ชีวิตประจำวันเราผูกพันกับทรัพยากรแร่ มากกว่าที่คิด แร่โลหะที่เป็นส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ที่เราใช้ อุปกรณ์ไอทีและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ส่วนแร่คำทองและแร่เงินก็ถูกใช้เป็นเครื่องประดับ ขณะที่ ถ่านหิน ก็ใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือแม้แต่ถนนหนทาง ที่อยู่อาศัย ก็มาจากแหล่งหินอุตสาหกรรมจากภูเขาซักที่
1.ดินแดนแห่งขุนเขา
แม่สะเรียงหนึ่งใน 7 อำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เมืองแห่งขุนเขาและสายน้ำที่อยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัด (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน) มากถึงประมาณ 164 กิโลเมตร
โดยสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 เป็นภูเขาสลับซับซ้อนและป่าทึบ ที่มีเนื้อที่รวมกันทั้งหมด 2,497.2 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 18.9 ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นอำเภอชายแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่าทางทิศตะวันตกตลอดแนวระยะทาง 166 กิโลเมตร มีแม่น้ำสาละวินกั้น เขตแดนระยะทาง 101 กิโลเมตร มีสันเขาขุนแม่ลอง เสาหินดอยผาตั้ง เป็นเส้นกั้นเขตแดนทางบกระยะทาง 65 กิโลเมตรสภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าเขาทุรกันดาร พื้นที่ราบลุ่มที่เหมาะสมกับการตั้งชุมชน และทำการเกษตรส่วนใหญ่อยู่ในตำบล
แม่ยวม ตำบลแม่คง ตำบลบ้านกาศ และตำบลแม่สะเรียง มีพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 800-1,200 เมตร (Highland) มีภูมิอากาศที่หนาวเย็นตลอดปี มีแม่น้ำไหลผ่านจำนวน 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำยวม แม่น้ำแม่สะเรียง และแม่น้ำสาละวิน (แม่น้ำคง) ที่ไหลจากทิเบต ประเทศจีน
ชื่ออำเภอแม่สะเรียงตั้งขึ้นตามชื่อสายน้ำสายหลักที่ไหลเอื่อยผ่านกลางเมือง เดิมมีชื่อว่า “เมืองยวม” เคยเป็นที่ตั้งชุมชนมาไม่น้อยกว่า 600 ปี และเป็นเมืองหน้าด่านที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านนา ปัจจุบันจัดเป็นอำเภอที่มีความสำคัญ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัด (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน) มากถึงประมาณ 164 กิโลเมตร จึงเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการในระดับจังหวัดหลายแห่ง เช่น ศาลจังหวัด อัยการจังหวัด เรือนจำอำเภอ คลังจังหวัด ที่ดินจังหวัด ขนส่งจังหวัดด่านศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ท่าอากาศยาน โรงเรียน เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางการค้าและพาณิชย์สำหรับอำเภออื่น ๆ ที่อยู่ข้างเคียง เช่น อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอสบเมย
2.ฝันร้ายที่กลับมา : นอนดมฝุ่น-ฟังเสียงระเบิด
ปี 2540 พื้นที่นี้เคยได้รับสัมปทานมาแล้วครั้งหนึ่ง ป่าบ้านโป่งดอยช้าง เคยเป็นเหมืองเก่าโดยครั้งนั้นชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ทั้งด้านเสียง ฝุ่นมลพิษในอากาศ แรงสั่นสะเทือนจากการระเบิด ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจอย่างหนัก
ชาวบ้านยังได้ตั้งข้อสังเกตถึง พื้นที่ป่าบ้านโป่งดอยช้างถูกจัดว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม เพราะตั้งแต่อดีตเมื่อ 20 ปีกว่าที่ผ่านมา เคยเป็นเหมืองเก่า (2540) ซึ่งปัจจุบันป่าได้รับการดูแลจากชาวบ้าน จนฟื้นคืนกลับมาเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าชุมชนของบ้านโป่งดอยช้าง ที่ได้ร่วมกันจัดตั้งกฎระเบียบป้องกัน อนุรักษ์ รักษาผืนป่า และเป็นป่าต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงคนในชุมชนมายาวนานตั้งแต่ยกเลิกการทำเหมืองเก่า
3.รวมกลุ่มกันคัดค้านเหมืองแร่และโรงโม่หิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
คุยกับ ทองทิพย์ แก้วใส แกนนำชุมชนคัดค้านโครงการเหมืองแร่แม่สะเรียง
30 มกราคม 2566 – จนท.ตัวแทนบริษัทโรงโม่หินลงพื้นที่ให้ข้อมูลเบื้องต้นในการขอประทานบัตรตามใบอนุญาต ขอทำเหมืองแร่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นข้อห่วงใยจากชาวบ้านในการดำเนินการของเหมืองแร่ในรัศมี 500 เมตร โดยทีมงานวิศวกรเหมืองแร่ของบริษัทฯ ทั้งนี้ระบุว่าในพื้นที่ดังกล่าวฯ เป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ไม่มีแหล่งโบราณคดี หรือ แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ และเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 และ 3
ชาวบ้านที่มาร่วมประชาชนบ้านโป่งดอยช้าง เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการจัดตั้งโรงโม่หินในพื้นที่ยืนยันไม่เอาโรงโม่หิน ณ ศาลาเอนกประสงค์บ้านโป่งดอยช้าง ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
หมุดสื่อสารจากนักข่าวพลเมือง คุณสร้อยแก้ว คำมาลา
กลุ่มประชาชนคัดค้าน #ชาวอำเภอแม่สะเรียงไม่เอาโรงโม่หิน หลังมีประกาศจากอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้นำหนังสือการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ติดประกาศให้ทราบว่า มีบริษัทเอกชน ได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม ชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง พื้นที่การขอประทานบัตรตามคำขอที่ 1/2565 มี เนื้อที่ 132-0-97 ไร่ ในพื้นที่ป่ารอยต่อหมู่บ้านโป่งดอยช้าง หมู่ 13 ตำบลบ้านกาศ และบ้านแพะหมู่ 3 ตำบลแม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ชนิดแร่หินอุตสาหกรรม ชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง)
ซึ่งหลังมีประกาศนี้ ให้พื้นที่ที่เกี่ยวข้องร้องคัดค้านภายใน 30 นับตั้งแต่วันที่ปิดประกาศ ( 24 พฤษภาคม 2566 ) หากพ้นจาก 30 วัน แล้วไม่มีผู้ใด ร้องคัดค้าน กลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จะได้ดำเนินการจัดรับฟัง ความคิดเห็นของชุมชน ตามมาตรา ๕๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ซึ่งหลังจากประกาศทางชุมชนและประชาชนได้รู้ ก็เหลือเวลาเพียง 20 วัน
ชาวบ้านและแกนนำเริ่มพูดคุยถึงความกังวลใจ เพราะโดยปกติของคนแม่สะเรียงอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ หากมีการเปิดสัมปทานกิจการที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่หรือโรงโม่หิน ในพื้นที่แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อาจก่อให้เกิดปัญหา และผลกระทบในวงกว้างทั้งเรื่องสุขภาพ ระบบนิเวศ ป่าไม้ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมลพิษต่าง ๆ กรณีนี้การจะขอเปิดกิจการในพื้นที่ อ.แม่สะเรียงค่อนข้างเสี่ยงมาก เพราะใกล้ตัวเมืองและไม่ไกลจาก ชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ
และเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าสมบูรณ์ รวมถึงอาจมีปัญหามลพิษทางอากาศในอนาคต เพราะเพียงแค่ (PM 2.5) ฝุ่นควันที่มาตามฤดูของภาคเหนือแล้ว นี่ถ้าเพิ่มด้วยฝุ่นละอองจากโรงโม่หิน สารปนเปื้อนจากการทำเหมืองหรือโรงโม่ เพราะตัว อ.แม่สะเรียงเป็นแอ่งกะทะ
31 พ.ค. 2566 ภาคประชาชนและประชาชนในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง รวมกลุ่มกันคัดค้าน พร้อมทั้งมีการทำประชาคม 6 หมู่บ้าน ทั้งหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบด้วย บ้านโป่งดอยช้าง บ้านแพะ บ้านนาคาว บ้านทุ่งพร้าว บ้านท่าข้าม บ้านป่ากล้วย ซึ่งทั้งหมดเห็นพ้องต้องกัน 100% ที่จะคัดค้านการขอประทานเหมืองแร่
พร้อมทั้งยื่นหนังสือคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน ให้ทางอำเภอส่งข้อเรียกร้องคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินฯ ดังกล่าวไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทราบถึงความเดือดร้อนและไม่สบายใจของชาวบ้าน และพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดตามมาหากมีการอนุญาตประทานบัตรฯ ให้บริษัท ฯ เอกชนเข้ามาดำเนินการ
12 มิ.ย. 2566 ฝ่ายปกครองอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดประชุม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนภาคประชาชนอำเภอแม่สะเรียง เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืออุตสาหกรรมจังหวัดให้มีชี้แจงอธิบายข้อมูลของทางราชการเพื่อให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านนำไปอธิบายต่อชาวบ้านในพื้นที่ อธิบายถึงขั้นตอนของทางราชการว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการอนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการใด ๆ ทางอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ชี้แจงว่าขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนแรก คือให้ชาวบ้านที่มีสิทธิ์ในพื้นที่ตรงจุดที่จะขอสัมปทานบัตรนี้มาแสดงตนก่อน หลังจากนั้นจะถึงขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นหรือขอประชามติจากชาวบ้าน
การขอประทานบัตรในพื้นที่ อ.แม่สะเรียงมี 3 ประเด็น คือ 1.เรื่องออกประทานบัตรต้องผ่านกฎหมายแร่ก่อน 2.ถ้าทำโรงโม่ต้องรับความเห็นจากประชาชนเรื่องผังเมืองซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย 3.ถ้ามีอิทธิพลเปลี่ยนผังเมืองได้ ก็ต้องรับฟังเสียงจากประชาชนต้องให้ประชาชนยอมรับ
19 มิถุนายน 2566 ชาวแม่สะเรียงทำประชาคม 7 หมู่บ้านเอกฉันท์ไม่เอาเหมือง
ดร.ทองทิพย์ แก้วใส แกนนำประชาชนอนุรักษ์ป่าแม่สะเรียง กล่าวว่า หลังจากมีการทำประชาคมในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา 6-7หมู่บ้านซึ่งคาบเกี่ยวกับพื้นที่การทำเหมืองที่รัฐเตรียมให้สัมปทานกับบริษัทเอกชนในเขตพื้นที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน พบว่าชาวบ้านทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือไม่เอาเหมือง
25 มิถุนายน 2566 – ประชาคมหมู่บ้านจอมแจ้ง หมู่1 ต.แม่สะเรียง คัดค้านการทำโรงโม่หิน ผลการคัดค้าน เป็นเอกฉันท์ ชาวบ้านไม่เอาโรงโม่หิน100% เนื่องจากหวั่นผลกระทบระยะยาว
6 ก.ค. 2566 – สรุปผลคณะกรรมการขับเคลื่อนการคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่ หลังทำประชาคมหมู่บ้านจำนวน 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านท่าข้าม บ้านโป่งดอยช้าง บ้านแพะ บ้านป่ากล้วย บ้านนาคาว และบ้านทุ่งพร้าว ทั้ง 6 หมู่บ้านคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่ 100%
วันเดียวกัน ตนและคณะกรรมการขับเคลื่อนการคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่ ยื่นหนังสือร้องคัดค้านการขอสัมปทานบัตรเหมืองแร่หินปูน ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน อีกครั้ง โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด, ปลัดจังหวัด, อุตสาหกรรมจังหวัด และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าชี้แจงกับกลุ่มผู้ร้องคัดค้าน
ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า การที่อุตสาหกรรมรับเรื่องการขอสัมปทานบัตรเหมืองแร่จากผู้ขอสัมปทานบัตรเป็นไปตามกฏหมาย แต่กระบวนการต่าง ๆ ยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน การขอความเห็นชอบจากสภาท้องถิ่น ซึ่งถ้าไม่ผ่านขั้นตอนเหล่านี้ก็ไม่สามารถไปต่อได้
19 สิงหาคม 2566 ชาวบ้านแม่สะเรียงนับพัน รวมพลร่วมค้านไม่เอาเหมือง ยื่นหนังสือ จี้เพิกถอนแหล่งหินแร่ออกจากเขตป่าสงวน
ความเคลื่อนไหวล่าสุด ปักหมุดสื่อสารโดย คุณโต เล่าถึง เวทีสัมนา “รวมพลคนแม่สะเรียง คัดค้านเหมืองแร่และโรงโม่หินแม่สะเรียง” ณ โรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ที่จัดโดยกลุ่มคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม ดร.ทองทิพย์ แก้วใส และ สำนักข่าวชายขอบ (Transborder News), สำนักข่าว The Reporters ร่วมกัน ที่โรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
“การทำเหมืองแร่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านเสียงโดยเฉพาะโรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ที่ติดกับป่า รบกวนการเรียนของเด็กและครู อาคารก่อสร้าง รวมถึงกระทบกับคนแม่สะเรียงทั้งหมด ด้านต่อมาคือด้านจราจร ถนนซึ่งประชาชนใช้หมายเลข 108 เป็นเส้นทางหลักมีหน่วยงานราชการ โรงพยาบาลแม่สะเรียง รถแล่นไปมาจะทำให้ถนนทรุดเป็นหลุมอาจเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กทำลายสมอง ปอดและหัวใจ การทำเหมืองใช้เวลา 30 ปี คนแม่สะเรียงต้องตายผ่อนส่ง นี่คือสาเหตุที่เราลุกขึ้นมาคัดค้าน เราจะสูญเสียความสวยงามของธรรมชาติ ถ้าไม่มีธรรมชาตินักท่องเที่ยวก็จะไม่เข้ามาแม่สะเรียง ภาคประชาชนจะเดินหน้าต่อมีเป้าหมายสูงสุดคือไม่ให้ป่าถูกทำลายจะไม่ให้มีเหมืองและโรงโม่หิน” ดร.ทองทิพย์ กล่าว
นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับสัมปทานเหมือง และดีใจที่วันนี้ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาแสดงออกทางความคิดเห็น ที่ผ่านมาประชาชนไม่มีโอกาสตัดสินใจ แต่ครั้งนี้เมื่อประชาชนอกมาส่งเสียง ตนเชื่อว่าทุกฝ่ายจะรับฟัง จ.แม่ฮ่องสอน มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ และคนอยู่ได้เพราะสิ่งแวดล้อม หากมลพิษ สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป พวกเราจะได้รับผลกระทบ อ.แม่สะเรียงมีสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ซึ่งอ่อนไหวต่อปัญหามลภาวะฝุ่นมาก และจะกระทบทั้งชาวบ้าน นักท่องเที่ยว และทุกๆคน
“แม้อำนาจการตัดสินใจจะขึ้นกับระเบียบข้อกฎหมายและมีอีกหลายขั้นตอน แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ชาวบ้านต้องออกมาส่งเสียง และขอฝากส.ส.ในพื้นที่ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล อยากฝากว่า ให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกประกาศเขตแหล่งหินอุตสาหกรรมออกจากพื้นที่ อ.แม่สะเรียงให้ได้ เพราะเป็นแนวทางแก้ไขป้องกันที่ยั่งยืนที่สุด” นายกอบต.แม่สามแลบ กล่าว .
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า พลังของคนแม่สะเรียงในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมามีความชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย ในแง่กระบวนการตาม พ.ร.บ.แร่อุตสาหกรรม เมื่อมีการยื่นคำขอ ต้องมีการทำหนังสือแจ้งราษฎรในพื้นที่และมีการจัดเวที ไม่เช่นนั้นจะเดินต่อไม่ได้ ล่าสุดบริษัททำหนังสือถึงอุตสาหกรรมจังหวัดขอเลื่อนเวทีประชาคมไปก่อน เพราะรู้ว่าจัดตอนนี้ก็ไปต่อไม่ได้ เหมือนเป็นกระบวนการดึงเวลาออกไปเพื่อรอให้กระบวนการพร้อม กระบวนการตามขั้นตอนกฎหมายหลังจากนั้นยังมีอีกเยอะ สำหรับการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จะมีการจ้างบริษัทเอกชนมาดำเนินการจัดทำ ต้องผ่านเรื่องจากอบต. และอีกมากมาย ชาวบ้านจึงต้องช่วยกันติดตาม เพราะการแสดงออกในวันนี้ยังไม่สามารถทำให้กระบวนการทั้งหมดหยุดลงได้ ชาวแม่สะเรียงจึงต้องเดินหน้ายืนหยัดเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
4. 4 ผลกระทบ และเหตุผลหากสัมปทานเหมืองแร่หินปูนในป่าสมบูรณ์
การทำโรงโม่หินต้องมีการเห็นชอบจากชาวบ้านในบริเวณรอบ ๆ และต้องมีการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ในการประกอบการตัดสินใจว่าอนุญาตหรือไม่อนุญาตทำโครงการใด ๆ โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่ เหมืองหิน โรงโม่หิน ซึ่งต้องมีรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ก่อน โดยต้องมีการประชุมกับชาวบ้านเพื่ออธิบายว่าการทำโรงโม่หินมันมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ส่วน 4 ผลกระทบจากการทำโรงโม่หินจะมีอะไรบ้าง
1.แหล่งที่ทำกินของชาวบ้าน
พอมีโรงโม่หินเข้ามา ทำให้แหล่งธรรมชาติได้หายไป ซึ่งแหล่งอาหารของชาวบ้านอาจจะอยู่ในป่า ในผา ต่างๆ ชาวบ้านได้ไปหาหน่อไม้ หาเห็ด หาอาหารธรรมชาติตรงนั้น ฉะนั้นคนคนหนึ่งที่จนไม่มีรายได้อะไรเลยเขาเดินเข้าป่าเขาก็ไม่อดตาย มันคือแหล่งอาหารธรรมชาติ แต่หากมีเหมืองหินก็จะเกิดการปักหมุดไว้ บางหมุดได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นไม่สามารถเพาะปลูกได้
จะเห็นได้ว่าในพื้นที่ของชาวบ้านที่ติดอยู่กับเขตสัมปทานเหมือง จะมีเศษหินกระเด็นไปในท้องนาของชาวบ้านและพอมีเศษหินเข้ามาในท้องนาแล้ว การที่จะไปเกี่ยวข้าวหรือดำนาก็จะเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ชาวบ้านคนหนึ่งได้เล่าว่า พอมีการระเบิดหิน หินก็ตกลงไปในที่ทำนา จึงทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวไปดำนาได้เลย และต้องไปทำนาอื่นที่ไกลออกไปอีก ซึ่งต้องคำนึงถึงความอันตรายของการปลิวของเศษหินและการที่หินตกลงไปในแปลงนาแล้ว ดังนั้นการที่จะไปเก็บออกและทำนาใหม่ในทุกๆ ปีจึงเป็นความยากลำบาก ที่อาจจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
2.การสัญจรของชาวบ้าน
การก่อสร้างทำให้ถนนที่ใช้ในการสัญจรชำรุดเนื่องจากมีรถสิบล้อวิ่งไปมาเป็นเพียงเหตุผลหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งที่เป็นผลกระทบทางอ้อมคือ ชาวบ้านบางส่วนต้องใช้เส้นทางเดียวกันเพื่อที่จะไปนาตัวเอง ซึ่งต้องเดินทางผ่านด่านของเหมืองซึ่งมันไม่สามารถผ่านไปได้ ทำให้ชาวบ้านต้องเปลี่ยนเส้นทางไปทางที่ไกลกว่าเพื่อไปจุดที่ทำกินของตัวเอง แม้บางคนอาจมองว่าเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย แต่ย่อมมีผลกระทบถึงค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าเสียเวลา ค่าน้ำมัน การซ่อมบำรุง และหากต้องเดินทางต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน หลายเดือน หรือเป็นปี ชาวบ้านก็จะต้องรับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งก็จะกลายเป็นผลกระทบที่มากขึ้น
3.ผลกระทบต่อสุขภาพ
ในการทำโรงโม่หิน ชาวบ้านที่อยู่ละแวกโรงโม่หินต้องได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างผลกระทบทางเสียง เช่น เสียงหินกำลังบด ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นี้นอนหัวค่ำและตื่นแต่เช้ามืด เสียงจึงทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่อย่าสงบเปลี่ยนไป ส่งผลให้ชาวบ้านใช้ชีวิตลำบากมากขึ้นนอกจากผลกระทบทางเสียงแล้วยังมีค่าฝุ่นละอองในบริเวณรอบๆ ซึ่งเกินขึ้นจากการบดย่อย การระเบิดหินจากโรงโม่หิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในบริเวณรอบๆ โดยตรง
4.ระบบนิเวศ
การระเบิดภูเขาหนึ่งลูกย่อมทำลายระบบนิเวศ โดยชาวบ้านได้มองระบบนิเวศในองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นภูเขาที่เชื่อมกันกับผืนป่า แหล่งน้ำธรรมชาติ ภูเขาบางลูกยังมีสมุนไพรที่หายากและสามารถใช้ในการรักษาได้อีกด้วย ดังนั้นการที่ภูเขาหนึ่งลูกได้หายไปอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใต้ดิน ซึ่งต้องทำการศึกษาอีกครั้งในเชิงลึก
นี่คือ 4 สิ่งที่ส่งผลกระทบจากการทำโรงโม่หิน การทำโรงโม่หินต้องมีขั้นตอนการทำที่ต้องคำนึงถึงระบบนิเวศ ผลกระทบที่ตามมา และวิธีการแก้ไขผลกระทบให้ได้ ซึ่งต้องมีความเห็นชอบจากคนในพื้นที่และสุขภาพของคนในพื้นที่และที่สุดของที่สุด
5.นักสื่อสารชุมชนแม่สะเรียง-สาละวิน
https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000034659 https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000034669
สำนักข่าวชายขอบร่วมกับสำนักข่าว TheReporters จัดการอบรมนักสื่อสารแม่สะเรียง-สาละวิน ณ หอประชุมโรงเรียนบริพัตรศึกษาอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ อ.สบเมย, อ.แม่ลาน้อย และอ.แม่สะเรียง รวมถึงผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ100 คน
การจัดอบรมครั้งนี้เป็นการพัฒนาทักษะเรื่องการสื่อสารเบื้องต้นให้กับเยาวชนทั้งเรื่องการเขียนข่าวเบื้องต้น การทำคลิป การสัมภาษณ์ การไลฟ์ โดยมีการลงพื้นที่ป่าดอยช้างซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทเอกชนกำลังขอประทานบัตรเหมือง และชาวแม่สะเรียงต่างออกมาต่อต้านเพราะเชื่อว่ามีผลกระทบรอบด้าน
หนึ่งตัวอย่างคลิป สำนักข่าว Fast news ทดลองสัมภาษณ์คนในพื้นที่ถึงผลกระทบ ความกังวลใจ ในการสร้างเหมืองแร่ในพื้นที่ป่า และร่องรอยความเสียหายจากการมีเหมืองแร่ในพื้นที่
ติดตามตอนต่อไป > แผนแม่บทแร่ฉบับใหม่ ลดขั้นตอนการอนุญาตทำเหมือง ห่วงทิ้งผลกระทบให้ประชาชน