ปลายฝนต้นหนาว ปายเป็นเมืองท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง ที่ผู้คน ทั้งไทยและเทศ มักจะให้ความสำคัญเป็นลำดับ ต้น ๆ สำหรับปฏิทินท้าทายการเดินทาง
อ.ปาย ผ่านสายตาของการสวมบทบาทเป็นนักท่องเที่ยว นิยามของ ปาย คือ เสน่ห์เมืองสามหมอก ปาย คือ เมืองในฝันของนักเดินทาง ในช่วงเวลาหนึ่งผู้คนนิยาม”ยูโธปาย” หรือ “ยูโธเปีย” เมืองในอุดมคติของโทมัส มอร์
ปาย อำเภอเล็ก ๆ กลางหุบเขาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ในฐานะที่เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว และเมืองในฝันของใครหลายคน ความพยายามของพื้นที่ในเมืองรองอย่าง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จากเมืองผ่านสู่แหล่งท่องเที่ยว ด้วยความงดงามของเมืองกลางหุบเขาสลับซับซ้อน ทัศนียภาพที่อยู่ท่ามกลางภูเขาอันสวยงามประกอบกับอากาศที่หนาวเย็น และวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่มีความหลากหลายโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้อำเภอปายกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวได้ไม่ยาก โดยในยุคเริ่มแรก นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภท Backpacker ที่ดั้นด้นฝ่าฟันระยะทางโค้งนับร้อยนับพันมาสัมผัสบรรยากาศของเมืองปาย
จากนั้น “ปาย” เริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน วัยค้นหาความหมายของชีวิต เรียกได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดฮิตสำหรับ “ฮิปสเตอร์” แห่งแรก ๆ ก็ว่าได้ ในยุคนั้นปายเกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากมายและรวดเร็ว จากเมืองเล็ก ๆ เงียบสงบก็กลับพลุกพล่านด้วยนักท่องเที่ยว ชาวบ้านมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น แต่วิถีชีวิตดั้งเดิมก็เปลี่ยนไป มีเกสต์เฮ้าส์และโรงแรมหรูรวมถึงร้านกาแฟผุดขึ้นมากมาย
แต่เมืองปลายทาง อย่างปาย ก็เจอกับอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ที่ยากลำบาก ปัญหาฝุ่นควัน ในช่วงฤดูแล้งโจทย์ที่ผู้ประกอบการในปาย ที่พัก โรงแรม เกสต์เฮาส์ นักดนตรี ผู้ประกอบการร้านอาหาร รถเช่า ไกด์ ผู้กอบการด้านสุขภาพ รวมถึงภาคประชาสังคมปาย มาล้อมวงคุยกัน วางอนาคตการท่องเที่ยวเมืองปายมองไปข้างหน้า อยากเห็นอนาคตปาย มีปลายทางอย่างไร ?
ลองจินตนาการ ย้อนความคิด หากนึกถึงปาย นึกถึงอะไร ?
คำสำคัญเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในคำถามที่ว่านึกถึงปาย นึกถึงอะไร จากออนไลน์และผู้ที่เข้าร่วมวงฟังเสียงประเทศไทย มีข้อมูลอีกส่วนจากทีมงานฟังเสียงประเทศไทยที่รวบรวมไว้ตั้งต้นเพื่อคุยและมองอนาคตปาย มีปลายทางอย่างไร ?
ปาย เมืองเล็กในหุบเขาของภาคเหนือ ที่เป็นทั้งสวรรค์ของนักนิยมธรรมชาติ และนักท่องเที่ยวแบบ ชิค ๆ คลู ๆ เริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอย่างมากหลังโควิด
นี่จะเป็นสัญญาณของความหวังที่เปิดโอกาสให้แม่ฮ่องสอนเติบโตในแง่ของการพัฒนาเมืองหรือสร้างรายได้ให้คนแม่ฮ่องสอนได้หรือไม่ เมื่อปลายคือประตูด่านแรกของการท่องเที่ยวสู่ แม่ฮ่องสอนอนาคต เมืองปายจะเป็นเช่นไร
อำเภอปาย หนึ่งใน 7 อำเภอ ในอำเภอเล็ก ๆ ในหุบเขา ของจังหวัด แม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ทางทิศเหนืออยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอนระยะทาง 111 กิโลเมตร
ทิศเหนือของ ติดต่อกับเมืองปั่น จังหวัดตองยี รัฐฉาน ประเทศพม่า
ทิศตะวันออก ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองที่มีจุดขายทางการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น อำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แตง อำเภอสะเมิงและอำเภอกัลยาณิวัฒนา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนและอำเภอปางมะผ้า
ปาย- ปลายทางยอดฮิตของการท่องเที่ยว
ปายโดดเด่น ทั้งธรรมชาติและวิถีวัฒนธรรมของคนที่เรียบง่ายและยังคงอตลักษณ์ของวิถีชาติพันธุ์ เช่นไทใหญ่ ดังเดิมเอาไว้ ที่เห็นทั้งสถานที่สำคัญวัดวาอาราม
กาลเวลาที่ผ่านไป ปายมีพัฒนาการการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนตลอดเวลา
ที่นี่เมืองปาย
การท่องเที่ยวอำเภอปายนั้น ได้ถูกสร้างขึ้นจากกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวและคนใน ชุมชน ซึ่งความหมายที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นมีหลากหลายความหมายและหลากหลายวัตถุประสงค์ ตลอดจนสิ่งที่ถูกสะท้อนผ่าน ได้แก่อาหาร การแต่งกาย สถาปัตยกรรม สิ่งของ ของที่ระลึก ความ เชื่อและเรื่องเล่า กิจกรรมและงานประเพณี เช่น ปายด้าน “เมือง Artist สินค้า handmade” “จิบกาแฟหอมกรุ่นต้องเมืองปาย Pai In Love ปายโรแมนติก รักกันได้ตลอด ”
พัฒนาการของปาย
พัฒนาการการท่องเที่ยวในอำเภอแบ่งช่วงเวลาการท่องเที่ยว ของอำเภอปายออกเป็น 3 ช่วงเวลา
ระยะที่ 1 เป็นยุคเริ่มต้นของธุรกิจชุมชน (พ.ศ. 2524-2534) การ เริ่มต้นเกิดจากความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติสะพายเป้ ที่ต้องการเดินทางเข้ามาสัมผัสธรรมชาติ โดยมี บริษัทนำเที่ยวทัวร์ป่าร่วมกับชาวบ้านท้องถิ่นจัดกิจกรรม จัดที่พักและอาหาร
ระยะที่ 2 เป็นยุคของการขยายตัว ของธุรกิจชุมชนและการเข้ามาของนักลงทุนรายย่อย (พ.ศ.2534-2542) ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเติบโตของทุน คนท้องถิ่นมีรายได้จากการขายที่ดินให้กับนักลงทุน แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ปีพ.ศ. 2540 ทำให้จำนวน นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวไทยลดน้อยลง
ระยะที่ 3 ยุคของนักลงทุนรายใหญ่จัดการแบบมืออาชีพกับ การปรับตัวของธุรกิจชุมชน (พ.ศ. 2542-ปัจจุบัน) เป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนรายใหญ่และรายย่อยต่างถิ่น หลั่งไหล เข้ามาดำเนินการธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งมีความสอดคล้องกับพัฒนาการและการปรับตัวของคนในท้องถิ่นที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตจากชาวบ้านมาเป็นพ่อค้า แม่ค้าหรือเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
กลุ่มคนท้องถิ่นที่สามารถปรับตัวเองจากชาวบ้านมาเป็นผู้ประกอบการได้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่มี ความสามารถด้านภาษาอังกฤษและมีความสนใจส่วนตัวในงานด้านบริการ เมืองปายในช่วงการเจริญเติบโตและการขยายตัวของกลุ่มทุนในท้องถิ่นและการเข้ามาของกลุ่มทุนภายนอกที่ให้ ความสนใจลงทุนประกอบธุรกิจท่องเที่ยว
แต่สภาพตลาดการท่องเที่ยวของปายในแต่ละเดือนมีการผันผวนมาก ในช่วง ฤดูกาลท่องเที่ยวซึ่งมีจำนวน 4 เดือน (พฤศจิกายน –กุมภาพันธ์) มีรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยว จำนวนมาก แต่ในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการจะมีรายได้ที่ลดลง อีกทั้ง ผู้ประกอบการบางรายจะปิดร้านเพื่อไปประกอบอาชีพอื่นแทน
เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เติบโตขึ้นการท่องเที่ยวได้เป็นตัวเร่งให้เกิด การเปลี่ยนแปลงในชุมชนอย่างรวดเร็ว การพัฒนาด้านการคมนาคมได้มีการปรับปรุงเส้นทาง คมนาคมในช่วงปี พ.ศ. 2540 เพื่ออํานวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการเดินทางไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆง่ายขึ้นเกิดการเติบโตของการ ท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางอากาศโดยเครื่องบินเล็ก ซึ่งบริษัท สยามเจนเนอรัล เอวิเอชัน จำกัด หรือ สายการบิน เอส จี เอ (SGA) เริ่มเปิดให้บริการในช่วง กลางเดือนมกราคม 2550 เปิดในเส้นการบินระหว่าง จังหวัดเชียงใหม่สู่อำเภอปายและระยะเวลาใน การบินเพียง 20 นาที
หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 กระแสการท่องเที่ยวอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งข้อมูลย้อนหลังปี 2565 มีนักท่องเที่ยวประมาณ กว่า 1.5 ล้านคน มากกว่าก่อนสถานการณ์โควิด-19 ปี 2562 มีที่นักท่องเที่ยวประมาณ 1.4 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประมาณ 15-20 %
ซึ่งสอดคล้อง ว่าด้วยรายได้จากภาคบริการของแม่ฮ่องสอน ยึดโยงกับการท่องเที่ยว ด้วยจุดเด่นด้านภูมิประเทศและวิถีวัฒนธรรม แม่ฮ่องสอนจึงติด 1 ใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวไทย ซึ่งเป็นจุดแข็งที่เป็นที่สนใจและต่อยอดได้
ก่อนโควิด เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพียงเดือนเดียว มีนักท่องเที่ยวมาเยือนแม่ฮ่องสอน 121,412 คน สูงเป็นอันดับ 3 ของภาคเหนือ รองจาก เชียงใหม่ และเชียงราย ส่งผลให้เกิดรายได้เฉพาะช่วงฤดูท่องเที่ยว 4 เดือนสูง รวมกว่า 3,982.0 ล้านบาท
ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่อำเภอปาย เพราะเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวที่มาแม่ฮ่องสอน คิดเป็นร้อยละ 61 แต่นักท่องเที่ยวเริ่มมีความสนใจเข้ามาเยือนแหล่งท่องเที่ยวอื่นบ้าง เช่น อ.ขุนยวม อ.แม่สะเรียง และ อ.แม่ลาน้อย
ท่องเที่ยวอำเภอปาย
ในพื้นที่อำเภอปาย มีโรงแรมที่พักที่ได้รับอนุญาต จำนวน 66 แห่ง
ที่พักที่ไม่มีใบอนุญาต จำนวน 226 แห่ง ที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมที่ได้รับอนุญาต จำนวน 32 แห่ง รวมทั้งสิ้น 347 แห่ง
มีสถานบริการสาธารณสุขที่เป็นโรงพยาบาลของรัฐ 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลปาย ขนาด 60 เตียง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 11แห่ง
ขณะที่แม่ฮ่องสอน จัดอยู่ในกลุ่มท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งข้อจำกัดก็คือ การเดินทางโดยการเดินทางเข้ามายังปาย ปัจจุบันมีเพียงการเดินทางโดยรถ ซึ่งจะเดินทางจากเชียงใหม่ราว 120 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทางประมาณ3ชั่วโมง และมีบริษัทขนส่งมวลชนเชื่อมกับเชียงใหม่ เพียงบริษัทเดียว และขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา ของสายการบินที่จะกลับมาบินอีกครั้ง เชื่อม กรุงเทพฯ แม่ฮ่องสอน
พัฒนาการของปาย
จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการท่องเที่ยวทั้งเรื่องของรสนิยมการท่องเที่ยวที่มีจุดมุ่งหมายของ การท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง “การพักผ่อน” ที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการปรับตัวของธุรกิจท่องเที่ยวก็ต้องตอบสนองต่อการพักผ่อน เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องพัก พาหนะในการเดินทางท่องเที่ยว
ทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอําเภอปาย ทั้งทางด้านการคมนาคมและ ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่นการเดินสายไฟฟ้าแรงสูงเข้ามา ใช้ในพื้นที่อําเภอปาย เนื่องจากมีการเติบโตทางการท่องเที่ยวสูงและเคยประสบปัญหาไฟฟ้าไม่ พอใช้ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว การพัฒนาดังกล่าวทําให้การท่องเที่ยวในอําเภอปายได้เข้าสู่ระบบ อุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ อีกทั้งในส่วนของการพัฒนาด้านการคมนาคมทําให้ง่ายแก่การเข้าถึง แหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว
เวลาที่ดีที่สุดของ “ปาย”
(พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์): เวลาที่ดีที่สุดในการเยี่ยมชมปายคือช่วงฤดูหนาว ปลายเดือนธันวาคมและมกราคมที่เริ่มจะหนาวเย็นในเวลากลางคืน
(มีนาคม – พฤษภาคม): เป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดไม่ใช่แค่ที่ปายแต่รวมไปถึงภาคเหนือด้วย ซึ่งในช่วงเวลานั้นยังเผชิญกับปัญหาฝุ่นควัน
มิถุนายน – กันยายน ช่วงหน้าฝน ข้อดีของช่วงนี้ คือป่าเริ่มกลับมาเขียวอีกครั้ง แต่อุทยานแห่งชาติบางแห่งรอบ ๆ อาจปิด
การท่องเที่ยวปาย แบ่งเป็น 4 กลุ่ม
การท่องเที่ยว ทางธรรมชาติ
การท่องเที่ยวด้านประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม
การท่องเที่ยวด้านสุขภาพ
การท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์
- ปัจจุบันแม่ฮ่องสอนได้จัดแคมเปญแม่ฮ่องสอนผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซัน ซึ่งนำจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมาเป็นจุดขาย ผนวกกับ Food (อาหารท้องถิ่น) และ Festival (กิจกรรม เทศกาล งานประเพณี) ซึ่งมีความหลากหลายของอาหารท้องถิ่น และชาติพันธุ์ รวมทั้งอาหารจากนานาชาติที่แทบจะมีครบในอำเภอปาย รวมทั้งสถานประกอบการด้านสุขภาพและความงาม เช่น สปา ประกอบกับการนำจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ในเชิงวัฒนธรรม
- ซึ่งปายเป็น Hub ของการท่องเที่ยว และกระจายตัวไปตามพื้นที่ต่างๆของแม่ฮ่องสอน
อนาคต ปลาย ทางของปาย อยู่ที่ไหน ?
- จากรายงาน Global Culinary Tourism Market 2020-2027บอกว่าการท่องเที่ยวเชิงอาหารของโลกกำลังเติบโตที่เฉลี่ยปีละ 16.8% เดินทางแบบ ‘บินไปกิน’ ทำให้คาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวเชิงอาหารของโลก จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงราว 1,796.5 พันล้านเหรียญดอลลาร์ ภายในปี 2027
- จากข้อมูลของ Wunderman Thompson ชี้ว่าผู้บริโภคกว่า 70% พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ตัวเองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3. Google Trends ระบุว่าผลการค้นหาคำว่า “Digital Nomad” เพิ่มสูงขึ้นถึง 376% ในช่วง 2ปีที่ผ่านมา
ผู้บริโภค79% เชื่อว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ และ 42% จัดลาดับความสำคัญต่อประเด็นเรื่องสุขภาพเป็นอันดับที่ 1 ในการใช้ชีวิตสาหรับประเทศไทย ในปัจจุบันประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในอันดับที่15 ของโลก สำหรับจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
จากข้อมูลที่รวบรวม ทางรายการฟังเสียงประเทศไทยทดลองประมวลภาพอนาคตมา 3 แบบ
โดยชวนกันมอง“ปลายทางที่ปาย” ภาพอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเป็นอย่างไร ?
ภาพอนาคตที่ 1 ปายฟีเวอร์ “คลั้งไคล้หลงใหล”
กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว และภาคครัฐ จัดแคมเปญสร้างเรื่องราว ใหม่ๆ ชูจุดขายของปาย โดยเน้นชูของดังเดิมตามวิถีถิ่นตามฤดูกาล
รัฐมีนโยบายชัด ของการสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชน แต่คนนอกชุมชนให้ความสนใจที่จะลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวในปายเพิ่มขึ้น
กิจกรรมและวัตถุประสงค์หลักของนักท่องเที่ยวที่มาปายยังคงเพื่อมาเที่ยวทำกิจกรรมตามธรรมชาติและวัฒนธรรมเป็นหลัก
นักท่องเที่ยวจาก ยุโรปและเอเซียและไทยยังคงหมุนเวียนมาตามฤดูกาล แต่จำนวนนักท่องเที่ยว โดยรวมไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ด้วยข้อจำกัดของเที่ยวบินและการเดินทางมายังเเม่ฮ่องสอน
ซึ่งการเดินทาง ยังเน้นโดยรถยนต์
สนามบินและสายการบินเปิดตามฤดูกาล เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวไม่คงที่ มาตามฤดูกาลระบบขนส่งมวลชนที่มีไม่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวหันไปใช้บริการรถเช่าเอกชนในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งพอบรรเทาปัญหาไปได้บ้าง แต่รถเยอะสร้างมลพิษในพื้นที่ นักท่องเที่ยวเที่ยวกระจุกตัว ไม่เข้าในเมืองหรือไปตามที่อื่นๆ แต่อยู่ในพื้นที่ปายและที่ตนเองพักเป็นหลัก
ฝุ่นควันเป็นโจทย์หลักให้คนที่ตัดสินใจเดินทางหรือไม่เดินทางมา
ภาพอนาคตที่ 2 ปายฟิวชั่น “แบบผสมผสาน น่าสนใจ”
ภาคครัฐ เอกชนร่วมกันพัฒนาแผน ทำเเคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน แบบผสมผสานการท่องเที่ยวเป็นแพคเก็ต ทั้ง
ธรรมชาติ วัฒนธรรม วิถีชีวิตและอาหาร เน้นสร้างความหลากหลายและประสบการใหม่ และเชื่อมโยงกับพื้นที่ท่องเที่ยวโดยรอบ ทั้งระดับอำเภอและกลุ่มจังหวัด
เพื่อดึงนักท่องเที่ยวทุกกกลุ่ม ทั้งต่างชาติ และไทย ให้มาเที่ยว
ข้อจำกัดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วงหน้าเเล้ง แล้งหนัก ฝุ่นควันเป็นโจทย์หลักให้คนที่ตัดสินใจเดินทางหรือไม่เดินทาง มา
สนามบินกลับมาเปิดตามฤดูกาลท่องเที่ยว แต่มีไม่เพียงพอสำหรับรับนักท่องเที่ยว แต่ยังขาดระบบขนส่งมวลชนในการบริการนักท่องเที่ยว อุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจักรยานยนต์ที่นักท่องเที่ยวเช่าขี่อย่างผิดกฎหมาย
มีการส่งเสริมการค้าขายและเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเน้นให้เกิดการร่วมกลุ่มของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่ ร่วมถึงเกิดชมรมผู้ประกอบการท่องเที่ยวปาย
ภาพอนาคตที่ 3 ปายเอนี่ไทม์ “ตลอดปี ทุกเวลา”
ผู้ประกอบการเอกชนเข้มแข็ง ทำเเคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน ชูจุดขายใหม่ เน้นสร้างความหลากหลายและประสบการใหม่ เน้นเที่ยวปาย ได้ตลอดทั้งปี
และพัฒนาต่อให้เป็นแหล่งนันทนาการ ทั้งของคนปายและของนักท่องเที่ยวได้แบบเน้นความยั่งยืน ของสภาพแวดล้อม
แม้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมไม่เพิ่มขึ้นมาก แต่กลุ่มที่แต่เดิมมุ่งไปเที่ยว ยุโรปเริ่มหันมาเที่ยวประเทศไทยแทน เนื่องจากถูกกว่าและใกล้กว่า
เนื่องจากสนามบินเปิดต่อเนื่องทั้งปี คนมาเที่ยวหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้อยู่เฉพาะแค่ในที่พักรีสอร์ท แต่ไปเที่ยวพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงอำเภอโดยรอบ
รัฐบาลกลางส่งเสริมการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการเมืองให้กับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้นมีผลให้ท้องถิ่นสามารถบริการจัดการผังเมือง และจัดโซนนิ่ง ร่วมถึงโครงสาธารณูโภคพื้นฐานได้ครอบคลุม มีการตั้งกองทุนอนุรักษ์และฟื้นฟูเมือง มีการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง รองรับการเดินทางที่หลากหลายในการเข้าถึงเเหล่งท่องเที่ยวโดยรอบของปาย จน กลายเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวตลอดปีจากจังหวัดข้างเคียง
ปลายทาง ของปาย…
ว่าที่ร้อยตรีภาณุวัฒน์ ขัดนาค ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานแม่ฮ่องสอน
ในช่วงที่ผ่านมามีความพยายามให้การท่องเที่ยวอำเภอปายไม่กระจุกตัว กระจายตัวไปยังอำเภออื่น ๆ ปีนี้ทาง ททท. จึงได้คิดแคมเปญเดินทางท่องเที่ยวพิชิต 4,088 โค้ง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางไปสัมผัส 7 อำเถอ โดยให้ปายเป็นจุดศูนย์กลาง ปายท่องเที่ยวได้ทุกช่วงเวลา โดยปกติผู้คนที่มาเที่ยวจะเป็นช่วง long weekend มีความพยายามในการให้นักท่องเที่ยวกระจายมายังวันธรรมดารวมถึงฤดูกาลอื่น ๆ ในช่วง green season และในเชิงช่วงเวลามีโครงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น และมาเที่ยวในวันธรรมดาและอยู่ได้นานมากขึ้น จุดเด่นของปายมีความหลากหลายของชาติพันธุ์
คุณสินสมุด พรมสุวรรณ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวปาย
ปายเป็นบ้านหลังที่ 2 เราเห็นความเปลี่ยนแปลง และความเข้มแข็ง เพราะเมืองที่เล็ก ๆ นี้สามารถดูแลกันได้ทั่วถึง สิ่งที่เป็นปายได้ทุกวันนี้คือความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ ชุมชน และคนในพื้นที่ หลาย ๆ คนมาอยู่ 2-3 ปี ก็คิดที่จะอยู่ยาว และอยากสร้างบ้านนี้ให้มั่นคง นักท่องเที่ยวที่มาทำอย่างไรเราถึงจะกลับมา ต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เมืองปายสามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่การที่จะท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปีต้องหันมาดูเรื่องการดูแลธรรมชาติไปด้วย เรื่องความต่อเนื่องในการดูแลการเดินทางคมนาคมไม่ว่าจะทางบก หรือทางอากาศ กลุ่มนักท่องเที่ยวจะสามารถเดินทางมาได้ตลอดแน่นอน อาจมีบางช่วงที่หายไปในช่วงฝุ่นควัน ตรงนี้ก็ต้องช่วยกันถ้าหากมีการแก้ปัญหาเชื่อว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวในประเทศมาเที่ยวมากขึ้น
คุณภานุเดช ไชยสกูล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปีภาพนี้เกิดขึ้นที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน อดีตไม่เคยมี low season นักท่องเที่ยวเดินทางวนมาเที่ยวตลอดทั้งปี ตอนนั้นยังไม่เกิดปายอยู่ในเมืองตลอดแต่ในที่สุดก็ดรอปลง ไม่อยากจะเห็นปายเป็นแบบนั้น ปัจจุบันที่มีนักท่องเที่ยวไหลเวียนไปและจองเต็มตลอดที่บ้านรักษ์ไทย ซึ่งจากบ้านรักษ์ไทยก็สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวปายได้ แม่ฮ่องสอนเรามี 7 อำเภอ เหนือสุดคือ ปาย จะทำอย่างไรดึงคนที่มาท่องเที่ยวปายเข้าไปสู้ อ.เมือง และ อ. อื่น ๆ
ที่ผ่านมาก่อน covid-19 ปายเคยฟีเวอร์มาก หลัง covid-19 ทุกที่หายไปหมด และปายเริ่มกลับมาฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการทั้งหมดที่นี่คือคนนอกเข้ามา แต่คนที่ อ.เมือง คือคนที่พื้นที่ถิ่นทั้งหมด ปายเป็น hub เชื่อมเมืองหลักเข้ามาท่องเที่ยวเมืองรองอย่างปาย
ปัจจัยการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเดินทาง การรณรงค์และสร้างปฏิทินกิจกรรมตลอดฤดูกาล ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ภาพการท่องเที่ยวปายในอนาคต ผู้ประกอบการและชุมชนมีรายได้ตลอดปี
ดูวงสนทนาย้อนหลังได้ที่
นี่คือส่วนหนึ่งของการพูดคุย และฟังเสียงกัน กันด้วยข้อมูลที่แต่ละท่านได้ช่วยกันมอง ช่วยกันเติมให้เหตุผลแต่ละฉากทัศน์
และนอกจาก 3 ฉากทัศน์ที่หยิบยกมาตั้งต้นพูดคุย รับฟัง แลกเปลี่ยน ยังมีโจทย์ศักยภาพพื้นที่ซึ่งต้องออกแบบอนาคตร่วมกัน คุณผู้อ่านสามารถร่วมเป็นส่วนสำคัญในการแก้โจทย์นี้ โดยอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ www.thecitizen.plus พร้อมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส