ฟังเสียงประเทศไทย : อาชีพหมอ จุดเจ็บปวดของระบบสาธารณสุขไทย

ฟังเสียงประเทศไทย : อาชีพหมอ จุดเจ็บปวดของระบบสาธารณสุขไทย

หมอ” หนึ่งในอาชีพที่ใคร ๆ ก็มองว่ามั่นคงและมีเกียรติ กว่าจะเข้าสู่การเป็นหมอต้องผ่านเส้นทางการสอบวัดความรู้ที่ทั้งยากและการแข่งขันสูง แต่ถ้าได้ก้าวเข้าไปแล้ว ชีวิตก็จะสุขสบาย 

แต่ด้วยบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป ใครจะคิดว่า วันนี้อาชีพหมอ จะกลายเป็นอาชีพ ที่ทำให้ใครหลายคนตัดสินใจลาออก จนทำให้ตอนนี้ระบบสาธารณสุขของเรา กำลังเผชิญหน้ากับภาวะหมอขาดแคลนที่หนักหน่วงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นวิกฤตระบบสาธารณสุขไทย ที่ต้องเร่งแก้  

รักษาไขหมอ นี่คือโจทย์ที่รายการฟังเสียงประเทศไทยเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชีพหมอ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาแพทย์ หมอจบใหม่ หมอรุ่นพี่ ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข และสายงานอื่น ๆ ที่อยู่ในโรงพยาบาล และประชาชนทั่วไป ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันกว่า 30 คน 

นี่คือความคิดเห็นส่วนหนึ่งที่ทุกคนมองเกี่ยวกับอาชีพนี้

00 ขอ 3 คำ สำหรับอาชีพหมอที่คุณนึกถึง 00

แล้วคุณคิดว่าอาชีพหมอสำหรับคุณ ควรจะเป็นอย่างไร พิมพ์ความคิดเห็นของคุณมาที่ด้านล่างนี้ได้เลย

00 สถานการณ์หมอในวันนี้ 00

กว่า 100 ปี พัฒนาการของระบบสาธารณะสุขไทย จากจุดเริ่มต้นในการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บ สู่ความมั่นคงด้านสุขภาพ บุคคลากรทางการแพทย์คือส่วนสำคัญ 

ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนวิชาแพทยศาสตร์ที่แพทยสภารับรอง ทั้งหมด 26 แห่ง แบ่งเป็น ของรัฐบาล 22 แห่ง และของเอกชน 4 แห่ง สามารถผลิตบุคลากรแพทย์ได้ประมาณ 3,000 คนต่อปี

การขยายตัวของโรงเรียนผลิตแพทย์ สอดรับกับนโยบาย การขยายบริการสาธารณะสุขไปสู่ประชาชน โดยเฉพาะในชนบทให้กว้างขวาง พอเพียง มีคุณภาพ และเหมาะสมกับสภาวะทางสังคม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ และการกระจายแพทย์ไปในพื้นที่ห่างไกลยังคงเป็นปัญหาสำคัญของไทย

ข้อมูลจากแพทยสภา ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทย มีแพทย์ ทั้งหมด 66,685  คน อยู่ในกรุงเทพฯ จำนวน 32,198 คน และอยู่ในต่างจังหวัด 34,487 คน ในจำนวนนี้ มีแพทย์ที่อยู่ในระบบของกระทรวงสาธารณสุข มีทั้งหมด 24,649 คน คิดเป็น ร้อยละ 48 ของแพทย์ทั้งประเทศ ซึ่งต้องดูแลคนในระบบหลักประกันสุขภาพถึง 45 ล้านคน หรือ ร้อยละ 70 ของประชากร

เท่ากับว่า แพทย์  1 คน ต้องดูแลคน 2,000 คน ขณะที่สัดส่วนมาตรฐานที่ WHO กำหนด อยู่ที่ 1:1,000 คน นี่ยังไม่นับถึงปัญหาการกระจุกและกระจายตัวของจำนวนแพทย์ในแต่ละพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดของโลกตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมา โควิด-19 ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางการแพทย์ของไทยในหลาย ๆ ด้าน จนทำให้ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าระบบสาธารณสุขของไทย มีความเข้มแข็ง

ส่วนแผนการทำงานของแพทย์ในยุทธชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข มีเป้าหมาย คือ “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบสาธารณสุขไทยในขณะนี้ คือการเผชิญกับภาวะ “หมอลาออก”

สถิติการลาออกของแพทย์ 10 ปีย้อนหลัง  ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน ปี 2565 มีแพทย์ที่ได้รับการบรรจุ 19,355 คน ลาออก 4,577 คน เฉลี่ยมีหมอลาออก ปีละ 455 คน  ซึ่งไม่นับรวมหมอที่เกษียณอายุราชการ อีกปีละ 150 ถึง 200 คน 

แบ่งการลาออกของแพทย์เป็น 4 กลุ่ม  คือ 

แพทย์ใช้ทุนปี 1 เฉลี่ยลาออกปีละ 23 คน

แพทย์ใช้ทุนปี 2  ลาออกเฉลี่ยปีละ 188 คน

แพทย์ใช้ทุนปี 3  ลาออกเฉลี่ยปีละ 86 คน 

แพทย์ ลาออกหลังพ้นภาระใช้ทุน เฉลี่ยปีละ 158 คน 

เหตุผลหลักของการลาออกของแพทย์ คือ งานหนัก คุณภาพชีวิตแย่ ไม่มีเวลาพักผ่อน เงินเดือนออกล่าช้า ค่าตอบแทนไม่คุ้มความเสี่ยง รวมทั้ง เผชิญความท้าทายภาวะสมองไหล ย้ายไปโรงพยาบาลเอกชน ด้วยเงื่อนไขที่ดีกว่า เช่น การันตีรายได้ ระบุชั่วโมงการทำงานที่ชัดเจน

ขณะที่ความพยายามจะลดกำลังคนของภาครัฐมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้การจัดสรรกำลังคนเข้าสู่ระบบของกระทรวงสาธารณะสุขลดลง

ข้อมูลจากแผนปฏิรูปกำลังคน และภารกิจบริการด้านสุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุข  ระหว่างปี 2561 ถึง 2570 ระบุว่า แต่ละปี เราต้องการแพทย์เข้าสู่ระบบ ประมาณ 2,055 คน  แต่กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรร เพียงปีละ 1,800 ถึง 1,900 คน

จากรายงานแพทยสภาสาร ระบุว่า หากแพทย์มีจำนวนน้อยลงจะทำให้การทำงานของแพทย์เดิม ในระบบ ทำงานหนักมากขึ้น  ขาดการพักผ่อนที่เหมาะสม ส่งผลโดยตรงต่อการวินิจฉัยผู้ป่วย อาจทำให้เกิดความคาดเคลื่อน อีกทั้ง จะมีเวลาสื่อสารระหว่างผู้ป่วย ญาติ คนไข้น้อยลง เสี่ยงต่อการไม่เข้าใจกันมากขึ้น เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีได้ 

อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้นโยบาย 4.0 การลงทุนและพัฒนาเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพ ระดับนานาชาติ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ กระทรวงสาธารณสุขระยะ 10 ปี คือ ปี 2559 – 2568

เนื่องจาก ศักยภาพของประเทศไทย รองรับการดูแล ตั้งแต่ส่วนของ ต้นน้ำ คือผู้ผลิต และจัดหาวัตถุดิบ นำเข้าวัตถุดิบ กลางน้ำ คือ ผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ และยา ปลายน้ำ คือ สถานจัดจำหน่าย  สถานบริการสุขภาพ และสถานพยาบาลรัฐและเอกชน 

แต่เรายังมีจุดอ่อน คือ โรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ   อาจไม่เพียงพอต่อผู้ใช้บริการชาวต่างชาติ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี  ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ การผลิตสมุนไพรไทย ยังไม่เพียงพอในระดับอุตสาหกรรม ยังคงพึ่งพายา และเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ และอัตราค่าบริการ ภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

00ฉากทัศน์ อนาคตแพทย์ – อนาคตสาธารณสุขไทย00

หลังจากได้อ่านชุดข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับอาชีพหมอ และระบบสาธารณสุขไทยแล้ว เราอยากชวนทุกท่านมาร่วมกันโหวตเลือกฉากทัศน์ อนาคตแพทย์ อนาคตสาธารณสุขไทยที่คุณอยากเห็นกัน ผ่านชุดข้อมูลที่ทีมงานได้ทำไว้เป็นตุ๊กตาตั้งต้น

ฉากทัศน์ 1 ม้าแข่ง

หมอเป็นอาชีพของคนมีความสามารถ ท่ามกลางการแข่งขันที่มาพร้อมค่าตอบแทนที่สูง วิทยาการต่างๆ มุ่งตรงไปที่การรักษา นำมาซึ่งการพัฒนานวัตกรรม เช่น หุ่นยนต์ เทคโนโลยี หรือเครื่องมือหัวใจเทียม ฯลฯ และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งต้องอาศัยเงินมหาศาล มุ่งเป้าสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่อีกด้านก็ทำให้การรักษาพยาบาลมีต้นทุนที่สูงตามไปด้วย ทำให้ต้องมีระบบของรัฐเป็นพื้นฐานในการดูแลคน

บุคลากรผู้เชี่ยวชาญกระจายตัวอยู่ในสถานบริการทางการแพทย์ที่สามารถจ่ายค่าตอบแทนได้ มีเทคโนโลยีมาช่วยทั้งการตรวจวินิจฉัย การรักษา รวมถึงการป้องกันโรค และตอบสนองความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ 

ค่าตอบแทนหมอ คุ้มค่าตามภาระงานหนักที่เกิดขึ้น มีความก้าวหน้าในอาชีพ และความก้าวหน้าทางวิชาการ ตามความสามารถ สถาบันผลิตแพทย์ที่ดำเนินการโดยเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้น มีหลักสูตรที่หลากหลายทั้งการรักษา ดูแลสุขภาพ และความต้องการด้านอื่น ๆ ผลิตบุคคลากรได้ตามที่มีตลาดรองรับ แต่จะเข้าสู่ตลาดแข่งขันทางอาชีพมากขึ้น

ฉากทัศน์ 2 มดงาน 

หมอคือคนที่เข้าถึง เข้าใจ ในการให้บริการทางการแพทย์ ดูแลประชาชนทั่วถึงในพื้นที่ ระบบสาธารณะสุข เน้นตอบสนองความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยมี “ระบบสาธารณสุขมูลฐาน” ที่มีความพร้อม สามารถปกป้อง คุ้มครอง ดูแล และส่งเสริมสุขภาพของประชาชนได้อย่างทั่วถึง พัฒนาระบบส่งต่อและเครือข่ายสถานบริการสาธารณสุขที่เข้มแข็ง มีการพัฒนาวิทยาการ องค์ความรู้ โดยรัฐสนับสนุน

แก้โจทย์ค่านิยม สร้างหมอระดับชุมชน ส่งเสริมหมอโรงพยาบาลในระดับท้องถิ่น โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือชุมชนดูแล ยกระดับวิชาชีพอื่น ๆ เช่น กู้ภัย มาเป็นนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ มีบุคลากรหน่วยย่อยในระดับชุมชน ที่ร่วมให้ความรู้ดูแลสุขภาพคนก่อนป่วยไข้ ขณะที่ประชาชนมีองค์ความรู้ดูแลรักษาตัวเองได้

มีสถาบันผลิตแพทย์คุณภาพในระดับภูมิภาค ส่งเสริมหลักสูตรแพทย์ท้องถิ่น แพทย์ทางเลือก และการให้ทุนสนับสนุนด้านการศึกษาและพัฒนาศักยภาพ เพื่อคืนทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพสู่ชุมชน

ฉากทัศน์ 3 หนูถีบจักร

หมอเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในระบบการรักษาพยาบาลความป่วยไข้ของผู้คน กระทรวงสาธารณะสุขเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลระบบ โดยผสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐอื่น ๆ และเอกชน มีการพัฒนาการบริการให้มีคุณภาพ มาตรฐาน รองรับการเข้าถึงของประชาชน ลงทุนกับการพัฒนานวัตกรรม ก้าวสู่บริการสาธารณสุขที่ทุกคนเข้าถึงได้ ผ่านการใช้เทคโนโลยี และระบบ Digital Health เพื่อทดแทนการใช้กำลังคนที่ลดลง 

หมอบรรจุน้อย ปรับตัวสู่ความเป็นผู้ชำนาญเฉพาะทาง หรือแพทย์ชุมชน โดยมีรัฐเป็นผู้กระจายหมอไปสู่พื้นที่ขาดแคลน ดูแลด้านรายได้และสวัสดิการ ลดภาระงานของระบบราชการที่ไม่เกี่ยวกับการแพทย์ มีการพัฒนาช่องทางและใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้โดยไม่ต้องพบหมอ และบริการอื่น ๆ ทดแทน 

ขณะที่สถาบันการศึกษาของรัฐสร้างมาตรฐานในการผลิตบุคคลากรคุณภาพ เชื่อถือได้ รองรับการจ้างงาน แต่การสอบแข่งขันสูงทั้งการเรียน และการบรรจุ เพราะตำแหน่งรองรับมีจำกัด

คุณคิดว่าอนาคตอาชีพหมอและระบบสาธารณสุขแบบไหนที่คุณอยากให้เป็น คลิกเลือกด้านล่างนี้ได้เลย

00 4 มุมมอง แก้วิกฤตหมอ วิกฤตสาธารณสุขไทย 00

รายการฟังเสียงประเทศไทยเชิญตัวแทนผู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้มาแลกเปลี่ยนเพื่อเติมข้อมูลที่รอบด้าน 4 ท่าน 

  •  นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร สมาชิกสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน
  •  นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ ผอ.โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
  •  พญ.พิมพ์เพชร สุขุมาลไพบูลย์ ผอ.สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท
  •  นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย

00 สิ่งที่หมอต้องเผชิญอยู่ในวันนี้ 00

นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร สมาชิกสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะสะท้อนวันนี้เป็นปัญหาที่เกิดจากหน้างาน อย่างที่ทุกคนเห็น หมอที่อยู่หน้างานมีการทำหน้าที่ที่หนักมาก เกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ บางคนทำถึง 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ บางคนทำงานติดต่อกัน 48 ชั่วโมง หรือ 72 ชั่วโมงก็มี ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานมารวมตัวกัน 

บางทีเราทำงาน 48 ชั่วโมง แล้วอยู่เวรห้องฉุกเฉิน เราเห็นพ่อ หรือแม่ของใครบางคนมาอยู่ในการดูแลของเรา ขณะที่เราเองยังพูดชื่อตัวเองไม่ถูกด้วยซ้ำ เพราะสมองมันมึนไปหมดจากการไม่ได้นอน ซึ่งการที่เขามาอยู่ในความดูแลของเราแบบนี้มันยุติธรรมสำหรับเขาแล้วหรอ เขาได้รับการดูแลที่ดีแล้วหรอ ทำไมเราต้องมาเจอแบบนี้ด้วย เราไม่มีสิทธิที่จะได้พักเลยหรอ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีหลายคนคิด และเป็นปัญหามานาน แต่เมื่อก่อนยังไม่ได้รับความสนใจเท่านี้ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สหภาพรวมตัวกัน และพยายามที่จะส่งเสียงออกไปให้ประชาชนได้รับรู้   

นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ ผอ.โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี กล่าวให้ความเห็นในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน และเป็นผู้บริหารระดับอำเภอ ระดับจังหวัดว่า ตอนนี้มันวิกฤตมาก เหมือนฝีแตก ปัญหานี้ไม่ได้เพิ่งเกิด เกิดมานานแล้ว แต่ถึงเวลาสุกงอม แตกเพราะอินฟูเอนเซอร์คนหนึ่งที่ตะโกนออกมาว่า ระบบเรามีปัญหา ทุกคนเลยมาสนใจว่า ระบบเรามีปัญหาจริง ๆ   

อย่างตัวเลขที่บอกว่า  1 : 1,000 คน ตาม WHO หรือ 1 : 2,000 คน แต่ในระบบสาธารณสุขไทยนั้นห่างไกลจากความเป็นจริงคนหน้างาน อย่างอำเภอบางอำเภอในจังหวัดกาญจนบุรี มีคนประมาณ 30,000 คน แต่มีคนทำงานอยู่ 3 คน ผิดไปจากตัวเลขที่ได้มาหลายเท่า อันนี้คือความวิกฤตในโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งที่ทำงานโดยมีหมออยู่ 2-3 คน แทบจะไม่ได้นอน ไม่ต้องถามหาเรื่องประสิทธิภาพ 

“ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งหายไป ก็ไม่มีใครอยู่แล้ว ถ้าออกหนึ่งคน ก็เหมือนกับเหลือศูนย์ รอเพื่อนมาเติมไม่ได้ เพราะมาปีละครั้ง เขาต้องเหนื่อยไปอีกปี ส่วนใหญ่ไม่มีใครรอ ลาออกไปด้วย”

นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจกล่าว

นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแพทย์รุ่นน้องที่ทำงานหนักในสภาพสังคมทุกวันนี้ว่า รู้สึกเห็นใจ อยากให้กำลังใจกับรุ่นน้อง สมัยก่อนรุ่นพี่ ๆ ก็หนักแบบนี้เช่นกัน สมัยอยู่โรงพยาบาลแม่ฮ่องสอน มีอยู่ครั้งหนึ่ง โรงพยาบาลจังหวัดรองรับผู้ป่วยได้ 120 เตียง แต่แพทย์ทุกท่านติดภารกิจ รวมไปถึง ผอ. ผมราวด์วอร์ด 4 วอร์ด ต้องดูแลผู้ป่วยที่อาการหนัก ซึ่งของผมครั้งเดียวชีวิต แต่ของน้อง ๆ เจอแบบซ้ำ ๆ เจอต่อเนื่อง รู้สึกเห็นใจ อยากให้ทั้งภาคการเมืองและภาคราชการต้องคิดให้มาก เพื่อหาทางออกให้กับน้อง ๆ ให้ได้ทำงานอย่างมีความสุข        

พญ.พิมพ์เพชร สุขุมาลไพบูลย์ ผอ.สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท มองสถานการณ์ในวันนี้ว่า สัมผัสได้ถึงความขาดแคลน ระบบสาธารณสุขไทยมีทั้งงานที่ให้บริการด้านสุขภาพ มีผู้เล่นใหญ่ที่เป็นกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลที่อยู่ตามภูมิภาคส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลกระทรวง ก็จะมีผู้เล่นอื่น ๆ อย่างคณะแพทย์ หรือกระทรวงอื่น ๆ  

ในส่วนของกระทรวง เรารู้ว่ามีความขาดแคลนแพทย์ในภาคใหญ่ อาจเกิดจากการกระจายในแต่ละพื้นที่ไม่เหมาะสม อย่างที่อาจารย์ประวัติพูดไป บางอำเภอมีคน 3 คน แต่ต้องดูแลคน 10,000 คน หรือบางจังหวัด ภาคอีสาน ภาคเหนือ 1 คน ดูแล 4,000 – 5,000 คน  มีการกระจายที่ไม่เหมาะสมอยู่ แต่บางจังหวัด อย่างเช่น จ.เชียงใหม่ มีผู้เล่นหลายคน ทั้งกระทรวงและคณะแพทย์ ซึ่งบางจังหวัดมีสัดส่วนการดูแลแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขต่อประชากรที่ใกล้เคียงกับของ WHO บอกไว้ 

ดังนั้น 1 : 2,000 ที่เราคำนวณ โดยพื้นฐานของจำนวนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข ต่อจำนวนประชากรที่เราดูแล 75% ของทั้งประเทศ เลยจะได้ตัวเลขกลม ๆ ออกมาเป็น 1 : 2,000  

ความขาดแคลนเป็นผลพวงมาจากหลาย ๆ อย่าง ในฝั่งที่เป็นการผลิตในกระทรวงสาธารณสุข เป็นกลไกอันหนึ่งในการที่จะเติมคนลงไป นอกเหนือจากการเติมคนในฝากฝั่งอื่น ๆ เรามีแหล่งผลิตเยอะ แหล่งผลิตที่เป็นของรัฐ ทุกคนต้องเข้ามาทำการชดใช้ทุน เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดแคลน      

เรามีมหาวิทยาลัยที่ผลิตแพทย์ 26 แห่ง กำลังการผลิตอยู่ที่ 3,300 นับตามศักยภาพที่สามารถผลิตได้ เป็นของรัฐ และต้องเป็นแพทย์ที่มาใช้ทุนอยู่ 2,700 – 2,800 คน ที่เหลือเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ประมาณ 300 – 400 คน 

ถ้าเป็นคณะแพทย์ของรัฐจะต้องทำสัญญาชดใช้ทุน เพราะรัฐบาลให้งบประมาณในการผลิตกลุ่มนี้ การใช้ทุนก็จะไปใช้ทุนในส่วนงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุขบ้าง คณะแพทย์ต่าง ๆ บ้าง ประมาณ 2,700 คน ซึ่งทุกคนต้องอินเทิร์นหมด ต่อให้จบเอกชนต้องอินเทิร์น เป็นการเพิ่มพูนทักษะ ถ้าเป็นในส่วนของแพทย์ผู้ทำสัญญาชดใช้ทุน 2,700 คน จะอินเทิร์นเข้ามาเพิ่มพูนทักษะในกระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 2,000 คน และในส่วนอื่นประมาณ 700 คน ไม่ได้หายไปไหน

00 หมอลาออก กับกระทบต่อระบบสาธารณสุขไทย 00 

นพ.ประวัติ กล่าวว่า น้องอินเทิร์นที่ออกไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ จะไปเจอปัญหาตามโรงพยาบาลที่เขาไปเป็นอินเทิร์น ถ้าปัญหามันหนักมาก เขาก็สามารถลาออกได้เลย ไม่มีใครบังคับ หมอที่อยู่ในระบบก็จะหายไปด้วย หมออินเทิร์นปี 2 ที่จะต้องไปลงชุมชนก็จะเหลือจำนวนที่น้อยลง เรียกว่า หมอสามารถหลุดออกไปได้ทุกช่วงเวลา แต่คนที่เป็นข่าวเขาหลุดออกไปตั้งแต่แรก ช่วง 2-3 ปีหลังเราจะเจอกรณีแบบนี้เยอะขึ้น 

กรณีล่าสุดที่เป็นข่าว เกิดจากการบูลลี่ หรือวัฒนธรรมกินหัวระหว่างรุ่นพี่สตาฟกับรุ่นน้องอินเทิร์นที่มาใหม่ การไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน การเอาเปรียบในการทำงาน กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้คิดแบบนั้น แต่มองเรื่องของความเท่าเทียม การโดนเอาเปรียบ และการบูลลี่ทำให้เด็กรุ่นใหม่รับไม่ได้กับสิ่งนี้     

สิ่งที่จะตามมา เมื่อหมอลาออกเยอะ คนที่เหลืออยู่ลำบาก อยู่ไม่ได้ ทำงานไม่ได้ ซึ่งต้องไปปรับเรื่องของการสอนให้เลิกบูลลี่กัน เลิกเอาเปรียบ ทำงานร่วมกัน ปัญหานี้เป็นมานาน แต่กระทรวงฯ เพิ่งตื่น เริ่มมีการเข้ามาสนใจประเด็นนี้

นพ.ณัฐ กล่าวว่า สำหรับตนเอง โชคดีที่ได้ไปอยู่โรงพยาบาลที่มีเพื่อน ๆ และพี่ ๆ ดี ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการเอาเปรียบ หรือบลูลี่ มีแค่เรื่องการทำงานหนักที่ได้เจอกับตนเอง ซึ่งหลายคนจะบอกเลยว่า ต่อให้งานหนักถ้าสภาพแวดล้อมดี ก็จะผ่านไปได้ ขณะที่ถ้างานไม่หนักมาก แต่สภาพแวดล้อมไม่ดีมันก็แย่ 

ประสบการณ์ที่ได้เจอ และได้ยินในบางครั้ง รวม ๆ กัน ซึ่งทั้งหมดนี้ มันเป็นเรื่องของธรรมาภิบาล เราเป็นแพทย์จบใหม่ที่กำลังเพิ่มพูนทักษะอยู่แล้วเจอเครสยาก ๆ ฉุกเฉิน เราต้องโทรไปปรึกษารุ่นพี่ โทรไปเยอะ ๆ เพราะความไม่รู้ ก็โดนเขาด่าว่า ทำไมแค่นี้คุณไม่รู้ จบมาได้อย่างไร ไปกินหญ้าไหม แต่บางครั้งความรู้มันเป็นความรู้เฉพาะทาง ซึ่งเราไม่รู้ ถ้ารู้จะโทรไปหาทำไม บางครั้งมีบอกให้ไปโดดหน้าต่างเลยก็มี เมื่อโดนไปเรื่อย ๆ มันก็กัดกร่อนจิตใจ 

บางครั้งโทรไปปรึกษาเขาไม่เข้าใจ บอกให้เปิดยูทูปทำตามเลย แล้วมารู้ตอนหลังว่า ตัวเขาอยู่คลินิก ทั้ง ๆ ที่มันเป็นชื่อเวรของเขา ความอยุติธรรมเหล่านี้มีเต็มไปหมด ได้ยินหลายโรงพยาบาล อีกทั้งขั้นตอนการรีพอร์ตก็ไม่ชัดเจน เคยมีคนไปรีพอร์ตก็โดนเรียกเข้าห้องดำ บอกว่าน้องไปพูดหรอ ซึ่งความอยุติธรรมนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กำลังใจการอยากเป็นแพทย์มันลดลง

นี่เป็นโจทย์ค่อนข้างยาก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า เราต้องการอาจารย์ที่เป็นแพทย์เฉพาะทาง เช่น โรงพยาบาลเรามีอาจารย์ที่เป็นแพทย์เฉพาะทางแค่คนเดียว แล้วมีอินเทิร์นร้องเรียนขึ้นไป เราจะทำอย่างไร  ถ้าเราไม่ให้อาจารย์ท่านนั้นปฏิบัติงาน ก็ไม่มีแพทย์เฉพาะทางรักษาคนไข้ อย่างน้อย ๆ ผมคิดว่าเราควรมีช่องทางที่รับเรื่องร้องเรียนและปกปิดคุ้มครองผู้ร้องเรียน

Image Name

นพ.ประวัติ เสริมต่อว่า การร้องเรียน อันดับแรกสามารถจัดการภายในองค์กรได้ เรื่องกติกานี้ไม่ได้ระบุชัดเจน ถ้าแพทย์ยึดระเบียบการทำงานตามระบบราชการ เข้า-ออก ตามเวลา ไม่ขี้โกงกติกา ไม่เอาเปรียบน้อง เพราะถ้าไม่แก้เรื่องนี้ไปต่อไม่ได้   

ด้าน นพ.ภูมินทร์ สะท้อนว่า สิ่งที่คุณหมอทั้งสองพูดมา เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ถ้าไปอยู่ในไลน์กลุ่มของเพื่อน ๆ ที่เป็นหมอ จะได้ยินเสียงสะท้อนหนักกว่านี้เยอะ  เป็นเรื่องที่ถ้าพูดออกไปก็จะโดนเพื่อน ๆ ในวงการตำหนิ ทั้ง ๆ ที่เป็นข้อเท็จจริง 

ผมฝากประเด็นเรื่องศูนย์ฝึกแพทย์ ว่าศูนย์ฝึกแพทย์ที่มีนั้น มีความพร้อมสำหรับการฝึกขนาดไหน ตรงนั้นมีส่วนสำคัญ เพราะเราเจอคนที่ไปรับมอบหมายให้เป็นอาจารย์ แต่เขาไม่ได้มีวิญญาณของความเป็นครู โดยเฉพาะถ้าไปเจออาจารย์ที่มีพฤติกรรมโกงเวลา น้องจะยิ่งกดดันมากขึ้น ตรงนี้เราสามารถไปปรับได้ ตรงไหนมีปัญหาก็ไปแก้ที่จุดนั้น

00 จุดตั้งต้นการรักษา 00

พญ.พิมพ์เพชร กล่าวว่า เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ ทางส่วนกลาง หรือผู้บริหารเห็นความสำคัญมาโดยตลอด และสื่อสารผ่านทางผู้บริหารแต่ละเขตสุขภาพ ซึ่งเรากระจายอำนาจให้แต่ละเขตสุขภาพไปคุยกันถึงปัญหา ให้จัดการกันระหว่างระเขตสุขภาพนั้น ๆ บางที่ที่ขาดแคลน สามารถหาคนมาเติมได้ไหม หรือบางที่อาจจะต้องบริหารจัดการในระดับองค์กรแพทย์ วัฒนธรรมองค์กรแพทย์เป็นอย่างไร เปิดรับขนาดไหน อันนี้คงจะเป็นมาตรการเป็นข้อ ๆ ไม่ได้ เพราะแต่ละที่บริบทแตกต่างกัน ปัญหาที่หมอลาออกจริง ๆ ก็มีหลายอย่าง ทนไม่ได้ก็มี เพราะไม่เคยถูกเลี้ยงดูมาแบบนี้ ไม่คุ้นชินกับการต้องทำงานในสภาพแวดล้อมแบบนี้ 

ต้องดูว่าสถาบันเพิ่มพูนทักษะของกระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่ 116 แห่ง บางที่อาจจะไม่พร้อม เนื่องจากภาระงานเยอะ แต่บางที่ที่เขามีการเรียนการสอนอยู่แล้ว ก็มีอยู่ 30 กว่าแห่ง อาจจะไม่ได้เปรียบตรงที่ อาจารย์แพทย์มีความเป็นครูแพทย์อยู่ ต้องปรับให้บรรยากาศแวดล้อมที่เขาจะเรียนรู้ต่อการทำงาน เอื้อต่อการทำงาน ต้องรับรู้ความต่างเรื่องของเจเนอเรชั่น ต้องเข้าใจและเปิดใจพอสมควร เพราะแต่ละที่ต้องมีแพทย์พี่เลี้ยงเพิ่มพูนทักษะ 

การคัดเลือกคนสำคัญ เพราะเวลาน้องล้ม หรือน้องรู้สึกเฟล การเรียนในตำรากับการมารักษาคนไข้จริงมันต่างกัน บางทีน้องช่วยชีวิตคนไข้ไม่ได้ก็รู้สึกเฟล ช่วงที่ทำงานปีแรก เรารู้สึกเฟลบ่อยมาก ทำบุญบ่อยมาก สมัยนั้นไม่มีแพทย์ที่เลี้ยง เราก็ต้องมีวิธีการจัดการของเรา แต่ในสมัยปัจจุบัน อาจจะต้องมีโค้ชชิ่งที่ดี พร้อมที่จะให้คำปรึกษาแล้วก็แนะแนว

ด้านสมาชิกสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าวว่า ในบริบทของแพทย์ใช้ทุนเป็นแพทย์ที่จบใหม่แล้วต้องไปชดใช้ทุน ต้องการใบเพิ่มพูนทักษะ เป็นใบที่ถ้าเราผ่านการประเมินแล้วเราจะได้ใบนี้ บ่งบอกว่าถ้าคุณผ่านตรงไหนไปแล้ว สามารถเอาไปยื่นเรียนต่อได้ ซึ่งจะขึ้นข้อบังคับของอาจารย์ เราเป็นผู้ใต้บังคับของอาจารย์จึงไม่สามารถต่อรองใด ๆ ได้ เรื่องนี้จำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลง ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัฒน์ แต่จะเปลี่ยนได้ต้องมีบทบาทกลไกการต่อรองอำนาจ ให้ผู้ด้อยอำนาจรู้สึกสบายใจที่จะพูดขึ้นมา เพื่อที่จะได้นำปัญหามาคุยกัน    

นพ.ภูมินทร์ มองว่า ระบบการฟีดแบคน่าจะมีหลายช่องทาง เพราะหากฟีดแบคไปแล้วเจอผู้อาวุโสที่คุ้นชินกับระบบเดิมก็อาจจะไม่เห็นว่าเป็นปัญหา รุ่นใหญ่ทำงานหนัก ติดต่อกันเป็นเวลาอาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา จึงน่าจะมีหลายช่องทางให้ได้สื่อสาร 

พญ.พิมพ์เพชร กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ส่วนตัวไม่อยากใช้คำว่า อำนาจ ตัวเองยังรู้สึกว่า สังคมของคนเป็นแพทย์ เป็นสังคมที่โอเพนมาก พ้อยของการทำงานเป็นทีมคือ เพื่อคนไข้ที่อยู่ข้างหน้า ในการทำงานเราอาจฟังคนที่รู้เรื่องมากกว่าเรา ขึ้นอยู่กับการเปิดรับของเรา เราทำงานแบบสบายใจมาตลอด อยากจะชวนคิดอีกมุม ไม่ใช่การใช้อำนาจ แต่มองเรื่องการทำงานเป็นทีมใจอาสามากกว่า   

00 มองหาสาเหตุหมอขาดแคลน 00

นพ.ประวัติ กล่าวถึงปัญหาหอมขาดแคลนว่า น่าจะเป็นเรื่องการกระจาย สมัยผมสามารถผลิตแพทย์ได้ประมาณ 1,000 คน แต่วันนี้สามารถผลิตได้ 3,000 คน เติมในระบบตลอดเวลา แต่ทำไมโรงพยาบาลชุมชนหมอกลับลดลง เหลือแค่โรงพยาบาลละ 2-3 คน ขณะที่โรงพยาบาลในกรุงเทพโตเอา หรือแม้แต่โรงพยาบาลจังหวัด เมื่อก่อนมี 20-30 คน เดี๋ยวนี้มีเป็นร้อย

“ผมคิดว่าระบบโครงสร้างมันกระจุกเกินไป ซึ่งจริง ๆ ทุกอย่างมันต้องกระจายออกไป เรื่องของความเจริญในทุกจังหวัด ทุกอำเภอ วันนี้ถ้าคนอยู่ในโรงพยาบาลอำเภอ สามารถอยู่ได้แค่แป๊ปเดียว เวลามีลูกก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะลูกก็ต้องเรียน สุดท้ายต้องย้ายกลับมาเข้าโรงพยาบาลจังหวัด  สุดท้ายโรงพยาบาลอำเภอไม่สามารถดึงหมออยู่ได้ ถ้าความเจริญยังไม่ไปถึง มันเกี่ยวกับระบบโครงสร้างทั้งหมด”

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี กล่าว

นพ.ประวัติ กล่าวด้วยว่า เรื่องรายได้ที่มันเหลื่อมล้ำ เป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่แพทย์ไม่อยู่ทั้งในระบบ และในต่างจังหวัด เช่น เมื่อ 2 วันที่แล้วเห็นประกาศที่รับแพทย์จบใหม่ทั่วไป อัตราเงินเดือน 120,000 บาท  OT 50,000 บาท เป็นอย่างน้อย เท่ากับได้ประมาณ 170,000 บาท ต่อเดือน แต่น้องจบใหม่วันนี้ได้ประมาณ 30,000 บาท ต่อเดือน แถมคุณภาพชีวิตที่ห่วย เอาเวลาทุกอย่างมาแลกเศษเงิน รวม ๆ กันแล้วได้ไม่กี่หมื่นบาท แต่ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่คลินิกความงาม คลินิกเอกชน นั่งสบาย ๆ ได้ 200,000 บาท มันเลยเกิดช่องว่างระว่างเอกชนกับรัฐบาลที่มาก จนไม่มีใครโง่อยู่   

นพ.ณัฐ เสริมต่อว่า เห็นด้วยกับหมอประวัติ ในเรื่องของการกระจุกตัวของแพทย์อยู่ในบางที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข มันเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาความเจริญให้ออกไปนอกรอบให้ได้ เพื่อดึงดูดคนที่เก่ง ๆ ออกไปทำงานนอกรอบ

“ปัจจุบันใครที่จะออกนอกระบบต้องใช้ทุนก่อน 400,000 บาท แต่เห็นว่าจะมีการเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2 ล้านบาท ก็มีทั้งคนที่จ่ายได้ และไม่ได้ แต่ถ้ามองเรื่องสภาพการทำงาน มีเหตุผลอะไรที่ไม่ออก”

สมาชิกสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานกล่าว

พญ.พิมพ์เพชร กล่าวว่า ถ้าจะดึงคนให้อยู่ในระบบ คนเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ซึ่งมีหลายปัจจัยที่จะทำอย่างไรให้เขารู้สึกอยู่แล้วมีความสุข ความสบาย มี work life balance หรือความพึงพอใจในงานเกิดขึ้น ค่าตอบแทนและภาระงานก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ควรพอเหมาะพอสม

“เรื่องภาระงาน ทางกระทรวงมีการขยายกรอบอัตรากำลัง ตามระบบสุขภาพที่เราวางแผน และก็เรื่องของปัญหาสุขภาพที่เรามองไปข้างหน้า เราจะขยายกรอบอัตรากำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งปี 2565 มีอัตรากำลังอยู่ที่ 24,000 คน ปี 2569 เราวางอัตราไว้ที่ 35,000 คน เพราะเรามองว่าปัญหาสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ปัญหาผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น งานมากขึ้น

คาดหวังว่าการเติมคนลงไปจะทำให้ภาระงานที่จะเกิดขึ้นไม่เยอะเกิน อยู่ในจุดที่บาลานซ์  และมีประเด็นเรื่องสวัสดิการความเป็นอยู่ต่าง ๆ เราพยายามที่จะดูแล เรื่องของที่พักอาศัย หรืออะไรที่มีความจำเป็นต่อชีวิต หน่วยงานต่าง ๆ จะต้องเติมลงไป เพื่อให้เขารู้สึกดีแล้วก็อยู่กับเรา”

ผอ.สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทกล่าว

00 ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และการอยู่ต่ออย่างยั่งยืน 00

นพ.ประวัติ กล่าวถึงเรื่องค่าตอบแทนว่า เงินน่าจะช่วยให้คนอยู่ในระบบได้ จากการอยู่ในระบบมาตั้งแต่ปี 2543 จำนวนหมอในโรงพยาบาลชุมชนไม่ได้เยอะ มีจำนวนน้อยมาตลอด จนกระทั่งปี 2551 รัฐมนตรีชื่อเฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งไม่ได้เป็นหมอและมีความคิดแตกต่างจากคนที่อยู่ในวิชาชีพ ได้เพิ่มค่าตอบแทนฉบับ 4 ให้กับแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลที่อยู่โรงพยาบาลชุมชนในอัตราที่สูงมาก เหมือนกับใช้ยาแรง ทำให้ปี 2551 ถึงปี 2554 มีหมอถูกเติมเข้าไปในโรงพยาบาลชุมชนเต็มไปหมด จนกระทั่งเราลืมว่ามันคงไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วแล้วมันก็ดรอปลง 

ในปี 2556 ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นในวิชาชีพ เพราะคนอยู่ในเมืองได้น้อย คนอยู่ต่างจังหวัดได้เยอะ จึงพยายามที่จะทำให้มันเท่ากัน แต่สุดท้ายฝีก็แตกอีก เพราะเมื่อมีการให้เงินเท่ากันคนก็ไม่อยากอยู่ต่างจังหวัด 

ควรจะมีนโยบายแบบนี้เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีการจูงใจให้คนไปอยู่ให้ได้ ไม่ว่าจะวิธีคิดแบบไหนก็ตาม แต่ที่คิดได้เมื่อกี่คือเรื่องของอัตราส่วน จำนวนประชากรต่อหมอ 1 คน ถ้างานเขาเยอะต้องให้เขาเยอะ ถ้างานเขาน้อยอย่างในกรุงเทพฯ 1 ต่อ 500 คน หรือ 1 ต่อ 1,000 คน ไม่ต้องเอาเลย เอาไปให้คนที่เขาต้องมีภาระเยอะ 

นพ.ภูมินทร์ ตอบคำถามที่ว่าทำไมหมอต้องทนอยู่ในระบบ บางคนต้องอยู่เพราะใช้ทุน แต่เชื่อว่าลึก ๆ แล้วด้วยค่านิยม หรือการรับรู้ของเราถ้าเราทำงานรับใช้ราชการ หมายถึงมีโอกาสได้เข้าไปดูแลคนส่วนใหญ่ที่ด้อยโอกาสเหมือนกับการได้ทำงานแล้วมีคุณค่า มีความภาคภูมิใจ 

ต่างกันกับความรู้สึกที่ไปทำงานกับเอกชน หรือว่าไปทำงานที่อื่นที่ได้ค่าตอบแทนสูง ๆ แต่เราเหมือนกับเครื่องจักรชิ้นหนึ่ง ไม่ได้ทำให้กับคนที่ด้อยโอกาส นี่อาจจะเป็นคำตอบแต่อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด อาจมีแรงจูงใจอย่างอื่นที่มีส่วนด้วย เช่น การเป็นราชการมีสวัสดิการอื่น ๆ มากกว่าการอยู่ในนอกราชการ ที่สำคัญที่สุด การที่เรามีความคุ้นชินกับพื้นที่ที่เต็มไปด้วยครอบครัว อันนี้สำคัญกับการที่ทำให้คนที่อยู่ในระบบอยากจะอยู่ต่ออย่างยั่งยืน 

นพ.ณัฐ กล่าวในฐานะตัวแทนสภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ต่อคำถามที่ว่าหมอในระบบควรจะได้เงินเดือนเท่าไหร่ ว่า หากต้องกลับไปคิดเป็นตัวเลข เป็นคำตอบที่ตอบยาก ส่วนตัวคิดว่าอาจไม่สูงเท่าเอกชน แต่ไม่รู้ว่าเราควรจะได้เท่าไหร่ 70% หรือ 80% หรือครึ่งหนึ่งของเอกชน แต่อะไรก็ตาม ค่าตอบแทนที่เป้นอยู่ตอนนี้มันยังมีความไม่เหมาะสม 

“ผมเคยไปดูเอกสารเก่า ๆ ค่าอยู่เวรของแพทย์อยู่เวรห้องฉุกเฉิน 1,100 บาท อันนั้นปี 2542 แต่ปัจจุบันปี 2566 ขึ้นมาเป็น 1,200 บาท 14 ปีขึ้นมา 100 บาท ดูก็รู้ว่าไม่เหมาะสมอันนี้ผมคิดว่าค่าตอบแทนเป็นสิ่งที่เรายังคงต้องเรียกร้องต่อ แต่จะหาจุดที่เหมาะสมได้ยังไงผมคิดว่าคงเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันอีกยาว เพื่อหาจุดที่ดีที่สุด”

สมาชิกสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานกล่าว

00 ข้อเสนอกระจายหมอสู่ชุมชน 00

พญ.พิมพ์เพชร กล่าวอธิบายถึงการจัดสรรหมอในระบบสาธารณะสุขว่า เวลาที่บุคคลากรจบใหม่เข้ามาสู่ในระบบ ต้องเข้ามาสู่ระบบของการจัดสรร  แพทย์ 2,700 คน อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 2,000 คน วิธีการก็คือเราจะเอาแพทย์ต้นทุนหรือว่าแพทย์ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขผลิตเอง และเอาแพทย์พี่เลี้ยงที่รับจาก กสพท. เข้ามาช่วยดูแลการเรียนการสอนระดับบัณฑิตแพทย์ อีกด้านหนึ่งก็คือแพทย์จับฉลาก 

วิธีการในการจัดสรร คน 2,000 คน เราจะดูจากความขาดแคลนคนของโรงพยาบาลชุมชน หมายความว่า น้องที่เข้าปีนี้จะไปโรงพยาบาลชุมชนในปีหน้าก็คือไปแทนตำแหน่ง ทีนี้ในบางพื้นที่ที่มีโรงพยาบาลชุมชนเยอะ ปีต่อไปก็จะมีการออกเยอะ เช่น ออกไปเรียน เราก็จะจัดสรรตามการขาดแคลนแพทย์ปีถัดไป 

แต่ว่าประเด็นที่มีเสียงสะท้อนออกมา เวลาเราจะสรรตามโรงพยาบาลปีแรกน้อง ๆ ต้องไปเพิ่มพูนทักษะก่อน น้อง ๆ จะไปเพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพค่อนข้างสูง สามารถรองรับน้อง ๆ ได้ สมมุติว่าโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี มีโรงพยาบาลชุมชนขาดคน 10 คน แต่โรงพยาบาลจังหวัดมีศักยภาพในการรองรับน้องเพิ่มพูนทักษะได้ 30 คน เวลาเราใส่คนเราใส่คนมีตำแหน่งในอนาคตคือ 10 คน              

วิธีการแก้ของเราก็คือ เอาแพทย์นอกสังกัดที่ฝากฝึกเข้ามาจัดสรรให้ เนื่องจากว่าบางคณะแพทย์ไม่สามารถทำการเพิ่มพูนทักษะได้ เพราะว่าการเพิ่มพูนทักษะกำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นโรงพยาบาลในส่วนของภูมิภาค ก็จะไปอยู่ในแหล่งเพิ่มพูนทักษะสำหรับแพทย์ปี 1 แล้วก็จะมีแพทย์ในภาคเอกชนที่ต้องการฝึกเช่นกัน เนื่องจากการเพิ่มพูนทักษะเป็นเหมือนการการันตีว่าคุณได้มาเพิ่มพูนทักษะเพิ่มเติม สามารถไปเรียนอะไรต่อได้

สมัยก่อนเราสามารถรับแพทย์เอกชนเป็นราชการได้บางส่วนแต่ว่าใน 2 ปีหลังมานี้ ตำแหน่งเราน้อย เราเลยต้องจ้างเขามา ให้เขาได้เพิ่มพูนทักษะด้วย ดังนั้นขาเข้าถ้าไม่เยอะ และโรงพยาบาลชุมชนไม่ขาด น้องเพิ่มพูนทักษะไม่เยอะ อาจจะเป็นภาระให้กับโรงพยาบาลในการหาคนเพิ่มบ้าง อันนี้คือเป็นประเด็นที่เราเจอในปีนี้ที่อาจจะต้องทำความเข้าใจและหาวิธีอื่น ๆ ในการจัดสรรด้วย แต่รอบปีนี้เราจัดสรรรอบปกติเสร็จแล้วจะมีรอบที่จบช้า ก็จะต้องทยอยบรรจุให้ คาดว่าจะเข้าสู่ระบบอีกประมาณ 100 คนในช่วงปีหลัง 

ถ้าจะรีเซ็ตระบบใหม่หมอต่อประชากรคนอาจจะต้องทำหลายส่วน อย่างเช่นเขต 8 เป็นเขตหนักแถวจังหวัดสกลนคร นครพนม บึงกาฬ เนื่องจากว่าประชากรในภาคเยอะ บางทีการอยู่ตรงนั้นสภาพบ้านเมืองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย สำหรับคนที่จะอยู่ไม่ว่าจะอาชีพไหน สิ่งต่อไปคือเราเพิ่มกำลังการผลิตแถวนั้นได้ไหม หรืออาจจะใส่แนวคิดการจัดสรรเฉพาะรายพื้นที่ และคงต้องทำหลาย ๆ ทาง หลาย ๆ กลยุทธ์ที่จะทำให้ได้ตัวเลขที่ควรจะเป็น แต่จุดเริ่มต้นต้องมาจากการเปิดตำแหน่งก่อน หรืออย่างการมีโครงการแพทย์ชนบทก็ช่วยได้ 

ถ้าเราเอาตัวเลขของการคงอยู่ Over All ของการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทมีประมาณ 2,538 อัตรา แต่ตัวเลขที่เก็บจริง ๆ  2,000-2,022 อัตราการคงอยู่ สำหรับโครงการนี้คือ 90% อาจจะอยู่ด้วยวิธีการคัดเลือกที่เราเลือกมาจากพื้นที่เขตจังหวัด การเรียนในช่วง 3 ปีแรกคือเรียนในคณะแพทย์ในกรุงเทพฯ หรือว่าส่วนภูมิภาค แล้วก็ 3 ปีหลังที่ไปดูแลคนไข้ให้กลับไปเรียนที่โรงพยาบาล จะมีศูนย์แพทย์ศาสตร์ชั้นคลินิกกระจายอยู่ทั่วประเทศประมาณ 30 กว่าแห่ง เมื่อเด็กมาจากพื้นที่ออกมาทำงานก็จะมีคอมฟอร์ตโซน คือ เขาเคยอยู่กับครอบครัวหรือห่างไปอย่างน้อย 30 ถึง 40 กิโลเมตร เขามีเครือญาติอยู่ตรงนั้น การปรับตัวก็อาจจะง่ายกว่าในการทำงาน 

ปัจจุบันกระทรวงก็มีการปรับระบบบริการ โรงพยาบาลชุมชนเดิมที่อาจไม่มีแพทย์เฉพาะทางจะมีการเติมแพทย์เฉพาะทางลงไป ตำแหน่งใหม่ก็จะมีการลงไปด้วย จะมีการปรับทั้งระบบ คิดว่าน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะปรับทั้งโรงพยาบาลทั่วไปที่อยู่ในเขตจังหวัดให้สามารถทำอะไรได้มากขึ้น และโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ของประเทศหรือโรงพยาบาลที่อยู่ตามหัวเมืองตามจังหวัดต่าง ๆ ที่สามารถทำอะไรค่อนข้างเยอะ เทียบเคียงกับคณะแพทย์ จะทำให้คนไข้ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลจังหวัด มาที่โรงพยาบาลชุนที่เดียว เพราะว่ามีหมอพอเพียง แต่ถ้ามันเกินความสามารถอาจจะไปที่โรงพยาบาลระดับทั่วไปที่สามารถทำเรื่องนี้ได้ เรามีการแบ่งงานกันชัดเจนในการดูแล เช่น โรงพยาบาลนี้ดูแลเรื่องมะเร็ง โรงพยาบาลส่วนนี้ดูแลแม่และเด็ก ก็จะลดความเหลื่อมล้ำลงไป 

นพ.ประวัติ กล่าวว่า มันคือการกระจายอำนาจที่ต้องแก้ จะให้คนอีกอำเภอหนึ่ง ชีวิตมีค่ามากกว่าคนอีกอำเภอหนึ่งได้อย่างไร เพราะว่ามันกระจุกตัวอยู่ วันนี้กระทรวงเพิ่งจะคิด แล้วก็ทำแต่ว่ามันไม่เห็นผลในเร็ววันนี้แน่นอนแต่เป็นการแก้ไขในระยะยาวให้คนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น 

ภาระงานของแพทย์ที่มันเพิ่มขึ้นต้องยอมรับว่ามาจากนโยบาย 30 บาท ที่เข้าถึงง่ายแต่ไม่ใช่ว่าไม่ดีเพราะมันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราเคยได้รับมา แต่อาจจะต้องปรับระบบแพทย์ด้วย ผมทันก่อนยุคที่จะมี 30 บาท เห็นคนล้มละลายจากการรักษา มีนาขายนา มีที่ขายที่ เพื่อรักษามะเร็งจนคนรุ่นหลังต้องกลายเป็นหนี้ เราเห็นแบบนี้จนชิน แต่วันนึงที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอันนี้ช่วยให้คนไม่ล้มละลายจากการรักษา ข้อเสียคือเข้าถึงง่าย ง่ายที่สุดในโลกถ้าเทียบกับต่างประเทศที่จะเจอกับหมอคนหนึ่งใช้เวลานัด ใช้เวลารอคิวนานมาก 

“เราคือหนึ่งในประเทศที่ดีที่สุด แต่ผู้บริหารกระทรวงก็จะต้องใจถึงพอที่จะอัดเงินเข้าไปให้เขารู้สึกว่าไม่เหนื่อยมากนัก อันนี้แก้ได้ก่อนแก้ได้เร็ว ก่อนที่ระบบจะรันไปตามปกติ การแก้เรื่องสาธารณูปโภคต่าง ๆ ต้องใช้เวลา 10-20 ปี แต่ถ้าวันนี้เราแก้เรื่องเงินสามารถแก้ได้ก่อนเลย”

นพ.ประวัติ กล่าว

นพ.ประวัติ กล่าวด้วยว่า แพทย์ที่เราผลิตขึ้นมาไม่ได้หายไปไหนวนอยู่ตรงนี้ แต่ที่สำคัญคือเราจะดึงให้เขาเข้ามาทำงานตรงนี้ได้อย่างไร เรื่องนี้ท้องถิ่นน่าจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องถ้าให้ท้องถิ่นดูแล เขามีไอเดียดีกว่านั้นสามารถดึงคนที่อยู่นอกระบบเข้ามาได้

อีกอันหนึ่ง ถ้านอกกรอบไปเลย เรื่องระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า งบประมาณที่ใช้ 200,000 กว่าล้านบาทต่อปี แต่เป็นค่าแรงของบุคลากรรวมอยู่ในนี้ด้วยประมาณ 8-9 หมื่นล้าน เหลืออยู่ครึ่งที่กระจายกัน คิดว่าถ้า คนที่อยู่ในระบบ สปสช. ไม่ต้องซื้อบริการของภาครัฐมาซื้อบริการของเอกชนก็ได้ หรือคลินิกก็ได้ ร้านยาก็ได้ เจ็บป่วยไม่มากไปซื้อยาที่ร้านยา สปสช.จ่ายให้ เป็นการแบ่งเบาภาระ แต่ต้องยอมรับว่าเงินส่วนหนึ่งจะไหลไปที่เอกชน แต่ว่าไม่เยอะ มันมีการหมุนวงล้อของเศรษฐกิจแทนที่จะอยู่ของภาครัฐ เพราะที่จริงภาครัฐใช้คนเปลืองมาก มีหลายคนที่ว่างงาน มีหลายอย่างที่เราต้องกล้าที่จะรื้อระบบ ถ้าไม่กล้าเราจะไม่จบปัญหานี้

นพ.ณัฐ เสริมต่อว่า การกระจายทั่วประเทศคิดว่าต้องทำ และต้องใช้เวลานาน แต่การกระจายอำนาจให้กับโรงพยาบาลแต่ละโรงพยาบาล มีอำนาจต่อการตัดสินใจในการจ้างคนหรือเพิ่มเงินมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องอิงกับส่วนกลางตลอดให้เขาสามารถปรับปรุงการบริหารโรงพยาบาลได้ตรงกับบริบทได้มากขึ้น อาจจะเป็นทางออกได้

พญ.พิมพ์เพชร กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่รันมาตั้งแต่ปี 2562 และเป็นที่มาของการปรับระบบในรอบนี้ มีการพูดคุยกันเรื่องของทางเลือกการจ้างคนเข้าสู่ระบบ แต่ว่าคงต้องใช้ระยะเวลาในการพูดคุย เพราะว่าอาจไม่ได้ทำงานในกระทรวงเดียว แต่ต้องคุยกับสำนักงบประมาณ หรือว่าส่วนงานอื่น ๆ ด้วย

นพ.ภูมินทร์ กล่าวว่า เรื่องระบบการเงินเป็นข้อจำกัด ก่อนหน้านี้มีโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มีหมอจะอาสาไปทำงาน เป็นแพทย์รักษาผู้ป่วยโควิด ที่โรงพยาบาลสนามกว่าโรงพยาบาลจะรันให้แพทย์คนนี้ไปทำงานได้ใช้เวลาเป็นเดือน 

ส่วนเรื่องกระจายอำนาจเป็นเรื่องที่ต้องคิดกันจริงจัง เพราะว่าจะทำให้คนที่อยู่ในหน้างานมีโอกาสในการแก้ไขปัญหาเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรอย่างจริงจัง นอกจากนี้ก็ยังฝากในเรื่องของโรงพยาบาลองค์กรมหาชน อย่างโรงพยาบาลบ้านแพ้ว อาจจะเป็นอีกรูปแบบหรือตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ประชาชน หรือภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการคิด จนสามารถพัฒนาโรงพยาบาลประจำอำเภอให้เป็นโรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถสูง โดยที่ไม่ขาดทุนและมีบุคลากรต่าง ๆ เพียงพอ 

00 แก้ปัญหาหมอต้องมองปัญหาภาพรวม 00

ทิ้งท้ายรายการ นพ.ณัฐ ฝากว่า หมอไม่สามารถรักษาคนไข้ได้ด้วยตัวคนเดียว ทั้งโรงพยาบาลยังมีส่วนงานอื่น ๆ ที่ช่วยเหลือผมทั้งหมดมีส่วนช่วยในการดูแลคนไข้ พวกเขามีความลำบากที่ไม่แพ้พวกผม แต่อาจจะเสียงดังไม่เท่ากันอยากจะฝากทุกคนไว้ด้วยเช่นกัน 

นพ.ประวัติ ฝากถึงระบบสาธารณสุข สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คนไทยควรภูมิใจในระบบ แต่ขอเวลาในการปรับตัว เราต้องยอมเจ็บปวดต่อการปรับตัว แต่คิดว่าไม่นาน เพราะว่าคนรุ่นใหม่กำลังมา แล้วเราจะมีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดได้ 

ด้าน พญ.พิมพ์เพชร กล่าวว่า ส่วนตัวที่อยู่ระบบมา 30 ปี ครอบครัวเป็นหมอ พ่อเป็นหมอ เราศรัทธาในอาชีพนี้เราคิดว่าเป็นอาชีพที่เป็นที่พึ่งของคนที่เจ็บป่วย บางทีเราก็เป็นความหวังสุดท้ายของคน เราคงต้องพยายามให้คนที่ทำงานสามารถทำงานต่อไปได้ 

เห็นด้วยกับการที่ระบบต้องมีการปรับเปลี่ยน ถ้าพูดในส่วนของกระทรวง กระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการขยับขับเคลื่อนทั้งระดับผู้บริหารจนถึงระดับปฏิบัติ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่ว่าบางสิ่งบางอย่างมันอยู่ในรั้วของกระทรวง บางสิ่งบางอย่างต้องไปเคาะประตูเพื่อนข้างบ้าน บางคนคุยง่าย บางคนคุยยากที่จะทำให้เห็นในเรื่องเดียวกันเป็น 

“อาชีพหมอเป็นจุดที่ทำให้ระบบสาธารณสุขไทยเดินหน้าต่อ เช่นเดียวกับอาชีพอื่น ๆ ที่ร่วมอาชีพอย่างเช่น พยาบาล ที่อยู่ในระบบสาธารณสุข ทุกส่วนเป็นส่วนที่ทำให้ระบบสาธารณสุขไทยเดินหน้าต่อ เราผ่านช่วงโควิดมาแล้ว และไม่ว่าจะเจอวิกฤตอะไรในข้างหน้าเราเชื่อว่าเราสามารถไปต่อได้”

พญ.พิมพ์เพชร กล่าว

สุดท้าย นพ.ภูมินทร์ กล่าวว่า ที่ได้มาฟังวันนี้ก็ได้รับข้อมูลไป นำเสนอกับทางพรรค ซึ่งทางพรรคฝากมาว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ ระยะเร่งด่วน เราจะรีบไปดูเรื่องของการลดภาระงานการเพิ่มรายได้ สวัสดิการ และขยายโอกาสให้กับคุณหมอ และเจ้าหน้าที่รวมถึงครอบครัวได้เข้าถึงสิ่งดี ๆ ในชีวิต

ส่วนในระยะต่อไปคงต้องมาคิดกันจริงจังเรื่องของการปฏิรูปโครงสร้างการกระจายอำนาจออกไปเอาออกจาก กพ. หรือออกจากกระทรวงสาธารณสุขเลยดีไหม ให้ได้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องดูแลรักษา โดยที่ไม่ต้องขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแลในเรื่องของมาตรฐานและก็ช่วยเหลือในรายที่เป็นปัญหา อาจจะทำให้แก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ