“จากวันนั้นที่น้ำท่วม วันที่เขาไร้ความหวัง วันที่ไม่คิดว่าใครจะเห็น แค่เพียง Thai PBS เผยแพร่ข่าวออกไป ต่อให้เราจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ อย่างน้อยก็ยังมีคนที่ฟังเสียงของพวกเราบ้าง จริง ๆ แล้ว ชาวบ้านเขาไม่คิดว่าเขาจะได้รับการช่วยเหลือ ได้รับหญ้าอาหารสัตว์เลย มันไม่มีหวังจริง ๆ ค่ะ ตลอดเวลาที่เดินลุยน้ำ เขาไม่คาดหวังเลยว่าจะได้อะไร ขอแค่มีใครได้ยินเสียงเขาบ้างก็พอ…” ภัทรภร วิไลมงคล นักข่าวพลเมืองสำนักงานสภาเกษตรกร บอกเล่าความรู้สึกผ่านข้อความส่งทางไลน์ พร้อมส่งพลังให้กับทีมประสานงานข่าวพลเมือง ถึงการร่วมเปิดพื้นที่การสื่อสารผ่านช่องทางของไทยพีบีเอสในช่วงสถานการณ์ท่วมใหญ่ จากอิทธิพลพายุโนรูในลุ่มน้ำมูลเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา กับ Thai PBS ผ่าน C-site ถึงผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือในลุ่มน้ำมูลขาดแคลนอาหาร หญ้าแห้ง-ฟางแห้ง ในพื้นที่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ณ ขณะนั้น
กลุ่มเกษตรกรได้รับเครื่องอัลตราซาวด์แม่วัว แม้วันนี้ผ่านมาเกือบขวบปีหลังน้ำท่วม เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ยังมีความร่วมมือช่วยเหลือกันและกันในการดูแลสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นเงินทุนสะสมเก็บออมของครอบครัว ภายใต้การดูแลร่วมกันของหน่วยงาน ทั้งสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา เกษตรกรได้รับการสนับสนุนเครื่องอัลตราซาวด์เพื่อตรวจโค-กระบือ ที่จะช่วยให้เกษตรกรรู้ผลได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ว่าหลังมีการผสมน้ำเชื้อแล้ว โค-กระบือ ที่เลี้ยงนั้นตั้งท้องหรือ
เครื่องมือปศุสัตว์สำหรับเกษตรยุคใหม่ในชุมชน วิศณ์ ประสานพันธ์ นักข่าวพลเมืองสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ หนึ่งในกองกำลังนักสื่อสารภาคพลเมืองในพื้นที่ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง ปักหมุดรายงานว่า องค์การบริหารส่วนตำบลกู่ จ.ศรีสะเกษ ได้มอบเครื่องอัลตราซาวด์ มูลค่า 42,000 บาท เพื่อใช้ตรวจภายในโค-กระบือของกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคเนื้อยั่งยืนศรีสะเกษ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแม่พันธุ์โคเนื้อ ในการเพิ่มอัตราการตั้งท้อง เนื่องจากอุปกรณ์เครื่องอัลตราซาวด์มีเพียงเครื่องเดียว ไม่เพียงพอกับการให้บริการของกลุ่มเครือข่ายที่รับผิดชอบใน 2 อำเภอ ทั้งอำเภอขุขันธ์ และอำเภอปรางค์กู่
“การให้การสนับสนุนเรื่องปศุสัตว์ เพราะว่าในพื้นที่ ต.กู่ ของเรามีพี่น้องทำการเกษตร เรื่องการทำนา อาชีพเสริม คือ ปศุสัตว์ ก็ถือว่าเป็นอาชีพที่ทุกครัวเรือนได้ทำมานาน ในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบล ให้การสนับสนุนเรื่องนวัตรกรรมอัลตราซาวด์ เพื่อให้พี่น้อง เกษตรกรของเราได้นำไปในการช่วยเหลือ ส่งเสริมสนับสนุน อาชีพปศุสัตว์ ในการต่อยอด เพื่อเพิ่มมูลค่า เพิ่มผลผลิต เพื่อความยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรต่อไป” พสิษฐ์ เจนพิทักษ์คุณ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกู่ จ.ศรีสะเกษ เห็นความสำคัญ และประโยชน์ในการนำเครื่องอัลตราซาวด์ ไปทดลองใช้จริงกับโคที่ได้ผสมผสมพันธุ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการไม่พบการตั้งท้องและเพื่อรู้ผลมดลูกของวัวที่มีปัญหา
“ได้ประโยชน์มากเลยค่ะ จากการผสมเทียมไปแล้วรู้ว่าวัวท้องไม่ท้อง การที่เรามีเครื่องนี้ช่วยได้มากค่ะ ตอนนั้นมีวัวอยู่ประมาณ 21 ตัว ในตอนนี้มีวัว 29 ตัว ซึ่งมีการผสมพันธุ์ไปแล้ว ตอนนี้ทราบว่าวัวตั้งท้องอยู่ 3-4 ตัว เราเอาเครื่องนี้มาตรวจรังไข่ดูว่าวัวมีความพร้อมที่จะผสมไหม ถ้าไข่เล็กอาจจะผสมไม่ได้” มูล แหวนเงิน กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคเนื้อยั่งยืนศรีสะเกษ เล่าถึงการใช้งานของอุปกรณ์เครื่องอัลตราซาวด์ ทำให้รู้ถึงการตั้งท้องหลังจากการผสมเทียมไปแล้ว เพื่อจะได้แก้ไขได้ทันเวลา เเละยังสามารถตรวจระบบสืบพันธ์ว่ามีความพร้อม ในการที่จะตั้งท้องของโคให้มีประสิทธิภาพ
เครื่องอัลตราซาวด์โค-กระบือ เป็นวิธีการหนึ่งในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา การปรับปรุงการผลิตโคเนื้อ ในการเพิ่มผลผลิตลูกโคของเกษตรกรในเครือข่าย นอกจากนี้เกษตรกรในพื้นที่ยังมีการตัดหญ้า และใบข้าวมาเป็นอาหารวัว โดยอาศัยความร่วมมือเกื้อกูลกัน ทั้งองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษา และส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโค-กระบือให้ได้มาตรฐาน
พลังการสื่อสารในมือคุณ
“…อย่างน้อยก็ยังมีคนที่ฟังเสียงของพวกเราบ้าง จริง ๆ แล้ว ชาวบ้านเขาไม่คิดว่าเขาจะได้รับการช่วยเหลือ…” ตัวอักษรมีเสียง และมีพลังมากพอให้นักสื่อสารได้ชื้นใจขึ้นอีกเท่าทวี กับการเปิดพื้นที่สื่อสารให้พลเมืองร่วมบอกเล่าเรื่องราวผ่านช่องทาง ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มของไทยพีบีเอส ซึ่งมากกว่าการมียอดผู้อ่าน ผู้ชม แต่พื้นที่ที่เปิดกว้างจะเป็นส่วนสำคัญการันตีว่า “ทุกเสียงจะถูกนับ ถูกได้ยิน” โดยเฉพาะเสียงคนเล็กคนน้อยผ่านนักข่าวพลเมืองที่อยู่ในพื้นที่ชุมชน บันทึกภาพ เสียง บอกเล่าเรื่องราวส่งต่อเพื่อขยายสู่สาธารณะ ผ่านการทำงาน “มือสมัครใจ” ที่ไม่นิ่งดูดาย รู้ร้อน รู้หนาวกับเรื่องราวรอบตัว