ฝนแรกของฤดูกาลตกลงมาแล้ว เป็นสัญญาณบอกให้ชาวนาบ้านเรารู้ว่า เข้าสู่ฤดูกาลหว่านไถกันแล้ว
องศาเหนือพาไปที่เกษตรกรชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านน้ำพุ อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย นอกจากเป็นแหล่งผลิต ข้าวหอมมะลิ 105 อินทรีย์ และข้าวไรซ์เบอร์รี่ ส่งออกไปยังประเทศฝรั่งเศสได้ปีละ 30-60 ตันแล้ว
ที่นี่ยังอาจเรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่มีการเลี้ยงควายเยอะที่สุดในสุโขทัยที่มีมากถึง 2,000 ตัว แถมเกษตรกรยังทันสมัยใช้เทคโนโลยี เทคโนโลยีที่นำมาใช้ควบคุมการให้น้ำคลายร้อนควายแบบอัตโนมัติ สั่งการด้วยแอปพลิเคชัน Smart Life บนมือถือสมาร์ทโฟน ไม่ว่าตัวเราจะอยู่ที่ไหนก็สั่งระบบทำงานได้
นางสายฝน ช่างเขียน ประธานวิสาหกิจชุมชนตามรอยพ่อ ชุมชนเศรษฐิจพอเพียงตําบลบ้านน้ําพุ อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย
จากขี้มาเป็นข้าว สุขโข๋แบบอินทรีย์
จากที่สิบกว่าปีก่อนมีการใช้สารเคมี จนวันหนึ่งในชุมชน ได้ตรวจเลือดจนพบว่าเจอสารเคมี ทำให้คนในชุมชนเริ่มหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ค่อยๆลดและปรับเปลี่ยนการใช้สารเคมี และชักชวนพื้นที่รอบข้างในชุมชนหันมาทำแบบปลอดภัย จนมาวันนี้ หยุดใช้เลย
ด้วยพื้นที่ ที่เหมาะสม และห่างไกลจากเมือง มีภูเขาเป็นแนวล้อมรอบ ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมใด ๆ และรับน้ำทางธรรมชาติเท่านั้น ทำให้ เหมาะแก่การปลูกข้าวแบบอินทรีย์ และด้วยวิถีชุมชน ที่บ้านก็เลี้ยงสัตว์อยู่แล้วจึงนำขี้สัตว์ต่างๆ มาผสมทำเป็นปุ๋ย เพื่อใส่ในนาข้าว ซึ่งหลักๆก็จะเป็นควายที่เลี้ยงกันเยอะมาก จนทำให้ที่นี่เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิ105 ที่เป็นอินทรีย์ และข้าวไรซ์เบอรี่ที่ได้มาตรฐาน organic thailand คุณภาพดี จนสามารถผลักดันสู่ตลาดสากลได้ ส่งออกไปยังประเทศฝรั่งเศส ปีละ 30-60 ตัน
ในราคา ข้าวเปลือก ตันละ 25,000บาท
แต่ใน1ปี เราทำนาได้ปีละครั้ง จึงมีจำนวนจำกัดต่อปี ปีละไม่เกิน 150 ตัน แต่ทางกลุ่มและหน่วยงานในจังหวัด ก็พยายามผลักดันที่จะพัฒนารวมกลุ่มพื้นที่ที่ปลูกข้าวออแกนิคของสุโขทัย ที่มีอยู่ประมาณ 1,099 ไร่ มาร่วมกันเพื่อสร้างมาตรฐานให้เหมือนกัน ในจังหวัดสุโขทัย เพื่อให้ต่างประเทศยอมรับในอนาคตข้างหน้า และเป็นตลาดส่งออกต่อไป
จากขี้กลายมาเป็นปุ๋ยให้ข้าว จนต่างชาติยอมรับกันเลยทีเดียว
เลี้ยงควายด้วยแอปพลิเคชัน
เมื่อก่อนเราจะได้ยินคำว่า ค.ควายไถนา วิถีของชาวนาในยุคสมัยก่อน ควายถูกใช้แรงงาน ลากไถนา แต่การทำนาในปัจุบัน มีการใช้เครื่องจักรแทนแรงคนและแรงควาย
ด้วยชุมชนเมื่อก่อน มีการเลี้ยงสัตว์ตามวิถีอยู่ แต่คนที่จะเลี้ยงควายก็มีแต่ไม่เยอะมาก เพราะการเลี้ยงควายมันเหนื่อย ต้องมีเวลา ใช้เวลาในการเลี้ยงค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่เช้า เย็น เลยต้องมีคนเฝ้า ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปคนที่เลี้ยงก็เริ่มเลี้ยงน้อยลง และหันไปเลี้ยงสัตว์อื่น ๆ กัน
ต่อมามีการส่งเสริมและคนในชุมชนเริ่มมีการกลับมาเลี้ยงควายค่อยๆเพิ่มขึ้น เพราะด้วยความที่เป็นหมู่บ้านที่ห่างไกลจากเมือง บริบทแวดล้อมเหมาะแกการเลี้ยง และที่สำคัญยังสามารถสร้างรายได้ ทั้งการนำขี้ควายไปทำปุ๋ย และเมื่อถึงเวลาก็สามารถเลี้ยงไปทำพันธ์ และชายเป็นตัวๆได้ ด้วยความที่เป็นชุมชนเกษตร ทำนาได้ปีละครั้ง การเลี้ยงควายจึงเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนและยังคงวิถีดั้งเดิมที่ยังเคยเป็นอยู่ได้ดีอีกด้วย
ปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่เลี้ยงควายเยอะที่สุดในสุโขทัย มีมากถึง 2,000 ตัว เพราะเลี้ยงกันทุกครัวเรือน และต่อมาทางก็มีหน่วยงานมาส่งเสริมเรื่อง เทคโนโลยีที่นำมาใช้ควบคุมการให้น้ำคลายร้อนควายแบบอัตโนมัติ สั่งการด้วยแอพพลิเคชั่น Smart Life บนมือถือสมาร์ทโฟน ไม่ว่าตัวเราจะอยู่ที่ไหนก็สั่งระบบทำงานได้นั้น ทางสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสุโขทัย และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa เป็นผู้สนับสนุนให้มาเพื่อช่วยทุ่นแรงเกษตรกรในชุมชน จะได้ไม่ต้องเสียเวลาคอยต้อนควายออกไปแช่น้ำบ่อยๆ วันละ 3-4 ครั้ง โดยเฉพาะหน้าร้อนที่ควายมันขี้ร้อนมากๆ
โดยติดตั้งระบบน้ำละอองฝอยไว้ในคอก ตั้งเวลาเปิด-ปิดอัตโนมัติ แล้วยังมีตัววัดอุณหภูมิ ถ้าร้อนมากไประบบก็จะทำงานเอง หรือถ้าความชื้นในดินไม่มี ระบบนี้ก็จะทำงานเองอัตโนมัติ อยู่ที่เราจะตั้งค่าไว้อย่างไรก็ได้ ทำให้เกษตรกรมีเวลาดูแลนาและไร่ของตัวเองมากขึ้นด้วย