หวั่นผลกระทบในที่ดินทำกิน ชาวบ้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่านส่งตัวแทนกว่า 100 คน บุกเข้ายื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมขอนแก่นร้องยกเลิกลงสำรวจสิทธิ์ ป้องกันเจ้าหน้าที่ย้อนรอยยุทธการทวงคืนผืนป่า เหตุพบปรากฏเป็นข่าวและถูกดำเนินคดีมาแล้วในหลายพื้นที่
รายงานโดย ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
วันนี้ 7 ส.ค.58 ประมาณ 13.00 น.ตัวแทนชาวบ้าน 5 ชุมชน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ได้แก่ บ้านซำผักหนาม ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ,ชุมชนหนองจาน ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ,บ้านตาดฟ้า-ดงสะคร่าน ต.นาฝาย อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ,ชุมชนวังอีเมียง ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย และบ้านโคกยาว ต.น้ำหนาว อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ศูนย์ดำรงธรรมขอนแก่น และอธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าพันธุ์พืช เพื่อให้มีคำสั่งยกเลิกการสำรวจข้อมูลชุมชนหรือการการสำรวจตรวจพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดิน บนพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน
นายแก้ว วงไกร ตัวแทนชาวบ้านซำผักหนาม กล่าวว่า ช่วงประมาณ 14.30 น. ภายหลังเข้ายื่นหนังสือมอบผ่านตัวแทนจากศูนย์ดำรงธรรมขอนแก่น ตัวแทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น) ปลัดอาวุโสอำเภอภูผาม่าน และนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันเจรจาจนเป็นที่ยุติว่าจะไม่มีการลงสำรวจสิทธิ์แต่อย่างใด การลงสำรวจข้อมูลชุมชนที่จะเกิดขึ้นนั้น ให้ยุติไว้ก่อนจนกว่าจะได้มีการหารือร่วมกันทั้งจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ นายอำเภอ และประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งในพื้นที่อยู่ในระหว่างดำเนินการพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน
นายแก้ว กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่เคยมีหนังสือแจ้งมาว่าจะมีการลงมาสำรวจสิทธิ์ฯ กระทั่งวันที่ 2 มิ.ย.58 ชาวบ้านต้องบุกเข้าไป ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เพื่อถามหาเหตุผลจากหัวหน้าอุทยานฯ ว่าจะทำการสำรวจไปเพื่ออะไร จนกระบวนการดังกล่าวยุติและมีบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ปกครอง คือ นายอำเภอชุมแพ ปลัดอำเภอชุมแพ และตัวแทนชุมชน 5 พื้นที่ ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีเนื้อหาคือ 1.ในพื้นที่ที่การสำรวจสิทธิ์ตามมติ ครม. 30 มิ.ย.41 และพื้นที่ผ่อนปรนตามโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อการจัดการอุทยานแห่งชาติอย่างยั่งยืน และโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ให้ทำกินได้ตามเดิมไปก่อน
2.ในพื้นที่ภูฮี บ้านโคกยาว ให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อสำรวจแนวเขตผ่อนปรน ตามบันทึกข้อตกลงร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน วันที่ 8 ก.ค. 2557 และ3 พื้นที่ที่มีการบุกรุกใหม่ นอกพื้นที่ผ่อนปรนให้ประสานผู้นำชุมชนและคณะกรรมการพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เข้าตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้
ตัวแทนชาวบ้านซำผักหนามให้ข้อมูลด้วยว่า การเดินทางมาของชาวบ้านในครั้งนี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งมาอีกว่าจะมีการลงมาสำรวจข้อมูลชุมชน ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีหนังสือแจ้งมาเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2558 มอบหมายให้นายอิทธิพล ไทยกมล ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ส่งเจ้าหน้าที่ลงมาปฏิบัติการสำรวจข้อมูลชุมชน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่านซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดเลย โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่ายังขาดข้อมูลประชากรตามทะเบียนราษฏร์
ชาวบ้านจึงได้มีการประชุมร่วมกันในวันที่ 26 ก.ค. 2558 พร้อมกับนัดหมายว่า ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ จะรวมตัวกันไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น โดยมีข้อสรุปร่วมกันว่าให้ยุติการลงสำรวจข้อมูลชุมชน เพราะจากการติดตามข่าวในการทวงคืนผืนป่า หลายพื้นที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่รู้ตัว และอีกหลายพื้นที่ถูกเจ้าหน้าที่บุกเข้าไปทำลาย ตัดฟันสวนยาง
นายแก้ว บอกอีกว่า แม้ว่าชาวบ้านในพื้นที่จะไม่มีความผิด หรือไม่ได้กลัวความผิดในการที่เจ้าหน้าที่จะลงมาสำรวจข้อมูล แต่เนื่องจากเอกสารในการลงสำรวจข้อมูลหรือสำรวจสิทธิ์ ไม่มีความชัดเจนว่าจะสำรวจไปเพื่ออะไร ซึ่งพี่น้องที่ทราบข่าวต่างเกิดความกังวลใจ เกรงจะเกิดผลกระทบการทวงคืนผืนป่า จึงมีความเห็นร่วมกันว่า หากจะมีการสำรวจต้องมีการประชุมร่วมกันหลายฝ่าย เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจ และมีมติร่วมกันว่าสมควรที่จะมีการสำรวจหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่จะลงมาสำรวจเองโดยพลการ โดยขาดการมีส่วนร่วมในส่วนของภาคประชาชน
นายแก้ว กล่าวว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐดึงดันที่จะตรวจสอบก็ควรให้คณะกรรมการหมู่บ้านมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อชุมชนด้วย อีกทั้งชาวบ้านมีความหวั่นเกรงว่าจะเป็นนโยบายทวงคืนผืนป่า ทำให้หวาดกลัวว่าจะถูกขับไล่อีกครั้ง หลังจากที่เคยโดนมาแล้วในยุคคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มีโครงการจัดที่ทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.)
“มาครั้งนี้ความหวั่นภัยจากยุคทวงคืนผืนป่า จะทำให้ชุมชนไม่มีความมั่นคง จะส่งผลให้ชาวบ้านไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดินของตนเอง รวมทั้งไม่มีสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรได้อีกต่อไป ดังนั้นรัฐบาลโดยการนำของคณะ คสช.ควรเข้าใจและให้ประชาชนมีส่วนร่วมบ้าง และให้ความเคารพในสิทธิของชุมชนที่ถือครองทำประโยชน์ในพื้นที่มาก่อน เพื่อให้ชาวบ้านมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข อยู่อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ด้วย” ตัวแทนชาวบ้านซำผักหนาม กล่าวทิ้งท้าย