แท้จริงแล้วการแก้ไขปัญหาความยากจน การช่วยเหลือมีเป้าหมาย คือหายจนหรือหลุดพ้นจากความยากจน คนจนคือใคร อยู่ที่ไหน จะมีวิธีการหลุดพ้นได้อย่างไร เป็นจุดเริ่มต้น
ประเทศไทยใช้ระบบ TPMAP เป็นฐานข้อมูลคนจนเพื่อตอบคำถามดังกล่าว รัฐบาลมีเป้าหมายขจัดความยากจน (End Poverty) ปีงบประมาณ 2566 ตั้งวงเงินแก้จนสูงถึง 2.7 แสนล้านบาท การช่วยเหลือส่วนมากยังเป็นการสงเคราะห์ให้บรรเทาความเจ็บปวดความหิวโหย
“จะหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างไร” ยังเป็นคำถามที่กำลังหาคำตอบ บางคนรอไม่ไหว “ตายก่อน” จึงหลุดพ้นเองและได้ส่งต่อความจนให้รุ่นต่อไป บางคนมีโชคลาภพาครัวเรือนพ้นทันที บางคนต้องสะสมต้นทุนหวังว่าในอนาคตหรือรุ่นต่อไปจะพ้นจน นี่เป็นปรากฏการณ์วิธีจะพ้นจนในปัจจุบัน
อย่างที่ได้รายงานไปแล้วใน “ตัวชี้วัดเลื่อนระดับ” หมุดหมายภาคีร่วมมือแพลตฟอร์มแก้จนสกลนคร – THECITIZEN.PLUS มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้รับทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ตามยุทธศาสตร์งานวิจัยขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ต่อเนื่องตั้งแต่ปี2563 – 2566
ในแพลตฟอร์มขจัดความยากจนฯ มีระบบปฏิบัติการโมเดลแก้จน (Operating Model) นำคนจนที่ผ่านการสอบทานข้อมูลตามเกณฑ์ในพื้นที่ จากระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนจังหวัดสกลนคร (P2P Application) เป็นกลุ่มเป้าหมายส่งเสริมอาชีพ และติดตามการเปลี่ยนแปลงการเลื่อนระดับ หรือการหลุดพ้นจากความยากจน โดยใช้เครื่องมือการดำรงชีพอย่างยั่งยืน (Sustainable Livelihoods Framework : SLF)
แนวคิด SLF คือการวางแผนดำรงชีพของครัวเรือนในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยไม่เสียความสามารถในอนาคต ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นจากการวิเคราะห์บริบทชุมชนสถานการณ์ความเปราะบางและสินทรัพย์คนจนที่มีศักยภาพ จากนั้นจึงวางแผนกลยุทธ์การดำรงชีพที่เหมาะสมกับสถานการณ์ นำไปสู่การปฏิบัติ
ในปี 2565 โครงการพัฒนากระบวนการเพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยระบบการผลิตเกษตรมูลค่าสูงของกลุ่มเกษตรกรฯ นำกรอบแนวคิด SLF มาพัฒนาโมเดลแก้จน มีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 150 ครัวเรือน แบ่งเป็น 3 อาชีพ ได้แก่ อาชีพเพาะเห็ด (ระยะสั้น) อาชีพสมุนไพร (ระยะกลาง) และอาชีพทำนา (ระยะยาว)
ขอนำเสนอเป็นตอน เริ่มต้นจาก อาชีพสมุนไพร เป็นโมเดลแก้จนให้กลุ่มชาติพันธุ์ “ชนเผ่าบรู” เข้าถึงโอกาสทางสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตกหล่น (Exclusion Error) จากการสำรวจไม่พบในฐานข้อมูลคนจนของภาครัฐ
ทีมวิจัย เปิดเผยว่า พบชนเผ่าบรูอาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านหินแตก หมู่ที่8 และบ้านคำแหว หมู่ที่3 ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร โดยกลไกความร่วมมือกับเทศบาลตำบลไร่ เป็นอีกโจทย์ที่ซับซ้อนและท้าทาย การเข้าหมู่บ้านต้องผ่านกลไกผู้นำชนเผ่า หรือบุคคลที่เชื่อมนักวิจัยกับกลุ่มเผ่าบรูได้ ซึ่งมีข้อจำกัดบางอย่าง ได้แก่ การสื่อสาร และเกรงกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โดยสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม เคยร่วมงาน “มูนมังอีสาน” กับเผ่าบรู ได้ประสานผ่านครูอุฤษดิ์ ม่วงมณี ประธานวัฒนธรรมชนเผ่าบรูจังหวัดสกลนคร จึงได้รับการต้อนรับและความร่วมมือเป็นอย่างดี
ปฏิบัติการโมเดลแก้จนสมุนไพรยาบรู มีวิธีการที่ไม่ยุ่งยากลดเงื่อนไขที่ซับซ้อนที่เป็นทางการ เน้นกระบวนการเปลี่ยนแนวคิดด้วย “ทุนวัฒนธรรมชนเผ่าบรู” มีกลุ่มเป้าหมาย 30 คน ดำเนินงานตามกรอบแนวคิด SLF ด้วยระบบการผลิตเกษตรมูลค่าสูงโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนตามทิศทางโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมเกื้อกูลคนจน ทีมนักวิจัยได้เปิดเผยผลงานวิจัยดังนี้
สถานการณ์บริบทพื้นที่และสินทรัพย์ชนเผ่าบรู
ที่ตั้งถิ่นอาศัยชนเผ่าบรูอยู่บริเวณชายป่าเทือกเขาภูพาน อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร เช่น สัตว์ป่า หอย หน่อไม้ เห็ด ผักหวาน ฯลฯ เป็นแหล่งดำรงชีพและสร้างรายได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะฤดูเห็ดป่าเกิด ตลาดริมทาง(ยายนงค์คราญ) แต่ละร้านให้ข้อมูลกำลังการซื้อ-ขาย ประมาณ 10,000 บาทต่อวัน แต่มีข้อจำกัดอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติโนนอุดม ต้องปฏิบัติตามระเบียบ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ในปัจจุบันยังมีข้อพิพาทบุกรุกพื้นที่หลายครัวเรือน
อาชีพในชุมชน ทำการเกษตร ได้แก่ มันสำปะหลัง ทำสวนยางพารา เลี้ยงวัว-ควาย ทำนา(บางครัวเรือน) วัยแรงงานออกไปรับจ้างต่างถิ่น ซึ่งการรับจ้างทั่วไปเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของครัวเรือน แม้เป็นเขตชลประทานเขื่อนน้ำอูน แต่ชาวบ้านเข้าไม่ถึงที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ด้านบนเหนือคลองส่งน้ำ เสี่ยงกับภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า น้ำไหลหลาก ภัยแล้ง เป็นต้น ทั้งนี้ข้อมูล จปฐ.ปี 2565 รายงานว่าครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ย 14,764.41 บาทต่อเดือน
บ้านคำแหวค้นพบ รอยพระพุทธบาท ในวัดรอยพระบาทเป็นสถานที่นมัสการ หนึ่งใน 48 แห่งของจังหวัดสกลนคร ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรแล้ว แหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้ชุมชน ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน และวัดป่าภูริทัตตถิราวาส (หลวงปู่มั่น)
รอยพระพุทธบาท บ.คำแหว การแสดงในพิธีกรรมศพชนเผ่าบรู
ครูอุฤษดิ์ ม่วงมณี เปิดเผยว่า อัตลักษณ์ชนเผ่าบรูคือ มีภาษาตนเอง มีวัฒนธรรมการกิน และพิธีกรรมศพสวดโดยเขยบรู ด้านการดำรงชีพขาดความเชื่อมั่นในคุณค่าตนเองจึงอยู่ในวัฏจักรเดิมๆ ได้แก่ ผสม ผสาน ขาดความสามัคคี และกลัว กล่าวคือ มีวิถีชีวิตพึ่งพิงธรรมชาติผสมระหว่างคนกับทรัพยากร อยู่ร่วมกันผสานจนเกิดความรู้นำประโยชน์ป่าไม้มาใช้ในปัจจัยสี่ เผ่าบรูชอบอิสระมักน้อยสันโดษจึงขาดความสามัคคี หาอาหารป่าไปแลกข้าวกลับถูกด้อยค่าว่าเกียจคร้าน ชอบมาขอข้าวกินรู้สึกอับอายกลัวการดูถูก
ปัจจุบันนี้จารีตประเพณีหลายอย่างใกล้จะสูญหาย โดยเฉพาะพิธีกรรมศพและภาษา ชาวบ้านบอกว่าภาษาบรูมีสำเนียงลีลาการพูดต่างจากภาษาอื่น ฟังแล้วไม่เข้าใจ ในขณะเดียวกันถูกมองว่าเป็นข่า โส้ ไม่ใช่บรู มีข้อมูลชนเผ่าบรู ได้แก่ วรรณกรรม “พิธีกรรมคำสวดศพชาวบรู” การบรรเลงในพิธีศพ การแสดงวัฒนธรรมบรู การแต่งกาย และฐานข้อมูลภาษาบรู
ทีมวิจัย ได้วิเคราะห์สินทรัพย์ต้นทุนชีวิตในระบบดำรงชีพครัวเรือน 5 ด้าน จากระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ (P2P Application) ตามกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 26 ครัวเรือน มีสมาชิกในครัวเรือนรวม 90 คน มีอัตราส่วนพึ่งพิงวัยแรงงาน 1.4 : 1 คน มีรายละเอียดดังนี้
ปัจจัยภายใน
- ทุนมนุษย์ วัยแรงงานอาศัยอยู่บ้าน ร้อยละ 41.06 ศักยภาพมีความรู้น้อยจบชั้นประถมและต่ำกว่าประถม ร้อยละ 68.89 มีอาชีพรับจ้างและทำเกษตร ส่วนใหญ่มีสุขภาพปกติ ร้อยละ 80 คุณภาพแรงงานขาดทักษะ ร้อยละ 90 มีอาชีพไม่มั่นคงส่งผลให้ครัวเรือนขาดแคลนด้านการเงิน
- ทุนการเงิน มีรายได้เฉลี่ย 9,980.46 บาทต่อเดือน มีรายจ่ายเฉลี่ย 7,247.11 บาทต่อเดือน มีหนี้สินค้างชำระ ร้อยละ 61.54 มีเงินออม ร้อยละ 30.77 มีทรัพย์สินประกอบอาชีพ ได้แก่ เครื่องตัดหญ้า ยุ้งฉาง สัตว์เลี้ยง รถไถนาขนาดเล็ก เครื่องสูบน้ำ ดังนั้นต้นทุนด้านอื่นจึงมีความสำคัญมาก
ปัจจัยภายนอก
- ทุนกายภาพ ถ้าเข้าไม่ถึงบริการบางอย่างเสี่ยงต่อความยากจนได้ ที่อยู่อาศัยมีสภาพทรุดโทรม ร้อยละ 11.54 ครัวเรือนไม่ได้ใช้น้ำประปา ร้อยละ 88.46 อาจสูญเสียทรัพย์สินหรือเสียโอกาสหารายได้จากการหาน้ำใช้ ไม่มีที่ดินทำกิน ร้อยละ 50 ขาดโอกาสเป็นผู้ผลิต ดังนั้นคนจนส่วนใหญ่จึงพึ่งพิงธรรมชาติ
- ทุนธรรมชาติ มีการใช้ประโยชน์เพื่อดำรงชีพและสร้างรายได้ ร้อยละ 69.23 ใช้ประโยชน์แหล่งน้ำธรรมชาติ ร้อยละ 30.77 ถือเป็นทรัพยากรสำคัญในระบบการดำรงชีพด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การเกษตร หาของป่า หาปลา เลี้ยงสัตว์ สมุนไพร ฯลฯ
- ทุนสังคม ครัวเรือนไว้วางใจชุมชน เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มฌาปนกิจ ร้อยละ 73.08 สร้างความสัมพันธ์ด้วยการปรึกษาและช่วยเหลือกันตามประเพณี ร้อยละ 53.85 เชื่อมั่นองค์ความรู้ในชุมชนนำไปใช้ประกอบอาชีพ ร้อยละ 73.08 กิจกรรมพัฒนาบางอย่างได้ประสานกลไกเชิงสถาบันภายนอกมาร่วม ร้อยละ 50
กลไกเชิงสถาบัน
ประเด็นสมุนไพร ในโครงสร้างประเทศสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นการเกษตรมูลค่าสูง และเกษตรชีวภาพ รัฐบาลประกาศให้นโยบายการพัฒนาสมุนไพรเป็นวาระแห่งชาติ ในโครงสร้างจังหวัดสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาสกลนครเป็น มหานครแห่งพฤกษเวช
แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ มีกระทรวงสาธารณะสุขเป็นเจ้าภาพหลัก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ส่วนกลไกปฏิบัติการที่สำคัญในพื้นที่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ สปก. สนง.พัฒนาชุมชน สนง.เกษตรอำเภอ เทศบาล รพสต. อสม. และกำนันผู้ใหญ่บ้าน
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย ปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 52,104.3 ล้านบาท แนวโน้มมีความต้องการเพิ่มขึ้น แต่ต้องเป็นผู้ประกอบการที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ ในพื้นที่มีมูลนิธิประชารัฐสมุนไพรโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นผู้รับจ้างผลิตช่วง ขายปลีก ขายส่ง ส่งออก ผู้แทนจำหน่าย ผู้ผลิต แต่มีประกาศกฏกระทรวง ฯ ได้ยกเว้นให้การทำ “ลูกประคบ” ซึ่งเป็นที่นิยมผลิตในวิสาหกิจชุมชน ไม่ต้องขอใบอนุญาตสถานที่ผลิตในช่วง 5 ปีแรก นับจากที่กฎหมายบังคับใช้ด้วย
กลยุทธ์ดำรงชีพแบบเดิม
ชาวบ้านมีองค์ความรู้สมุนไพร ใช้ในครัวเรือนมีทั้งแบบยาต้ม ภาษาบรูเรียก “แระอะรวง” และลูกประคบ ภาษาบรูเรียก “ผ้าฮม” เพื่อให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า เจริญอาหาร บำรุงเลือด มีแรงในการทำงานรับจ้าง จนเป็นวัฒนธรรมการกินเชื่อว่า “มีอาหารคือความมั่นคงของชีวิต” ที่สำคัญ “ข้าวคือความมั่งคั่งของครอบครัว” เป็นการสำรองทรัพย์สินแสดงถึงความมั่งคงด้านปัจจัยสี่ มีข้าวคือมีสังคมเพื่อนพ้องน้องพี่
เผ่าบรูยังมีชื่อเสียงด้านยาสมุนไพรมีตำราหลายสูตร ใช้เพื่อการป้องกันและรักษาสุขภาพ สืบทอดองค์ความรู้ผ่านทายาท ตัวสมุนไพรหาได้จากธรรมชาติมีหลายชนิด เช่น รากไม้ เปลือกไม้ เครือไม้ ต้นอีตู่นา ผักกะย่าป่า ใบเป้า ใบหนาด ฝางแดง ว่านซน ฯลฯ ปัจจุบันทางวัดรอยพระบาทได้อนุรักษ์สมุนไพรที่หายากไว้
กลยุทธ์การดำรงชีพใหม่
กลยุทธ์เริ่มต้นจาก รวมกลุ่มคณะกรรมการทุนวัฒนธรรมชนเผ่าบรูมีโครงสร้างกติกาที่เข้มแข็ง สร้างรูปธรรมแหล่งที่มารายได้ทันที ด้วยการพัฒนาแบรนด์ “สมุนไพรยาบรู” จากองค์ความรู้ที่มีในชุมชน มีสรรพคุณสูตรรักษาเส้นเอ็น สูตรผ่อนคลาย สูตรความงาม ต่อยอดให้เกิดทักษะใหม่ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ลูกประคบ “ผ้าขาวฮม” และยาต้ม “ส้างแก้ว” เพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่า จากนั้นจึงปลูกจิตสำนึกการจัดเตรียมวัตถุดินต้นทาง หาจากธรรมชาติและปลูกเอง พร้อมกับสร้างสเตอรี่สื่อสารการตลาดผ่านช่องทางที่ผู้คนเข้าถึงในศตวรรษที่ 21 และสร้างศูนย์กลางรวมใจ “อาศรมบรู” มีกิจกรรมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมชนเผ่าบรูตลอดปี เตรียมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในอนาคต
มีแผนปฏิบัติการตามกลยุทธ์การดำรงชีพแบบใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมมี 4 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) ถอดรหัสตำรายาบรูเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ 2) พัฒนาองค์ความรู้การเตรียมสมุนไพรให้ได้สารสำคัญ 3) ถ่ายทอดองค์ความรู้การแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ 4) การส่งเสริมให้เกิดตลาดเชิงวัฒนธรรมเผ่าบรู
ผลลัพธ์การดำรงชีพ
กระตุ้นให้ชนเผ่าบรูลุกขึ้นมาจัดการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยตนเอง และเกิดความสามัคคีจากปฏิบัติการที่ขับเคลื่อนร่วมกันด้วยคณะกรรมการทุนวัฒนธรรมชนเผ่าบรู เชื่อมโยงนิเวศน์ป่าไม้สู่เส้นทางผลิตภัณฑ์ “สมุนไพรยาบรู” ผสานภูมิปัญญาชนเผ่าบรูผ่านวัฒนธรรมการกิน (แระอะรวง) มีส่วนผสมของพืชท้องถิ่น เกิดจิตสำนึกตระหนักถึงคุณค่าอัตลักษณ์ของตนเองในกิจกรรมการผลิตทั้งห่วงโซ่อุปทานสมุนไพร มีเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจน โดยชุมชนเป็นผู้ประกอบการ
ครัวเรือนมีต้นทุนการดำรงชีพเพิ่มขึ้น ทุนมนุษย์ มีทักษะองค์ความรู้ในการแปรรูปสมุนไพรลูกประคบและยาต้ม โดยใช้ทรัพยากรจาก ทุนธรรมชาติ เข้าถึงทุนกายภาพนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใช้ในการผลิต ใช้ที่ดินแปลงรวมแบบมีส่วนรวม มีทุนการเงิน เกิดรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ มีหุ้นส่วนในกองทุนปัจจัยการผลิต ชุมชนมีพื้นฐานทุนสังคม มีแหล่งเรียนรู้ มีกลุ่มองค์กรจัดการตัวเองได้ เกิดเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม
สรุปกลยุทธ์การดำรงชีพใหม่ การวิเคราะห์บริบทความเปราะบาง และสินทรัพย์คนจน พบว่า สมุนไพรมีศักยภาพมีพลังมาจากวัฒนธรรมการกิน (Soft Power) สร้างสมดุลให้กับระบบดำรงชีพด้านต่างๆ จะเห็นว่าใช้ทุนสังคมนำความรู้ชุมชนด้านสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ ซึ่งหาได้จากการเข้าถึงทุนธรรมชาติ ส่งผลให้ทุนมนุษย์มีสุขภาพแข็งแรง เป็นวิถีการดำรงชีพเดิมมีปราชญ์ชุมชน(หมอยา) มีกลไกเชิงสถาบันที่หน่วยงานต่าง ๆ มีโครงสร้างหนุนเสริมด้านสมุนไพร จึงวางแผนกลยุทธ์การดำรงชีพใหม่ สร้างแบรนด์ สร้างทักษะ สร้างกลไกกติกากลุ่ม พัฒนาองค์ความรู้ สร้างการสื่อสารและตลาด สร้างแหล่งเรียนรู้และศูนย์รวมใจ เกิดผลลัพธ์การดำรงชีพอย่างยั่งยืน ย้อนกลับไปเพิ่มสินทรัพย์ในครัวเรือนทำให้ระบบดำรงชีพมีการเปลี่ยนแปลง หมุนเวียนเชื่อมโยงกันบนกรอบการดำรงชีพอย่างยั่งยืน (SLF) จนถึงระดับที่หลุดพ้นจากความยากจน
เป็นโมเดลที่สร้างความหวังให้อนาคต ที่จะมีเครื่องมือในการแก้จนเป็นหนึ่งเดียว มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด
เมื่อกางกรอบแนวคิด SLF จะเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทำอะไรอยู่ กำลังช่วยเหลือ หรือกำลังช่วยหมุนวงเวียนความจนให้เกิดซ้ำ
ที่มา : โครงการวิจัย การพัฒนากระบวนการเพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยระบบการผลิตเกษตรมูลค่าสูงของกลุ่มเกษตรกร ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม และตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร โดยอาจารย์สายฝน ปุนหาวงศ์ และคณะ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร พ.ศ.2565 : www.1poverty.com
เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnePoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ