พิจิตรเป็นจังหวัดที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีแม่น้ำน่านและน้ำยมไหลผ่าน จึงเหมาะกับการทำเกษตรกรรม เป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญแห่งหนึ่งของภาคเหนือตอนล่าง ในการเลือกตั้งปีนี้ 2566 จังหวัดพิจิตรมีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง 430,898 คน แบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 3 เขต เป็นผู้สูงอายุ 58 ปีขึ้นไป 137,798 คน หรือประมาณร้อยละ 31.98 และผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรายใหม่ New Voters จำนวน 29,535 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 6.85 ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งที่เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged. Society) แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างเครือข่ายคนสามวัย ผ่าน บ้าน วัด โรงเรียนเพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อมรองรับคนทุกวัย พร้อมกันนี้พวกเขาได้ชวนกันพูดคุยเพื่อส่งเสียงถึงนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ของจังหวัดพิจิตรเพื่อให้ผู้แทนและผู้นำคนต่อไปจะได้นำไปสู่นโยบายเพื่อแก้ปัญหาคนพิจิตรได้ตรงจุด
‘ข้าว’โจทย์สำคัญของเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดพิจิตร
ด้วยมีพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ประมาณ 79.47% ของพื้นที่จังหวัด และเป็นพื้นที่ปลูกข้าวราว 1,990,260 ไร่ (คิดเป็นร้อยละ 79.47% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งจังหวัด) ส่วนที่เหลือเป็นไม้ผล ไม้ยืนต้นและเกษตรอื่นๆ มีครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร 72,749 ครัวเรือน( สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มิ.ย. 2565) จึงมีข้อเสนอถึงการส่งเสริมการตลาดข้าวจังหวัดพิจิตรอย่างจริงจัง ทำให้ข้าวจังหวัดพิจิตรเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ รวมถึงการพัฒนาตลาดเกษตรให้เกิดประโยชน์ต่อคนพิจิตรมากที่สุด ในด้านการจัดการพื้นที่เกษตรกรรม การห้ามเผาตามมาตรการการจัดการเรื่อง PM 2.5 จะมีทางออก ทางเลือกให้เกษตรกรอย่างไร และจะทำอย่างไรให้พืชผัก ผลไม้ของพิจิตรเป็นวาระของจังหวัด ผลักดันให้ขายหรือส่งออก มีตลาดรองรับ
‘สังคมผู้สูงอายุ’ พื้นที่เตรียมการแเล้ว รัฐจะเสริมอย่างไร
ที่ผ่านมาจังหวัดพิจิตรมีการทำงานส่งและสนับสนุนกลุ่มคนต่างๆในพื้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ปีนี้มีผู้สูงอายุที่อายุเกิน 58 ปี มีสิทธิ์เลือกตั้ง 137,798 คน จากประชากรทั้งจังหวัดที่มีราว 524,845 คน มีการทำงานของคนวัยต่าง ๆ ทั้งผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุสำรอง ผ่านการศึกษาและกิจกรรมต่างๆ การปรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้เหมาะสมเพื่อให้มีการดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ พร้อมได้มีข้อเสนอทางนโยบายถึงรัฐ เรื่องมีวิธีการใดในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในทุกๆ ด้าน ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง และติด การสร้างการรวมกลุ่มของกลุ่มผู้สูงอายุผ่านโรงเรียนผู้สูงอายุ พัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถเปลี่ยนคำว่าภาระให้เป็นพลัง และการสร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกันของคนในสังคม
ธรรมนูญตำบล ‘สิ่งแวดล้อม’ เรื่องที่ทุกชุมชนต้องมี
ด้วยภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบ มีแม่น้ำไหลผ่าน และเป็นแหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่ ต้นทุนเรื่องน้ำและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมส่งผลโดยตรงกับวิถีอาชีพและความเป็นอยู่ของคนพิจิตร นโยบายสำคัญที่คนทำงานด้านนี้อยากผลักดันคือ การทำให้เกิดเป็นธรรมนูญตำบลในการรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในการมีส่วนร่วมและเห็นประโยชน์ในการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีข้อกฎหมาย บทลงโทษ กติกา ที่จะสนับสนุนหรือผลักดันด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องส่งเสริมคาร์บอนเครดิตพร้อมการสร้างองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร
‘การศึกษา’ คือฐานสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชน
ด้านเครือข่ายเด็กและเยาวชนมีข้อเสนอทางนโยบายให้สนับสนุน ส่งเสริมด้านการศึกษาให้แก่นักเรียนจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไม่ให้คำว่า “เรียนฟรี” เป็นแค่คำพูด ต้องการจัดการศึกษาให้เรียนฟรีจริง ๆ เช่น ค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ให้มีการใช้ระบบTCAS (ระบบการศึกษาต่อ) ฟรี พัฒนาครูให้มีความพร้อมและมีเวลาในการจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียน ลดภาระหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนเพื่อให้คุณครูใช้เวลาในการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ มีหลักสูตรเฉพาะให้เหมาะกับความสามารถหรือความสนใจของเด็ก พร้อมการส่งเสริมคนเก่งควบคู่กับการเป็นคนดี เงินเดือนที่ได้รับต้องสอดคล้องกับค่าครองชีพปรับให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ยกเลิกการเกณฑ์ทหารเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ
ทั้งหมดนี้คือข้อเสนอทางนโยบายที่เกิดจาก เวทีสาธารณะ ‘ฟังเสียงคนพิจิตร’ ที่จัดโดยเครือข่ายพัฒนาประชาคมจังหวัดพิจิตร(ศปจ.พิจิตร) และภาคีเครือข่าย ผู้สูงอายุ เกษตรกร เด็กและเยาวชน จ.พิจิตร เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 66 ณ อาคารตลาดเกษตรจังหวัดพิจิตร(สำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตร) อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร
แหล่งที่มาข้อมูล
มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร
https://rocketmedialab.co/
สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงสาธารณสุข
ฐานข้อมูลประชากร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย