‘กรุ่นกลิ่นการบูรที่กรุงเก่า’ : เรื่องเล่าสินค้าชุมชนกับการพัฒนาภูมิปัญญาไทยให้ร่วมสมัยอย่างมีอัตลักษณ์

‘กรุ่นกลิ่นการบูรที่กรุงเก่า’ : เรื่องเล่าสินค้าชุมชนกับการพัฒนาภูมิปัญญาไทยให้ร่วมสมัยอย่างมีอัตลักษณ์

“ทำการบูรหอมขายมา 12 ปี แต่ไม่เคยรู้เลยว่าสินค้าที่เราทำขาย เลี้ยงปากเลี้ยงท้องอยู่นี้ มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับอยุธยาซึ่งเป็นบ้านเกิดและที่อยู่อาศัยของเรา กระทั่งได้เข้าร่วมโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2562 จึงสะดุดกับคำว่า ‘รักษ์ถิ่น’ ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจอยากค้นหาความเชื่อมโยงกันระหว่าง ‘การบูร’ กับ ‘อยุธยา’…และเมื่อรู้ว่าในอดีต ‘การบูร’ เคยเป็นหนึ่งในเครื่องราชบรรณาการที่ราชสำนักอยุธยาส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงญี่ปุ่น ทำให้เรารู้สึกว่าอาชีพขายการบูรหอมที่แม่ทิ้งไว้ให้นี้ช่างมีคุณค่าเหลือเกิน รู้สึกหวงแหน และอยากรักษาให้อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยไปอีกนานแสนนาน…”

ช่วงหนึ่งของบทสนทนาผ่านน้ำเสียงเจื้อยแจ้วของ ‘พี่ตุ๊ก’ หรือคุณชนนาท เจริญจิตต์ ผู้ประกอบการโอทอป จ.พระนครศรีอยุธยา…โดยผู้เขียนหยิบมาโปรยเปิดเรื่องด้วยมุ่งหมายจะให้เป็นดั่งประตูเมืองที่เปิดออกแล้วเผยให้เห็นภาพความสัมพันธ์กันระหว่างสินค้าชุมชนอย่าง ‘การบูร’ กับประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาในเบื้องต้น ก่อนที่จะพาลัดเลาะและดำดิ่งลงสู่รายละเอียดถึง ‘อาชีพแม่ค้าการบูรหอม’ ที่ความหอมของการบูรยังคงกรุ่นกลิ่นอยู่คู่ ‘กรุงเก่า’ มานานกว่า 16 ปีกับเส้นทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ที่โดดเด่นคือการเพิ่มมูลค่าโดยการใส่ความเป็น ‘อยุธยา’ ด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และการเข้ามาช่วยยกระดับ ‘การบูร’ ให้มีรูปแบบที่ร่วมสมัย ตรงตามความต้องการของตลาดโดย ‘โครงการภัทรพัฒน์’ มูลนิธิชัยพัฒนา

ย่างเข้าเดือนมีนาคม 2566…ต้นฤดูร้อนปีนี้มีข่าวที่น่ายินดีไม่น้อยสำหรับสินค้าชุมชนที่เปี่ยมไปด้วยอัตลักษณ์ของพระนครศรีอยุธยาอย่าง ‘การบูรหอมรูปผลไม้’ กับรางวัล OTOP 5 ดาว และรางวัล POPULAR VOTE จนพี่ตุ๊กอดไม่ได้ที่จะเอ่ยปากว่า “เมื่อไหร่จะเขียนถึงสิ่งที่เราทำอยู่สักทีนะ?”…ถ้อยคำเชิงตัดพ้อนิด ๆ ของพี่สาวดิ่งตรงแตะใจน้องสาวอย่างผู้เขียนให้ต้องกระวีกระวาดสวมบท ‘ผู้ฟัง’ แล้วจับดินสอลงมือขีดเขียนเสียที…ไอร้อนอ่อน ๆ ภายในบ้านหลังน้อยได้เร่งเร้าให้การบูรที่วางอยู่กลางวงสนทนากำจายกลิ่นหอมเย็นสดชื่นไปทั่วทุกอณู สัมผัสนี้คงมิได้ผิดแผกไปจากในอดีตที่คนไทยสมัยโบราณนิยมนำการบูรและพิมเสนมาใช้ปรับอากาศเพื่อสร้างบรรยากาศในบ้านเรือน โดยการนำมาเป็นส่วนผสมของ ‘น้ำปรุง’ ก่อนจะเคล้ากับดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมชนิดต่าง ๆ เช่น มะลิ กุหลาบ ฯลฯ ที่เรียกว่า ‘บุหงารำไป’ อันเป็นภูมิปัญญาไทยที่สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

“การบูรจะระเหิดกลายเป็นไอ เราใช้ความหอมระเหยของการบูรในการปรับอากาศ ไม่ได้ใช้ในทางยา…” พี่ตุ๊กอธิบายคล่องแคล่วพลางตักผงการบูรแล้วโปรยกลับลงภาชนะเดิม จึงขับความหอมให้ฟุ้งกว่าเก่า “การบูรเป็นสมุนไพรที่สกัดจากต้นการบูรซึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่อยู่ในสกุลอบเชยหรือเรียกอีกชื่อว่า ‘ต้นอบเชยญวน’ เนื้อไม้มีสีน้ำตาลปนแดง ทุกส่วนมีกลิ่นหอมโดยเฉพาะรากและโคนต้น…คนไทยเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า ‘การบูร’ ตามภาษาอินเดียโบราณ”

การบูรและพิมเสนที่คละเคล้า นำมาห่อหุ้มด้วย ‘ผ้าใยบัว’ สีสันสดใส ปั้นขึ้นรูปเป็นผักผลไม้หลากหลายชนิดซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘ขนมลูกชุบ’…แม้รูปลักษณ์ของขนมลูกชุบจะถูกคิดค้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ทว่าต้นกำเนิดกลับปรากฎขึ้นในสมัยอยุธยาโดย ‘ท้าวทองกีบม้า’ ได้ดัดแปลงจากขนมโปรตุเกสที่มีชื่อว่า Marzipan หรือ Massapa’es  เช่นนี้แล้ว คงไม่ผิดกระมังที่จะกล่าวว่า…แม้มิใช่ ‘บุหงารำไป’ ในผ้าโปร่งฉลุลายงดงาม แต่ ‘การบูรหอมรูปผลไม้’ ก็เป็นดั่งเงาของอดีตอันสะท้อนให้เห็นภาพความรุ่มรวยของภูมิปัญญาไทยที่นำสมุนไพรมาประยุกต์ใช้ในการดับกลิ่นปรับอากาศ โดยสอดประสานงานศิลปะเล็ก ๆ เพิ่มความงามสะดุดตา น่ารักน่าใช้

“เราเริ่มต้นอาชีพแม่ค้าขายการบูรหอมรูปผลไม้ด้วยเงินทุนเพียง 700 บาท นอกจากคุณภาพของวัตถุดิบที่เราคัดเลือกเองจากแหล่งที่น่าเชื่อถือแล้ว คงเป็นเพราะรูปแบบที่แตกต่างจากท้องตลาดในช่วงนั้นด้วย ทำให้ตลอดเวลา 5 ปีที่เราทำเองขายเอง จึงได้ขายดิบขายดีและมีแต่คำชื่นชมจากลูกค้า ซึ่งหลายคนชมว่า ‘น่ารักเหมือนขนมลูกชุบ’…เมื่อปี 2562 ได้รับคัดเลือกจากธนาคารออมสินภาค 14 ให้ได้เข้ารับการพัฒนาตามโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หนึ่งในหลายสิ่งที่เราได้รับจากการพัฒนาในครั้งนั้นคือการใส่ความเป็น ‘อยุธยา’ ลงในผลิตภัณฑ์การบูร…และในปีถัดมา เมื่อได้เข้ารับการพัฒนาในโครงการกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ฯ ของกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ…’ขนมลูกชุบ’ ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งในการเป็นแรงบันดาลใจให้กับการออกแบบผลิตภัณฑ์การบูรหอมรูปผลไม้ ที่สามารถบอกเล่าถึงความเชื่อมโยงกับ ‘อยุธยา’ ควบคู่กับเรื่องราวของ ‘การบูร’ เป็นการแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ของเรามีอัตลักษณ์อยุธยา และเราก็คว้ารางวัลชนะเลิศในการประกวดครั้งนั้นมาได้ในที่สุด” พี่ตุ๊กเล่าโดยสรุป

“การบูร…ในฐานะเครื่องราชบรรณาการจากราชสำนักอยุธยาส่งไปยังกรุงญี่ปุ่น” คืออีกหนึ่งของความเป็น ‘อยุธยา’ ที่กำซาบไปถ้วนทั่วผลิตภัณฑ์การบูรฝีมือของพี่ตุ๊ก โดยเธอเล่าให้ฟังด้วยแววตาทอประกายอย่างภาคภูมิใจว่า “ขอบคุณคำว่า ‘รักษ์ถิ่น’ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ค้นคว้าประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาในแง่มุมที่คิดไม่ถึง จนสามารถหาจุดเชื่อมโยงกับสินค้าของเราได้สำเร็จ และ story of product นี้เองที่ทำให้การบูรหอมรูปผลไม้โดดเด่นและแตกต่าง”

‘ประชุมพงศาวดารภาคที่ 20 จดหมายเหตุเรื่องทางไมตรีระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงญี่ปุ่น’ คือหลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษรที่กล่าวถึง ‘การบูร’ ในฐานะเครื่องราชบรรณาการไว้ในหลายช่วงสมัย อาทิ รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2154-2171) รัชสมัยพระอาทิตยวงศ์ (พ.ศ.2172-2172) รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231)  นอกจากนี้ยังพบว่าญี่ปุ่นเองก็มีความเชื่อเกี่ยวกับ ‘การบูร’ ว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งบางต้นสูงใหญ่มีอายุหลายร้อยปี

“เคยค้นเจอในกูเกิล…มีนวนิยายญี่ปุ่นเรื่อง ‘ผู้พิทักษ์ต้นการบูร’ ฉบับแปลภาษาไทย ซึ่งเนื้อเรื่องได้บอกเล่าถึงสายใยอันอบอุ่นของครอบครัว และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่าง ‘ผู้อธิษฐาน’ กับ ‘ผู้รับ’ ซึ่งมีต้นการบูรเป็นจุดเชื่อมโยงรับฝากความคิดคำนึง” พี่ตุ๊กเล่าทิ้งท้าย ก่อนจะกลับเข้าสู่เรื่องการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์การบูรหอมของเธออีกครั้ง

‘การบูร’ อยู่คู่วิถีชีวิตคนไทยมาตั้งแต่โบราณกาล สายสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับการบูรแจ่มชัดขึ้นเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) พระราชทาน ‘ต้นการบูร’ ให้เป็นพฤกษชาติประจำกระทรวงสาธารณสุข…

“ผลิตภัณฑ์การบูรของเราถูกจัดอยู่ในประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ดังนั้นการนำผลิตภัณฑ์เข้าคัดสรรดาวโอทอปจะอยู่ในหลักเกณฑ์และการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก…การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการนำผลิตภัณฑ์เข้ารับการคัดสรรจนได้โอทอป 5 ดาวนั้นว่ายากแล้ว แต่การหาตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ยิ่งยากกว่าหลายเท่า เพราะกลุ่มลูกค้าของเราส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเราไม่มีรถยนต์ส่วนตัวไปออกบูธตามงานต่าง ๆ ได้ เมื่อเราดิ้นรนด้วยตัวเองจนสุดทางแล้วจึงตัดสินใจเขียนจดหมายถึงพระเทพฯ เพื่อขอรับพระราชทานความช่วยเหลือ ซึ่งประมาณ 2 สัปดาห์ก็ได้รับการตอบกลับ” พี่ตุ๊กระบายยิ้มบาง ๆ ในช่วงท้าย

แม้ว่าการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทยอย่าง ‘การบูรหอมรูปผลไม้’ โดยหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐจะเห็นผลเป็นที่น่าชื่นใจไม่น้อย ทว่าการเข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์โดยมูลนิธิชัยพัฒนากลับรู้สึกแตกต่างจากที่เคยผ่านมามากเลยทีเดียว ซึ่งเจ้าหน้าที่มูลนิธิชัยพัฒนาจะเข้ามารับฟังปัญหา เมื่อเข้าใจและเข้าถึงในปัญหาแล้ว จึงลงมือแก้ปัญหานั้นด้วยการเติมเต็มในส่วนที่ขาดและพัฒนาในสิ่งที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังคอยติดตามงานอยู่สม่ำเสมอ ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นไปตามหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

“เมื่อท่านรับสั่งให้โครงการภัทรพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนา เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และส่งรถมารับซื้อถึงที่บ้านที่อยุธยาเพื่อนำไปวางขายที่ร้านภัทรพัฒน์ในกรุงเทพฯ รายได้ของเราก็เพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับการเป็นที่รู้จักและยอมรับในตัวผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทยนี้อย่างกว้างขวางออกไป” พี่ตุ๊กอมยิ้มน้อย ๆ นัยน์ตาสว่างสุกเต็มไปด้วยความเทิดทูนและยินดี “ภัทรพัฒน์ได้เข้ามายกระดับสินค้าอัตลักษณ์อยุธยาให้มีรูปแบบที่ร่วมสมัย ตรงตามความต้องการของตลาด โดยผู้ออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากการบูรหอมผลฟักทองที่เราทำอยู่แต่เดิม แล้วนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นรูปแบบต้นกระบองเพชรหรือแคคตัสซึ่งได้ชื่อว่า ‘เจ้าแห่งทะเลทราย’ ที่อึด ถึก ทน!”

“การบูรหอมผสมกากกาแฟอบแห้ง” คืออีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่พี่ตุ๊กภูมิใจ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้เกิดขึ้นระหว่างการเข้าร่วมโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น แล้วได้รับการพัฒนาต่อยอดอาชีพโดยมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ติดตราสินค้าพระราชทาน “ภัทรพัฒน์” และได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี จากสินค้าที่ตอนแรกขายเองไม่ออก กลายมาเป็นสินค้าขายดีที่สุดในบรรดา “ผลิตภัณฑ์การบูรของภัทรพัฒน์”…และแน่นอนว่าส่วนผสมอย่าง ‘กากกาแฟ’ ยังคงมีเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับ ‘อยุธยา’…บ้านเกิดและถิ่นที่อยู่ของพี่ตุ๊กเหมือนเคย

“ปัจจุบันคนนิยมดื่มกาแฟ ทำให้เหลือกากกาแฟเป็นขยะจำนวนมาก เราจึงนำกากกาแฟที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลแล้วมาผสมกับการบูรหอม ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้…นอกจากจะมุ่งสู่เศรษฐกิจแบบ BCG แล้วก็ยังทำหน้าที่ถ่ายทอดถึงเรื่องราวในอดีตอีกด้วย กล่าวคือ ‘กากกาแฟ’ เป็นส่วนผสมสำคัญที่จะคอยบอกเล่าเรื่องราวของ ‘กาแฟ’ ในไทยซึ่งแพร่เข้ามาครั้งแรกในสมัยอยุธยา โดย ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกถึงการดื่มกาแฟว่านิยมกันในหมู่ชาวแขกมัวร์ที่อาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา”

ส่วนเล็ก ๆ ของประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาได้ถูกร้อยเรียงอย่างซื่อตรงผ่านสินค้าชุมชนฝีมือของพี่ตุ๊ก แม้เธอเป็นเพียง ‘แม่ค้าการบูรหอม’ ที่รับช่วงต่อจากแม่…มิใช่ ‘เรโตะ ผู้พิทักษ์ต้นการบูร’  ทว่าการบูรชิ้นแล้วชิ้นเล่าที่เธอปั้นขึ้นมาด้วยความรัก จะยังคอยทำหน้าที่เชื่อมโยงเพื่อถ่ายทอดสายใยความผูกพันระหว่างเธอกับบ้านเกิด ส่งไปถึง ‘ผู้รับ’ ด้วยความหวังว่า ’การบูรจะไปกรุ่นกลิ่น ณ ที่แห่งใด ณ ที่แห่งนั้นจะถูกอบอวลไปด้วยเรื่องราวของอยุธยา…พระนครอันเป็นนิรันดร์’  เพราะเธอเชื่อว่าการพัฒนาภูมิปัญญาไทยให้ร่วมสมัยนั้น สามารถทำควบคู่ไปพร้อมกันกับการอนุรักษ์คุณค่าแห่งอดีตได้


#ผลงานนักสื่อสารชุมชน

ผู้เขียน : ชดามน  เจริญจิตต์

แหล่งอ้างอิง

ซาเตา, เออเนสต์ เมสัน. (2506).  ประชุมพงศาวดารภาคที่ 20 จดหมายเหตุเรื่องทางไมตรีระหว่างกรุงศรี

      อยุธยากับกรุงญี่ปุ่น. โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ.

ทำความรู้จักกับลูกชุบ ขนมหลากรูปหลายสีสัน. สืบค้น 9 มีนาคม 2566, จาก

https://www.mkunigroup.com/blog_mkunigroup.php?id=32

ประภัสสร  บุญประเสริฐ. (2548).  ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย (พิมพ์ครั้งที่ 4).  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์

       มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

มูลนิธิสุขภาพไทย. (2560).  สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/การบูรเครื่องยาหอมคู่สุขภาพคนไทย. สืบค้น 9 มีนาคม

       2566,จาก  https://www.matichonweekly.com/column/article_71634

เสมียนอารีย์. (2565).  คนไทยดื่ม “กาแฟ” ตั้งแต่เมื่อใด?. สืบค้น 9 มีนาคม 2566, จาก

https://www.silpa-mag.com/history/article_87804

himawarichan. (2565).  [รีวิวหนังสือ] ผู้พิทักษ์ต้นการบูร. สืบค้น 9 มีนาคม 2566, จาก

https://www.readawrite.com/a/e5dca85c157ad7a30e68f82cbb81b16a

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ