บริเวณอ่าวปากพะยูนเป็นท่าเรือขึ้นปลาและสัตว์น้ำที่ชาวประมงจับมาได้ (ซ้าย) ปลากะพง ‘สามน้ำ’ ขนาด 3 กิโลกรัมเศษ ราคากิโล ฯ ละ 200 บาท (ขวา)
อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนกลาง เชื่อมต่อกับทะเลอ่าวไทย จึงทำให้สภาพน้ำในทะเลสาบมีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม เป็นแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ชาวบ้านได้พึ่งพาอาศัยเป็นอาหารและสร้างอาชีพมาช้านาน มีปลากระบอก ปลาขี้ตัง ปลาหัวโม่ง ปลาโคบ ปลาดุกทะเล ปลากะพง กุ้งก้ามกราม กุ้งหัวมัน ฯลฯ เลือกกินได้ไม่อดยาก แถมยังเป็นปลาและกุ้ง ‘สามน้ำ’ ที่นักชิมต่างยอมรับว่า ‘เนื้อแน่น หวาน อร่อย’ กว่าปลาและกุ้งในลุ่มน้ำอื่น
นอกจากนี้ในทะเลสาบ บริเวณเกาะสี่ เกาะห้า มีถ้ำต่างๆ เป็นแหล่งอยู่อาศัยของนกนางแอ่น รังของนกนางแอ่นที่นี่ถือว่ามีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รังนกขาวเกรด A ราคาส่งออกตลาดต่างประเทศตกประมาณกิโลกรัมละ 1 แสนบาท โดยจังหวัดพัทลุงจะมีการเปิดประมูลเก็บรังนกทุกๆ 5-7 ปี เช่น ในปี 2552 มีมูลค่าสัมปทาน 709 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 7 ปี ล่าสุดปี 2564 มูลค่าสัมปทาน 400 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี
“ทะเลสาบงาม เมืองสามแผ่นดิน ถิ่นรังนกนางแอ่น…”
เมืองปากพะยูน มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาแต่อดีตสันนิษฐานว่ามาจากการค้ารังนกนางแอ่นส่งไปขายเมืองจีน ทำรายได้ให้แก่สยามมายาวนาน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสหมู่เกาะในทะเลสาบสงขลาด้วยเรือกลไฟมายัง ‘เกาะรังนก’ หรือเกาะสี่ เกาะห้า และประทับแรม ณ หมู่เกาะแห่งนี้ ดังพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า….
“พอขึ้นไปถึงกลางเกาะปราบ บ่ายหัวเรือขึ้นเหนือจะไปตามน่าเกาะรังนก ลมพัดโต้น่าจัด น้ำก็ตื้น เรือไปได้เพียงน่าเกาะยิโส ซึ่งเปนเกาะที่สองหมู่เกาะสี่ เกาะห้า ต้องปล่อยเรือกลไฟตีกระเชียงไปจนถึงพลับพลาซึ่งปลูกไว้ที่เกาะมวย เข้าทางช่องหว่างเกาะมวยกับเกาะพระต่อกัน เวลาค่ำจึงได้ถึง หลวงอุดมภักดี เจ้าภาษีรังนกมาคอยรับตั้งเลี้ยงอยู่ในที่นี้ ที่ซึ่งปลูกพลับพลานี้เรียกว่า น่าเทวดา คือเปนศาลสำหรับพวกรังนกไหว้ก่อนที่จะลงมือทำรังนก พระมหาอรรคนิกรเปนผู้มาปลูก”
รัชกาลที่ 5 และผู้ติดตาม บริเวณ ‘น่าเทวดา’ หรือหน้าถ้ำเทวดา
นอกจากนี้ในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่ง พระองค์ทรงบันทึกระหว่างการเสด็จประพาสด้วยเรือกลไฟมายังเกาะรังนกว่า…
“ออกจากที่พักร้อนมาตามทาง เห็นบ้านปากจ่า มีบ้านเรือนมากเปนสามหมู่ ไปในระหว่างฝั่งกับเกาะญวนเรียกว่าคลองหลวง น้ำตื้นบ้าง ลึกบ้าง จนถึงบ้านปากพยูนซึ่งเปนช่องจะออกที่กว้าง มีบ้านเรือนหลายสิบหลัง ต้นไม้และภูมที่งามนัก ฝั่งขวาเปนเกาะหมาก ฝั่งซ้ายเปนแหลมเขาปากพยูน ตั้งแต่เมืองสงขลาขึ้นมาจนถึงปากพยูน มีเสารั้วโพงพางและยกยอตลอดระทางไปไม่ได้ขาดเลย เพราะในตอนนี้ปลาชุม”
จากสภาพภูมิประเทศที่มีความงดงามและความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบ ปากพะยูนจึงมีคำขวัญประจำอำเภอว่า “ทะเลสาบงาม เมืองสามแผ่นดิน ถิ่นรังนกนางแอ่น แท่นพระนอนยอดเขา ภูมิลําเนาสัตว์น้ำกร่อย”
ส่วนที่มาของชื่ออำเภอปากพะยูน สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ ปลาพะยูน” ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม เพราะเชื่อกันว่าสมัยก่อนมีพะยูนอยู่มากในทะเลสาบแห่งนี้ แต่อาจจะถูกล่าจนสูญพันธุ์หรือต้องหลบหนีไปอาศัยอยู่ในน่านน้ำอื่น แต่ข้อมูลบางแหล่งสันนิษฐานว่ามาอาจจะมาจากคำว่า “ปากพูน” ซึ่งหมายถึง “ปากน้ำ
ปัจจุบัน ในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี จังหวัดพัทลุงร่วมกับหน่วยงานในอำเภอปากพะยูนจัดงาน ‘ย้อนรอยประวัติศาสตร์ ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวง’ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในอดีต รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนท้องถิ่นด้วย
สภาองค์กรชุมชนฯ จากแผนแม่บทสู่การพัฒนา
อำเภอปากพะยูน มีเนื้อที่ 433 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 6 เทศบาล 2 อบต. รวม 63 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 50,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำมาหากินทั้งในผืนดินและในอ่าวปากพะยูน-ทะเลสาบสงขลา เช่น ประมงพื้นบ้าน สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ปลูกไม้ผล ทำนา เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ค้าขาย รับจ้างทั่วไป
ขณะเดียวกันในชุมชนต่างๆ มีกิจกรรมการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของภาคประชาชนร่วมกับหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น รวมทั้งองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การดูแลสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ทรัพยากร ปกป้องทะเลสาบ การส่งเสริมอาชีพ ฯลฯ ดังตัวอย่างกลุ่มชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลปากพะยูน
นเรศ หอมหวน แกนนำการพัฒนาภาคประชาชน ในฐานะประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลปากพะยูน บอกว่า สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลปากพะยูน จัดตั้งในปี 2551 โดยมีกลุ่มต่างๆ ร่วมเป็นสมาชิก 8 กลุ่ม มีคณะกรรมการ 16 คน
หลังจากนั้นในช่วงปี 2552-2553 ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดทำแผนแม่บทชุมชน โดยการสำรวจข้อมูลครัวเรือน ทุนชุมชน ปัญหา และความต้องการของชุมชน เพื่อนำมาวางแผนพัฒนาชุมชนและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา เช่น มีการจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำในอ่าวพะยูนซึ่งเป็นแหล่งอาหารหน้าบ้าน-หน้าชุมชน ฯลฯ
ต่อมาในปี 2562 สภาองค์กรชุมชนฯ ได้จัดทำโครงการ ‘บ้านพอเพียงชนบท’ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช. เฉลี่ยหลังละ 20,000 บาท เพื่อซ่อมสร้างบ้านเรือนประชาชนที่มีฐานะยากจน มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย บ้านเรือนผุพัง ทรุดโทรม ให้มีสภาพมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัยแก่ผู้อยู่อาศัย
โดยสภาองค์กรชุมชนฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการบ้านพอเพียงฯ ขึ้นมาดำเนินงาน รวม 19 คน แบ่งเป็นฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายการเงิน ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง ฝ่ายตรวจรับ ฝ่ายช่าง ฯลฯ ร่วมกันสำรวจผู้ที่เดือดร้อนในหมู่บ้านต่างๆ จัดทำรายการวัสดุที่จะต้องซื้อเพื่อซ่อมแซม ประเมินราคา และนำรายชื่อผู้เดือดร้อนมาทำประชาคม ร่วมกันรับรองว่าเป็นผู้เดือดร้อนจริง หลังจากนั้นจะสั่งซื้อวัสดุพร้อมกันเพื่อให้ได้ส่วนลด และนำมาซ่อมแซม โดยมีช่างชุมชนและเจ้าของบ้านร่วมกันลงแรง จนถึงปัจจุบันซ่อมบ้านไปแล้ว รวม 47 หลัง
นรศ ประธานสภาองค์กรชุมชน และบ้านพอเพียง
จากบ้านคนสู่ ‘บ้านกู้ง–บ้านปลา’ ขยายเครือข่ายอนุรักษ์ครอบคลุมทะเลสาบสงขลา
ในปี 2565 สภาฯ ได้ต่อยอดการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำในอ่าวปากพะยูน-ทะเลสาบสงขลา เพราะเป็นแหล่งอาหาร สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนปากพะยูน ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.ตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท จำนวน 110,000 บาท
เริ่มจากการอนุรักษ์และแพร่พันธุ์กุ้งก้ามกราม เพราะเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ทำรายได้งดงามให้แก่ชาวบ้าน หากเป็นกุ้งใหญ่ ขนาด 3-4 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาประมาณกิโลฯ ละ 700 บาท โดยคณะกรรมการสภาฯ และชาวบ้านช่วย กันทำกระชังกุ้ง จำนวน 2 จุด รวม 8 กระชัง โดยนำเสาไม้มาปักลงในอ่าวห่างจากชายฝั่งประมาณ 100 เมตร ปักเป็นแนว 4 เหลี่ยม ขนาดกว้างยาวประมาณ 5X5 ตารางเมตร แล้วนำตาข่ายไนล่อนมาขึงให้รอบ ไม่ให้กุ้งหลุดออกไปหรือสัตว์อื่นเข้ามา
เมื่อชาวประมงจับแม่กุ้งที่กำลังตั้งไข่ได้ จะนำแม่กุ้งมาปล่อยลงในกระชัง ใช้เวลาประมาณ 10- 15 วัน แม่กุ้งจะเริ่มออกไข่ เมื่อแม่กุ้งออกไข่แล้ว ชาวประมงก็จะนำแม่กุ้งไปขายหรือทำอาหารได้ ส่วนลูกกุ้งจะใช้เวลาเติบโตระยะหนึ่ง จึงปล่อยออกจากกระชังให้เติบโตตามธรรมชาติ
“ที่ผ่านมาเราปล่อยแม่กุ้งให้ออกไข่ในกระชังแล้วประมาณ 100 กิโลฯ กรมประมงบอกว่า แม่กุ้งตัวหนึ่งจะออกไข่ครั้งหนึ่งประมาณ 7-8 แสนฟอง และมีอัตรารอดประมาณ 20-50 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ทำไปแล้ว 1 ปี ถามชาวประมงก็บอกว่าปีนี้จับกุ้งได้มากขึ้น” ประธานสภาฯ บอกถึงผลที่เกิดขึ้น
บ้านกุ้งและป้ายบอกเขตอนุรักษ์
นอกจากการขยายพันธุ์กุ้งก้ามกรามแล้ว สภาฯ ยังทำ ‘บ้านปลา’ เพื่อให้ปลาใช้เป็นที่วางไข่และหลบภัย โดยนำเสาไม้ต่างๆ เช่น ไม้เสม็ดที่ทนทานต่อการแช่อยู่ในน้ำนานๆ มาปักเป็นแนวเขต และนำไม้ไผ่ ทางมะพร้าว กิ่งไม้ต่างๆ มาปักเสริมลงไปเพื่อให้เป็นแหล่งอยู่อาศัยของปลา เมื่อถึงฤดูวางไข่ ปลาจะเข้ามาวางไข่บริเวณที่มีเสาและกิ่งก้านของไม้แช่น้ำอยู่ เสมือนเป็นบ้านของปลา ตามสัญชาติญาณของสัตว์ที่จะหาที่ปลอดภัยในการวางไข่เพื่อแพร่พันธุ์
“ตอนนี้ทำบ้านปลาไปแล้ว รวมกว่า 10 จุด และวางทุ่นลอยน้ำเพื่อให้ชาวประมงเห็นว่าเป็นเขตอนุรักษ์ จะได้ไม่เข้ามาจับสัตว์น้ำ มีความยาวประมาณ 2,800 เมตร ตลอดหน้าอ่าวปากพะยูน และทุกปีเราจะต้องซ่อมแซมบ้านปลา เพราะไม้บางส่วนอาจจะผุพัง หรือโดนคลื่นลมซัดเสียหาย และปี 2566 นี้ เราได้ขยายโครงการบ้านปลาไปที่ตำบลอื่นๆ ที่อยู่รอบทะเลสาบสงขลาด้วย” นเรศ ประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลปากพะยูนบอก
นอกจากจะอนุรักษ์และแพร่พันธุ์กุ้ง-ปลาในอ่าวปากพะยูนแล้ว นเรศบอกว่า สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลปากพะยูนยังเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลต่างๆ และพี่น้องชาวประมงที่หากินอยู่ในทะเลสาบสงขลา เช่น ตำบลเกาะนางคำ อ.ปากพะยูน ตำบลนาปะขอ อ.บางแก้ว ตำบลจองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง รวมทั้งพื้นที่ในจังหวัดสงขลา รวม 11 ตำบล เพื่อขยายงานอนุรักษ์ให้ทั่วถึงกันเป็นเครือข่ายครอบคลุมทะเลสาบสงขลาในนามของ “เครือข่ายภูมินิเวศน์ทะเลสาบสงขลา”
ต่อยอดกลุ่มอาชีพแปรรูปปลา–น้ำพริก
ในทะเลสาบสงขลา-อ่าวปากพะยูน ชาวบ้านจะใช้เรือเล็กทำประมงพื้นบ้าน เช่น วางตาข่าย วางอวนดักปลา แต่จะไม่เข้ามาทำประมงในเขตอนุรักษ์ รวมทั้งจะหยุดทำการประมงในฤดูปลาวางไข่ ประมาณ 3 เดือน ตามประกาศของประมงจังหวัด (ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม) นอกจากนี้ทุกปีประมงจังหวัดจะนำพันธุ์ปลา พันธุ์กุ้งมาปล่อย ปีละหลายแสนตัว เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทะเลสาบสงขลา
ในทุกๆ เช้าที่ตลาดริมอ่าวปากพะยูน ชาวประมงพื้นบ้านจะนำปลาสดที่หาได้ทุกชนิด ทุกขนาด นำมาขายให้แก่พ่อค้าหรือแพปลาที่รับซื้อเพื่อส่งไปจำหน่ายต่อในตลาดต่างๆ ปลาบางส่วนจะนำมาวางขายในตลาด มีทั้งปลาสดและปลาแห้ง เช่น ปลากะพงตัวขนาด 3 กิโลฯ ราคากิโลฯ ละ 200 บาท
ปลาขี้ตัง (ปลาตะกรับ) ตัวใหญ่กิโลฯ ละ 500 บาท (บางตลาดสูงถึง 650 บาท) ตัวเล็ก 7-8 ตัว กิโลฯละ 300 บาท นิยมนำมาทำแกงเหลือง หรือแกงส้ม เนื้อนุ่ม มีรสชาติหวานมัน ยิ่งมีไข่ยิ่งอร่อย ถือเป็นของ ”หรอย” ในทะเลสาบสงขลา ปลาหัวโม่ง หรือปลากดทะเล ราคากิโลฯ ละ 80 บาท เนื้อหวานอร่อย นิยมนำมาแกงส้ม หรือหากมีมากก็จะนำมาทำปลาแห้ง ปลาแดดเดียว เก็บไว้ได้นาน
ตลาดปลาริมอ่าวปากพะยูน
นิตยา สระคำแหง ประธานกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำเทศบาลตำบลปากพะยูน บอกว่า กลุ่มมีสมาชิก 7 คน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งจากสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลปากพะยูนให้จัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อเป็นอาชีพเสริม เริ่มตั้งกลุ่มเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยจะซื้อปลาสดจากตลาดมาทำปลาแห้งและปลาหวาน เช่น นำปลาดุกมาทำปลาหวานหรือ ‘ปลาสวรรค์’ ปลาหัวโม่งเอามาทำปลาแห้งหรือปลาแดดเดียว บรรจุถุงขาย ราคาขีดละ 30 บาท หรือกิโลฯ ละ 300 บาท
ฉะหรอ ลุ้งบ้าน ประธานกลุ่มน้ำพริกสมุนไพร บอกว่า กลุ่มจัดตั้งพร้อมกับกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำ มีสมาชิก 7 คน ได้รับการสนับสนุนจากสภาฯ เหมือนกัน โดยสมาชิกกลุ่มจะช่วยกันทำ นำสมุนไพร ผักสวนครัวที่ปลูก เช่น ข่า ตะไคร้ มะขาม มาทำน้ำพริกตะไคร้ น้ำพริกมะขาม ฯลฯ ใช้ปลาแห้งจากกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำนำมาใส่ในน้ำพริกด้วยเพื่อเพิ่มความอร่อย ใส่กระปุกพลาสติกเล็กวางขายในตลาด กระปุกละ 20 บาท
นเรศ ประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลปากพะยูน เสริมว่า สภาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนกลุ่มแม่บ้านให้มีอาชีพเสริม โดยนำปลาที่มีอยู่ในอ่าวปากพะยูน-ทะเลสาบสงขลามาแปรรูป ปลาบางส่วนนำมาทำน้ำพริกแห้ง ทำขายและทำเก็บไว้กินในครอบครัว ทำให้มีอาหารเก็บไว้กินตลอดทั้งปี ช่วยลดรายจ่าย สร้างรายได้
เลี้ยงชันโรง ‘บ้านอุง’ สุดยอดยาอายุวัฒนะ
นอกจากอาหารมากมายในอ่าวปากพะยูน-ทะเลสาบสงขลาแล้ว นเรศ บอกว่า สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลปากพะยูนยังส่งเสริมให้สมาชิกและชาวบ้านที่สนใจเลี้ยง ‘ชันโรง’ (ชัน-นะ-โรง) ภาษาถิ่นภาคใต้เรียกว่า “อุง” เป็นแมลงที่ให้น้ำหวาน ตระกูลเดียวกับผึ้ง แต่ชันโรงตัวจะเล็กกว่า มีสีดำ ไม่มีเหล็กใน ไม่ต่อย หรือไม่มีพิษเหมือนผึ้ง เลี้ยงง่าย น้ำผึ้งจากชันโรงจะมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย
เกษตรกรที่ทำสวนผลไม้จะนิยมเลี้ยงชันโรงเพื่อให้ชันโรงช่วยผสมเกสรต้นไม้ตามธรรมชาติ เพราะชันโรงเวลาออกหากินจะเก็บเกสรจากดอกไม้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และเก็บน้ำหวานประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผึ้งจะเก็บน้ำหวานประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นเกสร ชันโรงจึงให้น้ำผึ้งน้อยกว่า
นเรศบอกว่า กรมส่งเสริมการเกษตร และเกษตรอำเภอปากพะยูน ให้การสนับสนุนการเลี้ยงชันโรงหรืออุง ตั้งแต่ปี 2562 หลังจากมีผู้สนใจเลี้ยงหลายสิบรายแล้ว จึงจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในปีนั้น ใช้ชื่อว่า ‘วิสาหกิจชุมชนบ้านอุงตำบลปากพะยูน’
กล่องเลี้ยงชันโรงหรือ ‘บ้านอุง’ (ซ้าย) ภายในรังของอุง เม็ดกลมสีเหลืองคือไข่ชันโรงที่พร้อมจะเติบโตเป็นแมลง รังสีดำด้านขวาคือชันนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ (ขวา)
ต่อมาในปี 2564 ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอปากพะยูนได้อบรมให้ความรู้เรื่องการแปรรูปน้ำผึ้งชันโรง เช่น นำมาทำสบู่ ครีมบำรุงผิว ฯลฯ ต่อมาในปี 2565 เกษตรอำเภอได้ส่งเสริมให้สภาองค์กรชุมชนฯ ทำกล่องเลี้ยงชันโรงหรือ ‘บ้านอุง’ ออกขาย สร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีก
“ตอนนี้สมาชิกวิสาหกิจชุมชนที่เลี้ยงชันโรงมีทั้งหมด 34 คน ส่วนใหญ่จะตั้งกล่องเลี้ยงรอบๆ บ้าน เพราะในเขตเทศบาล บ้านแต่ละหลังจะมีพื้นที่ไม่มาก และชันโรงจะหากินไม่ไกล ถ้าเราปลูกต้นไม้ ดอกไม้ไว้รอบๆ บ้าน ชันโรงก็จะหากินน้ำหวานจากดอกไม้และเกสรดอกไม้ที่เราปลูกเอาไว้ แม้แต่ผักสวนครัว สมุนไพร ชันโรงก็ดูดกินน้ำหวานได้ คือหากินได้หลากหลายกว่าผึ้ง คุณค่าน้ำผึ้งจากชันโรงจึงมีมากกว่าผึ้ง ราคาขายก็แพงกว่า ขวดนึงขนาด 750 ซีซี ราคา 1,500 บาท” นเรศบอก และว่า น้ำผึ้งชันโรงที่สมาชิกผลิตได้ สมาชิกจะนำไปขายเองหรือฝากกลุ่มวิสาหกิจขายก็ได้
เขาบอกด้วยว่า ชันโรงที่นิยมนำมาเลี้ยงจะมีพันธุ์ท้องถิ่น 3 สายพันธุ์ คือ ขนเงิน ถ้วยดำ และหลังลาย อีกสายพันธุ์มาจากต่างประเทศ ชื่อ ‘อิตาม่า’ ตัวใหญ่ ให้น้ำผึ้งเยอะ แต่หายากและมีราคาแพง
เมื่อเลี้ยงชันโรงประมาณ 3 เดือนขึ้นไป ชันโรงจะเริ่มให้น้ำผึ้ง หรือตลอดทั้งปีจะสามารถเก็บน้ำผึ้งได้ประมาณ 3-4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร หากมีพื้นที่เยอะ เช่น เลี้ยงในสวนผลไม้ ชันโรงก็จะมีอาหารอุดมสมบูรณ์
บ้านอุง 1 หลัง หรือชันโรง 1 กล่อง สามารถให้น้ำผึ้งต่อการเก็บ 1 ครั้งประมาณ 200-300 ซีซี (มิลลิลิตร) ซึ่งถือว่าให้น้ำผึ้งน้อยกว่าการเลี้ยงผึ้งโพรงหรือผึ้งทั่วไป ราคาขายขนาด 1 ขวดสุรากลม ประมาณ 750 ซีซี ราคาขวดละ 1,500 บาท (น้ำผึ้งเลี้ยงหรือผึ้งโพรงขวดละ 500 บาท)
กล่องเลี้ยงชันโรงหรือบ้านอุงหลายรูปแบบ ราคาขาย 150-300-500 บาท
ผู้ซื้อนิยมนำชันโรงมาจิบกินเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงร่างกาย มีรสเปรี้ยวเล็กน้อย เพราะน้ำผึ้งชันโรงจะมีกรดอะมิโนและมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง ส่วนชันนำไปผสมทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพราะมีองค์ประกอบเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อโรค และเพิ่มภูมิคุ้มกัน เช่น รักษาการติดเชื้อในช่องปาก เหงือกอักเสบ ผิวหนังอักเสบ แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ฯลฯ
ส่วนการทำกล่องเลี้ยงชันโรงหรือ ‘บ้านอุง’ นั้น จะทำจากไม้เนื้อแข็ง เพื่อให้ทนทาน เลี้ยงได้นานหลายปี กล่องเลี้ยงจะมีหลายรูปแบบ หลายขนาด เช่น กล่องแบบลิ้นชัก ขนาดกว้างยาวประมาณ 20X40 เซนติเมตร กล่องแบบลังไม้ และกล่องแบบหกเหลี่ยม เมื่อนำชันโรงและแม่พันธุ์ใส่ลงในกล่องแล้ว ผู้เลี้ยงจะนำไปวางใต้ร่มไม้ โดยใช้ก้อนอิฐ เสาไม้ หรือท่อพลาสติกมารองเป็นฐานให้สูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร
“ทุกกล่องจะเจาะรูเพื่อเป็นทางเข้าออกของชันโรง ราคาขายตามขนาด กล่องละ 150-500 บาท จะผลิตตามสั่ง เฉลี่ยประมาณเดือนละ 250-300 กล่อง หากใส่แม่พันธุ์หรือนางพญาลงไปในกล่องเพื่อให้คนซื้อเอาไปเลี้ยงได้เลย ราคาขายตกกล่องละ 1,500 บาท รายได้จะนำเข้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อเป็นทุนและแบ่งปันผลกำไรให้สมาชิกต่อไป” นเรศ ประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลปากพะยูนบอก และว่า ปัจจุบันมีสมาชิกและเครือข่ายในอำเภอปากพะยูนเลี้ยงชันโรงกว่า 40 ราย มีกล่องเลี้ยงรวมกันประมาณ 200 กล่อง
นี่คือตัวอย่างของคนปากพะยูนที่ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นกลไกขับเคลื่อนงานพัฒนาต่างๆ ในตำบล ตั้งแต่การซ่อมสร้างบ้านคน สร้างบ้านกุ้ง บ้านปลา และบ้านอุง ทำให้คนปากพะยูนมีอาชีพ มีรายได้มีอาหารที่หลากหลาย และมีชีวิตที่มั่นคง !!