข้าไปดู เราพบว่าที่ดินมันไม่เพียงพอต่อการทำกิน และอีกอย่างที่ดินก็ทับซ้อนกับที่ดินของชาวบ้านเดิมแล้วก็บางพื้นที่ก็เป็นหิน มันไม่เหมาะแก่การเกษตร เราก็รู้จักบิลลี่ตอนนั้น บิลลี่เป็นคนที่สนใจและใสใจกับความทุกข์ร้อนของการอพยพลงมาของคนที่นั้น เขาก็พยายามว่าจะทำอย่างไรที่จะขอความช่วยเหลือกับพี่น้องกะเหรี่ยงนอกพื้นที่แก่งกระจาน ว่าจะช่วยทำอย่างไรดี ว่าจะทำอย่างไรให้คนกะเหรี่ยงดำรงอยู่ได้ ภายหลังก็มีมูลนิธิปิดทองหลังพระเขาไปทำโครงการทำนาแบบขั้นบันใด แต่ก็ทราบจากชาวบ้านว่า นาเบบขั้นบันใด ตรงนั้น ก็ยังไม่สามารถผลิตข้าวให้กับชาวบ้านที่นั้น เพราะชาวบ้านไม่ถนัดการทำนาแบบขึ้นบันใด”

             คนในชุมชนรวมทั้งบิลลี่พยายามทำหน้าที่ยืนยันในวิถีดั้งเดิมของเผ่าพันธุ์ ด้วยการพัฒนาตนเองให้สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาสู่ชุมชน  และพยายามสื่อสารกับสังคมหลายลักษณะ รวมทั้งการผลิตภาพยนต์สั้นกับศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน                

              อ.มาลี เล่าว่า ราวปี 2554   ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีโครงการเสริมสร้างศักยภาพเยาวชนชาติพันธุ์ให้สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่เข้ามาสู่ชุมชน จึงชักชวนเยาวชนผู้นำจากบ้านโป่งลึก บางกลอยมาพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งบิลลี่ โดยเริ่มจากการเรียนรู้ที่จะบันทึกประวัติชุมชน รู้จักตนเอง  เข้าใจปัญหาของชุมชน บอกเรื่องราวของตนเองได้  พาไปเรียนรู้วิถีปกาเกอะญอในพื้นที่อื่น  และฝึกทักษะการสร้างแสดงออกและสื่อเรื่องราว 

              “เยาวชนเหล่านี้ที่ไม่ได้ผ่านการศึกษา หรือจบมหาวิทยาลัย  สูงสุดคือจบม.6  ก็เป็นความยากลำบากในการเขียนรายงาน  เขามีข้อมูล แต่มีข้อจำกัดในการนำเสนอเชิงรายงาน  แต่มีความกระตือรือร้นในการร่วมมือ  บอกเล่าเรื่องราวตนเองมาก เช่นบิลลี่อ่านเขียนไทยได้ก็เป็นคนแปลและเรียบเรียง  ผู้เฒ่าผู้แก่พูกภาษาปกาเกอะญอ บันทึกเป็นภาษาเขียน  ภรรยาบิลลี่ก็แปลภาษาปกาเกอะญออีกที และบิลลี่เรียบเรียง  พวกเขามีความพยายามมาก”

          อ.มาลีเล่าว่า ในปีต่อมาก็มีกิจกรรมให้เขาเรียนรู้หลักการสื่อสาร นักข่าวพลเมือง ฝึกการแสดงละครกับมะขามป้อม  และได้คิดต่อว่าจะเติมเทคนิคให้พวกเขาได้บอกเล่าเรื่องราวที่ก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องการเขียนได้อย่างไร จึงร่วมกับมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนฝึกอบรมการทำหนังสั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องอยากทำกันด้วย  โดยหลักการของการทำภาพยนต์เรื่องนี้  จะไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งมีบทบาทหลัก  ตัวแทนชาวบ้นมาอบรมแล้วได้กลับไปคุยกับชุมชนว่าเขาจะเลือกเรื่องไหนมาแสดง  บิลลี่ช่วยพัฒนาตัวบทให้มีความชัดเจน เขาพอมีทักษะเรื่องการทำสื่ออยู่บ้าง  และเข้าไปช่วยเล่นฉากเล็กๆ  ส่วนการถ่ายทำ ชาวบ้านรู้ว่าจะไปตรงไหน เลือกใครร่วมแสดง  คนที่เข้าร่วมเป็นคนที่เผชิญปัญหาจริงๆ

          “เนื้อหาของภาพยนตร์สั้น The way of lives  ที่ชาวบ้านบางกลอยเลือกนำเสนอ  เป็นเรื่องที่เขาเผชิญอยู่ อยากบอกเล่าเรื่องราวให้คนภายนอกรู้ ว่าเขาเจออะไรบ้าง   หลังจากที่ชาวบ้านได้ทำแล้วเขาก็อยากทำอีก เขามีความสุขที่ได้เล่าเรื่องราว และได้พัฒนาทักษะ ซึ่งเขาไม่เคยจับกล้องมากันก่อน บิลลี่เคยจับกล้อง แต่คนอื่นไม่เคยคุ้นกับเทคโนโลยี และก่อนที่บิลลี่จะหายไป 1-2 เดือนที่แล้ว เขาได้มาปรึกษาว่าอยากทำภาพยนตร์นั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ยังไม่ได้นัดคุยกับชาวบ้าน”

          อ.มาลีบอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ คนดูจะเข้าใจชีวิจที่ถูกอพยพลงมาว่าเขาต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง   เราเคยเอาไปให้คนที่ไม่มีข้อมูลของแก่งกระจานและคนที่พอรู้เรื่องราวของแก่งกระจาน พบว่า  มีความรู้สึกหรือข้อคิดเห็นไม่แตกต่างกัน ว่าเขาก็เป็นคนเหมือนกันแต่ทำไมต้องเจอการกระทำไล่รื้อลงมาและถูกปฏิบัติเช่นนี้

        “เรื่องราวจากภาพยนตร์สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงอยู่อย่างไร การที่อยากอนุรักษ์ป่า โดยคิดว่าป่าไม่ควรมีคนอยู่ เลยเอาคนมาอยู่รวมกันนอกป่าเสียเช่นนี้  สะท้อนว่าเราไม่เข้าใจวิถีชีวิตของเขาจริงๆ และเราใช้แนวคิดอนุรักษ์มากเกินไป เราไม่เข้าใจสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิชุมชน สิทธิชาติพันธ์ เราอาจมองว่าชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่ง จะเอาไปอยู่ที่ไหน การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องคำนึงถึงสิทธิวัฒนธรรม ลิทธิชุมชนของคนเหล่านี้ด้วย”

         สำหรับแนวคิดของคนอยู่กับป่ามีตัวอย่างให้เห็นในหลายลักษณะ  หลายพื้นที่ก็พิสูจน์ว่าคนอยู่กับป่าได้ เมื่อชาวบ้านใช้ประโยชน์เขาก็ดูแลรักษา  ขณะที่ที่บางกลอย แม้จะลงมาอยู่ด้านล่างแต่ก็เป็นเขตอุทยานอยู่ดี  เขาสามารถอยู่ร่วมกับป่าและดูแลรักษาป่าได้   

           “จริงๆ เรามีมติครม.วันที่ 3 สิ่งหาคม พูดถึงเรื่องของ สิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่นี้ ชาวบ้านที่นี่อยู่มาตั้งแต่ยังไม่ประกาศเป็นเขตอุทยาน มีมติครม. ว่า ถ้าพิสูจน์ได้ว่าชาวบ้านอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ก่อนประกาศเขตอุทยาน ก็คงต้องเพิดถอนการประกาศเขตอุทยาน แต่ตอนก็ยังไม่ได้ดำเนินการไปได้เท่าที่ควร อีกกรณีคือสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังไม่ได้นำมาใช้ในกรณีนี้เท่าที่ควร การช่วยเหลือ ที่นี่ก็เป็นการช่วยเหลือแบบสังคมสังเคราะห์ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไป แต่การช่วยเหลือสิทธิมนุชยชน สิทธิความเป็นพลเมืองไทย ตรงนี้ก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือตรงนี้อย่างเต็มที่ อย่างเช่น กรณีการหายตัวไปของบิลลี่  เราก็ไม่พบ นอกจากเจ้าหน้าที่อุทยานออกมาพูดว่าได้จับตัวไป และได้ปล่อยตัวไปแล้ว ก็ยังไม่เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนที่ออกมาพูดเรื่องของการคุ้มครองสิทธิของคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ถูกจับตัวไป แล้วจะให้ความมั่นคงตัวชีวิตคนเหล่านี้ได้อย่างไร แล้วมากกว่านั้นคือ ไม่คิดว่าการที่คนคนหนึ่งลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ ในการที่จะอยู่อาศัยตามภูมิปัญญาของตัวเอง  การลุกขึ้นมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญไทย และสิทธิความเป็นพลเมืองไทย จะถูกละเมิดสิทธิและหายตัวไป ก็ขอภาวะนาว่า การหายตัวไปของบิลลี่ ไม่ใช่เป็นเพราะกรณีนี้”

            อ.มาลีกล่าวด้วยว่า การที่บิลลี่ลุกขึ้นมา เรียกร้องสิทธิให้กับคนที่ถูกเบียดขับ คนที่มีชีวิตที่อยู่ตามภูมิปัญญา รัฐน่าจะเข้ามาสงเสริม ให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยกันดูแลรักษาป่า  ตรงป่าที่ต้นน้ำเพชรเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านก็ตั้งคำถามว่า ถ้าพวกเขาตัดไม้ทำลายป่า บริเวรป่าที่พวกเขาอยู่ทำไมป่าถึงสมบูรณ์ และทำไม่ที่ที่พวกเขาไม่อยู่  ป่าถึงถูกทำลาย คิดว่าเราต้องมีไคร่ครวญเกี่ยวกับตรงนี้ แล้วนโยบายทำอย่างไรที่จะให้คนเหล่านี้อาศัยอยู่ที่นี่ และร่วมกันดูแลรักษาป่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา มันก็เป็นบทสะท้อนว่า ลำพังเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถที่จะดูแลรักษาได้ และมากกว่านั้นก็คือ คนเหล่านี้อยู่กับพื้นที่มาก่อน อย่างที่เรารู้ว่า คนกะเหรี่ยง อยุ่กับน้ำรักษาน้ำ อยู่กับป่ารักษาป่า แล้วเขาได้ได้ประโยชน์จากป่า ไม่มีเหตุผลไรที่เขาจะไปทำลาย มีแต่คนข้างนอกที่จะมาใช่ทรัพยากร หรือจะมาเอาทรัพยากรไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง.

 

         หลังจากนี้ วิถีชีวิตที่แท้จริงของคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยจะเป็นเช่นไร     บ้าน ที่เขาเคยอยู่  ….กับที่อยู่ในปัจจุบันจะเรียกว่าบ้านได้หรือไม่….

    พบกับภาพยนตร์สั้นที่บอกเล่าชีวิตและผลิตโดยคนกะเหรี่ยงบางกลอย “The Way of Lives” ในรายการบ้านเธอก็บ้านฉัน วันเสาร์นี้ เวลา 10.30 น. ทางไทยพีบีเอส

                    

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ