เรียบเรียง : ธันวา ศรีสุภาพ
“ตระการตาชายโขง เชื่อมโยงอินโดจีน” คือ ส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัดมุกดาหาร เมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “อัญมณีลุ่มน้ำโขง” อันเป็นผลมาจากพิจัดที่ตั้งของจังหวัดอยู่ในเส้นทางเศรษฐกิจ EWEC และยังเป็นเมืองคู่แฝดกับเมืองสะหวันนะเขต ของ สปป.ลาว ที่เชื่อมต่อถึงกันผ่านสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 2
หนึ่งในพิกัดหมุดหมายการเดินทางของรายการฟังเสียงประเทศไทย ชวนปักหมุดล้อมวงสนทนาถึงทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเมืองมุกดาหาร บนเส้นทางเศรษฐกิจที่ทุกคนร่วมออกแบบและใช้ประโยชน์ ในอีก 5 ปีข้างหน้า ผ่านการจัดวงคุยภายใต้แนวคิด Citizen Dialogues ประชาชนสนทนา
เราเชื่อว่าการเดินทางทุกครั้งหัวใจของการมาเจอคือได้มา “ฟัง” แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ หรือได้เติมข้อมูลให้กัน และนำมาคิดไปข้างหน้า เพื่อร่วมออกแบบภาพอนาคต โอกาสและข้อท้าทายมาเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากขึ้น รายการยังมีข้อมูลพื้นฐาน โอกาสและข้อท้าทาย เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ภาพรวมเพิ่มมากขึ้น
จังหวัดมุกดาหาร
อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 642 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 4,339.83 ตารางกิโลเมตร อยู่ติดแม่น้ำโขง มีอาณาเขตติดต่อกับสกลนคร นครพนม อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และ เมืองสะหวันเขต สปป.ลาว แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อําเภอ
อยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ EWEC ที่เริ่มตั้งแต่เมืองเมาะละแมง ในประเทศเมียนมา ผ่านมายัง อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นแนวขวางของไทย โดยมีสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 เชื่อมสู่ สปป.ลาว ผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน (Savan-SENO Special Economic Zone: SASEZ)
ต่อไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษ ลาวบาว ประเทศเวียดนาม เชื่อมต่อท่าเรือดานัง หรือ ขึ้นสู่จีนตอนใต้ มณฑลหนานหนิง
มูลค่าการค้าชายแดน
จังหวัดมุกดาหารมีจุดผ่านแดนถาวร 2 แห่ง คือ
- ท่าข้ามท่าเทียบเรือเทศบาลเมืองมุกดาหาร
- สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต
มีด่านประเพณี มีตลาดในหมู่บ้าน 5 แห่ง
- บ้านสองคอน
- บ้านส้มป่อย
- บ้านท่าไค้
- บ้านดอนตาล
- บ้านนาโพธิ์
สำนักงานพาณิชย์จังหวัดมุกดาหาร ระบุมูลค่าการค้าชายแดน เมื่อเดือนกันยายน 2565 รวม 29,204.26 ล้านบาท
มูลค่าส่งออก รวม 15,845.77 ล้านบาท
มูลค่านำเข้า รวม 13,358.43 ล้านบาท
และมีมูลค่าการค้าผ่านแดนจากประเทศที่ 3 ไปยัง สปป.ลาว รวม 7,715.76 ล้านบาท
ขณะที่เมื่อปี 2563 มีมูลค่า 254,978 ล้านบาท โดยส่งออก 131,285 ล้านบาท
และมีนำเข้า 123,692 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 7,593 ล้านบาท
ด้านการเกษตร
จ.มุกดาหาร มีพื้นที่ทั้งหมด 2,712,394 ไร่ โดยประมาณ 47%
เป็นพื้นที่ทางการเกษตร คือ 1,288,544 ไร่ โดยมีพื้นที่นาข้าวมากที่สุดถึง
548,931 ไร่ (ร้อยละ 42) รองลงมาคือ พื้นที่พืชไร่ 298,300 ไร่ (ร้อยละ 23)
พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ
มันสำปะหลัง มีเนื้อที่เพาะปลูก 122,587 ไร่
- อ้อยโรงงาน มีเนื้อที่เพาะปลูก 121,415 ไร่
- และยางพารา มีเนื้อที่เพาะปลูก 247,022 ไร่
ด้านการประมง จังหวัดมุกดาหารมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง ในปี 2562
มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา 10,535 ราย
และเป็นเกษตรการผู้เลี้ยงปลาในกระชังแม่น้ำโขง 80 ราย
มีผลผลิตการเพาะเลี้ยงปลา 2,384 ตัน มูลค่าประมาณ 171 ล้านบาท
การจับสัตว์น้ำตามธรรมชาติมีผลผลิต 1,566 ตัน มูลค่าประมาณ 149 ล้านบาท
ยังมีปัญหาการขาดแคลนน้ำ การเลี้ยงสัตว์น้ำ ของและ ต้นทุนการผลิตมีราคาสูง
ที่มา : แผนพัฒนาจังหวัดมุกดาหาร (พ.ศ. 2566 – 2570)
อุตสาหกรรมที่สำคัญของมุกดาหารจะเป็นขนาดกลาง และขนาดย่อมได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมโรงสีข้าว โดยมีจำนวนสถานประกอบการ ณ สิ้นปี 2563 มีจำนวน 128 แห่ง มีเงินลงทุนรวม 5,806.39 ล้านบาท มีมูลค่าการค้าปลีกและค้าส่ง ในปี พ.ศ. 2562 อยู่ที่ 4,569 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 16.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด นอกจากนี้มีข้อมูล ณ วันที่ 25 กันยายน 2562 ระบุ จ.มุกดาหารมีแรงงานเพื่อนบ้าน จำนวนทั้งสิ้น 1,363 คน
ด้านการท่องเที่ยว
ปี 2561 จังหวัด มุกดาหารมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3,498 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3 จากรายได้การท่องเที่ยวภาคอีสานซึ่งอยู่ที่ 97,252 ล้านบาท หากเทียบกับจังหวัดในกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน ตอนบน 2 คือ นครพนม และสกลนคร พบว่ามุกดาหารมีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุด ถึงร้อยละ 43
สถานการณ์ความยากจนในจังหวัดมุกดาหาร
จากรายงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2562 ความก้าวหน้าระดับจังหวัด เมื่่อเปรียบเทียบความก้าวหน้าการพัฒนาคนในปี 2562 กับปี 2558 พบว่่าจังหวัดมีความก้าวหน้้าการพัฒนาคนเพิ่มขึ้น 47 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีดัชนีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ บึงกาฬ สมุทรสาคร พังงา และมหาสารคาม ขณะที่จังหวัดที่ดัชนีความก้าวหน้าลดลงมี 30 จังหวัด
โดยจังหวัดที่มีความก้าวหน้าการพัฒนาคนลดลงมาก ได้แก่ จังหวัดมุุกดาหาร บุุรีรัมย์ และนราธิวาส โดยจังหวัดมุกดาหารมีดัชนีความก้าวหน้าคน (Human Achievement Index – HAI) ในระดับต่ำ ของจำนวน 8 ด้าน จากข้อมูลการรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2562 พบว่าจากการวัดความก้าวหน้าในการพัฒนาคน ด้านสุขภาพ การศึกษา ชีวิตการทำงาน รายได้ ที่อยู่อาศัย และสภาพแวดล้อม ชีวิตครอบครัวและชุมชน การคมนาคมและการสื่อสาร และด้านการมีส่วนร่วมจังหวัดมุกดาหาร มีความก้าวหน้าด้านการพัฒนาคนในลำดับที่ 57 ของประเทศไทย มีจำนวนคนจนในระบบฐานข้อมูล TPMAP จำนวน 4,567 คน
ที่มา : โมเดลปฏิบัติการแก้จน “คนเมืองมุก”Mukdahan Poverty Model (มีนาคม 2566)
ข้อมูลแผนพัฒนาจังหวัด มุกดาหาร (พ.ศ. 2566 – 2570)
ระบุจุดแข็ง
- ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์มีความได้เปรียบเป็นประตูสู่ประเทศอินโดจีนตามเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) และมีสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต)
- เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่หลากหลาย (ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย ปศุสัตว์ และ ประมงน้ำจืด)
- มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งทางธรรมชาติ เชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณี
- มีขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปะวัฒนธรรม อันดีงามเป็นเอกลักษณ์ เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน 8 ชนเผ่า และภูมิปัญญาท้องถิ่น
- ศักยภาพด้านพลังงานทดแทนสูง (พลังงานลม) มีภาคอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากภาคเกษตร
โอกาส
- ความตกลงระหว่าประเทศที่ไทยทำกับประเทศ เพื่อนบ้าน
- ข้อตกลงด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างไทย- ลาว-เวียดนาม
- การสถาปนาความสัมพันธ์เมืองคู่แฝดระหว่าง มุกดาหาร – สะหวันนะเขต (สปป.ลาว) – กวางตรี (เวียดนาม) – ฉงจั่ว (จีน)
- นโยบายเปิดเสรีทางการค้ากับกลุ่มประเทศ อาเซียนประเทศอื่น ๆ
- เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร (3 อําเภอ 11 ตําบล)
- เป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะจังหวัดมุกดาหาร (Mukdahan Smart City) ประเภทเมืองเดิมนา่ อยู่ (Liveable City)
- โครงการสร้างทางรถไฟทางคู่ (สายบ้านไผ่ – ร้อยเอ็ด – มหาสารคาม – มุกดาหาร – นครพนม)
- สถานีขนถ่ายสินค้าโดยรถบรรทุกขนาดใหญ่ (Truck Terminal)
- โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหาร
- การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดิจิทัล
ฉากทัศน์ A : มุกดาหารเมืองหน้าด่านประตูสู่การค้าโลก
ภาครัฐ ผู้ประกอบการเอกชนในพื้นที่ และหน่วยงานท้องถิ่น มีความเข้มแข็ง เห็นความสำคัญ มุ่งเน้น ยกระดับเศรษฐกิจชายแดนและเศรษฐกิจข้ามแดน โดยส่งเสริมศักยภาพท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ให้ร่วมออกแบบและสามารถบริหารจัดการภาษี-รายได้ จากการส่งออก-นำเข้า การข้ามแดน และการค้า มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ลดบทบาทรัฐส่วนกลางเพิ่มอำนาจท้องถิ่น โดยต้องพัฒนาและส่งเสริมการค้าการลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ บนเส้นทาง EWEC ซึ่งอาจมีความล่าช้าเพราะเป็นเรื่องนานาชาติร่วมกับประเทศคู่ค้าไทย-ลาว-ประเทศที่ 3 เช่น จีน เวียดนาม สหภาพยุโรป ร่วมกัน
ฉากทัศน์ B : มุกดาหารเมืองแห่งการเรียนรู้ชายแดน
ภาคประชาสังคมและสถาบันวิชาการ มีความเข้มแข็งจับมือกับองค์กรหน่วยงานภายนอก จัดทำแผนพัฒนายกระดับให้มุกดาหารเป็นเมืองสร้างสรรค์แห่งการเรียนรู้วัฒนธรรมชายแดนร่วมสมัย ซึ่งอาจต้องลงทุนสูงในการออกแบบเมืองบนฐานวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชน เชื่อมโยงสู่เมืองชายแดนคู่แฝดสะหวันนะเขต สปป.ลาว โดยเน้นพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้พร้อมสู่สากลทั้งประชาชนในพื้นที่และแรงงานเพื่อนบ้านที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเลื่อนเมือง เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านสู่อินโดจีน โดยต้องมีการลงทุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนรู้ การออกแบบเมือง หรือ AI และใช้ฐานข้อมูล big data ซึ่งต้องใช้เวลานาน
ฉากทัศน์ C : มุกดาหารเมืองท่องเที่ยวเชื่อมฝั่งโขง
ท้องถิ่นและผู้ประกอบการ มีความเข้มแข็งเป็นแกนหลักในการพัฒนาเมืองมุกดาหารไปสู่เศรษฐกิจท่องเที่ยวเมืองรองริมสองฝั่งโขง เน้นธุรกิจบริการสำหรับเส้นทางท่องเที่ยวอินโดจีน สร้างโอกาสเพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ จากภายนอกให้เพิ่มขึ้น แต่ยังมีโจทย์ในแง่ความพร้อมที่ต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐและเอกชนในท้องถิ่นเพื่อยกระดับการบริการ ที่พัก แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหารเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อจังหวัดโดยรอบ ให้เกิดเครือข่ายการท่องเที่ยวระดับกลุ่มจังหวัด และ EWEC โดยเน้นการท่องเที่ยวชุมชน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติ 8 เผ่า อาหาร และวัฒนธรรม ซึ่งชุมชนท้องถิ่นร่วมออกแบบ
นอกจากข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องถึงศักยภาพและต้นทุนของแม่น้ำมูลที่รวบรวมมาแบ่งปันแล้ว ยังมีข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฉากทัศน์มาให้ร่วมตัดสินใจ โดย คุณกมล หอมกลิ่น เป็นผู้ดำเนินวงเสวนา เพราะเราเชื่อว่าหากทุกคนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ได้พูดคุยและรับฟังกันอย่างเข้าใจจะนำไปสู่การออกแบบภาพอนาคตได้เพราะเสียงของทุกคนมีความหมาย
ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ A
มุกดาหารเมืองหน้าด่านประตูสู่การค้าโลก
คุณสมศักดิ์ สีบุญเรือง รองประธานหอการค้ามุกดาหาร
“มุกดาหารเป็นเมืองชายแดนที่มีอนาคตจะไปได้ไกล เนื่องด้วยเราตั้งอยู่บนทำเลที่เหมาะสมหรือตั้งอยู่บนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก แล้วก็ความเจริญ 5 ปีนี้ก็คือหมายถึงว่าเส้น EWEC หรือ East-West Economic Corridor เส้นทางการค้าการลงทุน รองรับจากเมียนมา อนาคตก็รองรับอินเดียด้วย อินเดียกำลังตัดถนนจากเมืองโมเลมาถึงแม่สอด 1,600 กิโลเมตร กำลังเสร็จ บนเส้นทางนี้ก็จะมีด่านสากลคู่ขนานเมียวดี-แม่สอด ถนนเส้นนี้มันจะไปสุดที่ดานังประเทศเวียดนาม เป็นระยะทางทั้งหมด 1,450 กิโลเมตร มุกดาหารอยู่กึ่งกลาง กม. ที่ 850 ถึงมุกดาหารก็เป็นสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 เชื่อมโยงและเป็นด่านสากลมุกดาหารและด่านสากลแขวงสะหวันนะเขต
มุกดาหารนอกจากนั้นเราจะไปถึงกวังปี เราเลี้ยวขวาขึ้นไปถึงฮานอย แล้วก็เชื่อมโยงไปถึงจีน รัฐบาลได้แต่งตั้งให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจภาค มุกดาหารเราตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานเส้นระเบียงเศรษฐกิจก็เป็นถนนสี่เลนครบหมดแล้ว จุดแข็งคือประชากรของเรามี 350,000 ก็จริง แต่สะหวันนะเขตมี 1,100,000 คน และอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจ 3 จังหวัด นครพนม, มุกดาหาร, สกลนคร รวมแล้วกว่า 3 ล้าน ซึ่งเราคาดว่าหลังโครงสร้างพื้นฐานครบในอีก 4 ปี คือรถไฟทางคู่มุกดาหาร นานกว่านั้นคือรถไฟแม่สอด-มุกดาหาร”
ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ B
มุกดาหารเมืองแห่งการเรียนรู้ชายแดน
คุณศศิพงษา จันทรสาขา ผอ.วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร
“มุกดาหารเรามีต้นทุน แบ่งเป็น 3 ประเด็น ประเด็นแรกคือธรรมะ ดินแดนหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ได้จาริกมาที่นี่ และเป็นแหล่งที่มีวัดทางกายภาพ หลวงปู่หล้า หลวงปู่จา ธรรมะที่นี่ค่อนข้างเข้มแข็ง โดยเฉพาะคนภูไท วันนี้เราจะสังเกตว่าเรื่องของธรรมะเป็นจุดแข็งของคนมุกดาหารที่ต้องเรียนรู้ ประเด็นที่ 2 เรื่องธรรมชาติ มุกดาหารมี 7 อำเภอ ของเราเป็นปลายทางของเทือกเขาภูพาน เรามีวิวเล็ก ๆ ถ้าจะไปดงหลวงใช้เวลาไม่นาน ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น 1 วันเราสามารถไปเที่ยวได้ครบ ธรรมชาติที่เป็นน้ำ แม่น้ำโขง ธรรมชาติที่เป็นเขา สุดท้ายเรื่องที่น่าเรียนรู้คือเรื่องของวัฒนธรรม มุกดาหารเป็นเมืองมา 250 ปี ตั้งแต่สมัยล้านช้าง เพราะฉะนั้นต้นทุนที่เรามีทางด้านวัฒนธรรม ถือเป็นเรื่องที่น่าเรียนรู้ที่สุด เรามีสตอรี่ เรามีชาวเวียดนามที่ข้ามมา เรามีชาวจีนดั้งเดิม
เพราะฉะนั้นมุกดาหารเป็นเมืองที่น่าเรียนรู้ ถ้าเรามาเรียนรู้จะเป้นประโยชน์ นอกจากที่เราจะมาเที่ยวสำราญแล้ว การมาเรียนรู้แค่เรียนเรื่องแม่น้ำโขงจากว่านใหญ่ถึงดอนตาล ก็มีสตอรี่มากมาย และเป็นแม่น้ำที่มีช่วงที่สวยที่สุด”
ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ C
มุกดาหารเมืองท่องเที่ยวเชื่อมฝั่งโขง
คุณสัจจา วงศ์กิตติธร สมาคมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดมุกดาหาร
“การออกแบบในอนาคตที่จะกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น หรือชุมชนทั่วไป ผมมองว่าการท่องเที่ยวตอบโจทย์ เพราะว่าทุกวันนี้เราอยู่ในโลกของทุนนิยม แต่ถ้าพูดถึงการค้าการลงทุน มันก็จะอยู่ในกลุ่มทุนใหญ่ อย่างตัวอย่างที่เราเห็นสไลด์จากทีมงานที่ทำมา การส่งออกของเราอยู่อันดับท้าย ๆ มันขัดแย้งกันมาก ๆ เพราะฉะนั้นมุกดาหารมีแม่น้ำโขง และคนทั้งโลกรู้จักแม่น้ำโขงมากกว่าประเทศไทยอีก มากกว่ามุกดาหาร อันนั้นคือต้นทุนของมุกดาหาร เรามีความหลากหลายของชาติพันธ์ มีความแข็งแกร่งของวัฒนธรรม วิถีชีวิต ถ้าเราปรับเปลี่ยนตรงนั้นให้เป็น Soft Power ในการสร้างแบรนด์ของการท่องเที่ยวชุมชน ปัญหาคือเราต้องสร้างผู้ประกอบการของเราให้เข้มแข็ง เพราะทุกวันนี้นักท่องเที่ยวทั่วไปเขาสมาร์ต เขาเรียนรู้ เขาเข้าถึงแหล่ง ไม่ได้ใช้เอเยนต์แล้ว ใช้มือถือเขารู้เลยว่ามุกดาหารมีร้านอาหารตรงไหนอร่อย รู้แม้กระทั่งว่าเข้าร้านนี้ต้องสั่งอะไรที่เป็นซิกเนเจอร์ รู้แม้กระทั่งว่าเวลากี่โมงนั่งมุมไหน จะได้เห็นวิวที่สวยงาม เพราะงั้นผู้ประกอบการต้องก้าวให้ทัน เพราะโลกมันไปเร็วมาก การเรียนรู้ก็ทำให้เราก้าวทันโลก
อีกอย่างคือเราจะสร้างเมืองเป็นเมือง 3 ธรรม เราต้องทำว่าเข้าเมืองมุกดาหารต้องทำอย่างไร ให้คนทั่วไปได้รู้ว่าเราเป็นเมืองธรรมชาติจริง ๆ เมืองธรรมะเราต้องสร้างให้การเรียนรู้เข้าถึงธรรม เราต้องแสดงให้เห็นว่าเมืองธรรมะของเราคืออะไร คนมุกดาหารเน้นอะไร มุกดาหารต้องแสดงความชัดเจน วัฒนธรรมด้านอาหารเราก็ต่อยอดเป็น Soft Power ได้”
ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงแลกเปลี่ยนด้วยข้อมูลที่รอบด้าน
แม้จะมีความเห็นที่หลากหลาย แต่การฟังข้อมูลอย่างรอบด้านคือหัวใจในการสนทนาโสเหล่ในครั้งนี้ และนี่เป็นเพียง 3 ฉากทัศน์ท่ามกลางฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากมายหรือบางครั้งก็อาจจะเกินกว่าจินตนาการได้
มากกว่าภาพอนาคตที่ทุกคนมองเห็นว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้น การดึงเอาศักยภาพของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการพูดคุยในระดับพื้นที่เพื่อออกแบบการทำงานร่วมกัน เป็นอีกส่วนสำคัญที่ชาวมุกดาหารกำลังเตรียมพร้อมให้เมืองของเขาเป็นอัญมณีลุ่มน้ำโขงโดยแท้จริง