นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา โดยระบุถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า “ความแปรปรวนของสภาพอากาศและโรคอุบัติใหม่ นอกจากจะเป็นภัยพิบัติที่สร้างผลกระทบโดยตรงต่อมนุษยชาติแล้ว ยังส่งผลทางอ้อมให้เกิดกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อรูปแบบการค้าและการท่องเที่ยวของโลก สภาวะอากาศสุดขั้ว ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ได้สร้างความเสี่ยงให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยจำนวนมากที่รัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือเพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชน”
“รัฐบาลจะสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ” “รัฐบาลจะส่งเสริมแนวทางที่สร้างรายได้จากผืนดินและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยกำหนดให้มีสัดส่วนการปลูกไม้ยืนต้นให้เหมาะสมกับประเภทและลักษณะของพื้นที่ และส่งเสริมให้เจ้าของที่ดินหรือชุมชนโดยรอบได้รับประโยชน์จากการเพิ่มพูนของระบบนิเวศ การขายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรม และได้รับการยอมรับจากระดับสากล”
คำแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐาดังกล่าวขาดรายละเอียดในการดำเนินการ ขาดกรอบระยะเวลา ขาดตัวชี้วัด อย่างไรก็ตามมีการระบุว่า ‘จะสานต่อ’ จากรัฐบาลประยุทธ์ ดังนั้น ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) จึงรวบรวมประเด็นที่ควรรู้เกี่ยวกับนโยบายการแก้ปัญหาโลกร้อน Carbon Neutrality (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) และคาร์บอนเครดิต ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ เพื่อให้เห็นแนวทางการดำเนินการของรัฐบาลเศรษฐา มากขึ้น รวมทั้งเสียงสะท้อนจากสังคม ดังนี้
1. นโยบายแก้โลกร้อนของไทยถูกประเมินในระดับแย่ที่สุด ในขณะที่ปล่อยก๊าซอันดับที่ 19 มีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศอันดับ 9 ของโลก
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุว่า ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 19 ของโลก คิดเป็นปริมาณ ร้อยละ 0.88 ของก๊าซเรือนกระจกที่มีการปล่อยทั่วโลก โดยภาคพลังงานมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ร้อยละ 69.06 และมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในระยะยาวเป็นอันดับที่ 9 ของโลก
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึงร้อยละ 1 แต่ถูกประเมินนโยบายการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับแย่ที่สุด “ไม่เพียงพอขั้นวิกฤต” องค์กรที่ประเมินคือ “Climate Action Tracker, CAT” หรือ ผู้ติดตามการดำเนินการด้านภูมิอากาศ ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยที่อิสระ มีการประเมิน 37 ประเทศ เพื่อติดตามการดำเนินการของรัฐบาลในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงให้มีความโปร่งใส โดยจัดระดับผลการประเมิน 5 ระดับ ได้แก่ ไม่เพียงพอขั้นวิกฤต, ไม่เพียงพอขั้นสูง, ไม่เพียงพอ, เกือบจะเพียงพอ, เพียงพอตามข้อตกลงปารีส ประเทศที่ถูกประเมินในระดับเดียวกันกับไทย ได้แก่ อิหร่าน รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย และสิงคโปร์
ประสาท มีแต้ม สภาองค์กรของผู้บริโภค วิเคราะห์ผลประเมินนโยบายลดโลกร้อนของไทย โดยระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ประเทศไทยได้ประกาศนโยบายที่สำคัญมากมายเพื่อมุ่งที่จะแสดงถึงความทะเยอทะยานด้านภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่มันได้ออกนอกเป้าหมายดังกล่าวและมีความก้าวหน้าในทางปฏิบัติเพียงเล็กน้อย แม้มีการเลื่อนเป้าหมาย Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน มาเป็น ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) จาก ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) แต่ CAT พบว่ายังไม่มีเป้าหมายใดบรรจุอยู่ในเอกสารนโยบายและกฎหมายใดๆ เลย ทาง CAT ถือว่ายังมีความกำกวม เพื่อจะให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส CAT จึงได้ประเมินให้ “นโยบายและการลงมือทำของประเทศไทย” อยู่ในระดับ “ไม่เพียงพอขั้นวิกฤต” จะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่า 4 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ แผนพลังงานของไทยในช่วง 20 ปีข้างหน้าหันไปใช้ก๊าซแทนการใช้ถ่านหิน ซึ่งก็เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลเหมือนกัน
2. นโยบาย Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน มีเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2593 หรืออีก 27 ปี เน้นกลไก ‘เพิ่มพื้นที่ป่าดูดกลับก๊าซคาร์บอน’ และ ‘ชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยคาร์บอนเครดิต’ ประกาศเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2580 หรืออีก 14 ปี
Carbon Neutrality หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การดำเนินงานเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คืนมา สามารถใช้ 3 กลไก ได้แก่ (1) การ ‘ลด’ การปล่อยก๊าซคาร์บอน เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (2) การ ‘ดูดกลับ’ ก๊าซคาร์บอน โดยการปลูกป่า ปลูกไม้ยืนต้น และการใช้เทคโนโลยีในการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (3) การ ‘ชดเชย’ การปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยการซื้อคาร์บอนเครดิต ทั้งนี้ รัฐบาลเน้นใช้ 2 กลไก คือ เพิ่มพื้นที่ป่าดูดกลับก๊าซคาร์บอน และชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยคาร์บอนเครดิต
นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุม COP27 ได้แถลงในที่ประชุม COP27 เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 ว่าประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในทุกสาขา ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) เพิ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ลดก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ
มีการเร่งดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน ดังนี้ (1) ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) จะเพิ่มการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด (2) ภายในปี ค.ศ. 2037 (พ.ศ. 2580) จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทเป็นร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ เพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก รวมถึงดำเนินการตามแนวทางความร่วมมือภายใต้ความตกลงปารีส ด้วยการจัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มทำความตกลงเพื่อถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ ภายใต้ข้อ 6.2 ของความตกลงปารีส (3) ก่อนปี ค.ศ. 2040 (พ.ศ. 2583) สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเชิงพาณิชย์ (4) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 50
3. เสียงสะท้อนจากองค์กรสิ่งแวดล้อม คาร์บอนเครดิตคือการฟอกเขียวและกลลวงคาร์บอน แปลงธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้าโดยการปลูกป่าค้าคาร์บอน
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่หมุดหมายแรกจนถึงปลายทางของ Net Zero ไทย เราจำเป็นต้องตั้งคำถามต่อการฟอกเขียวและกลลวงคาร์บอน และติดตามตรวจสอบเพื่อรับรองว่า ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ทั้งหลายจะต้องมีภาระรับผิด (accountability) โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งห่วงโซ่อุปทานของตนอย่างแท้จริง (real zero) และยุติการผลักภาระให้กับผู้คน ชุมชน สังคมและโลกใบนี้
โจทย์ของการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยเริ่มจากการนำภาคการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และภาคป่าไม้ (Land Use Land-use Change and Forestry – LULUCF) มาเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนให้ได้ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2580 ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อไปให้ถึงศักยภาพการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก 120 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2580 ต้องใช้พื้นที่ป่าธรรมชาติ 113.23 ล้านไร่ ป่าเศรษฐกิจ 48.52 ล้านไร่ พื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบท 16.17 ล้านไร่ (หรือรวมๆ กันเท่ากับเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศ)
ตามแผน Net Zero พื้นที่ป่าธรรมชาติและป่าเศรษฐกิจในประเทศไทยมีอยู่เดิมแล้ว 102.04 ล้านไร่ และ 32.65 ล้านไร่ตามลำดับ และมีการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 100 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2564 ดังนั้น ยังเหลือตามเป้าหมายอีก 20 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าซึ่งต้องการพื้นที่ป่าธรรมชาติเพิ่ม 11.29 ล้านไร่ และป่าเศรษฐกิจเพิ่ม 15.99 ล้านไร่ การเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติ 11.29 ล้านไร่ภายในปี 2580 นี้เองที่สะท้อนถึงการแปลงธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้าโดยปลูกป่าค้าขายคาร์บอน พื้นที่ป่าโดยเฉพาะป่าชายเลนซึ่งภาคธุรกิจแจ้งความจำนงเข้าร่วมมากกว่า 550,000 ไร่ ไปจนถึงโครงการปลูกป่าและการเตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในหลายพื้นที่ซึ่งมีชุมชนชาติพันธุ์ตั้งถิ่นฐานมานานนับศตวรรษและจัดการป่าใช้สอย ป่าอนุรักษ์และทำกินแบบไร่หมุนเวียนนั้นกลายเป็นจุดศูนย์กลางของความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่ขัดกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตัวอย่างเช่น การไม่ยอมรับโครงการปลูกป่าในชุมชนกะเหรี่ยงบ้านแม่จอกฟ้า
4. ในช่วง 3 ไตรมาส ของปี 2566 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งขึ้นทะเบียนป่าชายเลน 1.5 แสนไร่ เตรียมดิวคาร์บอนเครดิต
รายงานการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเสนอคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 ส.ค. 65 ระบุว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต กำหนดระยะเวลา 10 ปี ใน พ.ศ. 2565-2574 มีพื้นที่เป้าหมายเนื้อที่ 300,000 ไร่ ในพื้นที่ 23 จังหวัด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ออกระเบียบ 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลน สำหรับบุคคลภายนอก พ.ศ. 2565 เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินการในปี พ.ศ. 2565 เนื้อที่ 44,712.99 ไร่ ในพื้นที่ 19 จังหวัดชายฝั่งทะเล ผู้พัฒนาโครงการ (บุคคลภายนอก) จะได้รับการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ในสัดส่วนร้อยละ 90 หรือตามที่ตกลงกัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะได้รับสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการ ร้อยละ 10 และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะจัดสรรสัดส่วนคาร์บอนเครดิตจำนวนกึ่งหนึ่งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งแปลงโครงการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของชุมชนชายฝั่งที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
(2) ระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลน สำหรับชุมชน พ.ศ. 2565 เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนชายฝั่งเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการในพื้นที่ป่าชายเลนที่ชุมชนร่วมกันดูแล รักษา โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินการในปี พ.ศ. 2565 เนื้อที่ 44,298.95 ไร่ ในพื้นที่ 8 จังหวัดชายฝั่งทะเล ผู้พัฒนาโครงการ (ชุมชนชายฝั่ง) จะได้รับการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ที่ได้จากการดำเนินโครงการ ในสัดส่วน ร้อยละ 90 หรือตามที่ตกลงกัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะได้รับสัดส่วน ร้อยละ 10
ต่อมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ออกประกาศกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เรื่อง ขอเชิญชวนชุมชนชายฝั่ง/ชุมชนท้องถิ่น เข้าร่วมโครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน โดยชุมชนท้องถิ่น/ชุมชนชายฝั่ง ที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน สามารถเข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต
ทั้งนี้ ในช่วงเดือน มี.ค. – ก.ย. 66 มีการออกประกาศกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แจ้งผลการอนุมัติพื้นที่โครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ ประกาศ ครั้งที่ 1/2566 ครั้งที่ 2/2566 ครั้งที่ 2/2566 (เพิ่มเติม) ครั้งที่ 3/2566 และ ครั้งที่ 4/2566 โดยมีชุมชนได้รับอนุมัติพื้นที่โครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน จำนวน 82 ชุมชน เนื้อที่ประมาณ 149,411 ไร่ อยู่ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร
ดังนั้น ธุรกิจการค้าคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยที่เริ่มต้นในยุครัฐบาลประยุทธ์ จะเติบโตในยุครัฐบาลเศรษฐาอย่างแน่นอน
สำหรับในตอนต่อไปจะนำเสนอรายละเอียดพื้นที่โครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน
โปรดติดตามตอนต่อไป
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุว่า ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) คือ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดกลับคืนมา โดยผ่าน 3 กลไก ได้แก่ (1) “ลด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) (2) “ดูดกลับ” ก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ เช่น การปลูกป่าเพื่อเพิ่มแหล่งสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ (Carbon Sink) การใช้เทคโนโลยีในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำกลับมากักเก็บใต้พื้นดิน หรือใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ และ (3) “ชดเชย” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Offset) ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น หากเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีความสามารถในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 80 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เราสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลืออีก 20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. อธิบายว่า กรณีของประเทศไทย คาร์บอนเครดิต คือ ใบรับรองปริมาณความสำเร็จในโครงการลด/กักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินโครงการ T-VER ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบ ทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และเมื่อได้รับรองผลการลดก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตแล้ว ผู้พัฒนาโครงการจึงจะสามารถนำคาร์บอนเครดิตนี้ไปขายในตลาดคาร์บอนได้ โดยผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตส่วนใหญ่ เป็นบริษัทหรือบุคคลที่ทำ CSR ซื้อคาร์บอนเครดิตไปใช้ในการชดเชยเพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutral ทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดประชุม/สัมมนา หรืองานอีเวนต์ และระดับบุคคล ส่วนผู้ขายหรือผู้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก จะเป็นองค์กรภาครัฐ เอกชน สาขาการผลิต/บริการใดก็ได้ หรืออาจจะเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสนใจในการเข้าร่วมทำโครงการของผู้พัฒนาโครงการ หากไม่ทำก็ไม่มีบทลงโทษ
แหล่งข้อมูล :
https://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/post/คาร์บอนเครดิต-คืออะไร-ต่างจาก-สิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก-อย่างไร-23
https://resolution.soc.go.th/PDF_UPLOAD/2565/P_407056_3.pdf
https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2022/08/BOOKLET_NC4.pdf